จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ต่อเมื่อประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่มีความทรงจำในความเป็นตัวตนเหลืออยู่

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
https://www.dhammahome.com/cd/topic/14/35

ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๓๕
สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ พ.ศ. ๒๕๓๖
 
ส. ถ้าทุกคนไม่หวัง เพียงไม่หวังจะรู้สึกว่ามีความสุขขึ้นมากๆ เลย คือไม่ต้องห่วง เมื่อไหร่ใครจะมาตอบแทน หรือว่าจะมาทำดีด้วย หรือว่าจะเห็นความดีที่เราทำ เพราะว่าไม่หวังใดๆ แล้วก็สบายใจ คือจบเรื่อง ทำดีแล้วก็สบายมีความสุขดี ไม่หวังอะไรทั้งนั้น ใช่ไหม ถ้าเป็นอย่างนี้ได้นั่นก็เป็นความบริสุทธิ์ของจิตใจที่ว่า จะไม่ทำให้เราเกิดทุกข์

ถ. ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะว่า คุณแม่เห็นว่ามาปฏิบัติธรรมแล้วทำไมดีกับแม่เหลือเกิน คือว่าดีอย่างผิดไป คือจากที่เคยกระด้าง แต่ว่าคราวนี้นอบน้อม ท่านก็แปลกใจ ดีก็เพราะว่ามาทางธรรม

ส. อย่าหวัง ให้รู้ว่า มันมาอีกแล้ว

ถ. ต้องกราบเท้าท่านอาจารย์ เพราะว่าตอนนี้คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่นี้ ดิฉันต้องดีต่อไปเรื่อยๆ

ส. แล้วถ้าคุณบงเป็นคนดีแล้ว ก็ไม่ต้องหวังอะไร ใช่ไหม รู้ได้เลยว่า ตอนหวังนี้เราไม่ดี เวลาที่เราดี คือเราดีแล้วโดยไม่ต้องหวัง แล้วอย่ากลับไปไม่ดีตอนหวังอีก

ถ. เรียนถามอาจารย์ พระสารีบุตร ตรัสรู้วันมาฆบูชา

ส. พระสารีบุตรบรรลุอรหันต์ วันมาฆบูชา

ถ. วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกัน แล้วก็ท่านพระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ในวันนั้น

ส. ท่านถวายงานพัด เวลาที่หลานชายของท่าน (ทีฆนขปริพาชก) ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับทีฆนขปริพาชก ในขณะที่ทรงแสดงธรรม ท่านพระสารีบุตรยืนถวายงานพัดนั่นเอง พระธรรมที่ทรงแสดง ทีฆนขปริพาชกก็ได้เข้าใจธรรม แล้วท่านพระสารีบุตรก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น

ถ. คำว่า สันทิฏฐิโก แปลว่ารู้สติปัฏฐาน ใช่ไหม

ส. สันทิฏฐิโก คือ เห็นได้ รู้ได้ด้วยตัวเอง เป็นธรรมที่เห็นได้ อย่างพูดถึง พระนิพพาน ไม่ใช่ว่าใครก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ ใช่ไหม เป็นธรรมที่สามารถประจักษ์แจ้งได้

ถ. ถ้าอย่างนั้น ความหมายก็เหมือนกับว่า เจริญสติปัฏฐาน เพราะว่ารู้แจ้งธรรม

ส. แน่นอน นี่เป็นเรื่องคุณของพระธรรม ซึ่งถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานแล้วไม่มีทางที่จะรู้คุณของพระธรรมได้ ที่เราสรรเสริญคุณของพระธรรม ที่จะรู้อย่างนี้ได้ก็เหตุว่า เป็นหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งพระธรรม

ถ. อกาลิโก คือ ไม่มีกาลเวลาคั่น ถ้ามาทางมรรคแล้วต่อผลไปเลย

ส. อันนี้ส่วนอื่น แต่ถ้าเป็นคุณของพระธรรมรัตนะ ต้องหมายความถึง โลกุตตรธรรมเท่านั้น ถ้าพูดถึงธรรมที่เป็นสรณะที่เป็นรัตน จะไม่เป็นฝ่ายอกุศล จะไม่ใช่เรื่องกุศลอื่น นอกจากเรื่องที่เป็นไปในทางโลกุตตระ ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์

ถ. เอหิปัสสิโก

ส. เชิญให้มาดู เป็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นสิ่งที่ควรดู เป็นสิ่งที่ควรประจักษ์แจ้ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่อให้คนฟังเกิดศรัทธาที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม แม้พระนิพพานก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็รู้แจ้งได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมรัตนะ เป็นโลกุตตรธรรม เป็นธรรมที่ทุกคนสามารถเห็นได้ และก็เมื่อเวลาที่โสตาปัตติมัคคจิตซึ่งเป็นเหตุเกิดโสตาปฏิผลจิตเกิดสืบต่อกัน ก็เป็นอกาลิโก หมายความว่า กุศลอื่น เราต้องคอยกาลเวลา ถ้าทำบุญวันนี้ อย่าคิดว่าจะได้ผลวันนี้ บางคนทำบุญปุ๊บ ก็คิดว่าเมื่อไหร่จะหายป่วยไข้ ทำไปเดี๋ยวนั้นเองก็อยากจะหายซะเดี๋ยวนั้นเอง ไม่ได้มีการคอยกาลเวลาเลย เหมือนกับปลูกต้นมะม่วง พอใส่เมล็ดลงไป กลบดินลงไป ก็เมื่อไหร่จะได้รับประทานผล นี้ไม่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่ากุศลทั้งหลายต้องมีการเวลาที่จะให้ผล แล้วใครก็ไปเปลี่ยนกาลเวลาของผลนั้นไม่ได้ด้วย

ถ. เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ที่ไปตามที่ต่างๆ ก็จะมีว่า ให้ไปดูท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่านอน แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจากการศึกษา รูป ๒๘ จะเห็นเลยว่า ไม่มีท่านั่ง ท่ายืน ท่านอนเลย การที่บอกว่าเดิน เดินก็หมายความว่าไม่ได้เหาะ หรือไม่ได้ดำดิน เท่านั้นเอง แต่ถ้ามาเรียนกับท่านอาจารย์แล้ว การที่จะบอกว่า นั่งอยู่แล้วจะยืนนี้ ถ้าเป็นคนแก่ ก็ต้องเท้า ซึ่งมือก็ต้องเจอกับเก้าอี้แล้วคือแข็ง ที่ท่านอาจารย์สอนอย่างนี้ ที่เข้าใจ ให้สังเกตอย่างนี้ ว่าเท้าและมือ ถ้าสติเกิดตรงนั้น มือเท้าคือแข็ง แล้วลุกขึ้นมา คือการที่ เคลื่อนไหวแล้ว ก็ลงมายืน หรือว่าขณะที่ลุกขึ้นมายังไม่ทันจะยืนเลย ก็สามารถที่จะได้ยินอะไรได้ หรือว่ามองอะไรได้ ไม่ใช่ว่าเดินก็บอกว่าเดิน เดินไปก็ก้าวขาไป ก้าวขาไป อย่างนั้นมันไม่ใช่เป็นการปฏิบัติ ดิฉันยกตัวอย่างนี้ ท่านอาจารย์ว่าอย่างไร

ส. ก่อนอื่นต้องทราบ โดยมากคนเราจะติดภาษา อย่างพูดว่า “ปฏิบัติ” ก็เลยคิดว่าต้องทำ เขาบอกว่าไปปฏิบัติ เชิญไปปฏิบัติ ชวนไปปฎิบัติ ก็เลยคิดว่าเขาชวนเราไปทำอะไร เพราะว่าเป็นการปฏิบัติ แต่ความจริงไม่ใช่เรา ต้องเข้าใจว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ไม่ใช่ของเราด้วย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปเกิดจากกรรมก็ไม่รู้ รูปเกิดจากจิตก็ไม่รู้ รูปเกิดจากอุตุ รูปเกิดจากอาหาร ก็ไม่รู้เลย คิดว่าเป็นเราทั้งหมด แม้แต่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ก็ไม่รู้เลยว่า แต่ละรูปนี้ทยอยกันเกิดและทยอยกันดับอย่างเร็วมาก รูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต มีอายุ ๑๗ ขณะแล้วดับ แล้วจิตก็เกิดสืบต่อมาเรื่อยๆ แต่ละรูปนี้ก็ทยอยกันเกิดทยอยกันดับ ทุกคนมีความทรงจำ ว่ามีส่วนตน มีเรา แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าแตกย่อยสภาพธรรมออก จะปรากฏในเสี้ยววินาที ชั่วขณะหนึ่งก็อย่างหนึ่งแล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก ที่ว่ามีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน ให้ทราบว่าเป็นความทรงจำ เพราะว่าธรรมนี้พิสูจน์ได้ ขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ เห็น ไม่ใช่ท่านั่ง ท่านอน ไม่ใช่รูปนั่ง รูปนอน ได้ยินก็มีจริงๆ ไม่ใช่รูปนั่ง รูปนอน หรือว่ากำลังกระทบส่วนที่แข็ง ลักษณะที่แข็งปรากฏ ไหนท่านั่ง ใครจำได้หรือเปล่าว่านั่งยังไง เพราะว่าขณะนั้นกำลังมีแข็งปรากฏ เพราะฉะนั้นที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ต่อเมื่อประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่มีความทรงจำในความเป็นตัวตนเหลืออยู่ อย่างแข็ง ขณะหนึ่งที่แข็งนี้ ไม่มีเห็น ไม่ได้ยิน ไม่มีคิด ไม่มีเรา ไม่มีอะไรเลย ชั่วขณะจิตที่คิดนั้นมีจิตที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ขณะนั้นจึงจะเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่า ไม่เหลือ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านี้เราจำเอาไว้ต่างหาก แต่ความจริงทุกรูปทยอยกันเกิด ทยอยกันดับ ท่าทางไม่มี มีแต่รูปแต่ละรูปที่ปรากฏ ปรากฏแต่ละทางด้วย แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วด้วย ขณะนี้ ถ้าปัญญาสมบูรณ์ ประจักษ์ความที่รูปกำลังเกิดกำลังดับ ไม่ว่าจะเป็นรูปไหนทางไหนทั้งสิ้น นี่เห็นความต่างกันของปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับผู้ที่จะต้องอบรมปัญญาจนกว่าจะเป็นอริยสาวก ก็ต้องประจักษ์อย่างนี้ ไม่อย่างนั้นแล้ว ตัวตนยังมี

ถ. เกี่ยวกับเรื่องการพูด คือว่า ถ้าเราพูดมากไปก็จะมีการผิดมาก คือไม่ถูก คนจะไม่ชอบในสิ่งที่เราพูดไป เพราะฉะนั้นการพูดมากก็ไม่ดี ดิฉันไปเห็นคนเขียนในที่ทำงาน เขียนบอกว่า ควรจะพูดเรื่องความดีของคนอื่นให้มาก และพูดถึงเรื่องความไม่ดีของตัวเอง แล้วสิ่งที่ไม่ควรจะพูดก็คือไม่ควรพูดความไม่ดีของคนอื่น สิ่งที่ควรจะพูดคือพูดถึงความไม่ดีของตัวเอง ให้พูดมากๆ

ส. ทุกอย่างที่ไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่คำที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เรื่องการพูด มีข้อความในไตรปิฏกที่ว่า ผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร ข้อสำคัญที่สุดคือ พูดเรื่องจริง ประการที่ ๑ ต้องเป็นเรื่องจริง และประการที่ ๒ คือ นอกจากจะเป็นเรื่องจริงแล้วยังต้องพิจารณาว่า เรื่องจริงนั้นเป็นประโยชน์ไหม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องจริง เขาทำอย่างนั้นจริงๆ เขาพูดอย่างนั้นจริงๆ แต่มีประโยชน์ไหม ถ้าเราจะพูดถึง หรือว่าจะบอกใคร หรือจะเล่าให้ใครฟัง ถ้าไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่ควรพูด ผู้มีพระภาคทรงคำนึงถึงประโยชน์ก่อน แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริง สิ่งนั้นมีประโยชน์ไหม ถ้าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แม้ว่าเป็นเรื่องจริง ก็ยังพูดในทางที่ดูกาละด้วยว่า สามารถที่จะเป็นประโยชน์ได้จริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นเรื่องจริงหรือเราคิดว่ามีประโยชน์เราก็พูดทันที ยังต้องดูกาละด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่