JJNY : สารทจีนขอนแก่นยังเงียบ│ทิ้งที่นา เลี้ยงสัตว์│“ก้าวไกล”เตรียมลงเก็บข้อมูลเด็กรหัสจี│เงินฝืดญี่ปุ่นมีโอกาสสิ้นสุด

สารทจีนขอนแก่นยังเงียบลูกค้าซื้อของไหว้บางตา
https://www.innnews.co.th/news/news_605103/
 
สารทจีนขอนแก่น ยังเงียบลูกค้าเลือกซื้อของไหว้บางตา ตลาดสดจัดมหกรรมของไหว้ราคาพิเศษขนมเข่ง-ขนมเทียนเริ่มต้นชิ้นละ 8บ.
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศวันจ่ายในช่วงเทศกาลสาทรจีน ประจำปี 2566 โดยเฉพาะที่ตลาดสดบางลำภู  เขตเทศบาลนครขอนแก่น พบว่าวันจ่ายวันนี้ไม่คึกคักเหมือนกับช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือวันสารทจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งพ่อค้า-แม่ค้าส่วนใหญ่คาดว่าที่ลูกค้าลดน้อยลงไปกว่าครึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีคนจึงซื้อของไหว้น้อยลง
 
น.ส.นุชรี อายุ 44 ปี แม่ค้าขายเป็ดและ ไก่ต้ม กล่าวว่า ราคาของไหว้ปีนี้ ไก่ต้มเริ่มต้นที่ตัวละ 220-250 บาท เป็ดต้มขายเริ่มต้นตัวละ 350-400 บาท หมูชิ้นละ 180-250 บาท ขนมเข่งชิ้นละ 8 บาท ขนมเทียนชิ้นละ 7 บาท สาเหตุที่ขึ้นราคาช่วงนี้อาจจะเป็นเพราะเป็ดขาดตลาดซึ่งก็ขาดตลาดมาตั้งแต่ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาทำให้ส่งผลยาวมาถึงตอนนี้ ขณะที่ของไหว้อย่างอื่นราคายังทรงตัว
 
” บรรยากาศการจับจ่ายวันนี้ยังไม่คึกคักอาจจะเป็นเพราะเป็นวันธรรมดาคงต้องรอหลังเลิกงานช่วงเย็นๆ ซึ่งวันจ่ายในนี้ ตั้งแต่เช้าที่ผ่านมาขายได้เรื่อยๆ ขณะที่การเตรียมของมาขายนั้นลดลงครึ่งต่อครึ่ง ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมาสั่ง เป็ด และไก่มาอย่างละ 150 ตัว สาทรจีนปีนี้เหลืออยู่ 70 ตัว เพราะว่าสาทรจีนบางคนก็ไม่ไหว้ บางคนก็ไหว้แค่ผลไม้กับของหวาน”
 
ขณะที่ น.ส.นิศาชล อายุ 57 ปี แม่ค้าขายของไหว้ตบาดสดบางลำภูขอนแก่น กล่าวว่า วันจ่ายวันนี้เงียบมากซึ่งต้องรอดูช่วงบ่ายๆเย็นๆหรือพรุ่งนี้เช้าว่านะตึกคักมากน้อยเพียงใด ขณะที่ ราคาของไหว้แพงกว่าปีที่ผ่านมา เป็ดขึ้นมากิโลกรัมละ 20 บาท ไก่ขึ้นมากิโลกรัมละ 10 บาท หมูราคายังคงที่เริ่มต้นชิ้นละ 200 บาท ปีนี้คิดว่าจะขายดีแต่ก็เงียบ
 
“ปีที่แล้วมีโควิดยังขายดีกว่านี้แสดงว่าเศรษฐกิจบ้านเราไม่ดี ร้านจึงไม่มีการสต๊อกของไว้ หากขายหมดแล้วก็ไปซื้อใหม่เพราะคาดการณ์อะไรไม่ได้และอีกหนึ่งปัจจัยที่พ่อค้าแม่ค้ากังวลคือต้นทุนที่แพงขึ้นจึงไม่กล้าซื้อมาเก็บไว้ จึงต้องรอลุ้นอีกทีเย็นวันนี้กับเช้าพรุ่งนี้ว่าจะคึกคักมากน้อยเพียงใด”
 


ฝนทิ้งช่วงนาน ชาวบ้านจำใจทิ้งที่นาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ กว่าพันไร่
https://www.matichon.co.th/region/news_4151876
 
ฝนทิ้งช่วงนาน ชาวบ้านจำใจทิ้งที่นาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ กว่าพันไร่
 
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้พื้นที่ ต.ไร่พัฒนา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ต้องประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรกว่า 1,000 ไร่ ต้องถูกทิ้งร้างปล่อยหญ้าขึ้นปกคลุม เพราะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำการเพาะปลูกได้ เนื่องจากพื้นที่ในแถบนี้อยู่สุดขอบของเขตชลประทาน และเป็นพื้นที่ดอนมีระดับสูง จึงต้องอาศัยน้ำฝนในการเพราะปลูกเป็นหลัก ซึ่งในพื้นที่ไม่มีฝนตกพอที่จะได้น้ำใช้มานานกว่า6เดือนแล้ว ทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวได้ตามภาพที่ปรากฏ ชาวบ้านจึงต้องปล่อยพื้นที่ให้รกร้างปรับไปใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์แทน โดยชาวบ้านได้นำวัวลงแทะเล็มหญ้าที่ขึ้นปกคลุมซึ่งถือว่ายังพอใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้บ้าง โดยชาวบ้านบอกว่าพื้นที่ในแถบนี้ถ้าจะเพาะปลูกได้ ก็คงต้องหวังพึ่งน้ำฝน และต้องปลูกพืชใช้น้ำน้อยตระกูลพืชไร่เท่านั้นจึงจะพอได้เก็บเกี่ยวผลผลิต
 
ขณะที่สถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มภาคกลางวันนี้ยังคงน่าเป็นกังวล ระดับน้ำเหนือเขื่อนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานกักเก็บ 16.50ม.รทก. (เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) โดยวันนี้(29ส.ค.) เป็นเดือนที่ 9 หรือวันที่ 263 (ระดับ16.50ม.รทก.ครั้งล่าสุด 10ธ.ค.65) ซึ่งล่าสุดวัดได้ 14.46ม.รทก.ลดลงจากเมื่อวาน ขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลจากเหนือเขื่อนผ่าน จ.นครสวรรค์ เข้ามาในอัตราทรงตัวต่อเนื่องล่าสุดวัดได้ 246 ลบ.ม./วิ โดยระดับน้ำท้ายเขื่อนเองก้ลดลงระดับลงอีกเล็กน้อย วัดได้ 5.15ม.รทก.หลายจุด จนมีสันดอนทรายโผล่พ้นน้ำให้เห็นเป็นแนวอย่างชัดเจน สามารถเดินข้ามไปมา2ฝั่งได้
 
ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำจาก 55ลบ.ม./วิ เป็น 50ลบ.ม./วิ และยังคงเน้นการกักเก็บน้ำเหนือเขื่อนไว้สำรองใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เพราะคาดว่าฝนทิ้งช่วงจากปรากฏการณ์เอลนีโญอาจจะมีอิทธิพลลากยาวไปถึงกลางปีหน้า



“ก้าวไกล”เตรียมลงพื้นที่ เก็บข้อมูล เด็กรหัสจี ห่วงสามเณร ไร้รัฐไร้สัญชาติไม่ได้เรียน
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7838382

“ก้าวไกล”เตรียมลงพื้นที่ เก็บข้อมูล เด็กรหัสจี “ปารมี”รับห่วงเด็ก 126 คน ถูกส่งกลับพม่า พระอาจารย์ มจร. ห่วงสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติไม่ได้เรียน
 
วันที่ 29 ส.ค.2566 ปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าถึงการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ว่าใน วันที่ 3-4 ก.ย.2566 พรรคก้าวไกลและเครือข่ายภาคประชาสังคม จะลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลเด็กนักเรียน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการออกรหัส G (Generate Code) แก่เด็กไร้สถานทางทะเบียนราษฎรทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมไปถึงสามเณรที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยในระหว่างที่กำลังรอสภาผู้แทนฯบรรจุวาระก็ได้เร่งศึกษาและรวบรวมข้อมูลเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติม

ปารมี กล่าวว่า สำหรับกรณีเด็กนักเรียนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง จำนวน 126 คน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและถูกส่งกลับประเทศพม่านั้น เท่าที่ทราบนั้นมีการส่งกลับไปเกือบหมดทั้งหมดแล้ว แม้ว่าทางพรรคก้าวไกลจะมีช่องทางในติดต่อผู้ปกครองของเด็กได้ แต่ยังมีความหวั่นใจอย่างยิ่ง เพราะไม่เห็นมีหน่วยราชการไทยติดตามเด็กเหล่านี้เลย ซึ่งน่ากังวลว่าเด็กจะตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก
 
เราไม่รู้เลยว่าพวกเขาเป็นตายร้ายดีอย่างไร จริงๆแล้วควรเร่งนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ใช่แค่กรณีของเด็กนักเรียน 126 คนที่จ.อ่างทองเท่านั้นที่เราต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะยังมีกรณีสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติที่กำลังประสบปัญหาไม่สามารถออกรหัส G ได้และไม่มีโรงเรียนรองรับสามเณรที่ต้องการเรียน ป.1-6 สามเณรบางรูปต้องนำชื่อไปฝากไว้กับโรงเรียนประถมศึกษาภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เนื่องจากเวลาถ่ายรูปติดบัตรสามเณรต้องเปลี่ยนจีวรให้เป็นชุดเครื่องแบบนักเรียน เรามองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่สบายใจสำหรับบุคคลที่ต้องการที่จะศึกษาเรียนรู้ทางพระธรรมวินัย ถือว่าการกระทำนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะการเอาชื่อเข้าไปไว้อีกโรงเรียนหนึ่ง แต่เด็กเหล่านี้ไม่ได้ศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผิดกฎระเบียบของกระทรวงการศึกษาได้ พวกเขาควรได้เรียนโรงเรียนที่มุ่งเน้นหลักสูตรของตนเองปารมี กล่าว
 
ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้แต่โรงเรียนปริยัติธรรมศึกษาแผนกสามัญศึกษา ก็เปิดรับเฉพาะมัธยมศึกษาเท่านั้น ทั้งๆที่สามเณรที่เรียนชั้นประถมควรมีโอกาสได้เรียนด้วย ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เพราะว่าไม่ใช่แค่สามเณรที่ไร้รัฐไร้สัญชาติเท่านั้นที่กำลังประสบปัญหา สามเณรที่มีสัญชาติไทยเองก็ประสบปัญหาในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
 
เรามองว่ากฎหมายและกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาหรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะออกรหัส G เพื่อจะรองรับสิทธิและให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียนไร้สถานทางทะเบียนเพื่อเข้าเรียนนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาหลัก ๆในขณะนี้คือขาดการติดต่อประสานงานและขาดศูนย์ดำเนินงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่กล้าตัดสินใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ไม่มีการประสานงานและทำงานร่วมกัน
 
ทำให้ใช้ระยะเวลานานกว่าจะแก้ไขปัญหาออกรหัส G ในบางกรณีกว่าจะสามารถออกได้ เด็กนักเรียนบางคนเรียนจบไปแล้ว และมีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทับซ้อน จึงทำให้ปัญหานั้นสะสมไปเรื่อย ๆ และเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคต
 
ขณะที่ พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ (วงใส) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก ประเทศพม่า เพื่อไปศึกษาประเด็นปัญหาสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่ลูกเณรเข้ามาพึ่งพาอาศัยลี้ภัยสงคราม
 
เมื่อได้ลงพื้นที่ปรากฏว่าในประเทศพม่าก็มีการจัดการศึกษาให้กับสามเณรเช่นเดียวกัน เพียงแต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้เลขระบุสถานะทางทะเบียน และการจัดการศึกษาก็เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สามารถสื่อสารกันและกันได้เท่านั้น เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีว่าประเทศพม่ามีหลากหลายชาติพันธุ์และพูดคุยกันคนละภาษา
 
พระวิสิทธิ์ กล่าวว่า สามเณรสามารถแบ่งประเภทได้ 3 ส่วน คือ 

1. สามเณรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เข้ารับการศึกษาโดยไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลพม่า และอยู่ในพื้นที่เงียบสงบ 
2. สามเณรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ารับการศึกษาโดยมีรัฐบาลพม่าสนับสนุน 
3. สามเณรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าและอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งผู้ปกครอง พ่อแม่ของสามเณรบางส่วนเป็นผู้อพยพลี้ภัยทางการเมือง และนำลูกมาบวชเพราะต้องการปกป้องลูกให้อาศัยร่มกาสาวพัสตร์จากภัยสงคราม
 
มีเด็กผู้หญิงบางคนที่จำเป็นต้องโกนผมเพื่อเข้าเรียนเช่นเดียวกัน หลายคนเป็นเด็กกำพร้าและหากสงครามยุติลงก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้พบครอบครัวหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หากสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้รับการแก้ปัญหา และหากถูกส่งตัวกลับไปยังพื้นที่ต้นน้ำที่เป็นพื้นที่อันตรายนั้น ก็ไม่รู้ชะตาชีวิตของพวกเขานั้นจะเป็นอย่างไร” พระวิสิทธิ์ กล่าว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่