JJNY : หวิดปะทะ! มวลชน│พท.เย้ยจัดเอเปค แต่ SME ไม่ได้ประโยชน์│กมธ.กฎหมายจ่อสอบตร.│บาทอ่อนค่าหลังดอลล์ทยอยกลับมาแข็งค่า

หวิดปะทะ! มวลชนเคลื่อนจากลานคนเมือง ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตร.สกัดวุ่น
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7369502

มวลชนกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 เคลื่อนออกจากลานคนเมือง หลังพักค้างคืน เตรียมไปตั้งเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจเข้าสกัดวุ่น
 
เมื่อเวลา 07.40 น.วันที่ 17 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร ซึ่งกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 จัดกิจกรรมสืบเนื่องตั้งแต่ในช่วงเย็นของวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีการพักค้างคืนในบริเวณดังกล่าว แม้ทางกรุงเทพมหานคร ยืนยันไม่อนุญาต โดยมีรถสุขากรุงเทพมหานครให้บริการ 2 คัน ทั้งนี้ สถานการณ์ทั่วไปปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบราว 5 นาย เดินทางเข้าสังเกตการณ์

นอกจากนี้มีการแขวนป้ายผ้าของเครือข่ายต่างๆ ที่เดินทางเข้าสมทบในช่วงดึกของคืนที่ผ่านมา อาทิ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และกลุ่ม NEOLANNA และประชาชนจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดินทางด้วยรถไฟมายังสถานีหัวลำโพงแล้วโดยสารรถยนต์ต่อมายังลานคนเมือง
อย่างไรก็ตาม เมื่อคืนที่ผ่านมา น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ หนึ่งในแกนนำ ประกาศนัดหมายทำกิจกรรมในวันนี้ เน้นการปราศรัยโดยกลุ่มต่างๆก่อนเคลื่อนขบวนไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 18 พ.ย.นี้

ต่อมาเวลา 09.40 น. กลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 มีการเคลื่อนไหว นำโดยนายพีรพงษ์ เพิ่มพูน และแนวร่วมจัดการชุมนุมเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค และความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล และมวลชนบางส่วน ประมาณ 20 คน ได้ขึ้นรถกระบะ 4 คัน พร้อมป้ายข้อความ ออกจากบริเวณลานคนเมือง มายังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นได้นำป้ายลงมาติดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มมวลชนดังกล่าว กลับไปใช้พื้นที่ลานคนเมือง ที่กรุงเทพมหานครจัดเอาไว้ พร้อมทั้งเข้าควบคุมฝูงชน ไม่ให้มีการชุมนุมในพื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
 
ทำให้มวลชน กลับมาขึ้นรถ พร้อมตะโดนด่าทอว่าเป็นขี้ข้าเผด็จการ จากนั้นกลุ่มมวลชนได้เคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ และวนกลับเข้ามาอีกครั้ง เพี่อตะโกนด่าทอ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เพิ่มกำลังเข้าควบคุมพื้นที่แล้ว



พท.เย้ย รบ.ประยุทธ์ ได้แค่จัดเอเปค ชูศก.สีเขียว สวยหรู แต่ SME ไทย ไม่ได้ประโยชน์
https://www.matichon.co.th/politics/news_3678749

“จิราพร” เย้ย “ประยุทธ์” เป็นได้แค่ผู้จัดประชุมเอเปค แต่ไม่เป็นผู้นำที่เชิดหน้าชูตา ชู การประชุมครั้งที่สำเร็จที่สุดคือยุค “ทักษิณ”
 
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 นี้ว่า ในอดีตประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ครั้งที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด คือการจัดการประชุมเมื่อปี 2546 ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่นอกจากจะโดดเด่นในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศเชิงรุก สามารถแสดงบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ทั่วโลกต้องจับตามองไทย และพาผู้นำประเทศมหาอำนาจ และเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาร่วมเวทีเดียวกันได้สำเร็จแล้ว
 
น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากเวทีการประชุมเอเปคในครั้งนั้น คือ นายทักษิณ มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสองแนวทาง หรือ Dual Track Policy ที่เน้นให้ไทยแสวงหาประโยชน์จากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างกลไกภายในประเทศให้แข็งแกร่ง จึงเกิดการผลักดันนโยบายอย่างเป็นระบบเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากในประเทศให้เข้มแข็ง เช่น นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงนโยบายการเตรียมความพร้อมประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฯลฯ โดยดำเนินการไปพร้อมกับการดำเนินนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจ ใช้เวทีการประชุมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะโอกาสการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ประสานประโยชน์เพื่อยกระดับนโยบายในประเทศเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยที่เคยประสบปัญหาจากวิกฤตต้มยำกุ้งและการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส สามารถกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด จนเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการพัฒนากลับต้องสะดุดหยุดลงเพราะการทำรัฐประหาร
 
น.ส.จิราพร กล่าวด้วยว่า ในขณะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้นำที่มาจากการทำรัฐประหารสืบทอดอำนาจ มีสถานะที่อ่อนด้อยไม่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก และยังไม่มีนโยบายภายในประเทศที่ช่วยวางรากฐานให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตในระดับนานาชาติได้ เน้นเพียงมาตรการระยะสั้น และการแจกเงิน ซึ่งไม่ใช่นโยบายที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน นับวันยิ่งทำให้คนจนในประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุ 22 ล้านคน ท่ามกลางหนี้สาธารณะประเทศทะลุ 10 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนสูงเกือบ 15 ล้านล้านบาท
 
แม้ในการประชุมครั้งนี้ รัฐบาลไทยจะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular- Green - Economy Model (BCG) ซึ่งเป็นหลักคิดที่ดีในการเน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสมดุล แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ แนวคิดนี้อาจเป็นเพียงแค่วาทกรรมสวยหรูแต่ไม่สามารถทำให้ไทยได้ประโยชน์จริง เพราะผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ SME ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากวิกฤตโควิด-19 แต่ไร้มาตรการเยียวยาช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐบาล ทำให้ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก บางส่วนที่ยังอยู่ได้ก็หายใจรวยริน จนอาจจะไม่รอดถึงวันที่จะได้ใช้ BCG Model ในการฟื้นฟูธุรกิจของตน
 
นอกจากสถานะผู้นำเผด็จการที่มาจากการทำรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาในเวทีโลกแล้ว การที่รัฐบาลไม่มีนโยบายในประเทศที่สามารถเชื่อมโยงให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติได้ เน้นเพียงการแจกเงิน ไม่ได้วางโครงสร้างประเทศเพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ประกอบกับความอ่อนด้อยในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นได้เพียง แค่ผู้จัดการประชุมนานาชาติ แต่ไม่เป็นที่เชิดหน้าชูตา และจะไม่สามารถใช้เวทีการประชุมเอเปค แสดงบทบาทนำเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศได้” น.ส.จิราพร กล่าว
  

 
กมธ.กฎหมาย จ่อสอบ ตร. อ้างเอเปค ไล่จับนักกิจกรรม ม.ราม อัดยับ น่าอับอายชาวโลก
https://www.matichon.co.th/politics/news_3678633

กมธ.กฎหมาย จ่อสอบ ตร. อ้างเอเปค ไล่จับนักกิจกรรม ม.ราม อัดยับ น่าอับอายชาวโลก
 
จากกรณีที่ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (MUSTFETH) เปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก เข้าควบคุมตัว 3 นักศึกษา ม.รามคำแหง ที่ห้องพัก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยอ้างว่าจะก่อความไม่สงบในระหว่างการประชุมเอเปคนั้น
 
ล่าสุด (17 พ.ย.) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า

บุกจับนักศึกษามุสลิมช่วง APEC อ้างกลัวก่อความวุ่นวาย – คุมตัวมาล้วงข้อมูล นี่แหละที่น่าอับอายต่อชาวโลกจริงๆ
 
มีรายงานข่าวว่าเช้าวันนี้ (16 พฤศจิกายน 2565) มีนักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 3 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นที่พักก่อนควบคุมตัวไปที่ สน.หัวหมาก โดยทางตำรวจอ้างเหตุว่าอาจก่อความไม่สงบระหว่างการประชุม APEC ต่อมาเมื่อทั้ง 3 คนติดต่อทนายความส่วนตัวได้แล้ว ทางตำรวจแจ้งว่าหากลงลายมือชื่อยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและบันทึกประจำวันก็จะปล่อยตัว ล่าสุดได้รับการปล่อยตัวแล้ว
 
การเข้าค้นดังกล่าวนั้นเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีหมายค้น ซึ่งผมก็ทราบมาว่า สุดท้ายแล้วไม่พบสิ่งของที่เป็นความผิดหรือต้องสงสัยว่าจะไปก่อเหตุใดๆ ได้ แต่การที่ตำรวจนำตัวนักศึกษาไปยัง สน.หัวหมากด้วยนั้นเป็นสิ่งที่เกินเลยกว่าเรื่องการค้นไปแล้ว เพราะอาจเข้าข่ายเป็นการจับ ซึ่งไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าค้นนั้นมีหมายจับนักศึกษาทั้ง 3 คน และทั้ง 3 คนนี้ ก็ไม่เคยมีคดีความมั่นคงมาก่อน การที่จะจับโดยที่ไม่มีหมายนั้นจึงต้องเป็นกรณีที่พบการกระทำความผิดซึ่งหน้าเท่านั้น ดังนั้น ผมขอให้ทางตำรวจชี้แจงด้วยว่าการนำตัวนักศึกษา 3 คนมาที่ สน. ด้วยนั้น ท่านอาศัยเหตุอะไร? อาศัยอำนาจจากกฎหมายข้อไหน? หรือว่าจริงๆ คือแค่เห็นว่าเป็นคนมุสลิมก็หาเรื่องจับแล้วโดยไม่ต้องมีมูลใดๆ?
 
มากไปกว่านั้น การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าถ้าทั้ง 3 คนยอมให้เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วจะปล่อยตัวนั้น นี่ก็เช่นกันว่าท่านอาศัยอำนาจจากกฎหมายข้อไหน? เพราะถ้าไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ ที่จะต้องควบคุมตัวไว้ ประชาชนย่อมต้องได้ปล่อยตัวออกมาทันทีโดยไม่จำเป็นต้องยินยอมให้คนอื่นเข้าถึงข้อมูลใดๆ ของตัวเอง และเอาเข้าจริงแล้วการที่ตำรวจสามารถยืนข้อเสนอได้ง่ายๆ ว่าจะปล่อยตัวโดยแลกกับการให้เข้าถึงข้อมูลนั้น แสดงว่าทางตำรวจเองก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องควบคุมตัวนักศึกษา 3 คนตั้งแต่แรกแล้วใช่หรือไม่? แล้วการมาทำเช่นนี้ต่างอะไรจากการเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน ข่มขู่เพื่อล้วงข้อมูลคนคนนั้น?
 
ผมก็พอจะเข้าใจอยู่ว่าในช่วงประชุม APEC นั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่อยากเสียหน้าเวลามีใครออกมาประท้วงพวกท่าน แต่การให้ตำรวจมาไล่ล่าจับประชาชนแบบเลื่อนลอยด้วยข้ออ้างแค่ว่ากลัวจะไปก่อความไม่สงบ สิ่งนี้แหละที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นที่อับอายขายหน้าประชาคมโลกอย่างแท้จริง ดังนั้นผมจะขอนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ภายในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อพิจารณาหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่น่าเสื่อมเสียเช่นนี้จากเจ้าหน้าที่รัฐอีก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่