ประเทศที่ไร้ "ค่าแรงขั้นต่ำ" แต่แรงงานได้ค่าจ้างสูงกว่าไทย 12 เท่า

กระทู้คำถาม
นานาประเทศทั่วโลกล้วนมีกฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยรัฐ แต่มีหลายประเทศ ที่แรงงานและนายจ้าง หาข้อตกลงเรื่องค่าตอบแทนได้อย่างลงตัว ด้วยค่าแรงสูงอันดับต้น ๆ ในโลก และสวัสดิการครบครัน จนเรียกว่าตอบโจทย์ธุรกิจ และความสุขของผู้คน แบบ “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน”
ไอดา อูเคน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคสังคมประชาธิปไตยของเดนมาร์ก และผู้เขียนหนังสือ “Dansk” ที่เดี่ยวกับอัตลักษณ์และคุณค่าความเป็นเดนมาร์ก ระบุในบทความของหนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ เมื่อปี 2021 ว่า ค่าแรงเฉลี่ยของแรงงานในร้านแมคโดนัลด์ในเดนมาร์กอยู่ที่ 22 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 700 บาทต่อชั่วโมง และทุกคนได้วันลาพักร้อนปีละ 6 สัปดาห์ 
อูเคน อธิบายว่า ประเทศเดนมาร์กไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ แต่ใช้ระบบตลาดแรงงานแบบเดนมาร์ก ที่เรียกว่า “เฟล็กเคียวริตี” เพราะเป็นระบบที่ทั้งยืดหยุ่น และมั่นคง สำหรับตัวแรงงานและนายจ้างเอง
ระบบแรงงานของเดนมาร์ก เป็นระบบแบบกระจายอำนาจแบบหนึ่ง ที่การกำหนดค่าแรงนั้น จะขึ้นอยู่กับการหารือและบรรลุข้อตกลง ระหว่างสหภาพแรงงานและบริษัทผู้ว่าจ้างเอง
เธอย้ำว่า สหภาพแรงงานของเดนมาร์กเข้มแข็งมาก เพราะทั้งนายจ้างและลูกจ้าง “ต่างก็ได้ประโยชน์ต่างตอบแทน” แล้วหากข้อตกลงแรงงานถูกละเมิด คนงานก็มีสิทธิประท้วง ในทางกลับกัน นายจ้างก็มีสิทธิไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานได้เช่นกัน ส่วนรัฐนั้น จะเข้าแทรกแซงก็ต่อเมื่อการเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ไม่ลงตัว ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ค่าแรง 600 บาท : ค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทย โตทันเศรษฐกิจแค่ไหน
ค่าแรงขั้นต่ำ : ศึกนโยบายประชานิยมชิงคะแนนเสียง พรรคได้ แต่เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
เกาหลีใต้ : เปิดห้องเรียนภาษาที่อุดรธานี สู่ใบเบิกทางแรงงานหนุ่มสาวในแดนกิมจิ
แรงงานชาวเดนมาร์กได้ประโยชน์จาก “เฟล็กเคียวริตี” เพราะจะได้ความคุ้มครองทางสังคม รวมถึงประกันสุขภาพถ้วนหน้า วันลาพักร้อนหลายสัปดาห์ต่อปี สิทธิลาคลอด และแผนเงินบำเหน็จบำนาญในวัยเกษียณ ที่สำคัญ ค่าแรงก็ถือว่าอยู่ในระดับสูง
อูเคน อธิบายต่อว่า แล้วหากแรงงานชำระเงินเข้ากองทุนประกันการว่างงาน พวกเขาจะได้รับประโยชน์ยาวนานสูงสุด 2 ปี หากตกงาน โดยเมื่อตกงานแล้ว รัฐบาลจะเข้ามาให้การดูแล อาทิ จัดการฝึกอบรมทักษะ และให้คำปรึกษาเพื่อให้แรงงานกลับเข้าตลาดแรงงานให้เร็วที่สุด
ส่วนนายจ้างนั้น สามารถปลดพนักงานออกได้ง่าย เพราะเงินชดเชยการเลิกจ้าง และการบอกเลิกจ้างล่วงหน้านั้น ไม่ได้เข้มงวดนัก ซึ่งเมื่อพนักงานถูกเลิกจ้าง รัฐบาลก็จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนทางบริษัทก็จ้างแรงงานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจในขณะนั้น
 
แล้วจะกำหนดค่าแรงอย่างไร หากรัฐไม่ประกันค่าแรงขั้นต่ำ
 
ข้อมูลของ Minimum-Wage.org ระบุว่า ในเมื่อเดนมาร์กไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การกำหนดค่าแรงจึงเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง หรือที่เรียกว่า Collective Bargaining หรือ การร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งใช้ในสวีเดนด้วย โดยมีวิธีการดังนี้
ผู้แทนของฝ่ายนายจ้างและแรงงาน (อาจเป็นสหภาพ) ร่วมหารือกัน
ทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนดว่า ค่าแรง สวัสดิการ และสภาพแวดล้อมการทำงาน ของลูกจ้างควรเป็นอย่างไร
ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง มีหลายระดับ คือ ระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรม และระดับท้องถิ่น โดยแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ จะมีฐานค่าแรงที่แตกต่างกัน แต่ร่วมกันกำหนดโดยสหภาพแรงงานที่หลากหลาย
Reuters
บรรยากาศก่อนคริสต์มาสในเดนมาร์ก
อูเคน ยกตัวอย่างว่า พนักงานร้านแมคโดนัลด์ในเดนมาร์ก จะได้ค่าแรงชั่วโมงละ 700 บาทต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 2 เท่าของพนักงานแมคโดนัลด์ในสหราชอาณาจักร แม้ว่าราคาของแฮมเบอร์เกอร์แทบจะเท่ากันในสองประเทศนี้ก็ตาม
ดังนั้น หากเทียบกับไทยแล้ว พนักงานร้านแมคโดนัลด์ไทยได้ค่าแรงราว 55-62 บาทต่อชั่วโมง ทำงานหนึ่งวัน 8 ชั่วโมง จะซื้อบิ๊กแมคได้ 3 ชิ้น แต่ถ้าเป็นพนักงานร้านแมคฯ ในเดนมาร์ก จะได้ค่าแรง 700 บาทต่อชั่วโมง ทำงานหนึ่งวันสามารถซื้อบิ๊กแมคได้ 35 ชิ้น (บิ๊กแมคในเดนมาร์ก ขาย 157 บาทต่อชิ้น ไทยขาย 139 บาท)
ส่วนค่าเฉลี่ย (ไม่ใช่ค่าแรงขั้นต่ำ) ของค่าแรงที่ชาวเดนมาร์กจะได้ต่อหัวประชากร อยู่ที่ 110 โครนาร์ หรือ 540 บาทต่อชั่วโมง และเฉลี่ยต่อปี ชาวเดนมาร์กมีรายได้กว่า 1.5 ล้านบาท อ้างอิงจากเว็บไซต์ Minimum-Wage.org
 
ประเทศไหนบ้างที่ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ
 
เว็บไซต์ โนแมด แคปิตอลลิสต์ ระบุว่า ประเทศต่าง ๆ 90% ทั่วโลก ล้วนมีกฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง แต่บางประเทศใน 10% ที่เหลือ กลับพบวิธีที่ดีว่าการที่รัฐต้องมารับประกันค่าแรง
ข้อมูลจาก อิสเวสโตพีเดีย และ โนแมด แคปิตอลลิสต์ ระบุว่า ประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยรัฐบาล มีอยู่ 6 ประเทศด้วยกัน คือ สวีเดน เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยแต่ละประเทศ กำหนดค่าแรงให้แรงงาน ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนี้
สวีเดน – เป็นประเทศต้นแบบในการยกเลิกการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ หันมาใช้ “โมเดลนอร์ดิก” (Nordic Model) ที่กำหนดค่าแรงให้พนักงานผ่าน “การร่วมเจรจาต่อรอง” โดยสวีเดน มีสหภาพแรงงานกว่า 110 แห่ง ที่จะไปเจรจาต่อรองกับผู้แทนองค์กร ถึงค่าแรงที่สมาชิกในสหภาพควรจะได้ต่อชั่วโมง รวมถึงค่าล่วงเวลาด้วย บนพื้นฐานทางกฎหมายว่า พนักงงานต้องทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีวันลาพักร้อน 25 วัน และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 13 วันต่อปี  
เดนมาร์ก - ลักษณะเดียวกับสวีเดน และตามที่กล่าวไว้ข้างต้นในบทความ
ไอซ์แลนด์ - เมื่อมีสถานะเป็นพนักงาน ทุกคนจะถูกบรรจุเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในทันที โดยสหภาพแรงงานเหล่านี้ จะเจรจาตกลงค่าแรงที่พนักงานควรได้กับผู้แทนองค์กรเอง
นอร์เวย์ - ใช้หลักการเจรจาต่อรองร่วมเหมือนเดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ ด้วยค่าแรงที่อยู่ในระดับสูง ยกตัวอย่าง แรงงานทักษะต่ำ อาทิ ภาคการเกษตร ก่อสร้าง และทำความสะอาด จะมีรายได้ขั้นต่ำ 556-730 บาทต่อชั่วโมง 
สวิตเซอร์แลนด์ - ให้มีผู้มีสิทธิลงคะแนนเป็นผู้ลงคะแนนกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ โดยเมื่อปี 2020 ประชามติกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ 855 บาทต่อชั่วโมง ในทุกอุตสาหกรรม
สิงคโปร์ – มีตลาดแรงงานที่ปราศจากการแทรกแซงโดยรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง โดยผู้แทนแรงงานและนายจ้าง กำหนดค่าตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อ อ้างอิงตามประสบการณ์ ทักษะ การศึกษา และความสามารถ
 
การเลื่อนชั้นทางสังคม
 
อูเคน ระบุว่า ในเดนมาร์กนั้น แทบไม่มีพนักงานประจำคนใดที่มีฐานะยากจนเลย และแม้จะเป็นแรงงานทักษะต่ำ หรือผู้ใช้แรงงาน ก็แทบไม่ต้องทำงานหลายเพื่อให้มีรายได้พอสำหรับการดำรงชีพ และเลี้ยงครอบครัวเลย
“เราเป็นประเทศร่ำรวย ที่มีอัตราจ้างงานสูง... แม้ในช่วงโควิด ประชากรวัยทำงาน 74% ต่างมีงานทำ” อูเคน อ้างอิงข้อมูลจากองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี พร้อมเสริมว่า เดนมาร์กฟื้นเศรษฐกิจจากโควิดได้เร็วขึ้น ก็เพราะ “ระบบเฟล็กเคียวริตี” ด้วย จากการลดขนาดธุรกิจและขยายขนาดธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
Getty Images
ศูนย์วิจัยความสัมพันธ์เกี่ยวกับการจ้างงาน มหาวิทยาลัยแห่งโคเปนเฮเกน ระบุว่า ชาวเดนมาร์กส่วนใหญ่ ล้วนยินดีกับระบบแรงงานแบบนี้ ไม่เพียงเพราะตอบโจทย์ทางธุรกิจ แต่เพราะเป็นการสร้างสังคมที่เห็นศักดิ์ศรีของพลเมืองทุกคน
ไม่เพียงเท่านั้น ระบบ “เฟล็กเคียวริตี” ยังทำให้การเลื่อนชั้นทางสังคมเป็นไปได้โดยง่าย โดยเฉพาะการเลื่อนชั้นจากชนชั้นแรงงานมาเป็นชนชั้นกลาง ประชาชนตั้งแต่วัยเด็ก เติบโตในสังคมที่มีความหลากหลายทางชนชั้นแบบไม่แบ่งแยก  
“ลูกหลานของเราเติบโตพร้อมรู้จักเด็ก ๆ ในสถานการณ์เศรษฐกิจ การศึกษา และพื้นเพที่แตกต่างกัน ทำให้ความแตกแยกทางการเมืองแบบแบ่งขั้น มีไม่มาก เหมือนที่เห็นในชาติประชาธิปไตยอื่น ๆ” อูเคน กล่าวกับวอชิงตันโพสต์

https://www.bbc.com/thai/articles/c4n2442pgeno
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
ค่าแรงขั้นต่ำคือนโยบายขายฝันให้คนชนชั้นแรงงานเลือกคนออกนโยบาย
สุดท้ายตัวเลขนั้นมันก็จะไม่ได้ช่วยให้การเป็นอยู่ดีขึ้นแต่อย่างใด
เพรามันจะ loop กลับไปดันค่าครองชีพให้สูงขึ้นตามอยู่ดี

การปล่อยให้ค่าแรงเป็นไปตามกลไกตลาด คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
เมื่อแรงงานต้องการได้ค่าแรงที่สูง ก็ต้องพัฒนาทักษะตนเองให้สามารถทำงานที่ได้ค่าแรงสูงกว่าให้ได้
ถ้ายังทำงานเดิมๆ ไม่พัฒนาตนเองก็ต้องแย่งงานกับคนที่สามารถทำอะไรได้เหมือนๆ กันกับตน
มันคือการให้รางวัลแก่คนที่มีความพยายามมากกว่า และลงโทษคนที่ไม่ยอมพัฒนาตนเองให้ไม่เติบโต

ในทางกลับกันเมื่อมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ มันจะทำให้แรงงานไร้ฝีมือกลับมีค่าจ้างพอๆ กันกับแรงงานที่มีฝีมือ
คนที่เค้าอุตสาห์พัฒนาตนเอง ทำงานได้ปราณีตกว่า ดีกว่า แต่กลับได้แค่าแรงไม่ต่างกันกับคนเพิ่งหัดทำงานใหม่ๆ
เพราะมีค่าแรงขั้นต่ำตรงนี้มาบังคับ ไอ้ครั้นนายจ้างจะปรับเงินเดือนขึ้นทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้
สุดท้ายกลายเป็นว่า แรงงานที่ดีกลับถูกลงโทษ แรงงานไร้ฝีมือ กลับได้ประโยชน์

มันจึงเป็นการบีบให้ แรงงานฝีมือจำเป็นต้องย้ายที่ ไปอยู่กับบริษัทที่ให้ได้มากกว่า
SME เล็กๆ ก็จะมีแต่แรงงานไร้ฝีมือ และต้องมาเทรนคนกันใหม่หมด คุณภาพสินค้าด้อยลง ต้นทุนสูงขึ้น
มีแต่บริษัททุนหนาที่อยู่ต่อไปได้ SME ตายกันหมด สินค้าก็จะค่อยๆ สูญเสียความหลากหลาย
กลายเป็นมีได้แค่บริษัทใหญ่ๆ ที่จะผูกขาดตลาดต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่