กฎหมายแรงงาน คุ้มครองลูกจ้างหน่วยงานรัฐหรือไม่

เราทำงานในหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ มีระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานเอง แต่อยากรู้ว่านายจ้างหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ หรือแค่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานเท่านั้น เพราะเราในฐานะ พนง.รัฐ ก็มีเรื่องที่รู้สึกไม่ค่อยโอเคในการทำงาน และอยากรู้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองหรือไม่ เช่น

1. ทำงานล่วงเวลาแล้วไม่ได้รับค่าโอที >> ถึงแม้หัวหน้าจะไม่ได้พูดบังคับให้ทำโอที แต่ด้วยสภาพงาน ปริมาณงานของเรา ที่มันเยอะ ล้น ไม่มีคนช่วย เราก็จำเป็นต้องทำล่วงเวลา หรือต้องแบ่งเอางานกลับไปทำที่บ้าน ทำในวันหยุด เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ งานก็จะเสร็จไม่ทันเวลาที่หัวหน้ากำหนด แต่เราไม่เคยได้รับค่าโอที และหัวหน้าก็ไม่ได้หาคนมาช่วยงานเรา ไม่ใช่แค่เรา ลูกน้องคนอื่นๆด้วย เวลาลูกน้องบ่นว่างานเยอะ หรือว่าทำงานผิดพลาดหรือไม่ครบตามที่หัวหน้าสั่ง หัวหน้าก็จะชอบย้อนถามว่างานเยอะยังไง แบบไหนคืองานเยอะ งานเยอะไม่ใช่คำตอบของการทำงานผิดพลาดหรือไม่ครบ บริหารจัดการเวลาดีๆสิ งานแบบนี้ถ้าตัวเขาทำเองใช้เวลาแป๊บเดียวก็เสร็จ (ใครๆก็พูดได้ ถ้าไม่ใช่คนลงมือทำ เมื่อปริมาณงานกับเวลาที่ให้ไม่สอดคล้องกัน ความผิดพลาดมันก็เกิดขึ้นได้)

2. การโดนหัวหน้ารบกวนเรื่องงานนอกเวลางาน >> หัวหน้าเราชอบไลน์สั่งงานลูกน้องนอกเวลางาน และในวันหยุด ซึ่งเขาก็ไม่ได้บังคับหรอกว่าต้องทำงานให้เขาเดี๋ยวนั้น แต่เขานึกได้ตอนนั้น ก็จะสั่งตอนนั้นเลย เพราะเขากลัวลืม และเขาก็คงอยากปัดภาระนี้ออกไปให้พ้นตัวเขา แต่ในมุมของลูกน้องก็ไม่มีใครชอบ เพราะไลน์มันเป็นช่องทางสื่อสารที่ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องงาน มันเอาไว้คุยเรื่องอื่นๆ กับคนอื่นๆ ด้วย เวลาเปิดไลน์แล้วเห็นข้อความจากหัวหน้า ก็รู้สึกเสียอารมณ์ (ลูกน้องที่ขยันๆ พอเห็นข้อความหัวหน้าก็อดไม่ได้ที่จะเปิดอ่านให้ตัวเองเสียอารมณ์) บางครั้งกำลังไปเที่ยวอย่างมีความสุข พอเห็นแบบนี้ก็ทำให้อารมณ์ค้างได้เหมือนกัน เราต้องใช้เวลานานกว่าจะทำใจไม่ให้เปิดอ่านข้อความสั่งงานจากหัวหน้าได้ แต่อันนี้ไม่เท่าไหร่ แต่เราไม่โอเคจริงๆ คือเราโดนหัวหน้าบังคับให้เข้าประชุมออนไลน์ในวันที่เราลางาน ทั้งๆที่เราบอกแล้วว่าจะลา จะเดินทางไป ตจว.กับครอบครัว หัวหน้าก็ไม่เข้าใจ เขาบอกว่าเขาไม่ได้ห้ามเราลางาน แต่เราต้องเข้าประชุมนี้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานเรา (แต่พอประชุมจริง หัวหน้าก็โซโล่คนเดียว เราแค่ฟังเฉยๆ ปกติประชุมออนไลน์ก็อัดเสียงไว้อยู่แล้ว เรามาเปิดฟังทีหลังก็ได้) หรือบางครั้งก็บังคับให้เราเข้าประชุมออนไลน์พร้อมทำรายงานประชุมให้ด้วย ซึ่งตอนนั้นเราลางานกลับบ้าน เราไม่ชอบใจเลย  พ่อแม่เราก็บ่นว่าลาแล้วยังต้องทำงานอีกเหรอ แต่เราก็ขัดหัวหน้าไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำ ก็ไม่รู้จะมีใครทำ

3. ถูกใช้งานนอกเหนือหน้าที่ >> จริงอยู่ที่ในภาระงานลูกน้องจะมีข้อหนึ่งระบุว่า "ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆที่ได้รับมอบหมาย" แต่เราก็สงสัยว่าจริงๆแล้วข้อนี้สมควรจะมีหรือไม่ เป็นข้อตกลงในการเอาเปรียบลูกจ้างหรือเปล่า อย่างเราก็มีภาระงานหลักที่ทำไม่ค่อยทันอยู่แล้ว ต่อมาหัวหน้าก็มอบหมายงานจิปะถะให้อีก ไม่ว่าจะเป็นงานพัสดุ ธุรการ จดรายงานประชุม ตอนนี้เราโดนหัวหน้าลากไปประชุมในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานเรา เพื่อให้เราช่วยจดรายงานประชุมให้เขา ซึ่งมันยากมาก เพราะเราเองก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องที่ประชุมกัน ถึงแม้หัวหน้าจะเอาลูกน้องที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องที่ประชุมไปด้วย แต่เขาไม่ได้สั่งลูกน้องคนนั้นจดรายงาน เขาสั่งให้เราจด ถึงแม้ว่าเราจะทำรายงานประชุมได้ดีที่สุดในบรรดาลูกน้องทุกคนในห้อง (คนอื่นๆไม่ค่อยมีทักษะเรื่องนี้) และก็ไม่มีใครอยากทำงานนี้ แต่เราก็มองว่ามันไม่แฟร์สำหรับเรา

4. ต้องจ่ายเงินค่าส่วนกลางห้องทุกเดือน >> เราต้องควักเงินจ่ายค่าส่วนกลางในแผนก เดือนละ 100- เพื่อเอาไปซื้อพวกกาแฟ ขนม จานชาม ช้อนกระดาษ เข้ามาใช้ในห้อง เอาไว้ซื้อเค้ก+ของกินมาฉลองวันเกิด พนง. และเวลาในแผนกจะไปกินสังสรรค์กันช่วงปีใหม่ก็ใช้เงินส่วนนี้จ่าย เดือนนึงรวบรวมเงินส่วนกลางได้ทั้งหมดพันกว่าบาท แล้วเป็นงี้ทุกเดือน เราก็รู้สึกไม่ค่อยโอเค จะใช้จ่ายอะไรกันนักหนา ปกติเราก็ซื้อข้าวกินเอง ซื้อกาแฟ+ขนมกินเอง แต่จะไม่จ่ายก็ไม่ได้ เพราะถูกบังคับให้จ่าย หลายๆแผนก หลายๆหน่วยงาน ลูกน้องไม่ต้องออกเงินเองเลย ของพวกนี้เป็นสวัสดิการเล็กๆ น้อยๆ จากฝั่งนายจ้าง หลายที่ก็มีงบให้ ลูกน้องไม่ต้องควักเอง แต่แผนกเราเหมือนจะไม่มีใครมาเหลียวแลสนใจ อะไรๆก็ต้องออกเงินเอง บางทีคนออกเงินก็ไม่ได้ใช้ของที่ซื้อมา เหมือนเสียภาษีสังคมเฉยๆ

5. ลูกน้องที่สมควรให้ออก หัวหน้าก็ไม่ยอมให้ออก >> เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเราโดยตรง แต่สร้างความรำคาญใจหลายครั้ง ในแผนกเรามี พนง.ที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพมาเป็นปีๆ และโดนหัวหน้าบ่นบ่อยมาก นอกจากบ่นแล้วก็มีการให้ใบเตือนแล้ว 5 ครั้ง และพยายามพูดกดดันต่างๆ แต่ก็ไม่ไล่ออกตรงๆ ส่วน พนง.คนนี้ก็ทนมาก ไม่ยอมลาออก แต่ก็ไม่ปรับปรุงตัว อายุเขาเยอะแล้ว (แต่กว่าจะเกษียณก็อีกหลายปี) ปัญหาคือ พอเขาทำงานไม่มีประสิทธิภาพ งานของเขาก็จะกลายเป็นภาระของคนอื่นๆไป ตัวเขาก็สบาย และความน่ารำคาญคือ เวลาหัวหน้าบ่นลูกน้องคนนี้ หัวหน้ามักจะเรียกลูกน้องคนอื่นๆเข้าไปฟังด้วย เหมือนให้เป็นพยาน คนอื่นๆก็ต้องทนฟัง เราก็ด้วย ได้ยินเสียงบ่นตลอด บ่นซ้ำซาก บางครั้งหัวหน้าก็ขอความเห็นเราว่าควรจัดการลูกน้องคนนี้ยังไง เขาลำบากใจ จะไล่ออกก็เห็นแก่มนุษยธรรม ทำงานอยู่ด้วยกันมานาน ถ้าไล่เขาออกแล้วเขาจะไปทำงานอะไรได้อีก ฯลฯ ส่วนก็ให้ความเห็นว่าควรใช้วิธีตามหน่วยงานเอกชน คือเตือนด้วยวาจา เตือนด้วยหนังสือ 3 ครั้ง ถ้าไม่พัฒนาก็ควรให้ออก หรือไม่ก็ควรปรึกษาผู้บริหาร หรือฝ่าย HR ให้ช่วยตัดสินใจ (หน่วยงานรัฐไม่ค่อยเอาใครออกถ้าไม่ทำผิดร้ายแรง เรามองว่าไม่ค่อยแฟร์กับคนที่เก่งหรือทุ่มเททำงาน) แต่ความเห็นเราไม่เป็นผล ท่าทางหัวหน้าจะได้บ่นลูกน้องคนนี้ไปจนเขาเกษียณแหละ ลูกน้องคนอื่นๆก็รับกรรมไป

ก็ประมาณนี้ ตอนนี้เราต้องทนทำในสิ่งที่เราไม่โอเคทั้งหมดเลย ซึ่งตอนนี้เรายังทนไหว ถ้าเทียบกับข้อดีอื่นๆที่เจอ ก็ยังไม่มีแผนจะลาออกในเร็วๆนี้ แต่ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากให้อะไรๆมันแฟร์กับลูกจ้างอย่างเรามากกว่านี้ ทุกวันนี้ไม่รู้จะปรึกษาใคร ผู้บริหารระดับสูงๆก็ไม่ได้ลงมาเหลียวแลหรือช่วยซัพพอร์ตพวกลูกน้องอย่างเรา เพราะเขามอบอำนาจให้หัวหน้าเป็นคนบริหารจัดการ เราอยากให้มีคนภายนอกหรือคนกลางที่สามารถพิจารณาความถูกผิดของปัญหาเหล่านี้ และจะดีมากถ้าสามารถเข้ามาตรวจสอบในหน่วยงานได้ เพราะลูกน้องก็ไม่รู้จะพึ่งใครได้แล้ว

และเราไม่ไว้ใจที่จะปรึกษาปัญหากับฝ่าย HR ของหน่วยงานด้วย เพราะคิดว่า HR ก็คงซัพพอร์ตนายจ้างมากกว่าลูกจ้าง ครั้งหนึ่งเคยมี พนง.คนหนึ่งเข้ามาทำงานแล้วลาออก ตอนลาออกเขาส่ง จม.ถึง HR ใน จม.มีข้อความตำหนิสารพัดถึงหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน (บางเรื่องก็จริง บางเรื่องเขาก็คิดไปเอง) ทีนี้สิ่งที่ HR ทำคือ เอา จม.ของลูกน้องคนนั้นมาให้ หน.เรา ใน จม.ไม่ได้ระบุชื่อผู้ส่ง แต่มีข้อความที่สามารถระบุตัวผู้ส่งได้) หัวหน้าเราอ่านแล้วรับไม่ได้ คิดจะแจ้งความเอาผิด พนง.คนนั้นฐานหมิ่นประมาท (ไม่รู้ว่าสุดท้ายได้แจ้งหรือเปล่า ถ้าสมมติเป็นลูกน้องที่ยังทำงานอยู่ แล้วมีการส่ง จม.แบบนี้ สุดท้ายเขาก็คงอยู่ทำงานต่อไม่ได้เหมือนกัน เพราะ HR ไม่ได้ช่วยรักษาความลับของ พนง.สักเท่าไหร่) ส่วน HR ก็เรียกทุกคนในแผนกเราไปคุยเป็นการส่วนตัวถึงเรื่องความสุข/ปัญหาในการทำงาน เราได้พูดถึงเรื่องค่าโอทีว่าเราไม่เคยได้รับ แต่สุดท้าย ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม

ใครมีความรู้เรื่องกฎหมายช่วยแนะนำหน่อย เอาแบบตรงไปตรงมาเลย ว่ามันมีข้อกฎหมายคุ้มครองอะไรได้บ้างหรือไม่ หรือว่าเราต้องยอมรับสภาพนี้จริงๆถ้ายังอยากทำงานที่นี่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่