ดอกเบี้ยระดับไหน? เหมาะสมกับ "เศรษฐกิจไทย"

ค่อนข้างชัดเจนว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ (29 พ.ย.) ที่ประชุมน่าจะโหวต “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.5% ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็จะนับเป็นการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 ที่ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 8 ครั้ง รวม 2% จากระดับ 0.5% มาอยู่ที่ 2.5% ในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ต้องจับตาจากการประชุมครั้งนี้ คือ กนง. มองภาพเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าอย่างไร เพราะจะบ่งชี้ถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า
ถ้าดูตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของ กนง. ซึ่งเป็นหนึ่งในบอร์ดเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในรอบการประชุมก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ทาง กนง. มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดี แม้ว่าช่วงนั้นทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมาช็อกตลาดเพราะเติบโตเพียง 1.8%

แต่ กนง. มองว่าเป็นสถานการณ์แค่ชั่วคราว จึงปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเฉพาะในปีนี้ลงจาก 3.6% เหลือ 2.8% และปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวในปี 2567 ขึ้นจาก 3.8% เป็น 4.4% เรียกว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่อื่นค่อนข้างมาก 

แต่การประชุมครั้งนี้ (29 พ.ย.) นับว่ามีปัจจัยใหม่ที่ต้องติดตามอีกมาก โดยเฉพาะตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 ที่ สศช. เพิ่งประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ขยายตัวได้เพียง 1.5% เรียกว่าหนักกว่าตัวเลขไตรมาส 2 เสียอีก

ดังนั้น จึงต้องดูว่าครั้งนี้ ธปท. จะมีการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่ด้วยหรือไม่ ที่สำคัญ ธปท. มองอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเทียบกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าดูความเห็นของตลาดก็เริ่มมีคนที่มองว่า อาจเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2567 ได้เช่นกัน 

โดย “โนมูระ” และ “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” เป็น 2 สำนักวิจัยที่เริ่มมองว่า มีโอกาสเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า ซึ่งทาง โนมูระ ประเมินว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2566 ที่ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ค่อนข้างมาก บวกกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ผสมโรงกับตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนซึ่งไม่เป็นไปตามคาด อาจทำให้ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงในปีหน้าได้เช่นกัน

เช่นเดียวกับ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงการเติบโตที่ต่ำกว่าคาด รวมไปถึงความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลัง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่น่าผิดหวัง ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้ามีโอกาสสูงที่จะโตต่ำกว่าประมาณการ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ กนง. อาจตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในปีหน้าได้เช่นกัน

...ที่กล่าวมายังเป็นเพียงการคาดการณ์ของตลาดเท่านั้น เราคงต้องรอฟังความเห็นจากคน ธปท. ซึ่งการแถลงข่าวในช่วง 14.30 น. ของวันนี้คงได้คำตอบที่ชัดเจน แต่เอาจริงๆ ก็น่าคิดว่า เศรษฐกิจไทยที่ศักยภาพดูจะเติบโตต่ำลงเรื่อยๆ แล้วระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับศักยภาพใหม่ของเราควรอยู่ที่จุดใด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่