Lost Decades การจมดิ่งที่ไร้ความหวังของญี่ปุ่นยาวนานกว่า 30 ปี

https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1101362

เงินเยนก็ยิ่งแข็งขึ้นมาทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นมีปัญหา ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) และรัฐบาลญี่ปุ่นแก้ปัญหาด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบมากขึ้น แต่ยิ่งทำให้เกิดราคาสินทรัพย์ที่พุ่งสูงตัวอย่างรวดเร็วและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ร้อนจัด รวมถึงปริมาณเงินและการขยายสินเชื่อที่ไม่สามารถควบคุมได้ ผลก็คือเกิเดภาวะเรียกว่า "ฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ของญี่ปุ่น" ตั้งแต่ปี 1986 ถึง 1991 ซึ่งราคาอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นสูงเกินจริงอย่างมาก

เพราะหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ BOJ ยังกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพื่อทำยอดให้ถึงโควต้าโดยไม่พิจารณาว่าผู้กู้มีความสามารถที่จะใช้คืนได้หรือไม่ ทำให้เกิดหนี้เสียรุนแรงมาก BOJ พยายามแก้ไขด้วยการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นแต่ล้มเหลว โดยพยายามที่จะลดการเก็งกำไรและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารอย่างรวดเร็วในปลายปี 1989 นโยบายที่เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมืออย่างกระทันหันนี้ทำให้เกิดฟองสบู่แตก และตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ล่มสลาย

พอปรับนโยบายครั้งที่ 5 ภายในเดือนสิงหาคม 1990  ดัชนีหุ้น Nikkei ก็ร่วงลงมาอยู่ที่ครึ่งหนึ่งจากงจุดสูงสุด ถึงปลายปี 1991 ราคาสินทรัพย์อื่นๆ ก็เริ่มลดลง จนกระทั่งราคาสินทรัพย์ทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในต้นปี 2535 ณ จุดนี้ในที่สุดฟองสบู่ก็แตกเป็นที่เรียบร้อย และเมื่อฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ของญี่ปุ่นแตก ก็ทำให้เกิดสิ่งที่หลายคนเรียกว่า "ทศวรรษที่หายไป" (Lost Decades) หรือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่โตหรือโตน้อยมาก ต่างกับช่วงก่อนวิกฤตที่ยิ่งใหญ่จนเทียบไม่ติด ตั้งแต่ปี 1991 ถึง 2003 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเมื่อวัดโดย GDP ขยายตัวเพียง 1.14% ต่อปี

มันคือช่วงเวลาที่สูญหายไปจริงๆ เพราะธุรกิจญี่ปุ่นพังพินาศ บริษัทปิดตัวลงกระทันหัน ทำลายโครงสร้างการจ้างงานของญี่ปุ่น ที่ก่อนนี้จะจ้างและดูแลกันไปทั้งชีวิต แต่จู่ๆ มนุษย์เงินเดือนจำนวนมหาศาลก็พบว่าตัวเองไม่มีงานทำ ไม่รู้จะทำอะไรกับอนาคต คนหนุ่มสาวก็ไม่มีความหวัง เพราะหางานที่มีความมั่นคงได้ยาก และค่าจ้างที่แท้จริงยังลดลงประมาณ 5% ธุรกิจที่รอดมาได้ก็ไม่สามารถโตได้ เพราะญี่ปุ่นประสบกับภาวะราคาสินค้าและบริการชะงักงัน ในขณะที่ผู้บริโภคก็กังวลใจจนไม่กล้าใช้เงิน ทำส่งผลให้การบริโภคลดลงอย่างมาก ส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืดในระยะยาวในญี่ปุ่น 

ชาวญี่ปุ่นเลิกหวังกับการทำงานที่มั่นคง และระวังตัวตลอดเวลากับการใช้จ่าย ทำให้มีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนญี่ปุ่นออมเงินในระดับสูงที่สุดในโลก พฤติกรรมนี้สร้างปัญหาให้รัฐบาลมาก เพราะเงินถูกเก็บเอาไว้จนไม่ไหลออกมาสู่ระบบ ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นติดกับดักภาวะเงินฝืด นั่นคือถึงราคาข้าวของจะไม่แพงเพราะธุรกิจซบเซา แต่ประชาชนก็ไม่ยอมใช้จ่าย ทำให้เงินหมุนเวียนน้อย

BOJ ใช้นโยบายดอกเบี้ยเป็นศูนย์ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เพื่อให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะถดถอยหลังวิกฤตฟองสบู่ แต่แม้จะตรึงดอกเบี้ยในระดับ 0% มานานกว่า 20 ปีแล้ว มันก็ยังไม่ได้ผลชัดเจน แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาบ้างในอัตราเลขหลักเดียว ในขณะที่รัฐบาลก็อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะแต่ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน และการใช้งบประมาณไปกับเรื่องนี้มากมาย ทำให้ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ทศวรรษที่ 2000 - 2010  ธุรกิจญี่ปุ่นยิ่งเจอผลกระทบจากการที่คู่แข่งแข็งแกร่งขึ้นมานั่นคือจีนกับเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีอัตราการเกิดของประชากรต่ำมาก ทำให้แรงงานคนหนุ่มสาวมีน้อย บวกกับประชากรสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสุ่ภาวะสังคมาผู้สูงวัย ซึ่งมีแต่คนวัยชราที่รอความช่วยเหลือ แต่คนทำงานหาเงินน้อยลง รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยิ่งติดกับดักที่จะต้องก่อหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำมาประคองประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ได้เต่เฝ้าดูโดยเดาไม่ถูกว่าญี่ปุ่นจะลงเอยแบบไหน ถ้ายังติดอยู่ในวังวนแบบนี้ 

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่