JJNY : ผักชีพุ่ง กวางตุ้งแพง| "สุทิน"เผย 30พ.ย.วันชี้ชะตา| "ก้าวไกล"อัดพม.เลิก"ติดริบบิ้น"| ‘หมอระวี’หวังศาลรธน.ตีความ

ผักชีราคาพุ่ง เฉียด 200 บาท กวางตุ้งก็แพง หลังฝนตกผลผลิตเสียหาย
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7383642
 
 
ผักชีราคาพุ่งกระฉูด เฉียด 200 บาทต่อกิโลกรัม ผักกวางตุ้งก็แพง หลังฝนตกน้ำท่วมในพื้นที่แหล่งเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย
 
วันที่ 25 พ.ย. 65 รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาผักสดในช่วงสัปดาห์นี้(21-24พ.ย.) ว่าเมื่อเปรียบเทียบราคาในช่วงต้นสัปดาห์(21พ.ย.) และปลายสัปดาห์(24พ.ย.) พบว่าผักชี ราคาปรับสูงขึ้นมาก โดยผักชี(คละ) ปรับราคาเพิ่มขึ้น 70 บาท/ก.ก. คือปรับจาก 90- 100 บาท/ก.ก.เป็น 160 – 170 บาท/ก.ก. ส่วนผักชี(คัด) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 70 บาท/ก.ก. คือปรับจาก 110- 120 บาท/ก.ก. เป็น 180 – 190 บาท/ก.ก.
 
นอกจากนี้ ผักกวางตุ้ง ยังมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นด้วย โดยผักกวางตุ้ง(คละ) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/ก.ก. คือ ปรับจาก 15-20 บาท/ก.ก. เป็น 20-25 บาท/ก.ก. และผักกวางตุ้ง(คัด)ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาท/ก.ก. คือปรับจาก 25-30 บาท/ก.ก. เป็น 28-30บาท/ก.ก.
 
สาเหตุที่ทำให้ผักสด 2 ชนิดมีราคาปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงนี้มีภาวะฝนตกในพื้นที่แหล่งเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง



"สุทิน" เผย 30 พ.ย.วันชี้ชะตาการเมือง ลุ้นคำวินิจฉัยศาลรธน. "ร่างพรป.เลือกตั้งส.ส."
https://siamrath.co.th/n/402403
 
วันที่ 25 พ.ย. 65 ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่านค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 30 พ.ย. ว่า จะเป็นวันชี้ชะตาบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่งว่าผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร จะเกิดผลต่อการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มีทั้งจะนำบ้านเมืองไปสู่ทางตันและทางโล่ง ฉะนั้น เราก็เคารพคำตัดสินแต่คาดหวังว่าอย่างไรเสีย เราก็อยากให้ไปสู่ทางโล่ง บ้านเมืองเดินไปได้ และคิดว่าหลายสิ่งจะดีขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว ที่รออยู่คือกฎหมายเลือกตั้ง หากผลการตัดสินทำให้กฎหมายเลือกตั้งสะดุดหยุดลง เราก็ต้องมาออกแรงกันมาก เราได้แต่หวังว่าน่าจะเป็นเรื่องดีๆ
 
เมื่อถามว่า หากสุดท้ายแล้วศาลฯ ชี้ว่า มีบางประเด็นบางมาตราที่จะต้องมีการปรับแก้ให้สมบูรณ์ขึ้น ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของสภาฯจะสามารถแก้ไขได้ทันหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า หวุดหวิด ตนเชื่อว่าไม่ง่าย อยู่ที่เมื่อศาลฯ ชี้ออกมาว่าจะมีปัญหาที่ไหน บางครั้งชี้ออกมาเป็นปัญหาที่กฎหมายลูก หรือรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาที่กระดุมเม็ดแรก หรือเม็ดที่สอง หากเป็นที่กระดุมเม็ดสองคือกฎหมายลูก ก็อาจจะเร่งแก้ได้ แต่ต้องมีความร่วมมือกันจริงๆ แต่หากชี้ว่ามีปัญหาที่กระดุมเม็ดแรกจะยาว เพราะถ้าแก้ที่รัฐธรรมนูญก็จะยาว
 
เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นปัญหาที่กระดุมเม็ดสอง กระบวนการของสภาฯสามารถพิจารณา 3 วาระรวด ได้หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่ได้ เพราะกฎหมายลูก รัฐธรรมนูญเรื่องกฎหมายลูกห้าม 3 วาระรวด ต้องทิ้งช่วงเวลา แต่หากผิดตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก เป็นเรื่องที่เราเป็นห่วง ซึ่งศาลฯอาจจะชี้ออกมา แต่อาจไม่บอกมาตรงๆว่าผิดที่กระดุมเม็ดแรก แต่คำวินิจฉัยอาจทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่าเป็นที่กระดุมเม็ดแรก เรากลัวอย่างนั้น แม้แต่กระดุมเม็ดที่สองก็ยังยุ่ง เวลาจะไม่พอ แต่หากศาลฯชี้ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นั่นคือทางโล่ง แสดงว่า 
1. เรามีกฎหมายสมบูรณ์แล้วที่จะเลือกตั้ง หากเกิดอะไรขึ้นทางการเมืองก็สามารถเลือกตั้งได้เลย 
และ 2. น่าจะเป็นกฎหมายที่ทุกคนยอมรับกันได้แล้ว หลังจากมีความเห็นต่างกันในชั้นของสภา 

แต่เมื่อศาลฯชี้อย่างนั้นก็น่าจะยอมรับ และทุกข้อท้วงติงก็จะจบลง 


  
"ก้าวไกล" อัด พม.เลิก "ติดริบบิ้น" เสนอ 4 ข้อ แก้ปัญหารุนแรงต่อผู้หญิง
https://www.thairath.co.th/news/politic/2562168

"ก้าวไกล" อัด พม. เลิก "ติดริบบิ้น" แก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง แล้วไปรื้อนโยบาย-มายาคติทางเพศอย่างจริงจัง เสนอ 4 แนวทางแก้ปัญหา ต่อภาครัฐ ซึ่งรวมถึงผลักดัน สิทธิลาคลอด 180 วัน ด้วย 
 
วันที่ 25 พ.ย. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล 25 พ.ย. ว่า ปีนี้พรรคก้าวไกล ได้ทบทวนสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เพื่อเตรียมนำเสนอเป็นนโยบาย พบสถิติสูงขึ้น ติด 1 ใน 10 ของโลก หลายครั้งผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือจาก จนท.รัฐ แต่กลับถูกปฏิเสธ จนต้องวิ่งเข้าหามูลนิธิ หรือเพจดังต่าง ๆ จี้ รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ทั้งการสร้างทัศนคติที่เคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ ปรับช่องทางรับแจ้งเหตุที่หลากหลาย มีกระบวนการช่วยเหลือที่เป็นมิตร เพิ่มพนักงานสอบสวนหรือตำรวจหญิงทุกสถานี เชื่อหากทำเช่นนี้จะนำไปสู่การลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กได้
 
จากข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบสถานการณ์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี พ.ศ.2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี พ.ศ.2563 ทั้งความรุนแรงต่อจิตใจ ร่างกายและทางเพศ สอดคล้องกับข้อมูลความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ พ.ศ.2564 โดยมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ พบผู้หญิงไทยถูกกระทำความรุนแรงไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน หรือข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมที่พบว่าผู้หญิงไทยไม่ต่ำกว่า 75 % เคยถูกคุกคามทางเพศ โดยไม่ว่าข้อมูลด้านใด บ่งชี้ว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ของโลก ยังไม่นับข้อมูลที่ไม่อาจสำรวจได้ หรือกรณีที่ผู้หญิงไม่กล้าเปิดเผยการถูกกระทำความรุนแรง ที่หลายครั้งนำไปสู่การบาดเจ็บ การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย และการถูกฆ่าตายในที่สุด นับเป็นความสูญเสียที่ควรจะระงับเหตุได้ หากมีช่องทางหรือกระบวนการช่วยเหลือที่เอื้อต่อผู้หญิงที่ถูกกระทำแต่ต้น” นายณัฐวุฒิ ระบุ...
 
ทั้งนี้ แม้องค์การสหประชาชาติมีมติรับรองให้วันที่ 25 พ.ย. ของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล” นับแต่เหตุการณ์ในคืนวันที่ 25 พ.ย. ค.ศ.1960 ที่เกิดการสังหารสามพี่น้องผู้หญิงชาวโดมินิกัน และสำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2542  กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" มาเป็นระยะเวลากว่า 23 ปีแล้ว โดยมีการตั้งหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การบัญญัติกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการหลายระดับ มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือสายด่วน 1300 ที่ทำให้เกิดระบบและกระบวนการช่วยเหลือและการป้องกันปัญหาที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19
  
ปัจจัยสำคัญ คือ มายาคติเรื่องชายเป็นใหญ่ ยิ่งหากเป็นความรุนแรงระหว่างคู่ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน ที่ชายยังเห็นว่าตนเองมีสิทธิเหนือหญิงที่เป็นคู่ของตน รวมถึงครอบครัว ชุมชน และสถาบันทางสังคม ที่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว แม้ในรอบปีที่ผ่านมามีหลายกรณีที่คนในสังคมลุกขึ้นมาช่วยผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น อันถือเป็นนิมิตหมายที่ดี รวมถึงเมื่อผู้หญิงประสงค์ขอความช่วยเหลือ แต่กลับถูกปฏิเสธจาก จนท.ของรัฐ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ร้องมายังพรรค ร้องมาที่สภาฯ หรือร้องไปที่มูลนิธิหรือเพจดังต่างๆ ที่ช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งไม่มีระบบกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการทางสังคมที่จะปกป้องฟื้นฟูผู้หญิงอย่างเพียงพอ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงระบบแก้ไขพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของผู้กระทำ และแทบจะไม่ต้องพูดถึงเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงที่ไม่อาจร้องขอความช่วยเหลือด้วยตนเองได้” นายณัฐวุฒิ กล่าว...
 
โดยพรรคก้าวไกลได้เสนอ 4 แนวทาง ของการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง
  
หนึ่ง ต้องเร่งปรับกระบวนการศึกษา และกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมในทุกระดับ ที่ลดการตีตราหรือการสร้างมายาคติซ้ำ ทั้งเรื่องชายเป็นใหญ่ และเรื่องความรุนแรงในบ้านที่เป็นเรื่องส่วนตัว โดยเริ่มจากการสร้างทัศนคติที่เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน มองว่า “คนเท่ากัน” สร้างมุมมองที่เคารพต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และทำให้เห็นว่าความรุนแรงทั้งต่อผู้หญิง หรือเด็ก หรือความรุนแรงในบ้านมิใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป

สอง ปรับระบบการรับแจ้งเหตุที่เป็นมิตรต่อผู้หญิง โดยเพิ่มช่องทางที่หลากหลายผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงช่องทางของราชการที่มีอยู่หลากหลาย ทั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ สายด่วน 1300 ศูนย์ OSCC ที่มีอยู่ทุกโรงพยาบาล และที่สำคัญในสถานีตำรวจ โดยจะต้องเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิงที่มีอยู่ปัจจุบัน 763 คน ให้ครบทุกสถานีตำรวจ 1,482 แห่ง รวมถึงการเพิ่มทักษะของ จนท.ทุกภาคส่วนให้มีความเข้าใจต่อเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง

สาม ปรับแก้กฎหมายและกระบวนการช่วยเหลือ ทั้งกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางสังคมที่นำไปสู่การเยียวยาฟื้นฟูผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ดังเช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ถูกใช้มาเป็นระยะเวลานาน และมีปัญหาอุปสรรคในการบังคับใช้ ประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของผู้หญิง รวมถึงกระบวนการช่วยเหลือที่เน้นการเยียวยาฟื้นฟูและคืนพลังอำนาจให้ผู้หญิงในการดำรงชีวิต และเพิ่มกระบวนการแก้ไขพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของผู้กระทำในอีกทางหนึ่งด้วย
 
และ สี่ ผลักดันและดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการที่ทำให้ผู้หญิงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี เช่น สิทธิในการลาคลอด 180 วัน ที่สามารถใช้ได้กับทั้งผู้เป็นแม่และพ่อ สิทธิที่จะได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าในกรณีมีบุตร อันเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนพลังอำนาจของผู้หญิง และสถาบันครอบครัว และเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัจจัยของการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง
 
แทนที่เราจะแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วยการ “ติดริบบิ้นสีขาว” ในเดือน พ.ย.เพียงอย่างเดียว แต่ความรุนแรงต่อผู้หญิงกลับไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด รัฐบาลต้องแก้ปัญหาทั้งระบบทั้งเรื่องพลังอำนาจและสวัสดิการของผู้หญิง เรื่องการลดมายาคติและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เคารพสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อเกิดเหตุแล้ว ต้องทำให้ระบบการรับแจ้งเหตุเป็นระบบที่ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงกล้าที่จะเดินเข้าหาและเชื่อมั่นว่าจะช่วยเหลือเขาได้จริง ๆ แบบนี้ต่างหาก ที่จะนำไปสู่การลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและรวมถึงเด็กได้ในระยะยาว” ณัฐวุฒิ กล่าว...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่