JJNY : เศรษฐกิจซบ การเมืองวุ่น ฉุดยอดขายทองร่วง 20%│สหภาพโอดน.ศ.เภสัชฯ│เอกชนคาดอาหารโต2%│“อ.สุขุม”มองพิธา เป็นนายกฯ

เศรษฐกิจซบ การเมืองวุ่น ฉุดยอดขายทองร่วง 20% คาดทั้งปีราคาแตะ 32,300 บาท
https://www.matichon.co.th/economy/news_4058632

เศรษฐกิจซบ การเมืองวุ่น ฉุดยอดขายทองร่วง 20% คาดทั้งปีราคาแตะ 32,300 บาท
 
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง สิ่งที่ชัดที่สุดคือกระทบต่อค่าเงินบาท ความเชื่อมั่นของต่างชาติ ความเชื่อมั่นในการลงทุน ความเชื่อมั่นว่าอนาคตไม่แน่นอน จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าเร็วมากทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาทองคำตลาดโลกย่อตัวลงมาประมาณ 2% จาก 1,940 เหรียญ ลงมาที่ 1,905 เหรียญ
 
ขณะที่ราคาทองในไทยทรงตัวอยู่ที่ 32,000 บาทต่อบาท ทองคำจากค่าเงินบาทที่อ่อนลงมาจาก 34 บาทต่อดอลลาร์มาอยู่ที่กว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ ในรอบ 10 วันที่ผ่านมา ถ้าการเมืองสงบหรือนิ่ง สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนกลับมาได้ จะส่งผลดีต่อประเทศชาติและเศรษฐกิจ จะทำให้ภาวะเงินบาทกลับสู่ภาวะปกติได้
 
การเมืองทำให้เงินบาทอ่อนค่า จึงมีผลกระทบต่อตลาดทองคำ แต่การที่เงินบาทจะกลับไปแตะ 32-33 บาทต่อดอลลาร์คงยากแล้ว ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเศรษฐกิจของประเทศก็แย่ด้วย ส่งออกปีนี้ติดลบประมาณ 2% ต้องเข้าใจว่าเมืองไทยเศรษฐกิจยืนได้ด้วยการส่งออกเป็นหลัก การท่องเที่ยวถือเป็นอันดับสอง ถ้าส่งออกยังไม่ฟื้น เศรษฐกิจของประเทศฟื้นได้ยาก เพราะประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นทั้งจีน อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เพราะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นส่งออกปีนี้น่าจะไม่ดี และปีนี้ทิศทางค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าน่าจะอยู่ที่ 35 บาทบวกลบ ถ้าการเมืองไม่จบ” นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าว
 
นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าวว่า สำหรับทิศทางราคาทองคำในขณะนี้อยู่ในทิศทางค่อยๆ ปรับตัวลดลงต่อมาก แต่ไม่ลงลึก น่าจะไม่หลุด 1,850 เหรียญ จะเริ่มทรงตัวและดีดกลับหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในครั้งหน้า ทำให้ภาพรวมตลาดทองคำปลายปี 2566 ยังคงเป็นบวกไปถึงปี 2567 เพราะเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย จึงทำให้ดอกเบี้ยขาขึ้นจะเริ่มนิ่ง ราคาทองจะดีดขึ้น น่าจะทะลุจุดสูงสุดเดิม 2,075 เหรียญต่อออนซ์ ด้านทิศทางราคาทองคำในประเทศน่าจะอยู่ที่ 31,600-32,300 บาทต่อบาททองคำได้ในปีนี้ และในปีหน้าน่าจะเห็นจุดสูงสุดเดิมเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ 32,850 บาทต่อบาททองคำ และมีโอกาสทะลุ 33,000 บาทต่อบาททองคำ
 
ในฐานะนักธุรกิจอยากให้การเมืองนิ่งๆ ใครเป็นรัฐบาลก็ได้ ขอให้บ้านเมืองสงบ รัฐบาลมีความมั่นคง ไม่โกงไม่กิน ช่วยดูแลเศรษฐกิจของประเทศ ให้มันนิ่ง และเจริญเติบโต ไม่ต้องการให้มานั่งแจกเงิน แจกทอง ซึ่งมันไม่ใช่วิถีทางที่ดี รัฐบาลที่ดีต้องสร้างงานให้ประชาชน จากการทำงาน ได้เงิน และเก็บออม อย่าทำอะไรที่หวือหวา” นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าว
 
นายแพทย์กฤชรัตน์ กล่าวว่า ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงไม่เป็นห่วง เพราะโดยพื้นฐานแรงงานฝีมือค่าแรงแพงอยู่แล้ว แต่แรงงานไร้ฝีมือจะหาค่าแรง 300 บาทไม่มีแล้ว แต่อย่าไปคิดค่าแรงที่มันเว่อร์วัง เปรี้ยงเดียวจะเอา 450 บาท จะเจ๊งทั้งระบบ ต้องค่อยๆ ขึ้นไป มันไม่ได้ขึ้นลิฟท์ แค่ขึ้นค่าแรงให้ชนะเงินเฟ้อ ให้คนอยู่รอดได้ก็ถือว่าเป็นพระเอกแล้ว ทั้งนี้ในธุรกิจทองคำใช้แรงงานไม่มาก เพราะใช้แรงงานเฉพาะ ซึ่งพนักงานบริษัทมี 450 คนถือว่าใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมค้าทองคำ และจ่ายค่าแรงจ่ายอยู่ราว 450 บาท สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แต่ถ้าจะรัฐบาลจะปรับขึ้นก็ต้องขึ้นตามเพราะแรงงานฝีมือ จะจ่ายต่ำไม่ได้ ถ้าต่ำไม่มีใครมาอยู่กับเรา
 
ตอนนี้ตลาดค้าทองคำอยู่ช่วงชะลอตัวเพราะเศรษฐกิจไม่ดี มีข่าวร้ายเยอะ เช่น ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ยอดขายตกประมาณ 20% แต่ถือว่าไม่มาก อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าประชาชนไม่มีเงิน คนที่ซื้อทองส่วนใหญ่คือลูกค้าเกรดบีกับซี ซึ่งมีสัดส่วน 90% ของประเทศ จึงทำให้กำลังซื้อปีนี้ชะลอตัวประมาณ 10% เพราะช่วงปลายปีเป็นไฮซีซั่น คนเริ่มมีเงินมาจับจ่ายใช้สอย และจะเห็นได้ว่ายิ่งตลาดทุนไม่ดี คนเริ่มกลับมาซื้อทองคำเป็นออมระยะยาวและจากโลกเริ่มเปลี่ยน เราปรับนโยบายการขายเข้าสู่รีเทล จากเดิมเน้นโฮลเซลล์ ไม่ขยายสาขา ในปีนี้จะลงทุนเปิดสาขาใหม่ที่เซ็นทรัลลาดพร้าวกับเดอะมอลล์บางแคในเดือนกรกฎาคมนี้และปีหน้าเปิด 5-10 สาขา” นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าว
 

 
สหภาพโอดน.ศ.เภสัชฯ จบเกือบ 2 พัน เข้าระบบแค่ 200 ชี้ภาระงานเยอะ
https://www.matichon.co.th/social/news_4058590

สหภาพโอดน.ศ.เภสัชฯ จบเกือบ 2 พัน เข้าระบบแค่ 200 แถมลาออกเพิ่มมากขึ้น ชี้ภาระงานเยอะ
 
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจสหภาพ เภสัชกร ผู้ปฏิบัติงาน – Thailand Frontline Pharmacist Union : TFRxU โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า 

นักศึกษาเภสัชศาสตร์จบมาในแต่ละปีจำนวน 1,800 – 1,900 คน เข้าระบบแค่ 248 คน ไม่นับในระบบที่มีการลาออกเพิ่มมากขึ้น เป็นปัญหาหรือไม่?

เภสัชกรโรงพยาบาลคือด่านสุดท้ายก่อนที่ผู้ป่วยจะกลับบ้าน หากภาระงานมากเกิน ผลกระทบจะตกสู่ประชาชนโดยตรง
 
นอกจากนี้เพจสหภาพ เภสัชกร ผู้ปฏิบัติงานฯ ยังได้โพสต์ภาพตะกร้าใส่ยาที่กองทับถม พร้อมกับเขียนข้อความระบุว่า 

ภาระงานแค่บางส่วนของเราในแต่ละวันครับ ยังไม่นับงานเพิ่มเติมอื่นๆ อีกมากมาย แค่จ่ายยาให้ทันในเวลาก็ยากแล้ว หลายๆ ที่ไม่ได้มีการเช็กยา หมายถึงจัดเสร็จถึงคิวจ่ายเลย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คิดเป็นสัดส่วนของตัวเลขนักศึกษาเภสัชฯ ที่เข้าระบบอยู่ที่ประมาณ 12.5%

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=130203670098468&id=100093265051275
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=130323053419863&id=100093265051275



เอกชนคาดอาหารปี 66 โต 2% แต่ยังเสี่ยงศก.โลกฉุด
https://www.innnews.co.th/news/economy/news_576700/

เอกชนชี้อาหารยังไปได้ปีนี้คาดโต 2% แต่ยังท้าทายปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกรุมเร้า ห่วงภัยแล้ง
 
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า คาดการณ์การส่งออกสินค้าอาหาร ปี 2566 อาจทรงตัวถึงเติบโตที่ร้อยละ 0-2 เนื่องจากสถานการณ์การค้าในปัจจุบันมีความไม่แน่นอน และความท้าทาย ที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ หากรัฐและเอกชนมีความร่วมมือคาดการเติบโตของการส่งออกอาหารจะมีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น
 
ซึ่งการส่งออกอาหารในเดือนพฤษภาคม มีมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท หดตัวร้อยละ13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 6 คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.57 แสนล้านบาท โดยสินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าไก่ อาหารทะเลกระป้องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาสีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องดื่ม
 
แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก กำลังซื้อที่ลดลง จากอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยผู้ประกอบการบางกลุ่มยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ รวมถึงปัญหาหนี้สินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีราคาวัตถุดิบและค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกสินค้าอาหารและที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะเอลนีโญที่ส่งผลต่อภัยแล้ง
 
ในขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการส่งออก คือความต้องการอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งประเทศไทยมีคุณภาพดีและราคาสินค้าสามารถแข่งขันได้ ความมั่นคงทางอาหาร ความต้องการสำรองอาหารของประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น การท่องเที่ยวในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว รวมถึงไทย ทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่