Unicorn ต้องชิดซ้าย.. เมื่อบริษัทที่มีพนักงานประจำเพียง 35 คน สามารถยึดผลประโยชน์ของอินเดียทั้งประเทศได้


ช่วงนี้มีโอกาสรื้อของที่บ้าน แล้วดันไปเจอเอกสารเก่าสมัยเรียนเมื่อนานมาแล้ว และเคยทำสรุปไว้เตรียมสอบ เห็นว่ามีประโยชน์ดี เลยอยากเอามาแชร์ให้สมาชิกได้อ่านกัน
** ข้อมูลที่สรุปนำมาจากหนังสือหลายเล่มครับ แต่จำไม่ได้แล้วว่าเล่มไหนบ้าง จึงขออนุญาตไม่ได้ลงอ้างอิงนะครับ


Unicorn ต้องชิดซ้าย.. ทำไมบริษัทที่มีพนักงานประจำเพียง 35 คน จึงสามารถยึดผลประโยชน์ของอินเดียทั้งประเทศได้ ?

1) เหตุจากจักรวรรดิโมกุล ซึ่งมีอำนาจปกครองอินเดียอยู่ในเวลานั้น เน้นการขยายอิทธิพลด้วยกองทัพบก โดยไม่มีกองทัพเรือที่มีประสิทธิภาพ (ซึ่งในเวลานั้น โลกเข้าสู่ยุคแห่งการค้าขายและแผ่อิทธิพลทางทะเลอย่างแข็งขันแล้ว) 

พวกโมกุลเลือกที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการพึ่งพากองทัพเรือของชาวต่างชาติในการควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเล เช่น พวกเติร์ก หรือชาติตะวันตกอย่าง โปรตุเกส ซึ่งต่อมามีท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้น และแสดงเจตจำนงค์ในการรุกรานอินเดียเสียเอง โมกุลจึงหันหน้าไปพึ่ง East India Company (EIC) ของอังกฤษ ซึ่งยังไม่มีทีท่าอยากจะขยายอำนาจทางการเมือง

โดย EIC ได้เข้าตั้งสถานีการค้าในเมืองท่าสำคัญ 3 แห่งรอบประเทศอินเดีย คือ บอมเบย์ มัทราส และกัลกัตตา แต่ต่อมาก็เข้าอีหรอบเดิม เมื่ออังกฤษมีท่าทีเปลี่ยนไป แสดงความต้องการที่เป็นภัยความมั่นคงต่ออินเดีย ซึ่งโมกุลก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะการที่ EIC ครอบครองเส้นทางเดินเรือจากอังกฤษสู่อินเดีย และเส้นทางเชื่อมโยงระหว่าง 3 เมืองท่าหลักใน 3 ภูมิภาคของอินเดีย อันเป็นเสมือนดั่งแหที่คลุมอินเดียไว้ในกำมือ


2) ถังแตก โดยเฉพาะในยุคของพระเจ้าออรังเซ็บ (ศตวรรษที่18) 

อย่างที่ทราบว่าพระองค์ทรงเน้นการขยายอำนาจและอาณาเขตของโมกุลอย่างมาก เป็นเวลานับ 20 ปี ซึ่งแม้จะได้อาณาเขตและอำนาจมามากมาย แต่ค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปก็สูงมากเช่นกัน กลับกันผลลัพธ์ที่ได้จากความตั้งใจกอบโกยผลประโยชน์จากดินแดนที่ได้มากลับสวนทาง เช่น การเก็บภาษีที่ดินที่ไม่เป็นไปตามคาด และการที่โลกเปลี่ยนยุทธวิธีในการรบ ซึ่งในเวลานั้นพวกโมกุลยังใช้ช้าง ใช้ปืนใหญ่แบบโบราณในการทำสงครามอยู่ แต่การรบแบบใหม่ใช้ยุทธวิธีกองโจร และใช้ปืนยาวสำหรับทหารราบ เมื่อไม่มีเงินเพียงพอ การยกเครื่องกองทัพจึงเป็นไปได้ยาก ท้ายที่สุดจึงเสียท่าให้ผู้รุกรานใหม่

 

3) ความแตกแยก สมัยจักรพรรดิออรังเซ็บ

พระองค์ทรงปกครองโดยเน้นไปที่การบังคับใช้หลักศาสนาอิสลามอย่างเข้มข้น พระองค์ไม่ทรงมีขันติธรรม การเก็บภาษี Jizya สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลาม และความพยายามในการบังคับใช้ศาสนาอิสลามกับผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ทำให้พวกเจ้าผู้ครองแคว้นที่เคยเป็นมิตรกันมาและเป็นผู้ค้ำจุนราชวงศ์โมกุลในอดีตไม่พอใจ และเปลี่ยนกลายเป็นศัตรูอย่างเช่น พวกราชปุต นำพาให้เกิดความแตกแยกภายหลังเมื่อพระเจ้าออรังเซ็บสิ้นพระชนม์ เมื่อพวกเจ้าพื้นเมืองไม่ยอมขึ้นอยู่กับโมกุลอีกต่อไป เช่น พวกซิกข์ในปัญจาบ พวกนิชาตแห่งไฮเดอร์ราบัด หรือแม้แต่พวกราชปุตเองก็ตาม เหตุนี้ทำให้กองทัพของพวกโมกุลอ่อนแอลงอย่างมาก


4) การขาดความสามัคคีในหมู่เจ้าพื้นเมือง ที่มักจะรบพุ่งกันเองระหว่างรัฐ รวมถึงปัญหาการสืบราชบัลลังค์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ East India Company ของอังกฤษ สามารถเข้ามายุแยงตะแคงรั่วให้เกิดความขัดแย้ง 

เช่น เลือกที่จะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการค้าหรือภาษีที่ดิน ซึ่งนั่นเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ EIC ไปโดยปริยาย ท้ายที่สุด EIC จึงค่อย ๆ กลืนอำนาจในแต่ละรัฐไปที่ละเล็กละน้อย โดยที่เจ้าเมืองไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไปยื่นอำนาจให้กับเขาเอง


5) การใช้กองทัพที่มีทหารเป็นชาวพื้นเมือง (Sepoy) 

โดยฝึกหัดทหารราบให้มีการใช้อาวุธปืนและฝึกระบบการเข้าทำการยุทธอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถรบและเอาชนะทหารม้าของพวกโมกุลหรือเจ้าเมืองอื่น ๆ ได้ (ทหารพื้นเมืองมีความเคยชินกับพื้นที่ อากาศ อาหาร ฯลฯ มากกว่าที่จะนำทหารชาวอังกฤษเข้ามา)


6) การจัดการรบของ EIC จะมีการวางแผนและคำนวนค่าใช้จ่ายในการศึกเป็นอย่างดี ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ทำให้บริษัทฯไม่ขาดทุนหรือเสียเงินไปกับการรบจนเกิดปัญหากับบริษัท

7) บริษัท East India Company มีผู้บริหารที่มีความสามารถอย่างต่อเนื่อง 

ผู้นำดีมีชัยไปว่าครึ่ง เนื่องด้วยเป็นบริษัทการค้า เป้าหมายจึงมุ่งไปที่ความมั่งคั่งและความสำเร็จของบริษัท บริษัทจึงเลือกคนหนุ่มที่มีความสามารถและทะเยอทะยานเข้ามาเป็นตัวแทนทำงานอย่างต่อเนื่อง เช่น Clive, Hastings หรือ Cornwallis 

เช่น Clive ทำให้บริษัทได้สิทธิในการเก็บภาษีในแคว้นเบงกอล


Hastings นำฝิ่นที่ปลูกในอินเดียไปขายให้จีน และสามารถทำกำไรมหาศาล ทำให้บริษัทได้ดุลการค้ากับจีน


ส่วน Cornwallis สร้างระบบ Indian Civil Service แยกกิจการทหาร พลเรือน และการค้าออกจากกัน ทำให้การบริหารของแต่ละส่วน ระหว่างการปกครองดินแดนและบริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น


8) การเปิดโอกาสให้ชาวพื้นเมืองโดยเฉพาะพวกฮินดูเข้ามาร่วมงานกับบริษัท

ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มกำลังคนโดยไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากแล้ว ยังสามารถทำให้คนพื้นเมืองรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทอีกด้วย


>>>>>>>>>>>>>>> The End <<<<<<<<<<<<<<<

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่