JJNY : 9 ปี คสช.ปราบมาเฟีย เจ้าพ่อยังอยู่│"กัณวีร์"เตรียมชำแหละนโยบายรบ.│เอสเอ็มอี จี้ 4 เรื่องร้อน│“รัสเซีย”ส่งทหารต้าน

.จุฬาฯ ชี้ 9 ปี คสช. ปราบมาเฟีย เจ้าพ่อยังอยู่ แค่ย้ายข้าง แนะวิธีแก้ระยะยาว
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7858716
 
 
อ.จุฬาฯ ชี้ 9 ปีผ่านไป หลัง คสช. ประกาศปราบมาเฟีย เจ้าพ่อไม่หายไปไหน แค่ย้ายข้าง แนะวิธีแก้ระยะยาว ต้องเพิ่มอำนาจให้ประชาชนตรวจสอบ
 
กรณีผู้มีอิทธิพล หลังเกิดเหตุการณ์ หน่อง ท่าผา ลูกน้องกำนันนก ใช้ปืนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยเหลืออำพราง และพาหลบหนี ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ประกาศขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพล โดยมอบหมายให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ดำเนินการ

วันที่ 10 ก.ย.2566 ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นความว่า 
 
ถ้าใครจำได้ ตอน คสช. ขึ้นมามีอำนาจก็ประกาศปราบปรามเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ผ่านมา 9 ปี เจ้าพ่อไม่หายไปไหน แค่ย้ายค่ายและแข็งแกร่งกว่าเดิม
 
การปราบปรามเป็นแบบนั้นเอง ฟังดูรุนแรง ฟังดูจริงจัง สุดท้ายแล้วก็แค่เครื่องมืออำนาจบีบเจ้าพ่อให้ย้ายค่ายมาสยบยอม ในระยะยาว การปราบปรามจับกุมไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดในการปราบผู้มีอิทธิพล
 
การปฏิรูปวงการตำรวจ ปฏิรูปเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ เพิ่มความโปร่งใส กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง การปฏิรูประบบการเงิน เปลี่ยนรูปแบบการประมูลงานภาครัฐ เสริมสร้างเสรีภาพสื่อมวลชน แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายผูกขาดการค้า 
 
ในระยะยาวแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลได้ดีกว่าการปราบปราม แต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนขึ้นไปด้วย ผู้มีอำนาจบางครั้งก็ไม่ได้ชอบใจ

https://www.facebook.com/khemthong.tonsakulrungruang/posts/10210598752841586



"กัณวีร์" เตรียมชำแหละ 4 ปม นโยบาย รัฐบาล"เศรษฐา" ปัญหาสันติภาพใต้ พารากราฟเดียว
https://www.khaosod.co.th/politics/news_7858693

“กัณวีร์” พรรคเป็นธรรม เตรียมชำแหละ 4 ปม นโยบายรัฐบาล”เศรษฐา” ตั้งข้อสงสัยปัญหาสันติภาพใต้ เนื้อหาพารากราฟเดียว ส่อให้ความสำคัญน้อย ย้ำต้องเป็นวาระแห่งชาติ

วันที่ 10 ก.ย.2566 นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า พรรคเป็นธรรม ได้รับการจัดสรรเวลาอภิปรายนโยบายรัฐบาล ต่อที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 11 – 12 ก.ย. รวม 20 นาที จากเวลาที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับรวม 14 ชั่วโมง เนื่องจากพรรคเป็นธรรม มีตนทำหน้าที่ สส.เพียงคนเดียว
 
สำหรับประเด็นที่จะเน้นการอภิปรายในวันดังกล่าว คือ 4 เรื่อง ได้แก่ ผู้ว่าซีอีโอ, สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้, การทูตระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมองว่าในรายละเอียดของคำแถลงนโยบายรัฐบาลที่เผยแพร่นั้นมีเพียงสั้นๆ

เช่น กรณีของผู้ว่าซีอีโอ จะเกี่ยวกับการกระจายอำนาจที่หลายฝ่ายมองว่าอาจะเป็นการรวบอำนาจมากกว่า ดังนั้นรัฐบาลต้องชี้แจง พร้อมกันนั้นจะมีข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปดำเนินการเพื่อให้นโยบายกระจายอำนาจทำได้จริง
 
นายกัณวีร์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นจุดยืนทางการทูต สิทธิเสรีภาพ รวมถึงสันติภาพปาตานี นั้นจากรายละเอียดของนโยบายรัฐบาลพบว่า ทั้ง 3 เรื่องนั้น มีเนื้อหาเพียงพารากราฟเดียว ทำให้เป็นข้อสงสัยว่าทำไมรัฐบาลถึงให้ความสำคัญน้อย โดยเฉพาะการทูตต่างประเทศ รวมถึงการสร้างสันติภาพ ทั้งที่ควรยกให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับไม่ให้ความสำคัญ
 
หากรัฐบาลใหม่จะยึดมั่นในข้อปฏิบัติเดิมๆ เหมือน 9 ปีที่ผ่านมา ผมว่าไม่มีความชอบธรรม ในแนวทางการสร้างสันติภาพใต้ เม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทที่ทุ่มลงไป แต่ทำงานเหมือนเดิม แบบนี้สันติภาพใต้ไม่เกิดขึ้นแน่” นายกัณวีร์ กล่าว
 
เมื่อถามว่าจะโฟกัสไปยังพรรคการเมืองใดเป็นหลักหรือไม่ นายกัณวีร์ กล่าวว่า ต้องถามรัฐบาลเป็นหลัก เพราะแม้รัฐบาลปัจจุบันจะประกอบด้วยหลายพรรค แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ดังนั้นจำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ พรรคประชาชาติ หรือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม แต่คือ นายกฯ ที่ต้องใช้อำนาจ ฐานะประธานสภาความมั่นคงที่มีอำนาจชี้ขาดการแก้ปัญหาในภาวะปัจจุบัน



เอสเอ็มอี ฝากใจรบ. ‘เศรษฐา1’ ขานรับ 3 นโยบาย จี้ 4 เรื่องร้อนเร่งแก้เพื่อลดวิกฤต
https://www.matichon.co.th/economy/news_4173132
 
เอสเอ็มอี ฝากใจรบ. ‘เศรษฐา1’ ขานรับ 3 นโยบาย จี้ 4 เรื่องร้อนเร่งแก้เพื่อลดวิกฤต
 
เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 กันยายนนี้ ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยากเห็นนั้น ว่า 3 มาตรการดีที่เอสเอ็มอีขานรับที่เน้นกระตุ้น ฟื้นฟู ดูแลฐานราก กระชากเศรษฐกิจไทย ซึ่งประกอบด้วย
 
1. ลดภาระค่าครองชีพ ลดค่าไฟ ดีเซล เป็นมาตรการที่ประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง และต้องทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งการลดค่าพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลจะต้องดำเนินการ 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนภายใน 30 วัน ระยะกลาง ภายใน 3-6 เดือน คือ การจัดหาแหล่งวัตถุดิบพลังงานที่มีต้นทุนเหมาะสม การปรับโครงสร้างต้นทุนการผลิต โครงสร้างราคาขายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เป็นธรรม และระยะยาวภายใน 1-3 ปี การพัฒนาโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของประเทศไทยที่ต้องมีมาตรการระยะยาวส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาคประชาชน ให้ชุมชนได้มีพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ชุมชน หรือ พลังงานสีเขียวชุมชนใช้ ปรับเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลที่พึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG น้ำมันดิบจากต่างประเทศ เป็นการพึ่งพาพลังงานตนเอง สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย
 
2. อัดเงิน Digital Wallet 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง หากแต่การประเมินความคุ้มค่า ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่จะได้รับ และแหล่งที่มาเงินงบประมาณต้องมีความชัดเจนไม่ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของประเทศในทุกมิติ การสื่อสารนโยบายที่สร้างความเข้าใจที่ดีให้ประชาชนได้ทราบ กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนหากงบประมาณมีจำกัดควรทำในกลุ่มเปราะบางให้ความช่วยเหลือก่อน อาทิ แรงงานนอกระบบ เป็นต้น รูปแบบและสัดส่วนการกระจายรายได้ให้สินค้า บริการของท้องถิ่น กลุ่มเอสเอ็มอี เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง เป็นต้น จะทำให้ชุมชนในแต่ละท้องถิ่นได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ส่วนการกำหนดขอบเขตพื้นที่การใช้งานไม่ควรระบุรัศมีใช้งานเพราะประชาชนจำนวนมากที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานนอกพื้นที่ หรือ ทำงานนอกพื้นที่ที่อยู่อาศันตามบัตรประชาชน รวมทั้งทักษะดิจิทัลของประชาชนที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้มีความสามารถใช้ประโยชน์ดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน ทั้งนี้ การดำเนินการนโยบายดังกล่าวจะต้องมีแผนที่ขับเคลื่อนในระยะยาวเพื่อต่อยอด Digital wallet ไปสู่ Digital mSMEs – Workforce Wallet พัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงาน จูงใจเข้าระบบ เครดิตสกอร์ริ่ง จ้างงาน จับคู่งานและ Digital Student Wallet ส่งเสริมการพัฒนายกระดับการศึกษา ทักษะอนาคตให้เยาวชนมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เป็นต้น
 
3. อุ้มพักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอี งบประมาณที่จะนำมาใช้ในมาตรการดังกล่าวต้องคำนึงถึงการพักควบคู่กลไกการพัฒนาที่ต้องทำไปพร้อมกัน พร้อมกับการแก้หนี้ครัวเรือนในการพัฒนาคุณภาพหนี้ บ่มเพาะทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน เพื่อลดหนี้เสีย และหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง โดยต้องพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่จะดำเนินการ เช่น กลุ่ม SM หรือ Special mention และกลุ่ม NPLs (เกิน 90 วัน) และต้องมีกลไกที่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ ดำเนินการ เชื่อมโยง ประสานงาน มีอำนาจในการตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลและพัฒนาอย่างเป็นระบบ
 
นอกจากนั้น มาตรการที่จำเป็นและมีความสำคัญในการทบทวนเร่งแก้ไขปัญหาต้องประเมินและหาแนวทางลดผลกระทบอย่างจริงจังใน 4 ด้าน ได้แก่

1. ล้งต่างชาติ และเช่าที่เกษตรจ้างผลิต เป็นกับดักที่ทำให้กลไกการตลาด ราคา อำนาจการต่อรองของเกษตรกร ผู้ประกอบการไทยลดลง ตัดวงจร Supply chain ไทย และเพิ่มบทบาทการพึ่งพารูปแบบธุรกิจมาผูกขาดกับต่างชาติ
 
2. ทัวร์ศูนย์เหรียญ ฟื้นคืนชีพ ท่องเที่ยวไทย คนไทยได้อะไร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์ ร้านอาหาร แหล่งช้อปปิ้ง ร้านค้าขายของฝาก ของที่ระลึก ที่พัก โรงแรมที่ล้วนเป็นเครือข่ายต่างชาติ 
 
3. ห้างต่างชาติรุกไทย ค้าปลีก ค้าส่ง ออนไลน์ ขายตรงส่งถึงบ้าน นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามามาประกอบธุรกิจร้านขายส่งขายปลีกสินค้านำเข้าราคาถูกมาขายในย่านเศรษฐกิจค้าส่งปลีกของไทย ซึ่งการนำเข้า จัดเก็บภาษีถูกต้องหรือไม่

4. ส่งเสริมการลงทุนต่างชาติ สิทธิประโยชน์กับผลลัพธ์ที่ประเทศได้คุ้มค่าหรือไม่ บางรายที่มาทั้งวัสดุก่อสร้าง คนงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการSupply chain เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต แม้แต่ร้านอาหารก็เข้ามา เพียงมาใช้ที่ดินกับคนไทยเพียงน้อยนิดในการประกอบธุรกิจ แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีเราส่งเสริมการลงทุนอย่างไร กระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำ ขาดการเชื่อมโยงนโยบาย มาตรการ งบประมาณ ตัวชี้วัดผลลัพธ์
 
“เรื่องใดที่ประเทศและประชาชนเขาเสียประโยชน์เขายอมให้เราทำหรือไม่ เราทำแบบเดียวกันในประเทศเขาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำไมกลไกการป้องกัน แก้ไขปัญหาของเราถึงปล่อยเป็นแบบนี้แล้วต่อไปเราจะวางเศรษฐกิจฐานรากของคนไทยไว้บนพรมหรือใต้พรม เราอยากเห็นความเป็นธรรมทางการค้าที่ไม่ใช่ส่งเสริมธุรกิจต่างชาติจนหลงลืมคุณค่าของผู้ประกอบการคนไทย ภาคแรงงานไทยที่ต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถ สร้างสรรค์การแข่งขันในระดับอาเซียน เวทีโลกอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยถึงเวลาหรือยังที่จะยกระดับการแข่งขันทางการค้าเสรีที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ แรงงานและประชาชนคนในชาติ” นายแสงชัย กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่