พุทธศาสนาเป็นเรื่องยาก ใครอย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่าย ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจและอดทนที่จะฟังให้เข้าใจจนเป็นปัญญาของตนเอง

บุคคลแรกที่กล่าวว่า พระธรรม เป็นเรื่องยาก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  

ไม่ทราบว่ามีสมาชิกท่านใด ไม่เห็นด้วยกับพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้หรือไม่คะ?  

[๑๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ประทับอยู่ที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่ง
แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความรำพึงอย่างนี้ว่า “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยากรู้ตามได้ยาก
สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ สำหรับหมู่ประชาผู้
รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก
กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก
กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ
นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะ
พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา
             อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยทรงสดับมาก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้ง
แก่พระผู้มีพระภาคว่า
                          บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม
                          ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก
                          เพราะธรรมนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะ
                          และโทสะครอบงำ จะรู้ได้ง่าย
                          แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส๑- ละเอียด
                          ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ
                          ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้
             เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาเห็นดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย
มิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม
             ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความรำพึงของพระผู้มีพระภาคด้วยใจแล้ว
ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะยิ้มหนอ โลกจะพินาศหนอ
เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อการขวนขวายน้อย
มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อแสดงธรรม” จึงหายตัวจากพรหมโลก มาปรากฏอยู่ ณ
เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ฉะนั้น แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือ
ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตได้โปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์
ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในตาน้อยมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรม
เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
https://www.dhammahome.com/cd/topic/14/26

ตอนที่ ๒๖
สนทนาธรรม ที่โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ พ.ศ.๒๕๓๖
 
ส. เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนา แยกละเอียดมาก ย่อยเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ออกไปเป็นชั่วจิตทีละขณะเดียว ลองคิดดูว่า จิตทีละขณะหนึ่งเร็วกว่าเสี้ยววินาทีสักแค่ไหน ที่เราแบ่งจากชั่วโมงเป็นนาที เป็นวินาที เราแบ่งได้ แล้วเรายังสามารถแบ่งละเอียดไปถึงเสี้ยววินาที แต่จิตก็เกิดดับเร็วยิ่งกว่านั้น มากกว่านั้น เพราะฉะนั้นจากตาที่เห็น เราจะจำทันทีว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร อยู่ในความทรงจำของเรา เหมือนเห็นน้ำไหล เห็นเก้าอี้ เห็นคน แต่ความจริงขณะนั้นให้ทราบว่าเห็นไม่ใช่คิด เป็นสิ่งที่จะต้องแยกออกว่าเห็นนั้นกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สั้นมาก เร็วมาก หลังจากนั้นแล้ว จะจำลักษณะสีสันต่างๆ ที่เห็น แล้วก็คิดทันทีว่าเป็นคนนั้น คนนี้ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเห็นเป็นเก้าอี้ ขณะนั้นคือ คิดถึง รูปร่าง สัณฐาน ของสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่กำลังจะแยกชีวิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นเราออก ให้เห็นว่า รวดเร็วมาก และจิตแต่ละขณะก็เกิดขึ้นทำกิจการงานแต่ละอย่าง

ถ. ยาก

ส. ยาก เรื่องพุทธศาสนาเป็นเรื่องยาก ใครอย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่าย ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ แล้วก็ต้องทราบด้วยว่า คนที่จะอดทนที่จะฟังให้เข้าใจจนกระทั่งเป็นปัญญาของตนเองนั้นไม่มีมาก จำนวนน้อยทีเดียว คนที่ประเทศอินเดียสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มีเป็นจำนวนมาก แต่คนที่ฟังพระธรรม มีจำนวนเท่าไหร่ แม้ว่าจะมากมายกว่าสมัยนี้ เพราะเหตุว่า เมื่อได้ฟังแล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้ง เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้นไปถึงขั้นพระอรหันต์ มีมากกว่าในครั้งนี้มากมายนัก แต่ถ้าเทียบจำนวนของคนทั้งหมด ก็ยังเป็นส่วนที่ไม่มาก เพราะฉะนั้นยิ่งในยุคนี้ สมัยนี้ ถ้าใครไม่เคยสะสมบุญเก่า ที่จะเห็นประโยชน์ของปัญญา เห็นประโยชน์ว่า เราเกิดมาแล้วเราไม่เคยรู้จักตัวเอง ไม่เคยรู้จักโลก มีความยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นเรา เป็นของเรา ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็หมดไปทุกขณะ ได้ยินขณะนี้เป็นเราได้ยินก็หมดไปแล้วชั่วขณะหนึ่ง กำลังคิดนึกว่าเป็นเราคิด ลักษณะที่คิดนั้นก็หมดไปอีกแล้ว เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกอย่างกำลังเกิดดับหมดไป โดยไม่มีการรู้สึกตัวเลย มีแต่สัญญา ความทรงจำว่าเป็นคนเป็นสัตว์ ปิดบังสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ทำให้เราไม่สามารถจะประจักษ์อนัตตา คือสภาพธรรมที่เป็นธรรม แต่ไม่ใช่ของใครเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปตลอดเวลา

ถ. ธรรม สรุปแล้วก็มี อย่าง ๒ อย่าง เป็นของจริง ก็เป็นปรมัตถธรรมซึ่งเป็นของมีจริง และ บัญญัติธรรมนี้เป็นของไม่มีจริง ใช่ไหม อย่างธรรมที่เกิดจาก ความจำ คิดนึก

ส. เป็นความคิดนึก หลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เมื่อคืนนี้ใครฝันบ้าง ไม่ได้ตั้งใจเลยที่จะฝันใช่ไหม แต่พอนอนหลับบางคนก็ฝันทุกคืน อย่างดิฉันฝันทุกคืน ไม่มีคืนไหนเลยที่ไม่ฝัน ให้ทราบว่าในขณะที่ฝันเป็นจิตที่คิดนึก เพราะเหตุว่าไม่ได้เห็นจริงๆ ไม่ได้ยินจริงๆ แต่จำสิ่งที่เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะอาจจะไปฝันเรื่องไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะเหตุว่าเราไม่รู้ว่าเราจำอะไรไว้มากมายแค่ไหน เพราะฉะนั้นเวลาที่แม้เราไม่ต้องการจะคิดอย่างนั้น แต่ความทรงจำทั้งหมดที่ปรุงแต่ง ก็ทำให้จิตคิดเป็นเรื่องราวของความฝันขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในขณะที่ฝันและในขณะที่ตื่น ไม่เหมือนกันเลย เพราะว่าตอนตื่นเห็นจริงๆ แต่คืนนี้ ถ้าใครไปฝันต่อกำลังอยู่ในห้องนี้ ก็ไม่ใช่เห็น แต่เป็นแต่เพียงความทรงจำที่จำไว้จากสิ่งที่เคยเห็น แล้วก็นึกขึ้นมา นึกถึงเพื่อนคนไหนก็ได้เวลานี้ นึกถึงชื่อเพื่อนก็ได้ แต่ให้ทราบว่าเป็นเพียงนึก เป็นเพียงคำ ไม่ใช่ว่ามีเพื่อนฝูงจริงที่กำลังเห็น นี้แสดงให้เห็นว่าจิตของเรา มีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาคือกำลังเห็น รู้สิ่งที่ปรากฏทางหูคือกำลังได้ยิน รู้กลิ่นสิ่งที่ปรากฏทางจมูก รู้รสคือสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น รู้เย็นร้อน อ่อนแข็งที่ปรากฏทางกาย แล้วก็มีการคิดนึกทางใจถึงสิ่งต่างๆ ที่เห็นทางตา หู ลิ้น กาย

ถ. อยากจะขอเรียนถามอาจารย์ ที่อ่านมา มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง ภวังคจิต อตีตภวังค์ ไม่ทราบว่าเกิดระยะไหน ตอนไหน

ส. อันนี้สำหรับคนที่อ่านหนังสือเรื่องปรมัตถธรรมสังเขปแล้ว จะรู้ว่ามีจิตปรมัตถ์ คือสภาพรู้ ธาตูรู้ในขณะนี้ ซึ่งทุกคนมี ที่ทุกคนบอกว่า มีจิต มีใจ หมายความถึง ไม่ได้มีแต่รูปร่างกาย นี่เป็นสิ่งที่ต่างกันระหว่างคนกับสิ่งของ โต๊ะ เก้าอี้พวกนี้ เป็นแต่เพียงรูป ไม่มีจิตไม่มีเจตสิก เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปฏิสนธิ ไม่มีภวังค์ เวลาที่เราใช้คำว่า คนเกิด ให้ทราบว่า ถ้าจิตไม่เกิด จะไม่มีคน ต้นไม้เกิดมาไม่มีจิต เพราะว่าต้นไม้ไม่ได้เกิดจากกรรม แต่ต้นไม้เกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อน ต้องรดน้ำหรือว่าต้องมีปุ๋ยใส่ หรือว่าต้องมีอากาศที่เหมาะสม ก็ทำให้พืชหรือว่ารูปเกิดขึ้นได้ เพราะว่ารูปนี้เกิดจากอุตุ ความเย็นความร้อนได้ที่เราปลูก เพราะฉะนั้นที่เรากล่าวว่า คนเกิด สัตว์เกิด นกเกิด ไก่เกิด อะไรก็ตามแต่ หมายความว่าต้องมีจิตเกิด เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกที่เกิดชื่อว่า ปฏิสนธิจิต ต้องรู้ด้วยว่าทำไมเราเรียกจิตนี้ ขณะแรกว่า ปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่า ทำกิจสืบต่อจากชาติก่อน ทันทีที่ชาติก่อน จุติจิตดับ หมายความว่าคนนั้นตายจากชาติก่อน ปฏิสนธิจิตของชาตินี้เกิดสืบต่อทันที ใครทราบก่อนว่า หลังจากตายแล้วเกิดทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย เหมือนกับขณะนี้ทุกๆ ขณะนี้ จิตเห็นบ้าง จิตได้ยินบ้าง จิตคิดนึกบ้าง เกิดดับสืบต่อกันไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้นจากจุติจิตของชาติก่อน เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตคือจิตขณะแรกของชาตินี้เกิดขึ้น ขณะเดียวแล้วดับ จิตขณะต่อไปก็เกิดอีก เพราะเหตุว่าจิตจะต้องเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับไป จิตขณะต่อไป ทำภวังคกิจ ภวังคกิจนี้หมายความว่าทำกิจดำรงภพชาติ เพราะเหตุว่าคำนี้มาจากภาษาบาลีว่า ภว หรือ ภพ ว กับ พ นี้ใช้แทนกันได้ และก็ อัง-คะ หรือ องค์ หมายความถึง จิตขณะนี้ทำกิจดำรงภพชาติสืบต่อ และภวังคจิตก็ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อเรื่อยๆ จนกว่าจะมีอารมณ์กระทบทางตาหรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะที่เรากำลังเห็น ให้ทราบว่า ก่อนเห็นเป็นภวังคจิต แล้วมีตาก็มีสิ่งที่กระทบตาแล้วกระทบภวังคจิต ภวังคจิตที่มีรูปกระทบปสาทะแล้วกระทบนั้นชื่อว่า อตีตภวังค์ ภาษาไทยเราใช้ตัว ด แทนตัว ต เพราะฉะนั้นก็เป็นอดีต หมายความว่าภวังค์ที่เป็นอตีตภวังค์ มีอารมณ์เดิมเหมือนกับภวังค์ ซึ่งเกิดก่อนนั่นเอง ยังไม่เปลี่ยน ยังไม่เห็น ภวังคจิตเห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ ตราบใดที่ชื่อว่าภวังคจิตหรือทำภวังคกิจ ก็จะดำรงภพชาติ แต่ให้รู้ว่ามีอารมณ์กระทบ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า รูปที่กระทบมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น นับหลังจากอตีตภวังค์ไป ๑๗ ขณะ รูปนั้นต้องดับ ที่เราคิดว่าเป็นรูปของเรา เกิดมา ไม่ดับเลย ไม่ถูก รูปของเราเกิดดับเร็วมาก เพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่