JJNY : ยกฟ้องม.112 นารา เครปกะเทย│ก้าวไกลลุกขยี้สิทธิพิเศษคุมขัง│ยื่นสภาแก้กม.ผู้สูงอายุ│หนาวเย็นฉับพลันลามถึงเซี่ยงไฮ้

ศาลอาญา พิพากษา ยกฟ้องคดี ม.112 'นารา เครปกะเทย'
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_8018907

ศาลอาญา พิพากษา ยกฟ้องคดี ม.112 ‘นารา เครปกะเทย’ กรณีร่วมทำแคมเปญโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์
 
วันที่ 21 ธ.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยถึง นายอนิวัต ประทุมถิ่น หรือ นารา เครปกะเทย พร้อมระบุว่า 

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดี #ม112 ของ “นารา” กรณีร่วมทำแคมเปญโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ เมื่อช่วงปี 2565 โดยเห็นว่าการกระทำยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย แต่ปัจจุบัน ‘นารา’ ยังถูกคุมขังในคดีส่วนตัวอยู่

ส่วนคดีของ “หนูรัตน์” ซึ่งถูกฟ้องแยกจากกัน ศาลนัดสืบพยานในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ปี 67
 
โดยในคดีนี้มี ศรีสุวรรณ จรรยา เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาที่ บก.ปอท. โดยในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 มัมดิวและหนูรัตน์ ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวตามหมายจับของศาลอาญา พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
  


ก้าวไกล ลุกขยี้สิทธิพิเศษคุมขัง ยกเคสเอกชัย ได้ไม่เท่าทักษิณ ทวีย้ำรายงานแพทย์ ยันป่วยจริง
https://www.matichon.co.th/politics/news_4341364

ก้าวไกลขยี้สิทธิพิเศษคุมขัง “ทักษิณ” ด้าน “ทวี” แจงชั้น 14 ไม่ใช่ชั้นพิเศษ เผยรายงานแพทย์ยัน “ทักษิณ”ป่วยจริง ชี้ระเบียบใหม่ราชทัณฑ์ใช้กับทุกคน
 
เมื่อเวลา 11.20 น.วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ส.ส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ถาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรม และหลักประกันว่า กฎหมายจะเป็นธรรม บังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค จึงอยากถามถึงความเป็นธรรม และการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ต้องขัง รวมทั้งสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง เพราะผู้ต้องขังทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าถึงสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม
 
กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เช่นเดียวกัน และกรมราชทัณฑ์ จะมีการเกณฑ์พิจารณาการให้สิทธิ์ผู้ต้องขังออกไปรับการรักษาพยบาลด้านนอกอย่างไรเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสงสัย เพราะนายทักษิณเข้าเรือนจำไม่ถึง 1 วันก็ถูกส่งตัวออกมารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกิน 120 วัน หากทียบกับสิทธิของผู้ต้องขังรายอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับนายทักษิณ เช่น นายเอกชัย หงส์กังวาน ที่ตรวจพบว่าเป็นฝีที่ตับ แต่กลับถูกส่งตัวเข้าเรือนจำระหว่างที่การรักษาไม่แล้วเสร็จ และแพทย์ระบุว่าเหตุของโรคมาจากความไม่ถูกสุขลักษณะภายในเรือนจำ
 
น.ส.ชลธิชา กล่าวต่อว่า กรณีของนายทักษิณ ทำให้สังคมตั้งคำถาม และขอให้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความจำเป็นที่นายทักษิณต้องพักรักษาตัวในห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ที่เป็นชั้นวีไอพี มีความเหมาะสมและจำเป็นอย่างไร เพราะตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ห้ามแยกผู้ต้องขังอยู่ห้องพิเศษแยกออกจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเลือกปฏิบัติผู้ต้องขังที่ร่ำรวย รวมถึงการออกระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ให้คุมขังนอกเรือนจำได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณหรือไม่ คดีใดบ้างจะเข้าตามระเบียบใหม่

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงแทนนายเศรษฐา ว่า นายทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่รัฐบาล “เศรษฐา” แถลงนโยบายวันที่ 11 กันยายน 2566 กระบวนการของนายทักษิณ รัฐบาลนี้จึงไม่ได้รับรู้ และการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลปัจจุบัน และเมื่อตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ปฏิบัติตาม
 
ยืนยันว่ารัฐบาลปัจจุบันยึดหลักหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนได้ตรวจดูถึงการออกกฎหมาย เพราะถูกตราหน้าจากสังคมโลก ว่า มีนักโทษล้นคุก และมีลักษณะการทรมาน ทำให้ไม่สามารถบริหารโทษผู้ต้องขังเฉพาะรายได้อย่างเหมาะสม เพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจ รวมถึงให้มีสถานควบคุม หรือคุมขังประเภทอื่นนอกจากเรือนจำทำให้การบริหารเรือนจำไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ โดยกฎหมายหลักออกมาเมื่อปี 2560 แต่ไม่มีผู้ออกกฎรองหรือระเบียบ  เพราะกรรมการราชทัณฑ์ไม่เคยมีการประชุม จนตนเข้ารับตำแหน่ง
 
พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงด้วยว่าส่วนกรณีของนายทักษิณ ที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ทราบว่าพักรักษาตัวนอกเรือนจำ ครบ 120 วัน ซึ่งตนจะพูดเฉพาะข้อเท็จจริงที่ได้รับเป็นเอกสารเท่านั้น เพราะหากพูดเกินไปจะถูกมองว่าเป็นศรีธนญชัย ซึ่งขณะนี้ตนยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ ทั้งนี้รับทราบจากอธิบดีราชทัณฑ์ว่า วันนี้ (21 ธ.ค.) จะส่งรายงานมายังตน และตนมีหน้าที่เพียงรับทราบ แต่ไม่ใช่ผู้อนุมัติ
 
ผมทราบว่า มีตัวแทนของหมอโรงพยาบาลตำรวจเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การตำรวจ และผมได้พูดคุยว่า เรือนจำคือที่คุมขังผู้ต้องขัง และสิ่งที่ต่อเนื่องตามกฎหมายถือว่าออกไปไหนไม่ได้ และมีผู้ควบคุม ไม่มีใครเยี่ยมได้ ซึ่งเป็นระเบียบเดียวกันกับเรือนจำ ผมถามหมอตรงๆ ท่านยืนยันว่า นายทักษิณป่วยจริง มีหลักฐานตามที่ปรากฎจริงและจากรายงานจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำ พบว่าผู้ป่วยเป็นหลายโรค กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง และเป็นความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ยืนยันว่าป่วยจริง” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
 
รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับระเบียบราชทัณฑ์เป็นเกณฑ์ปกติ ไม่ใช่เฉพาะนายทักษิณ ซึ่งออกระเบียบแล้วไม่ใช่จะจบเรื่อง เพราะต้องเข้าประชุมกรรมการ ที่จะประชุมต้นเดือนมกราคม 2567 ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกร่วมด้วย และขณะนี้ตนเตรียมออกระเบียบอีกฉบับ ให้การคุมขังนอกเรือนจำครอบคลุมผู้ที่อยู่ระหว่างสอบสวนด้วย โดยให้ศาลพิจารณา
 
ตามรายงานที่ปรากฎมาให้ผม ชั้น 14 ไม่ใช่ชั้นพิเศษ และผมยังพบผู้ใหญ่บางคนไปเยี่ยมญาติที่ชั้น14 เหมือนกัน แต่เป็นคนละส่วนกัน แต่การรักษาความปลอดภัยมีตามระบบของราชทัณฑ์ ส่วนเอกสารเกี่ยวกับสุขภาพ เรื่องอาการป่วย ไม่สามารถให้ได้ เพราะตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะต้องเป็นความรับ และรายละเอียดอื่นจะมองให้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว



ยื่นสภา 43,826 รายชื่อ แก้กม.ผู้สูงอายุ เพิ่มเบี้ยยังชีพ 3,000 ถ้วนหน้า วอน นายกฯเห็นชอบ
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4341248

‘เครือข่ายประชาชน’ รวมตัว เข้าสภา ยื่น ร่างผู้สูงอายุฯ หวัง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 21 ธันวาคม ที่รัฐสภา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป ยื่น 43,826 รายชื่อ เพื่อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นผู้รับแทน
 
โดยนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่า ประชาชนยื่นเสนอแก้ไขกฎหมายผู้สูงอายุ เพื่อปรับปรุงเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเราได้ยื่นไปแล้ว 3 ครั้ง แต่บำนาญถ้วนหน้าก็ยังไม่เกิดขึ้นสักที ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้คนในสังคมเห็นว่าการมีหลักประกันด้านรายได้เมื่อยามสูงวัยเป็นเรื่องสำคัญ ตนจึงวอนให้ นายเศรษฐาทวีสิน รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
 
ด้านนายปดิพัทธ์กล่าวว่า ตนอยากเรียกร้องไปยังฝ่ายบริหารให้เร่งพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ในเรื่องสวัสดิการประชาชนจะเป็นวาระใหญ่วาระหนึ่ง ของการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่ามีการจัดสรรได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ ส่วนร่างที่ยื่นมานั้นเราจะช่วยกันทำให้สมบูรณ์ เพื่อเร่งบรรจุเข้าระเบียบสภาโดยเร็ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่