วิญญาณ คำที่ใช้กันเอาเองโดยที่ไม่ได้ศึกษา จึงเข้าใจผิดว่าวิญญานต้องออกจากร่างเวลาตายไปแสวงหาที่เกิดใหม่

วิญญาณ เป็นคำที่ภาษาไทยยืมมาใช้จากภาษาบาลี

วิญญาณ ในภาษาไทย มีความหมายว่า กายทิพย์ที่สิงอยู่ในร่างกาย เวลาร่างกายนี้ตาย จึงต้องออกจากร่าง ไปแสวงหาที่เกิดใหม่

แต่ในศาสนาพุทธ   คำว่าวิญญาณ (บาลี: viññāṇa; สันสกฤต: विज्ञान) ใช้หมายถึงพิชาน (consciousness) คือความรู้แจ้งอารมณ์ พระไตรปิฎกระบุว่าพระพุทธเจ้าทรงจำแนกวิญญาณออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา คือรู้รูปด้วยตา หรือการเห็น
โสติวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู คือรู้เสียงด้วยหู หรือการได้ยิน
ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก คือรู้กลิ่นด้วยจมูก หรือการได้กลิ่น
ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น คือรู้รสด้วยลิ้น หรือการรู้รส
กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย คือรู้โผฏฐัพพะด้วยกาย หรือการรู้สึกกายสัมผัส
มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ คือรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ หรือการนึกคิด

นอกจากนี้วิญญาณยังปรากฏในหลักธรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น วิญญาณขันธ์ในขันธ์ 5 วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท

คำว่าวิญญาณยังถือเป็นคำไวพจน์ของคำว่าจิต มีความหมายเหมือนกัน ใช้แทนกันได้
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93_(%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98)

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

https://www.dhammahome.com/cd/topic/14/29

ตอนที่ ๒๙
สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ พ.ศ. ๒๕๓๖
 
ถ. ท่านอาจารย์ยกตัวอย่าง เปิดมาแล้วก็ได้ฟังธรรมพอดี ตรงกับที่ดิฉันได้เปิดมาแล้วก็ได้ฟังธรรมของท่านอาจารย์พอดีเหมือนกัน อันนี้ขอยืนยันว่าเป็นความจริง

ส. อันนี้ก็คือบุญในอดีต ผันให้เกิดการฟังด้วยว่าทำให้ โสตปสาทกระทบกับเสียง

ถ. เราได้กล่าวถึงคำว่า อโหสิกรรม และ ปัญญา ทางโลกก็เข้าใจกันไปอีกทาง จะมีอีกคำที่คิดว่าคำนี้ก็เป็นคำๆ หนึ่ง ที่ทำให้เข้าใจผิดแปลกไป ก็คือคำว่า วิญญาณ วิญญาณโดยทั่วไป ก่อนที่จะมาฟังธรรมของท่านอาจารย์ ก็เข้าใจว่าพอตายไป วิญญาณก็ล่องลอยไป ออกไป ก็ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน แต่พอมาฟังอาจารย์แล้ว วิญญาณจะเกิดทั้ง ทางหู ทางตา ทางจมูก คือ ๖ทางจะเกิดในแต่ละขณะ ที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ถูกต้องหรือไม่

ส. ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ที่ว่าเราเข้าใจธรรม หรือคำที่ใช้กันเอาเองโดยที่ไม่ได้ศึกษาก็เข้าใจผิด เพียงวิญญานก็คิดว่าต้องออกจากร่างเวลาตาย แต่เขาไม่รู้เลยแท้ที่จริงแล้วจะเรียกว่าวิญญาณ หรือจะเรียกว่าจิต ความหมายอันเดียวกัน คือเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้

ถ. ถ้าพูดละเอียดขึ้นมาทางตา ที่จะเห็น ก็ต้องเป็นวิญญาณ ที่บอกว่าเกิดขึ้นตานี้เราจะเรียกว่า จักษุวิญญาณ

ส.  หมายความว่า จิตรู้โดยอาศัยตา ถ้าไม่มีตาเเล้วเห็นไม่ได้ เป็นจิตก็จริง กำลังนอนหลับไม่เห็น เป็นจิตก็จริงกำลังคิดนึกไม่เห็น เพราะฉะนั้นเป็นจิตอีกชนิดหนึ่งซึ่งต้องอาศัยตา จึงจะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ชื่อว่าจักขุวิญญาณ ถ้าทางหูก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยโสตปสาท จึงเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะเหตุว่าถ้าโสตปสาทไม่มี จิตได้ยินเสียงก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยของจิตที่จะเกิดขึ้นแต่ขณะ ต้องอาศัยสภาพที่เป็นปัจจัยเฉพาะของจิตนั้นๆ

ถ. ความหมายของ วิญญาณ กระจ่างแจ้งขึ้น ทางกายปสาท หมายถึง ปสาททั้งร่างกายจะมีอยู่ทั่วตัวใช่ไหม

ส. ซึมซาบอยู่ทั่วตัว เว้นส่วนซึ่งไม่สามารถจะรับกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ

ถ. เช่นอะไร

ส. เวลาที่ชา หรือปลายผม ปลายเล็บ

ถ. นั่นคือไม่มีไม่มีกายปสาท

ส. ส่วนใดที่ไม่มีกายปสาท ส่วนนั้นก็ไม่กระทบกับสิ่งที่กระทบกาย

ถ. ถ้าเรายังฉีดยา เข็มมาถูกที่กาย คือกระทบกับกายปสาท แล้วในขณะนั้นก็มีวิญญาณเกิดขึ้นด้วยใช่ไหม

ส. ถ้าพูดถึงวิญญาณคือจิต ไม่เคยขาดไปเลยสักขณะเดียว ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วแต่ว่าจิตขณะไหน ทำกิจอะไร ทำหน้าที่อะไร อย่างกำลังนอนหลับสนิท จิตทำกิจภวังค์ ภวังค์คือดำรงค์ภพชาติ ยังไม่ให้ตาย ต้องตื่นอีก เห็นอีก ได้ยินอีก เพราะฉะนั้นตอนที่ตื่นและตอนที่หลับ ต่างกันโดยกิจ แต่ว่าต้องเป็นจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ แล้วทำหน้าที่ต่างๆ กัน

ถ. ถ้าพูดถึงภวังคจิต ขณะที่เกิดนั้นจะเป็นลักษณะยังไง

ส. ไม่รู้อารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นอนหลับสนิท เป็นใคร อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

ถ. โลกุตตรปัญญา อาจารย์ยังไม่ได้อธิบาย เผื่อเราจะถึงโลกุตรปัญญา จะได้ถึง นิพพาน

ส. เผื่อไม่มี มีแต่เหตุกับผล เหตุ กับ ผล คือขณะนี้ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ายังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่มีทางที่จะรู้นิพพาน เหมือนกับเราไปพูดให้คนหูหนวกเรื่องเสียง เขาก็ไม่มีทางที่จะได้ยินเสียง หรือไปพูดเรื่องสีสรรวรรณะ ต่างๆ ให้คนตาบอด เขาก็ไม่มีทางที่จะเห็น เพราะฉะนั้นต้องรักษาหู รักษาตาจากบอดให้เป็นดีก่อน และถึงสามารถที่จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงได้ ก่อนจะถึงนิพพาน จิตมี  รู้ความจริงของจิตหรือยัง เจตสิกมี  รู้ความจริงของเจตสิกหรือยัง  รูปมี รู้ความจริงของรูปหรือยัง  นี่คือกำลังรักษาตาที่บอด ให้ตาดี ให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องเป็นโลกียปัญญาก่อน ก่อนที่จะถึง โลกุตตรปัญญา

ถ. อาจารย์ยกตัวอย่าง อายตนะ อย่างงั้นคนตาบอดก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะ

ส. ที่จะเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่