วิเคราะห์บทเรียนพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งในปี 2563

** แก้ไข เลือกตั้ง 2566 ครับ  หัวกระทู้ผิดปีเลยขอโทษด้วยครับ**
ไม่ต้องเกริ่นเยอะ เข้าเรื่องเลยแล้วกัน

1. คะแนนของพรรคการเมืองบางพรรคได้ สส. ระดับเขตมาก แต่ได้ สส. ปาร์ตี้ลิสต์น้อย ข้อสันนิษฐานคือ ในระดับเขต ตัว สส. มีฐานเสียงของตนเองในพื้นที่ หรืออาจจะมีลูกกระสุนที่มากพอในพื้นที่นั้นๆ แต่ผู้ที่เลือก เลือกเฉพาะตัวบุคคลไม่เลือกพรรคกลับไปเลือกพรรคอื่น ทำให้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวน สส. เขต กรณีนี้ทางพรรคควรกลับมาทบทวนแนวนโยบาย ของพรรคตนเองว่าเพราะเหตุใด ประชาชนจึงไม่นิยมในพรรคของตน ทั้งๆ ที่ปกติแล้วเมื่อประชาชนเลือกบุคคลมักจะเลือกพรรคไปพร้อมๆกัน

2. คะแนนของพรรคการเมืองบางพรรค ได้จำนวน สส. ระดับเขตน้อย เมื่อเทียบกับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ข้อสันนิษฐานคือ ผู้ที่ลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แต่ตัว สส. เขตเองยังไม่มีความนิยมพอที่ประชาชนจะเลือก กรณีนี้ตัวพรรคการเมืองถือว่ามีแนวนโยบายที่ถูกใจประชาชนส่วนหนึ่งในระดับประเทศ แต่ยังไม่มีความนิยมสูงพอที่จะได้คะแนนเป็นที่ 1 ในระดับเขต
          จากช้อ 1 และ 2 สรุปได้ว่า ประชาชนยังมีการเลือกทั้งสองแบบคือ เลือกทั้งคนทั้งพรรค และเลือกตัวบุคคลและเลือกพรรคการเมืองต่างกัน

3. จากเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่มีการแจกเงินในเขตต่างๆ มากมาย (ผมก็ไม่ได้) แต่ผลคะแนนออกมาแย้งกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างของพรรคที่แจกเงินนั้นอาจจะแสดงให้เห็นว่า ไม่มีการแจกเงินจริงอย่างที่มีการอ้างถึงหรือแจกแล้วแต่ประชาชนก็ยังไปเลือกพรรคอื่นอยู่ดี สิ่งนี้คงมีแต่พรรคการเมืองที่ถูกอ้างว่าแจกเงินเท่านั้นที่จะรู้ความเป็นจริงว่าหมดไปเท่าไหร่แล้วได้คะแนนกลับมาเท่าไหร่ และคงจะเป็นมาตรฐานให้กับการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ในการครั้งเลือกตั้งครั้งต่อไป หากพรรคที่เคยแจกไม่แจกอาจจะยิ่งมีผลลบกับคะแนนเสียงของพรรคตนเอง แต่พรรคที่ไม่เคยแจกประชาชนก็ไม่ได้คาดหวังอยู่แล้ว

4. ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนอย่างดีของ สส. กลุ่มงูเห่า หรือพรรคการเมืองที่ทรยศหักหลังเสียงของประชาชน เพราะประชาชนแสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อคุณถูกเลือกไปแล้วไม่ใช่ว่าคุณจะทำอย่างไรก็ได้โดยไม่คำนึงถึงเสียงของคนที่เลือกมา

5. การที่ได้ออกทีวีมาดีเบตบ่อยๆ มีแสงในสื่อสังคมใช่ว่าจะส่งผลดีเสมอไป ถ้าการออกสื่อนั้นตัวผู้ออกสื่อไม่สามารถแสดงความฉลาดหรือความสามารถให้ประชาชนได้เห็น หรือไปแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ ก็เป็นการลดความนิยมของตนและของพรรคลงโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจ เหมือนคนมีเครื่องมือที่ดีแต่กลับนำเครื่องมือมาใช้ทำร้ายตนเอง

6. ทุกวันนี้ สื่อโซเชียลมีความสำคัญอย่างมากในการประชาสัมพันธ์พรรคการเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดีเบตผ่านสื่อให้มากขึ้น แต่ละพรรคควรจะหาตัวแทนที่มีความรู้ความสามารถ มาร่วมดีเบตกับพรรคอื่นๆ

7. สำหรับพรรคการเมือง ที่มีทั้งฐานเสียงเดิม เงินตรา เวลา อำนาจ กำลังคน และสื่ออยู่ในมือ แต่ไม่สามารถทำให้ ประชาชนเห็นคล้อยตามหรือสนับสนุนได้ จำเป็นต้องกลับไปทบทวนว่าที่ผ่านมานั้นมีสิ่งใดที่ผิดพลาด จึงทำให้ผลออกมาอย่างที่เห็น

8. การสื่อสาร การจูงใจผ่าน IO ยังคงได้ผลอยู่ บางพรรคได้ผลมาก บางพรรคได้ผลน้อย คนส่วนใหญ่รับสารจากหลายทาง หลายแหล่ง การที่ IO ไม่เป็นผล ต้องยอมรับว่าเนื่องจากแนวความคิด แนวปฏิบัติของ IO ไร้ประสิทธิภาพ ไม่เนียนพอที่จะจูงใจคน การเมืองแบบเก่าที่ใช้ความรู้สึก “ด้านลบ” เป็นจุดขาย เช่น โจมตีตัวบุคคลด้วยเรื่องผิด กม. ต่างๆ หรือการขายความกลัว ไม่ได้กระแสจากประชาชน แต่การจูงใจโดยปัจจัย “ด้านบวก” ความหวัง ความเป็นไปได้ ส่งผลมากกว่า

9. การเน้นนโยบายหรือใช้วิธีการเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มฐานเสียงเดิมของตนเองเป็นหลักไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคะแนนในการเลือกตั้งมากนัก เพราะกลุ่มฐานเสียงเหล่านี้พร้อมที่จะเลือกพรรคที่ตนชอบอยู่แล้วไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ดังนั้นแนวนโยบายหรือวิธีการในการหาเสียง ควรจะสามารถดึงดูดกลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มตรงกลางที่ยังไม่ตัดตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งให้มาสนับสนุนพรรคตนเองให้ได้

10. สำหรับพรรคการเมืองบางพรรค ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองเหล่านี้มีทีมวางแผน ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองเหล่านี้คือ 
          10.1 หัวหน้าพรรคการเมือง มักจะไม่ซื้อนโยบายหรือแผนงานที่ไม่เข้ากับความคิดของตนเอง ทั้งๆ ที่นโยบายหรือแผนงานเหล่านั้นเป็นแผนงานที่ดีตรงกับสถานการณ์ความเป็นจริงและมีความเหมาะสม
10.2 ทีมวางแผนของพรรคการเมืองนั้นๆ เสนอแต่แนวทางที่หัวหน้าพรรคการเมืองชอบ เพราะเกรงว่าหากเสนอแนวทางอื่นที่ไม่ถูกใจจะส่งผลเสียกับตนเอง ทำให้แนวทางที่เสนอนั้นผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงที่ควรจะเป็น

11. แนวนโยบายสุดโต่ง ไม่ว่าจะสุดไปด้านไหน ก็ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นในสังคม แนวนโยบายแบบนี้มักจะถูกใจกลุ่ม Hardcore แต่ไม่ถูกใจคนส่วนใหญ่ แนวนโยบายที่ไม่มีความชัดเจนก็เป็นเช่นเดียวกัน สำหรับนักการเมืองแล้ว เป็นปกติที่การกระทำใดๆ มักจะเปิดช่องไว้สำหรับการเจรจา แต่สำหรับประชาชนแล้ว ต้องการความชัดเจนในแนวทาง พรรคการเมืองต้องพยายามผสมผสานสองสิ่งนี้ให้ลงตัวเพื่อเรียกคะแนนจากประชาชน

12. การเมืองแบบใช้อำนาจเก่า ใช้อิทธิพลกดดัน ใช้คอนเนคชัน ไม่ได้มีประสิทธิภาพเสมอไป คะแนน สส. บ้านใหญ่  คะแนนจากค่ายทหาร เป็นตัวชี้วัดแล้วว่า อำนาจไม่มีผลกับการตัดสินใจ ยิ่งแสดงอำนาจคนยิ่งต่อต้าน พรรคการเมืองต้องหาให้ได้ว่าสิ่งที่จะจูงใจคนของตนได้คืออะไร
 
          บทสรุป  ผลการเลือกตั้งครั้งนี้บ่งบอกได้ว่าการเมือง (เฉพาะการเลือกตั้ง) มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก วิธีการเก่าๆ เดิม ๆ รวมถึงแนวความคิดเดิม ๆ ถึงแม้จะยังใช้ได้อยู่แต่ก็ถูกลดค่า ลดประสิทธิภาพ ลงไปอย่างมาก จนถึงจุดที่อาจจะไม่คุ้มต้นทุน พรรคการเมือง นักการเมืองจำเป็นที่จะต้องปรับตัว ซึ่งจะปรับแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวพรรคการเมืองแต่ละพรรคเพราะแต่ละพรรคก็มีบริบทต่างกัน

ต่อจากนี้ก็ต้องมาดูกันว่า “การเมือง” ด้านอื่นๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่