5 ธุรกิจที่เคย ‘รุ่ง’ แต่มา ‘ร่วง’ ที่ไทย



เกิดที่อื่น แต่มา “ดับ” ที่ไทย! 
“5 ธุรกิจ” เคยได้รับความนิยมสุดขีด
“การ์ดิเนีย-คาร์ลซ จูเนียร์-โรตีบอย
-เอแอนด์ดับบลิว-บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์”
ด้าน “การ์ดิเนีย” เผชิญพิษเศรษฐกิจซับไพรม์ ปัจจุบันยังมีร้านค้าพรีออเดอร์-นำเข้าขนมปัง “อร่อยแท้ๆ แม้ไม่ทาอะไร”



● ธุรกิจที่เคยสร้างความสำเร็จในประเทศบ้านเกิดไม่อาจการันตีได้ว่า จะประสบความสำเร็จในต่างแดน
“5 ธุรกิจที่เคยรุ่ง” ประกาศปิดกิจการในไทยถาวร หลายแห่งมีอายุนานหลายทศวรรษ
แต่เมื่อเผชิญกับภาวะขาดทุนสะสมก็ไม่อาจไปต่อได้


● “คาร์ลซ จูเนียร์” “เอแอนด์ดับบลิว” และ “บาสกิ้นส์ ร็อบบิ้นส์” ปิดตัวลงด้วยสาเหตุคล้ายกันคือ ประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา
โดยเฉพาะการระบาดใหญ่โควิด-19 ที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวเร่ง”
กระทั่งในปี 2565 ธุรกิจเหล่านี้ก็มีอันต้องโบกมือลาถาวร


● ส่วน “โรตีบอย” ธุรกิจที่เคยรุ่ง แต่มีอายุสั้นกว่าเชนอื่นๆ เนื่องจากขาดเอกลักษณ์ ไม่สามารถสร้าง “Brand Loyalty” ให้กับกลุ่มผู้บริโภคได้ ทั้งยังถูกจู่โจมด้วย “เกมราคา” จากร้านเบเกอรีในไทยอีกด้วย

ปี 2565 “เอแอนด์ดับบลิว” (A&W)
ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังสัญชาติเมริกันที่เข้ามาประเดิมสาขาแรกในไทยตั้งแต่ปี 2526
ตัดสินใจปิดตัวลงถาวร
เวลา 39 ปีเต็มนับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน
จนไม่อาจจินตนาการได้ว่า
วันหนึ่งแบรนด์ดังที่มี “รูทเบียร์” และ “วาฟเฟิล” เป็นเมนูโปรดของใครหลายคนจะต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย

ทว่าในปีเดียวกันนั้นก็ยังมีฟาสต์ฟู้ดอเมริกัน
อีกเจ้าอย่าง “คาร์ลซ จูเนียร์” (Carl’s Jr.)
ประกาศปิดตัวทุกสาขาในไทยเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า กิจการขาดทุนต่อเนื่องจนไม่สามารถแบกรับต้นทุนไหว
ซึ่งก่อนหน้าที่ทั้งคู่จะเก็บข้าวของโบกมือลาไปอย่างไม่มีวันกลับ ร้านเชนชื่อดังหลายแห่งที่เคยสร้างตำนานความสำเร็จในประเทศอื่นๆ
ก็เคยลงท้ายด้วยการประกาศปิดกิจการไปก่อนหน้าด้วย


“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมแบรนด์ดัง
ที่เคยรุ่งเรืองที่อื่น แต่กลับมา “ดับ” ที่ไทย
อะไรทำให้แบรนด์เหล่านี้
ประสบความสำเร็จในประเทศอื่นๆ มากมาย
แต่กลับต้องปิดตัว-พ่ายแพ้ให้ตลาดบ้านเรา
ไปเสียอย่างนั้น


● การ์ดิเนีย (Gardenia)
ขนมปังหอมเนย เจ้าของสโลแกน “อร่อยแท้ๆ แม้ไม่ทาอะไร” เข้ามาเปิดทำการในไทย
เมื่อปี 2530 จุดเด่นของขนมปังการ์ดิเนีย
คือ มีรสชาติให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ บัตเตอร์สก็อต นมฮอกไกโด โฮลวีตแผ่นบาง
โฮลวีตผสมกล้วย ลูกเกด ช็อกโกแลต
ราสเบอร์รี มะพร้าวใบเตย ฯลฯ
ด้วยรสชาติความหอมอร่อยแปลกใหม่
ไม่ได้เป็นเพียงขนมปังแผ่นเปล่าๆ
จึงทำให้ “การ์ดิเนีย” ได้รับความนิยมในไทยอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะเข้ามาบุกตลาดที่นี่ “การ์ดิเนีย” ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2521
ณ ประเทศสิงคโปร์
ที่ตั้งใจออกแบบขนมปังให้มีเนื้อสัมผัสนุ่มนวลกว่าขนมปังเจ้าอื่นในท้องตลาด
ด้วยวัตถุดิบที่ดีเยี่ยม การทำการตลาด
และการออกแบบโปรดักต์ที่มีสีสันสะดุดตา “การ์ดิเนีย” สามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว หลังเปิดตัวในประเทศได้เพียง 2 ปีเท่านั้น โดยมีการขยับขยายที่ตั้งโรงงานไปยังประเทศใกล้เคียงหลายแห่ง อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย

แม้จะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างไปจากขนมปังอื่นๆ ในท้องตลาด แต่การเดินทางของขนมปังอร่อยแท้ๆ ในไทย ก็ต้องสิ้นสุดลงในปี 2550 เมื่อบริษัทประสบกับวิกฤติทางการเงินและสินเชื่อ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วิกฤติซับไพรม์”
การ์ดิเนีย ตัดสินใจปลดพนักงาน ปิดโรงงาน และหยุดประกอบกิจการในไทย
นับเป็นอันสิ้นสุดแบรนด์การ์ดิเนียประเทศไทยนับตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบันหากใครยังคิดถึงขนมปังหอมเนยแบบไม่ต้องทาอะไรเลย ก็ยังมีช่องทางออนไลน์จัดจำหน่าย โดยมีร้านค้า “รับหิ้ว” จากประเทศใกล้เคียงอย่าง “มาเลเซีย” ข้ามน้ำข้ามทะเล
มาให้ได้ลิ้มรสกัน ที่ผ่านมาเคยมีกระแสข่าวลือหนาหูว่า “การ์ดิเนีย” อาจได้ฤกษ์กลับมาเปิดโรงงานในไทยอีกครั้งจากความเคลื่อนไหวของเพจ “Gardenia Thailand Official”
แต่ท้ายที่สุดเพจดังกล่าวก็ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายและกระจายสินค้าจากโรงงานในมาเลเซียเท่านั้น
ดับฝันแฟนๆ หลายคนที่คิดถึงขนมปังการ์ดิเนีย



● คาร์ลซ จูเนียร์ (Carl’s Jr.)
เชนเบอร์เกอร์และฟาสต์ฟู้ดจากสหรัฐเข้ามาเปิดตลาดในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2555 ปักหมุดสาขาแรกที่เมืองท่องเที่ยว อย่าง “พัทยา” จำนวน 2 สาขา ก่อนขยายไปยังสาขาอื่นๆ
ในกรุงเทพฯ อีก 4 สาขา รวมทั้งสิ้น 6 สาขา
ด้วยกัน
แรกเริ่มที่เข้ามาเปิดในไทย “คาร์ลซ จูเนียร์” วางเป้าใหญ่เตรียมปั้นแบรนด์กว่า 25 สาขาภายใน 5 ปี
แต่ผลปรากฏว่า ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้านัก โดยเหตุผลหลักๆ อาจมาจากการที่ประเทศไทยมีธุรกิจประเภท “Quick Service Food”
หรือ “QSK” ที่แข็งแรงมากๆ ในตลาดอยู่แล้ว
โดยเฉพาะ “เบอร์เกอร์” ที่ต้องชนกับเชนใหญ่ทั้ง “แม็คโดนัลด์” “เบอร์เกอร์คิง” “มอสเบอร์เกอร์” เป็นต้น 
คาร์ลซ จูเนียร์ ประเทศไทย ส่อแววระส่ำหนักในช่วงโควิด-19 ที่ต้องปิดหน้าร้านจากการระบาดใหญ่ หากสังเกตดูดีๆ จะพบว่า
ทำเลที่ตั้งของร้านค้ากระทบหนักสุด
เพราะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงานเป็นหลัก แม้ว่ายอดการสั่งซื้อเดลิเวอรีจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 แต่ก็ไม่สามารถทดแทนยอดที่หายไปจากการขายหน้าร้านได้ ทำให้ในปี 2565 คาร์ลซ จูเนียร์ ประเทศไทย ตัดสินใจปิดตัวลง แต่ยังดำเนินการในสหรัฐ และมีแฟรนไชส์ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีก 43 ประเทศ

● โรตีบอย (Roti Boy)
เรียกว่า เป็นแบรนด์ที่มาไวไปไวเจ้าหนึ่งเลย
ก็ว่าได้ เพราะพุ่งแรงอย่างถึงที่สุด
ในปี 2548 ที่เข้ามาเปิดหน้าร้านในไทยครั้งแรกใจกลางสยามสแควร์ และยังขยายเพิ่มอย่างรวดเร็วอีก 3 สาขา
ได้แก่ สาขาสีลม สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว
และสาขาบิ๊กซีรามคำแหง
ความนิยมของ “โรตีบอย” กลายเป็นที่มา
ของการรับจ้างต่อคิวรอซื้อเพื่อให้ได้ขนมปังก้อนกลมหอมกาแฟมาลองชิมสักครั้ง
โดยเว็บไซต์ “Thai SMEs Center”
ระบุว่า ขณะนั้นโรตีบอยมียอดขายสูงสุดกว่า 20,00-30,000 ชิ้นต่อวัน
มีการจำกัดการซื้อไม่เกิน 10 ชิ้นต่อคน
จากราคาหน้าร้านก้อนละ 25 บาท กลายเป็นสนนราคา “รับหิ้ว” ที่ก้อนละ 30-35 บาท

ขณะนั้นรูปร่างหน้าตาขนมปังแบบโรตีบอย
นับเป็น “เรื่องใหม่” ในไทย เพราะยังไม่เคย
มีขนมปังก้อนกลมเป็นเอกลักษณ์แบบนี้มาก่อน แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็มีร้านเบเกอรีในไทยเจ้าอื่นๆ ผลิตขนมปังในรูปแบบเดียวกันออกมาวางจำหน่าย ด้วยรสชาติและราคาที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก หรืออาจจะย่อมเยากว่าด้วยซ้ำไป กระแสของโรตีบอยจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง
ท้ายที่สุด “โรตีบอย” ต้องโบกมือลาประเทศไทยในปี 2550
เป็นเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้นที่ “โรตีบอย” หรือ “ร็อตตี้บอย” เข้ามาตีตลาดในไทย ซึ่งปัจจุบัน “มาเลเซีย” ประเทศต้นกำเนิดโรตีบอยยังคงเปิดให้บริการอยู่ ส่วนสาขาแฟรนไชส์ในประเทศอื่นอย่างสิงคโปร์เองก็ได้ปิดกิจการลงแล้วเช่นกัน

● เอแอนด์ดับบลิว (A&W)
ฟาสต์ฟู้ด “QSR” ที่มีเครื่องดื่ม “รูทเบียร์” เป็นลายเซ็นประจำร้าน เรากำลังพูดถึง “เอแอนด์ดับบลิว” ที่เพิ่งประกาศปิดตัวลงเมื่อปี 2565
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ “คาร์ลซ จูเนียร์” โดยเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัท โกบอลคอนซูมเมอร์ เจ้าของลิขสิทธิ์เอแอนด์ดับบลิวในไทย
ตัดสินใจยุติกิจการ เนื่องจากขาดทุนสะสมติดต่อกันหลายปี
ปี 2564 ขาดทุนกว่า 70 ล้านบาท ทั้งยังเจอกับมรสุมโควิด-19 ซ้ำหนักจนทำให้เกิดภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง กระทั่งตัดสินใจประกาศปิดกิจการลงเมื่อเดือนมีนาคม 2565
เป็นอันสิ้นสุดฟาสต์ฟู้ดอเมริกันอีกราย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการประกาศปิดตัวลง แฟนๆ “เอแอนด์ดับบลิว” ก็ให้ความสนใจและทยอยเข้ามาอุดหนุนร้านค้าอย่างต่อเนื่อง
ความน่าสนใจ คือ บริษัทเองก็อาศัยจังหวะ
“น้ำขึ้นให้รีบตัก” ทันที มีการจัดโปรโมรชันเพื่อระบายสต๊อก รวมถึงยังออกสินค้ามาสคอตประจำร้านอย่าง “ตุ๊กตาหมีรูทตี้” เพื่อให้แฟนๆ ที่โตมากับร้านได้เก็บสะสมเป็นของที่ระลึก
ก่อนจากกันด้วย

● บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ (Baskin Robbins)
ทำเอาแฟนๆ ที่โตมากับไอศกรีมหอมนมเจ้านี้ช็อคไปตามๆ กัน เมื่อมีรายงานข่าวเมื่อช่วงปลายปี 2565 ว่า “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” ทยอยปิดสาขาทั่วประเทศเหลือเพียง 4 สาขาเท่านั้น ได้แก่ สาขาโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สาขาเค วิลเลจ, สาขาสยามพารากอน และสาขาเดอะวอล์ค เกษตร-นวมินทร์ ซึ่งต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2566 ก็พบว่า “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” ปิดกิจการทุกสาขาเรียบร้อยแล้ว
โดยสาเหตุที่ตัดสินใจถอนทัพจากประเทศไทยก็มาจากสภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่องหลายปี

ข้อมูลผลประกอบการประจำปี “บริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด” ผู้ถือลิขสิทธิ์ประกอบกิจการร้านไอศกรีม “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์”
จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564 บริษัทขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอด
และหากนับย้อนไปไกลกว่านั้นก็จะพบว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา “บาสกิ้นส์ ร็อบบิ้นส์” ขาดทุนรวมกว่า 128 ล้านบาท
ทั้งยังไม่มีการทำการตลาดใหม่ๆ เมื่อเทียบกับร้านไอศกรีมเชนในระนาบเดียวกัน ที่มีการออกโปรดักต์อย่างสม่ำเสมอ
เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางของไอศกรีมเก่าแก่จากสหรัฐ



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่