แปดเทศกาลสำคัญของชาวจีนแต้จิ๋วในหนึ่งปี

เทศกาลประจำปี 2566 "เตี่ยจิวสี่นี้โป๊ยโจ่ย"
ตรุษ-สารทแปดเทศกาลสำคัญของชาวจีนแต้จิ๋วในแต่ละปีค่ะ
ปีเก่าผ่านไป เทศกาลมงคลทั้งแปดเวียนมารับปีใหม่อีกครั้ง มาดูความสำคัญแต่ละเทศกาลกันค่ะ
เทศกาลที่ 1 ตรุษจีน (ชุงโจ่ย) ตามจันทรคติของจีนปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มค. 66
ในวันนี้จะมีการรับไหว้ไฉ่สิ่งเอี๊ยตั้งแต่เช้ามืด (เวลารับไหว้ของแต่ละปีจะไม่ตรงกัน) เช้าวันชิวอิกนี้ถือเป็นวันเฉลิมฉลองตรุษจีน 
มีการไปสวัสดีผู้ใหญ่ (ไป๊เจีย) เด็กๆจะได้ใส่ชุดใหม่ ได้รับซองอั่งเปา เที่ยวเล่นสนุกสนาน ส่วนลูกหลานที่ทำงานมีเงินเดือนแล้ว 
จะเป็นฝ่ายให้ซองอั่งเปาแด่คุณพ่อคุณแม่เพื่อเป็นการตอบแทนที่ท่านได้เลี้ยงดูเรามา


เทศกาลที่ 2 หง่วงเซี่ยวโจ่ย หรือเทศกาลโคมไฟ ปีนี้ตรงกับวันที่ 5 กพ. 66

ถ้านับตามจันทรคติของจีน หง่วงเซียวโจ่ยจะเป็นสารทแรกของปี (ขึ้น 15 ค่ำ) คือนับจากวันตรุษจีนมา 15 วัน 
ในเมืองจีนจะมีการไหว้เจ้าในตอนเช้า มีการกินขนมบัวลอยเพื่อความกลมเกลียว 
และมีงานโชว์/ประกวดโคมไฟในตอนกลางคืน ซึ่งในเมืองจืนจะให้ความสำคัญกับวันหง่วงเซียวมาก 
จะมีการจัดงานโชว์โคมไฟกันอย่างสวยงามใหญ่โต ถือเป็นวันแห่งความรักได้วันหนึ่งทีเดียว 
เพราะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และบางปีก็ตรงกับ 14 กพ. วันวาเลนไทน์ด้วยค่ะ 
ส่วนคนไทยเชื้อสายจีนในไทยก็ยังมีไหว้กันอยู่ค่ะ แต่จะไหว้ขนมผักกาด (ไช้เถ่าก้วย) กันเป็นส่วนใหญ่ 
พอถึงหง่วงเซียวโจ่ยก็จะเตรียมทำขนมผักกาด หรือหาซื้อมาไหว้กันในเช้าวันน้น บางบ้านจะเรียกวันนี้ว่า "วันไหว้ขนมผักกาด"
เทศกาลที่ 3 เชงเม้ง
ในวันนี้ลูกหลานจะไปไหว้บรรพบุรุษกันที่สุสาน ถือเป็นวันรวมญาติวันหนึ่ง ในไทยจะถือวันที่ 4-5 เมย. เป็นวันเชงเม้ง 
บางครอบครัวเดินทางกันตั้งแต่กลางเดือนมีค. ซึ่งปัจจุบันจะดูวันสะดวกของลูกหลานเป็นส่วนใหญ่ ใ
นสมัยโบราณเทศกาลเชงเม้งจะอยู่ในเดือนมีค.
ขนมที่จะได้ทานเพียงปีละครั้งคือขนมจูชังเปี้ย หรือจือชังเปี้ย ที่มีส่วนผสมของต้นหอมอยู่ด้วย 
รสชาติอร่อย เค็มๆหวานๆกลมกล่อม
เทศกาลที่ 4 วันไหว้บ้ะจ่าง หรือโหง่วเหว่ยโจ่ย ปีนี้จะตรงกับวันพฤหัสฯที่ 22 มิย. 66

ในวันนี้จะมีการไหว้ขนมบ้ะจ่าง ที่ทำจากข้าวเหนียวผสมกับส่วนผสมคาวหวานต่างๆ 
แล้วห่อด้วยใบไผ่เป็นทรงสามเหลี่ยม นำมาต้ม หรือนึ่ง ซึ่งที่มาของการไหว้บ้ะจ่างในวันนี้คือ 
ในสมัยก๊กฉู่ มีขุนนางคนหนึ่งชื่อ "ชีเหยียน" ซึ่งเป็นคนดี คนเก่ง และซื่อสัตย์ต่อองค์ฮ่องเต้ 
ได้แนะนำความคิดเห็นในการที่จะพัฒนาบ้านเมือง แต่ถูกขุนนางผู้อื่นอิจฉา ไม่เห็นด้วย ได้นำความเท็จไปทูลฮ่องเต้ 
แต่ฮ่องเต้หูเบา ปฏิเสธคำเสนอความคิดเห็นของชีเหยียน ชีเหยียนเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจจึงฆ่าตัวตาย
ด้วยการเอาหินผูกกับตัวถ่วงน้ำตัวเองตาย ซึ่งตรงวันที่ 5 เดือน 5 ชาวบ้านจึงถือวันนี้เป็นวันรำลึกถึงชีเหยียน

พอถึงวันนี้ชาวบ้านก็จะพายเรือนำข้าวปลาอาหารมาให้ แต่สุดท้ายก็โดนฝูงปลากินหมด
ชาวบ้านจึงคิดหาวิธีห่อข้าวด้วยใบไผ่เพื่อไม่ให้อาหารแตกกระจายระหว่างที่จมอยู่ในน้ำ
จึงเป็นที่มาของขนมบ้ะจ่างตั้งแต่นั้นมา

นอกจากวันนี้จะเป็นวันรำลึกถึง "ชีเหยียน" แล้ว ยังถือเป็นเทศกาลแข่งเรืออีกเทศกาลหนึ่งด้วย เพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่น้ำมาก
เทศกาลที่ 5 สารทจีน หรือชิกหง่วยปั่ว (เทศกาลกลางปี) ปีนี้จะตรงกับวันพฤหัสฯที่ 30 สค. 66

ในวันนี้นอกจากจะมีการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษแล้ว บางบ้านยังมีการเตรียมอาหารคาวหวานอีกหนึ่งชุดใหญ่พร้อมเสื้อผ้ากระดาษไหว้สัมพเวสี 
(วิญญาณไม่มีญาติ) ให้ได้เข้ามารับส่วนบุญนี้ โดยจะมีการปักธูปบนอาหารทุกจาน เพื่อให้สัมพเวสีได้เข้ามารับได้โดยง่าย 
วันนี้จึงถือเป็นวันปล่อยผี (วิญญาณไม่มีญาติ) ตามศาลเจ้าจะมีงานทิ้งกระจาดด้วย ไหว้ผีไหว้วิญญาณเสร็จก็จะมีการแจกอาหาร 
ของแห้งต่างๆ ให้กับชาวบ้านได้นำไปใช้ประโยชน์
ขนมที่เป็นไฮไลท์ของวันนี้คือ ขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งบางบ้านจะทำกันเอง มีทั้งไส้เค็มและไส้หวาน


เทศกาลที่ 6 วันไหว้พระจันทร์ (ตงชิว) เทศกาลเข้าหน้าหนาว ปีนี้จะตรงกับวันศุกร์ที่ 29 กย. 66

ในวันนี้จะมีการไหว้ด้วยขนมไหว้พระจันทร์ หรือที่จีนแต้จิ๋วเรียกว่า หง่วยเปี้ย
เรื่องเล่าวันไหว้พระจันทร์มีอยู่ว่า เมื่อก่อนนี้มีพระอาทิตยอยู่สิบดวง ทำให้อากาศร้อนระอุ แห้งแล้งมาก ทำกินไม่ได้ 
ต่อมามีชายหนุ่มกล้าหาญผู้หนึ่ง ยิงธนูไปยังพระอาทิตย์ทำให้พระอาทิตย์ดับไปถึงเก้าดวง พอจะยิงเป็นดวงที่สิบ 
ชาวบ้านก็ห้ามไว้ เพราะถ้ายิงพระอาทิตย์ดับหมดจะไม่มีแสงแดด ทำให้ทำมาหากินไม่ได้ 
แต่สุดท้ายชายหนุ่มก็ถูกทำโทษโดยการถูกส่งไปทำงานบนดวงจันทร์ 
และในที่สุดก็ได้พบรักกับนางฟ้าบนดวงจันทร์
พอถึงวันพระจันทร์เต็มดวงของทุกปี ชาวบ้านจึงทำขนมที่มีรูปร่างกลมๆไหว้พระจันทร์
เพื่อรำลึกถึงชายหนุ่มและนางฟ้าบนดวงจันทร์ 
เทศกาลที่ 7 วันไหว้ขนมบัวลอย จะตรงกับวันที่ 22 ธค. 66 ของทุกปี

วันนี้ทุกบ้านจะต้มขนมบัวลอยที่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียวไหว้พระไหว้เจ้า และให้ลูกหลานได้กินกัน 
ถือเป็นวันสามัคคีกลมเกลียววันหนึ่ง เพราะสมาชิกในบ้านจะมาช่วยกันปั้นขนมบัวลอย (ซออี๊) ในคืนก่อนวันไหว้
ผู้หลักผู้ใหญ่มักจะพูดว่า "เจียะอี๊ตั่วแกเจ็กนี้" กินขนมบัวลอยหนึ่งครั้ง แก่ขึ้นอีกหนึ่งปี" 

ย่านที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ยังมีการไหว้ขนมบัวลอยกัน แต่ในเมืองจีนจะให้ความสำคัญกับวันนี้มาก 
เพราะเป็นช่วงเข้าฤดุหนาว หิมะตก ลูกหลานที่ทำงานต่างบ้านต่างเมืองเริ่มทยอยกลับมาเยียมบ้าน 

เทศกาลที่ 8 เทศกาลสิ้นปี (ก๊วยหนี่โจ่ย) วันไหว้ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ (ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสารทที่ 1 และสารทสุดท้าย)

ในเช้าวันนี้จะมีการจัดอาหารคาวหวาน ผลไม้มงคล พร้อมกระดาษเงินกระดาษทองต่างๆ ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ 
ทานข้าวพร้อมหน้ากันในครอบครัว 

ตกกลางคืน (เช้ามืดของเช้าวันใหม่) จะมีการรับไหว้ไฉ่สิ่งเอี๊ย เป็นการรับพรเพื่อเริ่มต้นวันปีใหม่ (ชิวอิก) ในวันรุ่งขึ้น 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่