JJNY : นิด้าโพลหนุนขึ้นค่าแรงเท่ากันทุกจังหวัด│ดุสิตโพลกังวล ฝุ่น PM 2.5│เงินบาทแข็งค่า│ปูตินลงสมัครเลือกตั้งในนามอิสระ

นิด้าโพลปชช.หนุนขึ้นค่าแรงเท่ากันทุกจังหวัด
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_654565/
 
 
นิด้าโพลเผยประชาชนมองว่าขึ้นเงินเดือนข้าราชการกลุ่มแรกเข้าใน 2 ปีเหมาะสมแล้ว ชี้ค่าแรงขึ้นต่ำควรขึ้นให้เท่ากันทุกจังหวัด
 
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการขึ้นเงินเดือนข้าราชการกลุ่มแรกเข้า ภายใน 2 ปี พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 48.93 ระบุว่า เหมาะสมดีแล้ว รองลงมา ร้อยละ 28.63 ระบุว่า ควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการทุกกลุ่มไม่ว่าจะแรกเข้าหรือรับราชการมานานแล้ว ร้อยละ 13.66 ระบุว่า ไม่ควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการตอนนี้ ร้อยละ 3.74 ระบุว่า ขึ้นน้อยเกินไป ร้อยละ 3.51 ระบุว่า ขึ้นมากเกินไป และร้อยละ 1.53 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.11 ระบุว่า ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเพิ่มขึ้นเท่ากันทุกจังหวัด รองลงมา ร้อยละ 28.40 ระบุว่า ขึ้นน้อยเกินไป ร้อยละ 28.32 ระบุว่า เหมาะสมดีแล้ว ร้อยละ 6.18 ระบุว่า ไม่ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้ ร้อยละ 0.84 ระบุว่า ขึ้นมากเกินไป และร้อยละ 1.15 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 


‘สวนดุสิตโพล’ เผยคนไทยวิตกกังวล ฝุ่น PM 2.5 มองรัฐบาลคงแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ 
https://www.dailynews.co.th/news/2999741/

สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนไทยกับฝุ่น PM 2.5” ค่อนข้างวิตกกังวล มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น สาเหตุหลัก "เผาไร่นา เผาป่า" มองว่ารัฐบาลคงแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“คนไทยกับฝุ่น PM 2.5” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,123 คน สำรวจระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม 2566 พบว่า กลุ่มตัวอย่างค่อนข้างวิตกกังวลกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร้อยละ 48.89 โดยมองว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเพราะการเผาไร่นา เผาป่า ไฟป่า ร้อยละ 79.04

ประชาชนมีวิธีรับมือด้วยการติดตามข่าวสารและแนวทางปฏิบัติจากภาครัฐ ร้อยละ 78.72 และเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แก้ไขได้ยาก คือ การเผาไร่นา เผาป่า นั้นเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ร้อยละ 82.87
 
ด้านรัฐบาลควรมีมาตรการควบคุมและบทลงโทษที่เด็ดขาด ร้อยละ 85.89 สุดท้ายมองว่ารัฐบาลคงจะแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ ร้อยละ 74.53
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนวิตกกังวลมากขึ้นว่าอาจกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ด้านรัฐบาลก็ออกมาแนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและเร่งผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งประชาชนเองก็พร้อมปฏิบัติตามข้อแนะนำจากทางภาครัฐ แต่ด้วยปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปีแต่วิธีแก้ปัญหายังเน้นการตั้งรับจึงทำให้ประชาชนยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาล (ใหม่) จะแก้ปัญหานี้ได้

ดร.พรธิดา เทพประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบสะสมต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยในระยะยาว ซึ่งจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคพบว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยจะมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม เนื่องจากมีสภาพความกดอากาศต่ำหรือสภาพอากาศปิด ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสม ในบรรยากาศจากอัตราการระบายอากาศไม่ดี รวมทั้งยังคงมีแหล่งมลพิษทางอากาศซึ่งยังไม่สามารถควบคุมให้ลดลงได้
 
และเมื่อพิจารณาสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกับผลสำรวจ “คนไทยกับฝุ่น PM 2.5” จะพบว่าเมื่อคนไทยหนีฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้จึงต้องเรียนรู้อยู่กับฝุ่นให้สุขภาพไม่พัง ด้วยการเฝ้าระวังและป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงการรับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายเมื่อมีการแจ้งเตือนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งมีการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 ในวันที่มีปริมาณฝุ่นหนาแน่น และสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ร่วมกันทุกภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืนลดปัญหาโลกรวนที่ทำให้ความรุนแรงของมลพิษทางอากาศมากขึ้นได้
 

 
เงินบาทแข็งค่า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า-ราคาทองตลาดโล
https://www.prachachat.net/finance/news-1461442

เงินบาทพลิกแข็งค่า หลังสัญญาณจากเฟด สะท้อนว่า เฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และอาจเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีหน้า  SET Index ร่วงแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีช่วงกลางสัปดาห์ก่อนจะดีดตัวขึ้น  จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ

วันที่ 17 ธันวาคม 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทพลิกแข็งค่าผ่านระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากที่อ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ หลังจากที่รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ (CPI ขยับขึ้น 0.1% MoM แต่ตลาดคาด 0.0% MoM) กระตุ้นการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะไม่รีบส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน โดยจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และการร่วงลงอย่างหนักของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังผลการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดอาจจบรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ Dot plot บ่งชี้ว่า อาจมีการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปี 2567
 
นอกจากนี้สัญญาณตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปของ ECB และ BOE ก็เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินบาทได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวกลับขึ้นมาของราคาทองคำในตลาดโลกและการขยับแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินในภูมิภาค
 
ในวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ธ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 5,363 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 1,623 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 1,663 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 40 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (18-22 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของ PBOC
 
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนธ.ค. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนพ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของยูโรโซนและอังกฤษด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 1,354.73 จุดช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนดีดตัวขึ้นหลังผลการประชุมเฟด ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติระหว่างที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ และหุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งยังเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง
 
อย่างไรก็ดีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ หลังผลการประชุมเฟดเป็นไปตามคาด ประกอบกับเฟดได้ส่งสัญญาณจบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้และอาจปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 ส่งผลให้มีแรงซื้อคืนหุ้นในทุกอุตสาหกรรม
ในวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,391.03 จุด เพิ่มขึ้น 0.73% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 43,844.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.45% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.16% มาปิดที่ระดับ 395.87 จุด
 
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,370 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,425 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ
 
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนธ.ค. ของจีน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่