ทำไมอาหารภาคกลางกับอาหารภาคใต้ถึงแทบไม่มีเมนูเนื้อสัตว์ดิบเลย

อยากทราบครับว่า ทำไมอาหารภาคกลางกับอาหารภาคใต้ (แบบดั้งเดิม) ถึงแทบไม่มีเมนูเนื้อสัตว์ดิบเลย อาจจะมีบ้างคือพวกปลาหรืออาหารทะเล แต่เนื้อสัตว์บกนี่แทบไม่มีดิบเลย ในขณะที่ภาคเหนือกับภาคอีสานที่มีเมนูเนื้อดิบอยู่บ้าง เช่นหลู้ ลาบเลือด เลือดแปลง

จขกท. เคยดูรายการนิ้วกลมดมโรตี ที่คุณนิ้วกลมคุยกับอาจารย์ตุลย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรือเชฟหมี เกี่ยวกับเรื่องของอินเดียในประเด็นต่างๆ ซึ่งตัวจริงของเชฟหมีหรืออาจารย์ตุลย์เป็นอาจารย์สาขาวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอินเดีย มีอยู่ตอนหนึ่ง (แบ่งเป็นสามพาร์ท) เกี่ยวกับอาหารอินเดีย อาจารย์ได้เล่าถึงหลักการเรื่องการกินอาหารของอินเดียที่แฝงความเชื่อและปรัชญาต่างๆ มีอยู่ตอนหนึ่งที่แกบอกว่าอินเดียถ้าเป็นคนที่กินเนื้อ (หมายถึงเนื้อสัตว์ทุกชนิด ภาพจำของหลายคนอินเดียมักเป็นมังสวิรัติ แต่คนกินเนื้อก็ยังมีจำนวนมากแม้เป็นชาวฮินดู กระนั้นเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้เป็นอาหารที่กินประจำเนื่องจากราคาแพง มักกินกันในโอกาสพิเศษ) ก็จะไม่กินเนื้อสัตว์ดิบ มีอีกตอนหนึ่งอาจารย์เล่าว่าวัฒนธรรมอินเดียเข้ามายังไทยที่ภาคใต้ก่อนขึ้นมาภาคกลาง และส่วนอื่นๆ เมื่อมาลองคิดดูอีกที เรื่องที่ภาคใต้กับภาคกลางที่อาจจะถูก Indianized หรือรับวัฒนธรรมจากทางนั้นมามากหน่อยอาจรับธรรมเนียมตรงนี้มาด้วย ในขณะที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และอาจรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แถบตอนใต้ของจีน หรือแถบ Zomia (เขตภูเขาทางตอนบนของอุษาคเนย์) ที่อาจจะถูก Indianized น้อยกว่า จึงยังมีวัฒนธรรมกินดิบ อันนี้เป็นการวิเคราะห์ของ จขกท. นะครับ ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกันไหม ถ้าไม่เกี่ยวก็น่าคิดว่าการกินดิบนั้นมีที่มาจากอะไร เป็นวัฒนธรรม การแสดงความกล้าหาญ หรืออะไร เป็นประเด็นที่น่าสงสัยอยู่

รบกวนช่วยตอบด้วยครับ ขอบคุณครับ หากมีส่วนใดที่เข้าในผิดหรือผิดพลาดไปก็ขออภัยด้วยครับ
หมายเหตุ: กระทู้นี้ตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่