Monster (2023) - ตามหาความจริงของ "สัตว์ประหลาด" และบาดแผลจากความรุนแรง

Monster: มอนสเตอร์


กำกับโดย Hirokazu Koreeda และเขียนบทโดย Yûji Sakamoto

สวัสดีครับ ! ในที่สุดก็ได้รับชมสักทีกับ Monster (2023) ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ Hirokazu Koreeda ซึ่งได้เข้าชิงรางวัลใหญ่อย่าง "ปาล์มทองคำ" (Palme d'Or) และคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Canne Film Festival

โดดเด่นขนาดนี้ ก็อยากจะมาแชร์รีวิวสักนิด สำหรับท่านที่สนใจนะครับ

เรื่องย่อ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
MONSTER | มอนสเตอร์ - Official Trailer

"ซาโอริ" (Sakura Ando) แม่คนหนึ่ง พบว่า "มินาโตะ" (Soya Kurokawa) ลูกชายของเธอทำตัวแปลกไป และมีอาการบาดเจ็บหลังจากกลับจากโรงเรียน เธอตั้งข้อสงสัยและได้สืบความจริงจนพบว่าคุณครูอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการนี้ ทำให้ความจริงถูกเปิดเผยออกมา

ความรู้สึกหลังชม

- เกริ่นนำถึง "ภาพยนตร์ของฮิโรคาสุ โคเรเอดะ"

"ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ" คือผู้กำกับเบอร์ต้น ๆ ของญี่ปุ่นที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในหลายสิบปีที่ผ่านมา

ภาพยนตร์ของโคเรเอดะ มีเอกลักษณ์ในการสะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่น สิ่งที่สื่อในภาพยนตร์เขา ไม่เพียงสะท้อนเล่าความเป็นอยู่ของสังคมญี่ปุ่นจากแง่มุมของผู้อยู่อาศัย แต่ยังขุดปัญหา หรือความขัดแย้งที่ซุกซ่อนมาตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ ไปจนกระทั่งความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ชม

ภาพยนตร์ของเขาจึงเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทั้งในศิลปะและในแง่การสร้างผลกระทบต่อสังคม !


- มาในส่วนแรก "ความสร้างสรรค์ของวิธีการเล่าเรื่อง"

โดยทั่วไป ผลงานส่วนใหญ่ของโคเรเอดะนิยมเล่าเรื่องเป็น "เส้นตรง" (Linear Narrative) 

ทว่า "Monster" ดูเป็นภาพยนตร์ที่ค่อนข้างแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ งวดนี้เขาเล่าเรื่องในลักษณะ "Non-linear" (เล่าเรื่องแบบสลับลำดับ) โดยเอาทริคการเล่าสไตล์ราโชมอนมาผสานกับโทนดราม่าที่ถนัด จนกลายเป็นงานที่แฝงความระทึกขวัญชวนพิศวงที่ตรึงคนดูได้ตลอด 2 ชั่วโมง พร้อมกับบทสรุปที่คาดไม่ถึง

ขณะที่พาร์ทดราม่ากลิ่น Coming-of-Age ก็เล่าได้เยี่ยม ด้วยบทสนทนาและบรรยากาศที่สั้นกระชับ แต่สะท้อนความหมายและความรู้สึกมนุษย์อย่างสมจริง

ส่วนนี้ต้องปรบมือให้กับผู้กำกับและมือเขียนบท... Monster ดูไปไกลกว่างานเดิมที่เคยทำ เป็นงานที่โดดเด่นไม่แพ้ผลงานที่ผ่านมา


- ประเด็นหลักในเรื่อง รู้สึกชอบการเล่า "ความจริง" (ที่บอกไม่ครบ) จากมุมมองที่ไม่เหมือนกันของแต่ละคน ซึ่งเราไม่อาจล่วงรู้ทุกสิ่งอย่างได้อย่างชัดเจน ตราบใดที่เราไม่ได้เห็นครบทุกมุมอย่างแท้จริง

สุดท้ายแล้ว Monster คืออะไร ใครคือ "สัตว์ประหลาด" ที่แท้จริงย่อมแล้วแต่การตีความ สัตว์ประหลาดอาจหมายถึง ต้นตอที่ทำให้เกิดความวุ่นวายทั้งหมดก็ได้ ขณะที่อีกนัยหนึ่งก็อาจสื่อถึง "ความแปลกแยก" ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งจากสายตาของสังคมที่ไม่ให้การยอมรับ

ถือว่าเป็นไอเดียที่เฉียบคมจริง ๆ


- หนังใช้ Symbol หลายส่วน ที่ชอบสุด คือ ฉากสุดท้ายในเรื่องที่ทุกคนเผชิญพายุ เปรียบเสมือนมรสุมชีวิตที่พัดผ่าน ขณะที่เมื่อพายุพัดผ่านไป และตัวละครหลักได้หลุดไปอีกฝั่ง (ที่ไม่มีประตูขวางกั้น) สะท้อนถึงการหลุดไปสู่อีกภาวะที่ดีกว่า (แต่ชะตากรรมแท้จริง หนังเปิดกว้างให้เราตีความ)... ส่วนนี้ถ่ายทอดได้สวยมาก

- ชอบช็อตตลกร้าย อย่าง "ฉากรุมโค้งคำนับ" ที่คนโดนคำนับขำไม่ออก แต่คนในโรงขำลั่น

- พาร์ทนักแสดง แสดงดีหมดทุกคน ไม่มีที่ติ

- มุมกล้องและแสงในเรื่องสวยและเนียนจนน่ายกนิ้ว

ส่วนดนตรีประกอบ ก็ทำได้เยี่ยมสไตล์ธีมหนังโคเรเอดะ โดยดนตรีประกอบ ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ Ryuichi Sakamoto คอมโพเซอร์ชื่อดังที่คว้าออสการ์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจาก The Last Emperor (1987) รวมถึงเคยทำดนตรีให้กับ The Revenant (2015) ของ Alejandro G. Iñárritu และ Silence (2016) ของ Martin Scorsese

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
Ryuichi Sakamoto - Monster (2023 - Soundtrack)

สรุป - อาจไม่ใช่หนังดูง่าย แต่ถือว่าหนังดีที่ดึงความน่าสนใจให้กับเราได้ตลอดการดำเนินเรื่อง ทั้งยังมีวิธีการเล่าที่แพรวพราว สมกับเป็นหนังคุณภาพสูง

ว่าไปแล้ว ถ้าญี่ปุ่นก็ส่งเป็นตัวแทน ก็มีแนวโน้มน่าเข้าชิงออสการ์ภาพยนตร์ต่างประเทศ

ดังนั้นใครสนใจแนะนำให้รีบไปชมกันนะครับ หาโรงยากหน่อย แถมไม่น่าจะอยู่ในโรงนาน !


____________________________________

(เพิ่มเติม) เผื่อใครสนใจอยากอ่านกระทู้เรียง Timeline และเนื้อเรื่อง Monster (Kaibutsu) 2023 ที่แปลจากหนังสือบทสคริปต์ภาพยนตร์และหนังสือนิยาย คุณ Mai_Kerberos_TH  เขียนไว้ละเอียดทีเดียว


____________________________________

ป.ล. อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากพูดคุยติดต่อ

https://www.facebook.com/BENJIREVIEW/ 
     
IG: benjireview
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่