JJNY : 5in1 ชัยธวัชจี้เคลียร์ให้ชัด│กมธ.'โรม'นำทีมลงพื้นที่│กัณวีร์รับหนังสือชาวจะนะ│เงินบาทปิด แกว่งแคบ│อสังหาฯ จีนล่ม

ชัยธวัช จี้ รัฐบาลเคลียร์ให้ชัด ทำไม ‘ทักษิณ’ มีอภิสิทธิ์นอน รพ. 120 วัน
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_8016269
 
 
“ชัยธวัช” จี้ รัฐบาล เคลียร์ให้ชัด “ทักษิณ” นอนรพ.120 วัน ใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่นหรือไม่ หวั่นระเบียบใหม่ราชทัณฑ์ ถูกใช้ 2 มาตรฐาน ฮึ่ม ฝ่ายค้านตรวจสอบแน่
 
เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 19 ธ.ค. 2566 ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ เรื่องการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำที่สังคมมองว่าอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่สังคมจับตาว่า เรามีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมแบบ 2 มาตรฐานมาโดยตลอด
 
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วย เราจึงคาดหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้มีการตั้งคำถามเยอะ โดยเฉพาะกรณีนายทักษิณ ซึ่งยังไม่ต้องพูดถึงระเบียบราชทัณฑ์ในการควบคุมตัวนอกเรือนจำ
 
ขณะนี้นายทักษิณอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจะครบ 120 แล้ว จึงเกิดคำถามว่าทำไมนายทักษิณถึงได้รับการปฏิบัติที่ดูเหมือนมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องขังคนอื่น เราเห็นด้วยว่าหากผู้ต้องขังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล
หากโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพไม่เพียงพอ ผู้ถูกคุมขังควรได้รับสิทธิ์ออกไปรักษาข้างนอกได้ แต่ที่ผ่านมามีผู้ต้องขังน้อยมากที่ได้รับสิทธิ์นี้ ผู้ต้องขังหลายคนมีปัญหาสุขภาพรุนแรง แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิ์นี้” นายชัยธวัช กล่าว
 
นายชัยธวัช กล่าวว่า คนที่ได้รับสิทธิ์นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมือง มีฐานะ แต่คนธรรมดาไม่เคยได้รับสิทธิ์นี้เลย จึงเกิดคำถามว่าทำไมนายทักษิณได้รับสิทธิ์นี้เพียงคนเดียว รักษามา 120 วันแล้ว ทำไมถึงได้รับสิทธิ์นี้อยู่ เรื่องนี้รัฐบาลไม่ควรปล่อยไว้ ควรตอบสังคมให้ชัดเจน และเรื่องนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับระเบียบราชทัณฑ์ที่ออกมาใหม่ ว่าจะเอื้อให้กับนายทักษิณแบบ 2 มาตรฐานอีกหรือไม่
 
“การควบคุมตัวผู้ต้องขังนอกเรือนจำเป็นเรื่องที่ดี และควรทำมานานแล้ว หลายประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีการพัฒนากระบวนการพวกนี้ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ แต่หากระเบียบนี้จะถูกใช้ในแบบ 2 มาตรฐาน มีใครได้รับอภิสิทธิ์เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ต้องเข้าใจว่าทำไมสังคมถึงตั้งคำถามแบบนี้” นายชัยธวัช กล่าว
 
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรตอบคำถามให้ชัดทั้ง 2 กรณี เพื่อให้สังคมสบายใจ ว่าเรื่องนี้ทุกคนจะได้รับสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น นอกจากนี้ ระเบียบก็ยังมีปัญหา เช่น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าใครจะได้รับสิทธิ์พิจารณาคุมตัวนอกเรือนจำบ้าง แต่ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ล้วนๆ ถึงมีปัญหาทั้งเรื่องนายทักษิณและระเบียบที่หละหลวม
 
เมื่อถามเรื่องการเปิดเผยข้อมูลโรคและการรักษา นายชัยธวัช กล่าวว่า ข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่กรมราชทัณฑ์ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า มีเหตุผลที่ฟังได้อย่างไรว่าทำไมนายทักษิณถึงมีสิทธิ์อยู่โรงพยาบาลเกือบจะ 120 วัน ไม่เหมือนกับนักโทษคนอื่นที่อาจจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพรุนแรง
 
เมื่อถามว่าหากรัฐบาลยังเงียบ จะทำอย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะต้องตรวจสอบแน่นอน ตนคิดว่าฝ่ายบริหารควรตอบสังคมให้ได้ในเรื่องนี้ อย่าเงียบและคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก



กมธ.ความมั่นคง พบ ‘ยางพารานำผ่าน’ กระทบชายแดน 'โรม' นำทีมลงพื้นที่ด่านเจดีย์สามองค์
https://voicetv.co.th/read/xVu_-1fyz

กมธ.ความมั่นคงฯ ลงพื้นที่ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี แก้ปัญหา ‘ยางพารานำผ่าน’ ส่งกลิ่น-กระทบการจราจรสังขละบุรี ‘ปิยรัฐ’ เผย ศุลกากร-กรมวิชาการเกษตร เถียงวุ่นนำผ่าน ‘น้ำยาง’ ได้หรือไม่ คาดเชิญอธิบดีหารือ 21 ธ.ค.นี้
 
เมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค. 66 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ตามข้อร้องเรียนของประชาชน นำโดย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ., ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.พรรคเพื่อไทย, ยูนัยดี วาบา สส.พรรคประชาธิปัตย์, ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล และ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ร่วมเดินทางไปด้วย
 
โดยในวันที่ 17 ธ.ค. กมธ.ความมั่นคงฯ ได้ลงพื้นที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นด่านผ่อนปรนชั่วคราวที่เดิมที่เคยเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางข้ามไปมาได้ระหว่างไทย-เมียนมาร์ แต่ในช่วงสองปีหลังการรัฐประหารในเมียนมาร์ ด่านพรมแดนนี้ถูกปิดไปแต่ยังสามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าสำคัญ สำหรับการอุปโภคบริโภคที่เป็นข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนโดยไม่เสียภาษี ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนมาว่า มีการลำเลียง “ยางพารา” ผ่านแดนโดยไม่เป็นการนำเข้า เรียกว่า “การนำผ่าน“ หมายความว่าไม่ใช่การนำเพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทยแต่เป็นการนำเข้ามาผ่านไทยและไปออกอีกด่านหนึ่งของไทยเพื่อไปยังประเทศที่สามโดยประเทศไทยไม่ได้นำมาใช้ โดยมีการนำผ่านยางพาราส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย
 
ปิยรัฐ ในฐานะโฆษก กมธ.ความมั่นคงฯ เผยว่า การนำผ่านลักษณะนี้ ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลยนอกจากค่าธรรมเนียม 650 บาทต่อรถบรรทุก 1 คัน ถนนพังเสียหายอีกเรื่องหนึ่งเพราะเป็นข้อตกลงภายในอาเซียน นอกจากนี้ ประชาชนได้ร้องเรียนมาว่า มีการลักลอบสำแดงปริมาณยางพาราเท็จ ทำให้เกิดยางพาราเถื่อนที่ราคาถูกกว่าเข้ามาในประเทศไทย กระทบต่อตลาดยางในประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีมีปัญหา แต่ยังมีผลกระทบมากกว่านั้นคือเรื่องกลิ่นของน้ำยางสด ที่มีกลิ่นรุนแรงมาก
 
จากการเห็นสภาพหน้างานจริง เห็นว่าตรงลานจอดรถนักท่องเที่ยวเดิมที่ด่านฯ ถูกแปลงเป็นลานจอดรถเทรลเลอร์ รถบรรทุกสิบล้อ จำนวนนับสิบๆ คันต่อวัน เพื่อที่จะมาถ่ายน้ำยางจากรถบรรทุกฝั่งเมียนมาร์ให้รถบรรทุกฝั่งไทย เป็นการ transit ยาง แล้วขับไปส่งที่ประเทศมาเลเซีย เกิดความ แออัดของด่านเต็มไปด้วยรถบรรทุกและเกิดกลิ่นน้ำยางสด จนภายหลังไม่อนุญาตให้ส่งน้ำยางสด เปลี่ยนเป็นยางแผ่นรมควัน และกระทบต่อช่องทางเดินรถของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปสังขละบุรี เพราะเป็นทางขึ้นเขาลงเขาที่มีเพียง 2 ช่องจราจร รถติด นักท่องเที่ยวไม่อยากมา จึงเป็นปัญหาสะสมของชาวสังขละบุรีที่เดิมมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว” ปิยรัฐกล่าว
 
ปิยรัฐ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. หลังลงพื้นที่ กมธ.ได้เรียกประชุมหน่วยงานท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ประกอบด้วย รณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี, พ.อ.สุรเดช เมฆานุวงศ์ รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า, อิศเรศ รุ่งเรืองชนบท นายด่านศุลกากรสังขละบุรี, ตัวแทนกรมวิชาการเกษตร จ.กาญจนบุรี ร่วมประชุมเพื่อพูดคุยหาทางออก ซึ่งในที่ประชุมมีการถกเถียงกันในประเด็นการนำผ่านยางพารา 
 
โดยผู้แทนกรมวิชาการเกษตร จ.กาญจนบุรี ยืนยันว่าอนุญาตให้นำเข้าเพียงยางแผ่นรมควันเท่านั้น ไม่สามารถนำน้ำยางสดเข้ามาได้ แต่ในขณะเดียวกัน นายด่านศุลกากรก็ยืนยันว่าไม่ว่ายางประเภทอะไรก็สามารถนำเข้ามาได้เพราะเป็นเพียงแค่การผ่านแดนไม่ได้เป็นการนำเข้า มีการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507
 
ซึ่ง กมธ. มีความเห็นว่าศุลกากรมีอำนาจในการตรวจสินค้าทุกชนิดที่มีการผ่านแดนเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือนำผ่าน ตาม  พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 จะละเว้นเพราะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไม่ได้ และไม่สามารถอ้างหลักความบริสุทธิ์ใจได้ เพราะกรมศุลกากรมีหน้าที่ตรวจตราแทนพี่น้องประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ กมธ.ยังคาใจ จะมีการเรียกสอบถามไปยังอธิบดีกรมศุลกากรอีกครั้ง ว่ามีอำนาจบังคับใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร ในกรณีนี้ได้หรือไม่ รวมถึงสอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตรว่า สามารถนำผ่านน้ำยางพาราได้หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.กักพืช คาดว่าจะมีการประชุมกับระดับอธิบดีในวันที่ 21 ธ.ค.นี้
 
ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปการแก้ปัญหาเบื้องต้นจากทางนายอำเภอสังขละบุรีว่า ได้มีการระงับการนำเข้าหรือผ่านแดนยางสดแล้วเนื่องจากส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อประชาชน ซึ่ง กมธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งก็พบว่าไม่มีการขนย้ายยางสดแล้ว ส่วนเรื่องปริมาณรถบรรทุก ที่จากเดิมสามารถขนส่งได้ไม่จำกัดจำนวนต่อวันเป็นการจำกัดที่ 30 คันต่อวัน และไม่อนุญาตให้เดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยอนาคตอาจจะมีการพิจารณาให้ขนส่งรถบรรทุกได้เฉพาะเวลากลางคืนเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงการพิจารณาจุดผ่อนปรนผ่านแดนจุดอื่น ซึ่งจะมีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
นอกจากนั้น ปิยรัฐ ยังเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า ลักษณะชายแดนบริเวณใกล้กับด่านเจดีย์สามองค์นั้น มีความเสี่ยงต่อการขนสิ่งของผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ เพราะมีบ้านเรือนประชาชนจำนวนหลายหลังที่มีทะเบียนบ้านของไทย แต่เมื่อเข้าทางหน้าบ้านแล้วทะลุออกหลังบ้านเป็นเขตแดนของประเทศเมียนมาร์ แม้ลักษณะบ้านจำพวกนี้จะไม่หรูหรา แต่มีราคาสูงหลักสิบล้านบาท กมธ.ได้ลงพื้นที่ไปดูมาแล้วและได้ถามไปในที่ประชุมแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ มีการยอมรับว่ามีบ้านลักษณะนี้จริง ยากต่อการจัดการของเจ้าหน้าที่เพราะเป็นบ้านที่มีโฉนดที่ดิน มีบ้านเลขที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย



กัณวีร์ รับหนังสือชาวจะนะ ร้องสอบรัฐออกโฉนดที่ดินจาก สค.1 ล่าช้า68ปี
https://www.khaosod.co.th/politics/news_8015328

กัณวีร์ รับหนังสือ ชาวบ้านจะนะ ร้องตรวจสอบรัฐ ออกโฉนดที่ดินจาก สค.1 ล่าช้ามา 68 ปี ทำสูญเสียสิทธิ ขอยกเลิกเขตป่าไม้และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ที่มาหลังชาวบ้านอยู่อาศัยมากว่า 200 ปี
 
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2566 ที่บ้านหว้าหลัง ม.10 ต.นาหว้า อ.จะนะ จ.สงขลา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ลงพื้นที่เพื่อรับหนังสือจากชาวบ้าน โดยนายอภิวัฒน์ พรหมทอง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาหว้า เป็นตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือถึงนายกัณวีร์ เพื่อส่งต่อไปยัง คณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

นายกัณวีร์ กล่าวว่า ในเดือนธันวาคม ปี 2565 ตนเองได้ลงพื้นที่มารับฟังปัญหาจากชาวบ้านแล้ว หลังได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ก็พบว่าผ่านมา 1 ปี ปัญหาของชาวบ้านยังไม่มีความคืบหน้า จึงมารับหนังสือประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะนอกจากเป็นปัญหาทางกฎหมายแล้ว ชาวบ้านยังสูญเสียสิทธิที่ควรจะได้รับหากมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ถูกต้อง แต่กระบวนการของรัฐล่าช้ามากว่า 68 ปีแล้ว
 
นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า จะใช้กลไกของรัฐสภาที่มีทั้งการขอหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหา และส่งต่อให้คณะกรรมธิการที่ดินฯ ตรวจสอบโดยตรง ส่วนที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชน และความไม่ยุติธรรม จะต้องเข้าสู่คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ  ด้วย จะตั้งใจทำเรื่องนี้ให้เห็นผลในสมัยสภาฯนี้ให้ได้
 
ประชาชนรอมาเกือบ 7 ทศวรรษ เป็นไปได้อย่างไร ระบบราชการต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น เพื่อทำงานได้มีประสิทธิภาพ เพราะความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม และจะประสาน สส.ในพื้นที่ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ให้รับทราบด้วยว่าจะช่วยผลักดันเรื่องนี้ร่วมกันหรือไม่” นายกัณวีร์ กล่าว
 
ด้าน นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ชาวบ้านมากกว่า 116 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอร้องเรียน ให้มีการตรวจสอบ สอบถาม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดินให้กับชาวบ้าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่