กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (1994) - สำรวจภาวะล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ส่งผลต่อสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง

กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้: Once Upon a Time

" ตีแผ่ปัญหาสังคมอย่างหนักหน่วง พร้อมกับนำสัญญะทางภาพยนตร์มาช่วยเล่าเรื่องได้ดีเยี่ยม "


สวัสดีครับทุกท่าน ! ล่าสุดผมได้รับชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง "กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (1994)" บน Netflix เห็นหลายท่านแนะนำว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังไทยยอดเยี่ยม... เลยจะมาขอคอนเฟิร์มว่า "จริงสมคำร่ำลือ" นี่เป็นหนังไทยที่มีคุณค่า แถมตัวหนังเองก็ถูกบรรจุเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติแล้วอีกด้วย

ดังนั้นก็อยากจะมาแชร์ความประทับใจ หวังว่ารีวิวนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ

เรื่องย่อ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ตัวอย่าง ภาพยนตร์ กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ | ONCE UPON A TIME [ Official Trailer ]

กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (1994) กำกับโดย คุณบัณฑิต ฤทธิ์ถกล (ผู้กำกับเรื่อง "บุญชู") ตัวหนังเล่าถึงครอบครัวของ "โอ๋ (มาตัง จันทรานี)" เด็กสาวที่พ่อและแม่กำลังจะแยกทางกัน ส่งผลให้จิตใจของเธอและน้องแตกสลาย ทั้งยังนำพาให้เธอเข้าไปพัวพันกับแก๊งค์ค้ายา / ค้าประเวณีโดยบังเอิญ

ความรู้สึกหลังรับชม

- ความประทับใจแรก ขอยกให้ "บทภาพยนตร์อันยอดเยี่ยม" บทหนังใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์ ทั้งในส่วนของแก่นเรื่องที่สะท้อนปัญหาสังคม และในส่วนการดำเนินเรื่องที่ทำได้สนุกน่าติดตาม

-- แก่นเรื่องโฟกัสไปที่ "ภาวะล่มสลายของสถาบันครอบครัว" อันส่งผลเสียใหญ่หลวงต่อเด็กและสังคมโดยรวม ใครจะไปรู้ว่า จิตใจของเด็กที่ถูกทิ้งจะแหลกสลายมากแค่ไหน ทั้งยังเป็นต้นตอให้เกิดปัญหาเด็กเร่ร่อนและอาจเข้าไปพัวพันกับปัญหายาเสพติดและปัญหาค้ามนุษย์... หนังเล่าสภาวะและผลเสียนี้ได้ครบถ้วน ยอดเยี่ยม

หลายปัญหาอาจดูน้อยลงในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หนังชี้ให้เห็นว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุด สิ่งเหล่านี้จะส่งผลเสียอย่างไรกับสังคมเราได้บ้าง ผู้ชมจึงถูกประเด็นหนักหน่วงกระทุ้งอกอย่างแรง เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวที่เป็นเกราะป้องกันชั้นแรกของเด็กที่เติบโตในสังคม

-- ส่วนที่สอง "การดำเนินเรื่องและการใช้สัญญะในภาพยนตร์" พาร์ทการดำเนินเรื่อง หนังทำได้สนุก มีทั้งความดราม่า ความมืดหม่น ความอารมณ์ขัน ความแฟนตาซี และความอบอุ่นในหัวใจ ครบทุกอารมณ์ 

จุดถัดมา พัฒนาการของแต่ละตัวละคร หนังทำได้ดี โดยตัวละครที่ผมชอบในพัฒนาการมากที่สุด ได้แก่ "นกแล และภา"  เราจะเห็นว่า ตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงท้ายเรื่อง พัฒนาการของสองตัวละครนี้ แตกต่างอย่างมาก มีมิติที่น่าสนใจ

-- มาถึงส่วนที่เซอร์ไพร์สที่สุด เรื่อง "การใช้สัญญะในภาพยนตร์" หนังใช้นิทานเทพนิยายที่พ่อ (ดำรง) คอยกล่อมลูกยามค่ำคืน มาเป็น Symbol ซ้อนกับเรื่องหลัก เช่น เจ้าชาย เจ้าหญิง ยักษ์ตาเดียว แม่มดใจร้าย ที่มีทั้งในนิทานและบนโลกความเป็นจริง

(ความเป็นเทพนิยาย เป็นที่มาของชื่อเรื่อง "กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้" - เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากเช้าวันย้ายบ้าน)


หนึ่งในฉากที่ผมประทับใจ คือ ภาพของ "ตุ๊กตากระดาษจับมือกัน" ซึ่งหมายถึงปัญหาเด็กในสังคม บางครั้งหนังแสดงกระดาษออกเป็นสามสี (แดง ขาว น้ำเงิน) ซึ่งพอเห็นปุ๊ปก็รู้เลยว่า หนังกำลังใช้สีธงชาติไทยและสื่อถึงสังคมไทยอย่างชัดเจน

ยอมรับว่า ไม่ค่อยได้เห็นการใช้ Symbol แบบนี้ในภาพยนตร์ไทยมากเท่าไร (ส่วนใหญ่จะเจอแต่ในหนังรางวัลของต่างประเทศ เช่น เรื่องล่าสุด ก็ Drive my Car ที่ใช้เส้นเรื่องละครเวทีมาผสมกับเรื่องหลัก)

ดังนั้นขอชื่นชมเลยว่า ผู้กำกับนำสัญลักษณ์หลาย ๆ อย่างมาสะท้อนนัยยะเรื่องได้เฉียบคมและงดงาม น่าประทับใจมาก ๆ

- พาร์ทนักแสดงดีเยี่ยมทุกคน ทั้ง คุณหนุ่ม สันติสุข พรหมศิริ (ดำรง) และคุณแหม่ม จินตรา สุขพัฒน์ (ภา) แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ คือ คุณมาตัง จันทราณี (บทโอ๋) และ คุณรณรงค์ บูรณัติ (บทนกแล) ทั้งคู่แสดงได้อย่างโดดเด่นเกินวัย เป็นหนึ่งในส่วนที่ดีที่สุดในเรื่อง


- ดนตรีประกอบถูกประพันธ์โดย ดนู ฮันตระกูล เพลงธีมเข้ากับเรื่องและสร้างอารมณ์เรื่องได้เยี่ยม

สรุป

กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (1994): เป็นภาพยนตร์ไทยคลาสสิคที่สะท้อนภาพสังคมไทยช่วงปี 2537 (1994) อย่างหนักหน่วง ตัวหนังอาจมีความบังเอิญและความเป็นละครคุณธรรมผสมมา แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ช่วงราวปี 2537 น่าจะมีปัญหาหลายอย่างที่รุนแรง โดยเฉพาะปัญหาเด็ก ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี และปัญหาสถาบันครอบครัว จนสามารถนำมาทำเป็นภาพยนตร์สะท้อนสังคมได้

ดังนั้นใครสนใจก็ขอแนะนำนะครับ หนังไทยคุณภาพที่ไม่อยากให้พลาดกัน... ดูได้บน Netflix !
_________________________________

ป.ล. อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากพูดคุยติดต่อนะครับ
IG: benjireview
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่