ปสาทรูป 5 - จักขุปสาทรูป

กระทู้สนทนา
ประเภทที่ ๒  ปสาทรูป
       ปสาทรูป คือ รูปที่เป็นความใสอันเกิดจากกรรม มีความสามารถในการรับ อารมณ์ได้ เรียกว่า ปสาทรูป ซึ่งมีอยู่ ๕ รูป คือ
              ๑. จักขุปสาทรูป ได้แก่ ปสาทตา
              ๒. โสตปสาทรูป ได้แก่ ปสาทหู
              ๓. ฆานปสาทรูป ได้แก่ ปสาทจมูก
              ๔. ชิวหาปสาทรูป ได้แก่ ปสาทลิ้น
              ๕. กายปสาทรูป ได้แก่ ปสาทกาย
       ปสาทรูปทั้ง ๕ นี้ มีสภาพเป็นความใส เกิดจากกรรมโดยสมุฏฐานเดียว สามารถรับอารมณ์ได้ และยังผลให้สำเร็จกิจเป็นกุสลหรืออกุสลได้ ดังรายละเอียด ต่อไปนี้
ที่มา http://abhidhamonline.org/aphi/p6/011.htm

-----
๕. จักขุปสาทรูป
       จักขุปสาท คือ ดวงตาของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง เรียกว่า มังสจักขุ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่
       ๑. สสมฺภารจกฺขุ คือ ส่วนต่าง ๆ ที่ประชุมกันอยู่ทั้งหมดเรียกว่า “ดวงตา” ซึ่งมีทั้งตาขาวและตาดำ มีก้อนเนื้อเป็นฐานรองรับปสาทจักขุไว้
       ๒. ปสาทจักขุ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จักขุปสาท” คือ ความใสของมหา ภูตรูปอันเกิดจากกรรม ที่ตั้งอยู่บนกลางตาดำ
       ดวงตาทั้งหมดไม่ชื่อว่า จักขุปสาท ที่เรียกว่าจักขุปสาทนั้นก็คือ ธรรมชาติ ที่เป็นรูปชนิดหนึ่ง เกิดจากกรรม มีความใสดุจเงากระจก เป็นเครื่องรับรูปารมณ์ ตั้งอยู่ระหว่างตาดำมีหลักฐานแสดงไว้ชัดว่า เป็นเยื่อบางๆ ซับซ้อนกันอยู่ถึง ๗ ชั้น ประดุจปุยนุ่นที่ชุ่มด้วยน้ำมันงาชุ่มอยู่ทั้ง ๗ ชั้น โตประมาณเท่าศีรษะของเหา มี หน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ
(๑) เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒
(๒)  เป็นทวาร   คือ ทางแห่งการรับรู้อารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิตในปัญจทวารวิถี

       จักขุปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ 
       รูปาภิฆาตารหภูตปฺปสาท                 ลกฺขณํ               มีความใสของมหาภูตรูปที่กระทบรูปารมณ์      เป็นลักษณะ
       รูเปสุ อาวิญฺฉน                               รสํ                     มีการชักดึงมาซึ่งรูปารมณ์                             เป็นกิจ
       จกฺขุวิญฺญาณสฺส อาธารภาว             ปจฺจุปฏฺฐานํ        มีการรองรับซึ่งจักขุวิญญาณ                          เป็นผล
       ทฏฺฐกามตานิทานกมฺมชภูต             ปทฏฺฐานํ             มีมหาภูตรูปอันเกิดจาก กรรม(รูปตัณหา) มีความใคร่ที่จะเห็นรูปารมณ์ เป็นเหตุใกล้

       อนึ่ง คำว่า จักขุ ยังจำแนกเป็น ๒ ประการคือ ปัญญาจักขุ และ มังสจักขุ
       ปัญญาจักขุ เป็นการรู้ด้วยปัญญา เป็นการรู้ทางใจ ไม่ใช่เห็นด้วยนัยน์ตา มีอยู่ ๕ ชนิด คือ
       (๑) พุทฺธจกฺขุ เป็นจักขุญาณขององค์สมเด็จพระ
สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่
       ญาณที่รู้ในอัชฌาสัยของสัตว์โลก เรียกว่า อาสยานุสยญาณ
       ญาณที่สามารถรู้อินทรียของสัตว์ทั้งหลายว่ายิ่ง หรือหย่อนเพียงใด เรียกว่า อินทริยปโรปริยัตติญาณ ญาณดังกล่าวแล้วองค์ธรรมได้แก่ มหากิริยาญาณสัมปยุตต จิต ๔ 
       (๒) สมนฺตจกฺขุ เป็นจักขุญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ  สัพพัญญุตญาณ ญาณที่สามารถรอบรู้สิ้นปวงสังขตธรรมและอสังขตธรรม องค์ ธรรมได้แก่  มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิตดวงที่ ๑
       (๓) ญาณจักขุ คือ อรหัตตมัคคญาณ ญาณของพระอรหันต์ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในอรหัตตมัคคจิต
       (๔) ธมฺมจกฺขุ คือ ญาณของพระอริยทั้ง ๓ มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมัคคจิตเบื้องต่ำ ๓
       (๕) ทิพฺพจกฺขุ คือ ญาณที่รู้ด้วยตาทิพย์ คือ อภิญญา องค์ธรรมได้แก่     อภิญญาจิต ๒
       (๖) ส่วน มังสจักขุ นั้นคือ การเห็นด้วยนัยน์ตาเนื้อ ไม่ใช่รู้ด้วยปัญญา ได้แก่ จักขุของมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาท
       ปัญญาจักขุ ๕ มังสจักขุ ๑ รวมเป็น ๖ จึงเรียกกันสั้น ๆ ว่า จักขุ ๖ เมื่อเอ่ยว่า จักขุ ๖ ก็หมายถึง ปัญญาจักขุ ๕ มังสจักขุ ๑ นี่แหละ
 
จัดทำโดย มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
ที่มา http://abhidhamonline.org/aphi/p6/012.htm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่