ส้มแดง อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกยังไง ?

กระทู้คำถาม
ลงทุนเกิร์ล

Yellow Leaf สตาร์ตอัปอเมริกัน ที่ขาย “เปลญวน” จากไทย ในราคาเกือบ 10,000 บาท
23 ก.พ. 2023

Yellow Leaf สตาร์ตอัปอเมริกัน ที่ทำเงินหลายสิบล้านบาท ต่อปี จากการต่อยอด สิ่งประดิษฐ์พื้นบ้านของไทย แถมยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชนกลุ่มน้อย ทางตอนเหนือของไทยไปพร้อม ๆ กัน
 
แล้วเรื่องราวของ Yellow Leaf จะน่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
 
จุดเริ่มต้นของ Yellow Leaf เกิดขึ้นเมื่อผู้ก่อตั้งบริษัท อย่าง คุณ Joe Demin ได้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย แล้วพบกับ “เปลญวน” ที่ทั้งนอนสบาย นุ่ม ไม่บาดผิว และฝีมือการถัก ก็ยังมีความประณีต
 
จากความประทับใจในวันนั้น
จึงทำให้คุณ Demin ลองเดินทางไปยังแหล่งผลิต
เพื่อศึกษากรรมวิธีจากช่างฝีมือ “ชาวมลาบรี” ที่อาศัยอยู่บนดอย ในชุมชนเผ่าตองเหลือง ที่อำเภอร้องกวาง ของจังหวัดแพร่
 
แต่หลังจากได้ฟังเรื่องราวของชาวมลาบรี
เขาก็ได้รู้ว่า ที่มาของการผลิตเปลญวนนั้น มาจากนักพัฒนาสังคมในจังหวัดแพร่ ที่พยายามหาอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับพวกเขา
 
เนื่องจากก่อนหน้านี้ ชาวมลาบรีจะดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า และย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ จึงไม่มีอาชีพที่แน่นอน จนเมื่อป่าเริ่มลดน้อยลง และบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป
 
พวกเขาจึงต้องหันมายังชีพด้วยการเข้ามารับจ้างทำงานในไร่
แต่สุดท้ายก็ยังติดกับดักความยากจน
เพราะการเข้าสู่ระบบแรงงาน มักจะถูกเอาเปรียบเรื่องค่าแรง จนมีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ
 
แต่ถึงการผลิตเปลญวนจะช่วยให้ชาวมลาบรี มีรายได้ที่มั่นคงขึ้น
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อจำกัดเรื่อง ช่องทางการขาย และการขาดทักษะด้าน Marketing จึงทำให้พวกเขายังขายสินค้าได้ไม่มากเท่าที่หวัง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณ Demin จึงตัดสินใจที่จะเข้ามาช่วยเหลืออีกทาง ด้วยการให้ชาวมลาบรีเป็นผู้ผลิตเปลญวน เพื่อให้เขานำไปขายในนามของ Yellow Leaf
 
หลังจากนั้น คุณ Demin และคุณ Connors จึงได้นำไอเดีย พร้อมสินค้าต้นแบบ ไปโพสต์บนแพลตฟอร์มระดมทุน อย่าง Kickstarter จนทำให้ทั้งคู่สามารถระดมทุนได้จำนวน 370,000 บาท
 
ซึ่งเงินก้อนนี้ได้ถูกนำมาใช้ ในการผลิตสินค้าล็อตแรก
ส่วนราคาเปลญวนของ Yellow Leaf มีราคาอยู่ที่ 4,800-9,800 บาท
 
ที่สำคัญ สินค้าทุกชิ้น จะมี “ป้ายลายเซ็น” ของผู้ถักแต่ละคน เพื่อคงความเป็น “มลาบรี” ในผลิตภัณฑ์
 
ส่วนเรื่อง ช่องทางการขายของ Yellow Leaf
 
แรกเริ่มจะวางขายบนเว็บไซต์ เพื่อลดต้นทุนค่าเช่าที่
และคอยเก็บฟีดแบ็กจากลูกค้า
เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าต่อไป
 
แต่ต่อมา สินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ทาง Yellow Leaf จึงเริ่มขยายช่องทางการขาย ด้วยการหาพาร์ตเนอร์
 
เช่น ห้างสรรพสินค้า Bloomingdale's และ Urban Outfitters
ไปจนถึง Virgin Voyages หรือธุรกิจเรือสำราญของ Virgin Group
 
ด้วยสินค้าคุณภาพ ประกอบกับ สตอรีที่ลึกซึ้ง
จึงทำให้ธุรกิจ Yellow Leaf ค่อย ๆ เติบโตขึ้น
 
โดยในปี 2019 บริษัททำยอดขาย ไปถึง 28 ล้านบาท
และต่อมาในปี 2020 Yellow Leaf ได้ตัดสินใจไปออกรายการ Shark Tank
เพื่อขอเงินลงทุนเป็นจำนวน 13 ล้านบาท แลกกับหุ้น 7% ของบริษัท
ซึ่งเหล่าคณะกรรมการ ต่างก็พยายามเสนอดีลของตนให้ Yellow Leaf
จนสุดท้าย จบที่ดีล เงินลงทุน 32 ล้านบาท แลกกับหุ้นของบริษัท 25%
 
ซึ่งนี่เท่ากับว่า มูลค่ากิจการของ Yellow Leaf ก็น่าจะอยู่ที่ 128 ล้านบาทนั่นเอง
 
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ หลังจากที่รายการ Shark Tank ออกอากาศ
บริษัทก็สามารถขายและทำยอดขายได้ถึง 49 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น
 
สำหรับในปัจจุบัน Yellow Leaf ไม่ได้วางขายแค่เปลญวนธรรมดา ๆ เท่านั้น แต่ยังพัฒนาสินค้าอื่น ๆ เช่น
 
-The Vista Portable Hammock
เปลญวนพกพา ที่สามารถนำไปใช้พักผ่อนที่ไหนก็ได้
 
-The Hammock Throne
เก้าอี้เปลญวน ที่ใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องหาเสา เพื่อผูกเปลแบบเดิม ๆ
 
อีกเรื่องที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ
หลังจากที่ Yellow Leaf เข้ามานำเปลญวนของชาวมลาบรีไปขาย
ก็ได้ช่วยให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ถึง 6.5 เท่าตัว
 
มากไปกว่านั้น Yellow Leaf ยังได้ขยายแหล่งผลิตเปลญวน ไปในอีก 3 ชุมชนใกล้เคียงด้วย
 
เรียกได้ว่า เรื่องราวของแบรนด์ Yellow Leaf เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

เพราะถึงแม้ว่าเปลญวน จะเป็นสินค้าที่อยู่ใกล้ตัว และเราคนไทยน่าจะคุ้นเคยกันมานาน
แต่กลับเป็นคนนอกที่มองเห็นคุณค่า และสร้างให้มันกลายเป็นไอเทม ที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้
 
ซึ่งมันก็ชวนให้เราคิดต่อว่า
หลายครั้ง สินค้าของคนไทยได้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ให้ชาวต่างชาติ
 
ไม่ว่าจะเป็น ​​PANDORA แบรนด์สัญชาติเดนมาร์ก ที่ต่อยอดฝีมือการทำเครื่องประดับของชาวไทย จนบริษัทมีมูลค่าแสนล้านบาท หรือจะเป็น กระติกน้ำแข็งบ้าน ๆ ของไทย ที่ตอนนี้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นสินค้าแจ้งเกิดให้กับ YETI
 
ดังนั้นแล้ว ในขณะที่ เราอาจคุ้นชินกับสินค้าเหล่านี้ จนเรามองไม่เห็นคุณค่าของมัน
 
แต่ขณะเดียวกัน มันก็ได้กลายเป็นโอกาสครั้งใหญ่ให้คนที่มองเห็น..

ที่มา:https://www.longtungirl.com/9829
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 12
การให้โอกาสกับคนที่ตั้งใจจากภาครัฐของเรายังไม่ดีเท่าที่ควร
เทียบเทคโนโลยีการสื่อสารกับสมัยที่มีโอทอปใหม่ๆ แล้ว
จะเห็นได้ชัดว่าเราเสียโอกาสจากประสิทธิภาพการทำงานของรัฐที่ห่วยแตกไปมากมาย

ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ
ถ้ามีความละอายในตัวคงไม่กล้าเอามาชูประเด็น ในสิ่งที่ทำล่าช้า และไม่เสร็จ ด้วยงบประมาณมหาศาล
คนที่ไม่เข้าใจว่า เวลา มีค่ามีราคา อธิบายยังไงก็ไม่เข้าใจหรอก

กู้แล้ว กู้อยู่ กู้ต่อ น่าจะใกล้เคียงกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่