ทรงอย่างแบด Corner แตก ? - โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



เขียน ณ วันที่ 18 ก.พ 2566

ช่วงเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นขนาดกลางและเล็กหลายตัวและหลาย “กลุ่ม” ที่มีความสัมพันธ์กันทางด้านบริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่ ตกลงมาแรงอย่าง “พร้อมเพรียงกัน” บางตัวและบางกลุ่มตกลงมาแล้วถึง 30-50% จากจุดสูงสุด

โดยที่เหตุผลส่วนใหญ่ก็คือ ผลประกอบการหรือการคาดการณ์ว่าผลประกอบการที่ประกาศ “น่าผิดหวัง” แต่ที่จริงบางตัวก็ไม่ได้น่าผิดหวังมาก กำไรยังโตขึ้นด้วยซ้ำแต่ก็เป็นการโตที่น้อยกว่าที่ตลาดคาด ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผลประกอบการที่แย่ลงแค่นั้นโดยปกติก็ไม่น่าจะทำให้ราคาหุ้นต้องตกลงมาขนาดนั้น

สิ่งสำคัญที่ทำให้หุ้นตกหนักมากน่าจะอยู่ที่ปรากฎการณ์ที่ผมเรียกว่า “Corner แตก” ซึ่งความหมายก็คือ หุ้นเหล่านั้นถูก “Corner” หรือ “ต้อนเข้ามุม” หรือกวาดซื้อโดยเฉพาะจากนักลงทุนรายใหญ่ที่อาจจะไม่สนใจเรื่องของ “มูลค่าพื้นฐานของหุ้น” มาก่อน ซึ่งทำให้ราคาหุ้นสูงผิดปกติไปมาก บางทีหลาย ๆ เท่าเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง และในกระบวนการที่หุ้นวิ่งขึ้นไปแรงและสูงมากนั้น ทำให้มีคนเชื่อและมีนักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยจำนวนมากเข้าร่วมเล่นเก็งกำไรในหุ้นตัวนั้นโดยที่คิดว่ามันคือ “หุ้นดีสุดยอด”

แต่เมื่อผลประกอบการออกมาที่แสดงว่ามันไม่จริงหรือเป็นเรื่องหลอกลวง คนบางคนก็เทขายหุ้น ทำให้หุ้นตก และก็ทำให้คนอื่นเทขายตามในขณะที่คนซื้อโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ “รับไม่ไหว” หุ้นจึงตกลงมาแรง

คนที่เล่นหุ้นที่ถูก Corner รวมถึงรายใหญ่ที่เป็นคน Corner หุ้นนั้น จำนวนมากอาศัยการกู้เงินหรือซื้อหุ้นด้วยมาร์จิน เพื่อ “เพิ่มพลัง” การเล่นและการทำ Corner นั่นก็คือ อาจจะสามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้เป็น 2 เท่า ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้อาจจะ 4 เท่า ทำกำไรเพิ่ม “บนกระดาษ” เพิ่มขึ้น 8 เท่า ก่อนที่จะเริ่ม “ออกของ” หรือ “ทยอย” ขายทำกำไรเป็นเงินสดจริงเมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่รวมถึงนักลงทุนที่ “ชาญฉลาด” อย่างนักลงทุนสถาบันเชื่อว่ามันคือ “หุ้นดี โตเร็ว และ ไม่แพง” แม้ว่าจะมีค่า PE กว่า 40-50 เท่าขึ้นไป

แต่การประกาศหรือการรู้ว่าผลประกอบการจะออกมาไม่ดีได้ทำลายโอกาส “ออกของ” อย่างเป็นระเบียบราบรื่น หุ้นที่ตกลงมาแรงจนถึงจุดที่คนซื้อด้วยมาร์จินบางคนถูกบังคับขายซึ่งทำให้หุ้นตกลงมาอีก จนถึงจุดที่อีกคนหนึ่งจะต้องถูกบังคับขายตาม และกระบวนการนี้ก็กลายเป็น “ปฏิกริยาลูกโซ่” หุ้นถูกเทขายจน “ถล่มทลาย” และเมื่อราคาลงมาแรงขนาดนั้น นักลงทุนรวมถึง “ผู้ชาญฉลาด” ก็ “ขาดความมั่นใจ” และก็ “เปลี่ยนมุมมองต่อหุ้น” ว่ามันไม่ดีอย่างที่เคยคิด แม้ว่าเมื่อ 2-3 เดือนก่อนยังบอกว่าเป็นหุ้น “สุดยอด”

การ Corner หุ้นในตลาดไทยนั้น ในระยะหลัง ๆ มีการพัฒนาไปมาก เฉพาะอย่างยิ่งก็คือนัก Corner หุ้นรายใหญ่หรือคนที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จและมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นมาก ต่างก็ขยายไปทำหุ้นตัวอื่นที่มองแล้วมีโอกาสทำสำเร็จได้ง่ายแบบที่เคยทำ ดังนั้น คน ๆ เดียวจึงมักจะ Corner หุ้นหลายตัว เช่นเดียวกับนักเล่นหุ้นเก็งกำไรรายย่อยก็เล่นหุ้น Corner หลายตัวพร้อม ๆ กัน คนต่างก็เชื่อว่าการทำแบบนี้จะได้ผลดีขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สร้าง “ความน่าเชื่อถือ” ให้กับตัวหุ้นแต่ละตัวว่าจะต้องประสบความสำเร็จแน่นอน เพราะ “จ้าว” รายนี้หรือกลุ่มนี้เข้าเล่นตัวนี้การันตีได้ว่า “ไม่ผิดหวัง” แน่นอน ดังนั้น หุ้นที่ถูก Corner ในตลาดจึงเต็มไปด้วย “เครือข่าย” โยงใยกัน เวลาวิ่งขึ้นก็ไปพร้อมกัน และเวลาลงก็ลงพร้อมกัน เพราะเงินมาจากกระเป๋าเดียวกัน

ประเด็นสำคัญต่อไปก็คือ “Corner” ของหุ้นแต่ละตัวนั้น แตกไปแค่ไหนแล้ว? เราคงไม่อยากเข้าไป “เล่น” ถ้ามันแตกไปแค่ “ครึ่งเดียว” เพราะในไม่ช้ามันก็จะแตกต่อไปจนหมด ราคาหุ้นมีการซื้อขายเป็นธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มักจะสะท้อนออกมาที่ราคาหุ้นที่ยุติธรรม มีค่า “PE ปกติ” ตามอุตสาหกรรมและคุณสมบัติของตัวบริษัท เช่น ถ้าเป็นสถาบันการเงินก็อาจจะบอกว่าต้องรอให้มีค่า PE ประมาณ 10 เท่าก่อนที่จะพิจารณาซื้อหุ้นลงทุน เป็นต้น

โดยปกติถ้า Corner แตกหมดแล้ว ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ ราคาหุ้นก็จะตกลงไปมาก ขนาดตกลงไป 70-80% จากราคาสูงสุดก็เป็นไปได้ บางทีเราก็อาจจะต้องดูว่า ราคาก่อนที่จะมีการ Corner หุ้นนั้น เป็นเท่าไร เพื่อที่จะดูว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมตามพื้นฐานควรจะเป็นเท่าไร อย่างไรก็ตาม สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเพียงแนวทางเริ่มต้นที่จะดู

สาเหตุเพราะว่า ในบางครั้ง กิจการของบริษัทอาจจะดีขึ้นจริง ราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปได้ตามที่ควรจะเป็นแม้ว่าจะไม่มีการ Corner หุ้น อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่กิจการดีขึ้นตามปกตินั้น ส่วนใหญ่แล้วราคาพื้นฐานของหุ้นก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วมากมายเป็นหลาย ๆ เท่าในเวลาแค่ 2-3 ปีได้ถ้าไม่มีการ Corner หุ้นไม่ว่าจะตั้งใจทำหรือไม่ก็ตาม

หุ้นที่ถูก Corner บางตัวที่ “แตก” ลงมาระดับหนึ่งเช่น “ครึ่งเดียว” นั้น ผมคิดว่าเป็นเพราะยังมีรายใหญ่ที่ “ค้ำ” อยู่ ไม่ยอมทิ้งให้หุ้นตกลงไปถึงพื้น เหตุผลก็เพราะว่าถ้าปล่อยแบบนั้น ความมั่งคั่งก็จะหายไปหนักมาก พูดง่าย ๆ เขาอาจจะ “สู้ต่อ” และก็หวังว่าวันหนึ่งเมื่อท้องฟ้าโปร่ง สถานการณ์ดี กำไรบริษัทดีกลับขึ้นมา เขาหรือนักลงทุนรายใหม่ก็จะสามารถกลับมา Corner หุ้นและทำกำไรจากหุ้นได้อีก และนี่ทำให้ผมนึกถึง “หุ้นยักษ์” บางตัวที่อยู่ใน Corner และก็ “แตก” และก็กลับมา Corner ใหม่

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในระยะยาวพอสมควร หุ้นที่มีราคาเกินพื้นฐานไปสุดกู่ เช่น เกินไป 100% จากมูลค่าพื้นฐานขึ้นไปก็มักจะอยู่ไม่ได้ จะต้องมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างทำให้ Corner แตก โดยเฉพาะถ้าหุ้นตัวนั้นไม่ใช่ “One Shareholder Company” คือ ผู้ถือหุ้นรายเดียวหรือครอบครัวเดียวถือหุ้นอยู่เกิน 70-80% ขึ้นไป

ประเด็นสุดท้ายก็คือ เป็นไปได้ไหมว่า การที่หุ้นขึ้นไปแรงมากเป็นหลาย ๆ เท่าในเวลาอันสั้น และตกลงมาแรงมากเป็นหลาย ๆ สิบเปอร์เซ็นต์ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเป็นพิเศษนั้น เป็นแค่เรื่องของการเก็งกำไรธรรมดา โดยที่หุ้นขึ้นเพราะว่ามันดีมากในสายตาของนักลงทุนบางคนเขาจึง “ไล่ซื้อ”

เช่นเดียวกับเวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีหรือนักลงทุนบางคน “เปลี่ยนมุมมอง” แล้วก็ “เทขาย” ไม่ได้มีใครมา “ปั่นหุ้น” โดยการทำ “Corner” การซื้อขายทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติ? และว่าที่จริง นักลงทุนแนวเน้นหุ้นเติบโต หรือ “Growth Investor” เขาก็ซื้อขายหุ้นแนวนี้และไม่สนใจเรื่องของราคาว่าจะแพงมากแค่ไหน

ข้อนี้ผมเองได้สังเกตและวิเคราะห์จากข้อมูลของ “หุ้นเติบโต” เช่น ในตลาดหุ้นอเมริกันก็พบว่าไม่สามารถนำมาอธิบายหุ้นที่ถูก Corner ในตลาดหุ้นไทยได้ จริงอยู่ มีบางอย่างคล้าย ๆ กัน แต่ระดับของกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนั้นแตกต่างกันมาก และหุ้นสหรัฐที่มีพฤติกรรมแบบหุ้นที่ถูก Corner ของไทยนั้นมักจะมีแต่ “หุ้นที่จะเปลี่ยนโลกจริง ๆ” เท่านั้นที่จะหวือหวาและขึ้นลงแรงแบบนั้น

ตัวอย่างเช่น หุ้นเฟซบุคช่วงเข้าตลาดหุ้นใหม่ ๆ หรือหุ้นอย่างเทสลาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งผมเองก็ยังสงสัยและรู้สึกว่า เทสลาอาจจะไม่ใช่หุ้นเปลี่ยนโลกด้วยซ้ำ แต่เป็นหุ้นที่ถูก Corner ในสถานการณ์พิเศษของอเมริกาที่เกิดการเก็งกำไรสุดกู่ในตลาดหุ้นช่วงโควิด-19 ซึ่งในกรณีของหุ้นไทย ผมไม่เห็นเลยว่าจะมีบริษัทไหนที่จะเป็นแบบนั้น

ข้อสรุปสุดท้ายของผมต่อเรื่องของหุ้นที่ถูก Corner ก็คือ ผมจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเข้าไปร่วมเล่นหรือมีส่วนเข้าไป Corner เองแม้โดยไม่ตั้งใจ นอกจากนั้น แม้ว่า Corner อาจจะแตกไปแล้ว ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งทำให้ราคาหุ้นอาจจะไม่ได้แพงเมื่อเทียบกับพื้นฐานผมก็ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ผมไม่อยากเล่นกับหุ้นที่มีความผันผวนหนักและคาดการณ์ยาก ผมอยากใช้ชีวิตการลงทุนที่ทำแบบชิล ๆ อยู่กับหุ้นได้นาน ๆ และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนเพราะ Corner แตก โดยไม่ต้องกังวลกับเหตุการณ์อะไรมากนักแม้ว่าพอร์อาจจะโตช้าลงไปบ้าง

18 ก.พ 2566
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อ้างอิง https://www.finnomena.com/dr-niwes/corner-3/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่