รับมือยังไง เมื่อต้องทำงานใน Toxic Workplace

หัวหน้าขาดความเป็นผู้นำ ชอบใช้อำนาจแบบผิด ๆ เพื่อนร่วมงานชอบพูดจาเสียดสีนินทา กลั่นแกล้งพนักงานคนอื่น หรือระบบการทำงานไม่ดี โดนตามงานในวันหยุด สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Toxic Workplace สังคมหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นพิษ  
 
ถ้าสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นพิษแบบอ่อน ๆ ไม่ได้รุนแรง ก็อาจทำให้หงุดหงิดหรือรำคาญใจเป็นครั้งคราว แต่ในกรณีที่สภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นพิษมาก ๆ ก็อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพจิต เราก็ต้องหาทางรับมือและสร้างเกราะปกป้องใจตัวเองเช่นกัน แล้วจะทำยังไงดี JobThai Tips มีวิธีมาฝาก 
 
มองข้าม อย่าเก็บเอามาใส่ใจ 
ถ้าเราต้องทำงานอยู่ในบรรยากาศที่ Toxic แต่ไม่ได้ร้ายแรงจนเกินไป เช่น เพื่อนร่วมงานแอบนินทากันบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ คนในบริษัทไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นกันเท่าไหร่ หรือหัวหน้างานทำตัวไร้เหตุผลบ้างในบางครั้ง ถ้าภาพรวมของการทำงานยังอยู่ในระดับที่รับได้ พฤติกรรม Toxic ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยหรือกระทบกับการทำงานจนติดขัด เราก็ควรโฟกัสไปที่จุดที่ทำให้เรามีความสุขและมองข้ามความ Toxic ไป อย่าเก็บเอามาใส่ใจให้รู้สึกแย่ 
  
มีเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ 
การมีเพื่อนร่วมงานที่เราสามารถแชร์และระบายเรื่องราวให้ฟังได้โดยไม่ต้องกลัวว่าเขาจะเอาไปเล่าให้คนอื่นฟังลับหลัง หรือแอบตัดสินเราในใจก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราไม่ต้องรู้สึกว่าเราอยู่ตัวคนเดียวในออฟฟิศ เรายังมีเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้าง รับฟัง รวมถึงอาจกำลังเผชิญอยู่ในสถานการณ์ Toxic Workplace เช่นเดียวกันกับเรา 
  
ทิ้งความ Toxic ไว้ที่ออฟฟิศแล้วหาวิธีผ่อนคลายนอกที่ทำงาน 
ถ้าบริษัทไม่ใช่สถานที่ที่ให้ความสุขกับเราได้ เราก็ต้องมองหาความสุขจากที่อื่นแทน พอเลิกงาน เราก็ต้องปิดสวิตช์โหมดทำงาน หยุดคิดถึงเหตุการณ์แย่ ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้พฤติกรรม Toxic ของคนในออฟฟิศมากวนใจ และหากิจกรรมสนุก ๆ อย่างอื่นทำเพื่อเติมกำลังใจให้ตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ดูหนังหรือซีรีส์ จะได้มีพลังอีกครั้ง 
 
เซฟใจตัวเองด้วยการขีดเส้นแบ่ง แสดงให้รู้ว่ายอมได้แค่นี้ 
ถ้าพฤติกรรมบางอย่างของคนในออฟฟิศทำให้เรารู้สึกรำคาญหรือไม่สบายใจ เช่น โดนตามงานตลอดหลังเลิกงานหรือในวันหยุด เพื่อนร่วมงานชอบชวนเราไปจับกลุ่มซุบซิบนินทาด้วย หรือคนในบริษัทพยายามหว่านล้อมให้เราเป็นพรรคพวกของเขาในกรณีที่มีการเล่นการเมืองในออฟฟิศ เราก็ต้องหาทางแสดงออกให้เขารับรู้ว่าเราไม่โอเคกับสิ่งนี้ ขีดเส้นแบ่งให้ชัดเจนว่าเรายอมได้ถึงจุดไหน เช่น เราอาจเลือกไม่อ่านข้อความหรือไม่รับสายโทรศัพท์ที่โทรมาหลังเลิกงาน แล้วตอบรับหรือติดต่อกลับไปใหม่อีกครั้งในเวลาทำการของออฟฟิศ หรือเราอาจพยายามบ่ายเบี่ยง หาทางเลี่ยงเมื่อถูกชักชวนให้ไปจับกลุ่มหรือเป็นพวกเดียวกัน ถ้าเราแสดงท่าทีออกไปชัดเจนว่าเราไม่ยอมเข้าร่วมกลุ่มกับเขา และถ้าเขาเป็นคนประเภทไม่เซ้าซี้หรือเข้าใจการขีดเส้นแบ่ง เขาก็จะออกห่างจากเราไปเอง 
  
เผชิญหน้าและปรับความเข้าใจกันตรง ๆ 
หากสถานการณ์ Toxic Workplace รุนแรงในระดับที่เริ่มรบกวนการทำงานและบั่นทอนจิตใจของเรามากขึ้น การขีดเส้นแบ่งเพื่อแสดงออกว่าเราไม่โอเคไม่ช่วยอะไร หรือเราตกอยู่ในสถานการณ์ Toxic Workplace แบบอื่น ๆ ที่ปฏิเสธหรือหาทางเลี่ยงไม่ได้ เช่น เพื่อนร่วมงานชอบพูดเสียดสีหรือกระแนะกระแหนเราอย่างไม่ให้เกียรติ ลามไปจนไม่ยอมให้ความร่วมมือในการทำงาน เราก็อาจต้องเผชิญหน้ากับเขาตรง ๆ และพูดคุยปรับความเข้าใจกับเขาเพื่อหาทางออก ว่าทำไมเขาถึงแสดงพฤติกรรมแบบนี้ ไม่พอใจอะไรในตัวเรา มีอะไรที่เราและเขาสามารถตกลงกันและช่วยกันแก้ไขได้ไหม จะได้กลับมาทำงานในบริษัทกันได้อย่างสงบ ไม่กระทบกับการทำงาน 
  
ขอความช่วยเหลือจากหัวหน้างานหรือ HR 
ในกรณีที่ตัวเราเพียงลำพังไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง ๆ ก็จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น โดยเราต้องประเมินดูว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นแบบไหน เพื่อดูว่าเราควรขอความช่วยเหลือจากใคร เช่น เพื่อนร่วมงานชอบพูดจาไม่ดีใส่เรา พยายามปรับความเข้าใจกันเองแล้วแต่ไม่เป็นผล หรือในทีมมีการกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้น เราอาจนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับหัวหน้างานเพื่อขอให้เขาช่วยหาวิธีจัดการให้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกพนักงานในทีมไปพูดคุยเป็นการส่วนตัว ช่วยไกล่เกลี่ยสถานการณ์ หรือส่งต่อเรื่องให้ฝ่ายบุคคลจัดการต่อไป 
แต่ในกรณีที่หัวหน้างานของเรามีทัศนคติที่ไม่เป็นกลาง ไม่รับฟัง หรือหัวหน้าคือปัจจัยที่ทำให้เกิด Toxic Workplace เสียเอง เช่น หัวหน้างานไม่มีความเป็นผู้นำ ชอบใช้อำนาจข่มลูกน้องในที่ทำงาน หรือชอบต่อว่าและตอกย้ำเมื่อพนักงานทำผิดพลาด ทำให้พนักงานจมอยู่กับความผิด เราอาจลองยกเรื่องนี้ไปปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากทาง HR แทน 
 
ทำเรื่องขอย้ายแผนก 
ในกรณีที่สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษนั้นจำกัดวงอยู่แค่ภายในแผนกของเรา และเรายังมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานที่บริษัทนี้ หรือยังรู้สึกโอเคกับองค์กรในมุมอื่น ๆ อยู่ เราอาจลองดูว่าเรามีทักษะในด้านอื่น ๆ ไหม สามารถโยกตำแหน่งไปทำงานในแผนกอื่นได้หรือเปล่า และลองพูดคุยกับ HR ดูว่าเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะขอย้ายแผนก ทั้งนี้อย่าลืมพิจารณาถึง Career Path ของตัวเองด้วยว่าการย้ายแผนกหรือเปลี่ยนตำแหน่งงานนั้นมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ยังตอบโจทย์เส้นทางการทำงานของตัวเองอยู่หรือไม่ 
  
ลาออก 
หากลองพยายามทุกวิถีทางแล้วพบว่าไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรในองค์กรได้ รวมถึงชั่งน้ำหนักมาดีแล้วว่าการทนอยู่ต่อจะเป็นผลเสียกับตัวเองมากกว่า การลาออกก็อาจเป็นคำตอบสุดท้าย เพราะหากฝืนอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษ สุดท้ายแล้วผลกระทบก็จะตกอยู่ที่สภาพจิตใจของเรา ทำให้ไม่มีความสุขกับการทำงานและทรมานตัวเองเสียเปล่า ๆ 
แต่ก่อนจะลาออก เราต้องวางแผนให้ดีว่าลาออกแล้วจะทำยังไงต่อ จะหยุดพักเพื่อรักษาใจก่อนหรือมองหางานใหม่เลย สถานะการเงินตอนนี้ติดขัดไหม ถ้าลาออกแล้วจะกระทบอะไรหรือเปล่า เมื่อเตรียมตัวพร้อมและจัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาเก็บกระเป๋าและพาตัวเองหนีออกจาก Toxic Workplace  
 
การรับมือกับ Toxic Workplace นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ในกรณีที่สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงมาก เราอาจเลือกที่จะไม่สนใจ มองผ่านความ Toxic เล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วเติมความสุขให้ตัวเองทางอื่นแทน แต่ถ้าสถานการณ์อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบกับการทำงาน ทำให้เรารู้สึกซึม ดาวน์ สภาพจิตใจย่ำแย่ เราก็ต้องพิจารณาดูว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอะไรได้ไหม โดยเราอาจเลือกแสดงออกให้เขารับรู้ว่าเราไม่โอเคกับพฤติกรรมเช่นนี้ เผชิญหน้าและพูดคุยกับเขาตรง ๆ หรือเอาสิ่งที่เกิดขึ้นไปปรึกษากับหัวหน้าและ HR เพื่อขอความช่วยเหลือ 
 
แต่ถ้าเราลองทุกทางแล้วพบว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษนี้ได้จริง ๆ การพาตัวเองออกไปจากสภาพแวดล้อมเช่นนี้ด้วยการลาออกเสียเองก็อาจเป็นทางแก้ไขที่ดีที่สุด เพราะงานนั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถหาใหม่ได้ แต่สุขภาพจิตใจของเราพังแล้วต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นฟูกลับมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่