JJNY : 5in1 ไทยรั้งท้าย!│ส.ทนายฯหนุนเดี่ยว 13│'ก้าวไกล-ก้าวหน้า'รำลึก14ตุลา│สมคิดแนะไม่ต้องยุบสภา│เลขาฯนาโตเตือนมอสโก

ไทยรั้งท้าย! ประเทศระบบบำนาญดีที่สุดในโลก ปี 2022 สิงคโปร์อันดับ 1 เอเชีย
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7316588
 
 
ผลสำรวจต่างประเทศเผย ไอซ์แลนด์ ระบบบำนาญดีที่สุดในโลก ขณะที่ไทยรั้งท้าย แนะวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้ดีที่สุด
 
วันที่ 14 ต.ค. 2565 บริษัท Mercer บริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารสินทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานการสำรวจ Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) ครั้งที่ 14 ซึ่งร่วมกับสถาบัน CFA Institute สถาบันผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ในการสำรวจคุณภาพของระบบบำนาญใน 44 ประเทศ
 
ผลการสำรวจ เปิดเผยว่า ประเทศไอซ์แลนด์ (Iceland) เป็นประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก โดยได้คะแนนที่ 84.7 คะแนน จัดอยู่ในระดับ A ขณะเดียวกันยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ถูกจัดอันดับระบบบำนาญอยู่ในระดับ A อีก 2 ประเทศคือ เนเธอร์แลนด์ (Netherlands) ได้คะแนนที่ 84.6 คะแนน และเดนมาร์ก (Denmark) ได้คะแนนที่ 82.0 คะแนน
 
ขณะที่ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 44 จากทั้งหมด 44 ประเทศ โดยได้รับคะแนนที่ 41.7 คะแนน จัดอยู่ในระดับ D และเป็นอันดับสุดท้ายในระดับเอเชียอีกด้วย โดยสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับระบบบำนาญดีที่สุดในบรรดาประเทศทวีปเอเชีย (อันดับ 9 ของโลก ด้วยคะแนน 74.1 คะแนน)
 
ผลการสำรวจมีการระบุถึงรูปแบบกองทุนบำนาญขององค์กรในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงจากกองทุนแบบกำหนดผลประโยชน์ทดแทน (Defined Benefit-DB) เป็นกองทุนแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution-DC) ซึ่งทำให้ผู้คนต้องวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณกันมากขึ้น

Dr.David Knox Senior Partner ของ Mercer ระบุว่า แต่ละคนมีความรับผิดชอบเรื่องการออมเพื่อการเกษียณมากขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเกษียณอายุได้รับการสนับสนุน พัฒนา และควบคุมดูแลอย่างดี
 
การสำรวจ MCGPI เป็นการสำรวจเกี่ยวกับระบบบำนาญจาก 44 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของประชากรโลก เน้นข้อบกพร่องบางประการในแต่ละระบบ และแนะนำด้านที่เป็นไปได้ของการปฏิรูปที่จะช่วยให้สวัสดิการหลังเกษียณมีความเพียงพอและยั่งยืนมากขึ้น โดยสำรวจจาก 3 ด้านหลักคือ
 
1.ความเพียงพอของบำนาญ (Adequacy) ในแง่ทรัพย์สิน ผลตอบแทน สิทธิประโยชน์ และการสนับสนุนจากภาครัฐ
2.ความยั่งยืนของระบบบำนาญหลังเกษียณ (Sustainability) โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และหนี้สาธารณะ
3.ความครบถ้วนมั่นคงของระบบ (Integrity) ตั้งแต่ระเบียบและข้อกฎหมาย ความคุ้มครอง และการสื่อสารต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบ
 

  
สมาคมทนายฯ ออกโรงหนุนเดี่ยว 13 ไม่ผิดกฎหมาย ชี้ ปชช.มีสิทธิ์วิจารณ์รัฐบาล
https://www.khaosod.co.th/politics/news_7316462

สมาคมทนายความ ออกโรงหนุนเดี่ยว 13 ไม่ผิดกฎหมาย ชี้ ปชช.มีสิทธิ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ตามรัฐธรรมนูญ เตือน อย่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีคนเห็นต่าง
 
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2565 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แถลงข้อความผ่านเฟซบุ๊กสมาคมทนายความ ว่า จากกรณีการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 13 ของคุณโน้ส อุดม แต้พานิช บางส่วน ที่เป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลว ซึ่งมีประชาชนแสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นำไปสู่ประเด็นที่มีบุคคลอ้างว่า การกระทำของคุณโน้สไร้เหตุผล ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณชน และผิดกฎหมาย
 
สมาคมทนายความฯ ขอแสดงความคิดเห็นว่า ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้
ฉะนั้น การแสดงของคุณโน้สดังกล่าว เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น การถ่ายทอดความรู้สึก และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว หาใช่การแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการกล่าวหาใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
 
อีกทั้งรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนได้ ประกอบกับการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ยังสอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่ ที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ตลอดจนเป็นผู้เสียภาษีให้กับรัฐ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ผ่านมา จึงย่อมมีสิทธิตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์
 
สมาคมทนายความฯ เห็นว่า รัฐบาลควรปล่อยให้ประชาชนได้มีการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบใด และสำคัญที่สุดรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ ต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง อันจะทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ความขัดแย้ง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงแบบไม่จบสิ้น
 
กรณีดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์และอุทาหรณ์ ให้เห็นว่าความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชน เป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตย  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มิได้สร้างความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตนั้นเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน
 

 
'ก้าวไกล-ก้าวหน้า' รำลึก 14 ตุลา 'พรรณิการ์' ชี้เป็นทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้
https://voicetv.co.th/read/3TorJE6WX

'ก้าวไกล-ก้าวหน้า' ร่วมรำลึกงาน 14 ตุลา 'อมรัตน์' ไล่เรียงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มองประชาธิปไตยปัจจุบันไม่ตรงปก 'พรรณิการ์' ชี้เป็นทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ เผยหากไม่แก้โครงสร้าง ไล่เผด็จการคนหนึ่งไป คนใหม่ก็มา
 
วันที่ 14 ต.ค. 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมรำลึกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศไทย วัน 14 ตุลา มหาวิปโยค ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยมีมวลชนจำนวนมหาศาลเข้าร่วมต่อต้านเผด็จการในเวลานั้น โดยกิจกรรมวันนี้มีทั้งญาติวีรชนเหตุการณ์ ประชาชน นักกิจกรรมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นักการเมืองเข้าร่วมงาน
 
อมรัตน์ กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยเริ่มต้นด้วยการคารวะผู้เสียสละในเหตุการณ์ 14 ตุลา ก่อนจะกล่าวถึงใจความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นทั้ง 'ชัยชนะ' และ 'ความพ่ายแพ้' โดยที่กล่าวเช่นนั้นเพราะว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา สามารถขับไล่เผด็จการที่ครองอำนาจไว้ได้ แต่ขณะเดียวกันภายในเวลา 3 ปีเท่านั้นเผด็จการกลับมาของอำนาจและกลับมามีบทบาทในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งครั้งของความรุนแรงที่ก่อโดยรัฐ ที่ปัจจุบันยังไม่มีผู้กระทำผิดได้รับโทษ
 
อมรัตน์ ยังได้ไล่เรียงถึงเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 2516 , 6 ตุลา 2519 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่สามารถขับไล่เผด็จการและมีชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ เป็นเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองความคิดของประชาชนทั้งหมดได้ ดังนั้นการขับไล่เผด็จการยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและในระดับรัฐบาล
 
"เราต้องเปลี่ยนที่โครงสร้างของประเทศ เอากองทัพออกไปจากการเมืองยุติการเข้ามาของอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ หรือ มือที่มองไม่เห็นหยุดการแทรกแซงทางการเมืองจากองคาพยพที่ไม่เกี่ยวข้อง" อมรัตน์ กล่าว
 
อมรัตน์ ยังได้ย้ำว่าปัจจุบันเป็นเวลากว่า 90 ปีแล้วที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแต่ประเทศไทยยังไม่ "ตรงปก" ประเทศรัฐธรรมนูญเสียที ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำ
 
ไม่ใช่ชัยชนะที่ยั่งยืน
 
นอกจากนี้ พรรณิการ์ ตัวแทนจากคณะก้าวหน้าที่เดินทางมาพร้อมกัน กล่าวเสริมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาไว้ว่า ไม่ควรมีใครต้องต่อสู้เรียกร้อง และล้มตายเพื่อประชาธิปไตย และเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ เพราะเป็นการตื่นตัวของนิสิตนักศึกษา มวลชน กรรมกร ชาวนา ครั้งใหญ่ ทั่วประเทศลุกฮือกัน ไม่ใช่เพียงเฉพาะกรุงเทพมหานคร 
 
แต่ชัยชนะในครั้งนั้นกลายเป็นความพ่ายแพ้เพราะมันไม่ใช่ชัยชนะที่ยั่งยืน บทเรียนจาก 14 ตุลา สอนให้รู้ว่า ไล่เผด็จการออกไป เผด็จการคนใหม่ก็เกิดขึ้นเสมอ ตราบใดที่เราไม่เปลี่ยนโครงสร้างของประเทศให้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง และปฏิรูปทุกสถาบันให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ



สมคิด เย้ย ปรับ ครม.ก็ไร้ประโยชน์ แนะไม่ต้องยุบสภา อยากอยู่ก็อยู่ไป จนถึงเลือกตั้ง
https://www.matichon.co.th/politics/news_3618228

“สมคิด” ฉะ “ประยุทธ์” จะปรับ ครม. ยุบสภาหรือไม่ ก็ไร้ประโยชน์ ชี้ เลือกตั้งครั้งหน้า ปชช.จะให้คำตอบ เผย ขอให้ใจเย็นๆ อาจมีชื่ออื่นนั่งแคนดิเดตนายกฯ พท.
 
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) และรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุกับพรรคร่วมรัฐบาลให้รออีกนิดว่า 
 
พล.อ.ประยุทธ์จะปรับหรือไม่ปรับ ครม.ก็มีผลเท่าเดิม เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาให้กับพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นเอง ที่สำคัญตราบใดที่นายกรัฐมนตรียังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย แล้วก็ไม่จำเป็นต้องยุบสภาแล้ว เพราะจะยุบหรือไม่ยุบก็ไร้ประโยชน์ อีกทั้งอายุสภาเหลืออีกเพียงแค่ 5 เดือน ดังนั้น เชิญอยู่กันตามสบาย อยากอยู่ก็อยู่ไป ประชาชนรอการเลือกตั้งครั้งใหม่เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากประชาชน เข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นคำตอบให้รัฐบาลชุดนี้ ว่าสิ่งที่พวกท่านได้ทำมาทั้งหมด ตอบโจทย์ประชาชนหรือไม่
 
นายสมคิดยังกล่าวถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท.ที่ปรากฏชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยด้วยว่า เป็นรายชื่อที่คาดการณ์กันไว้ แต่อย่าเพิ่งไปตื่นเต้นอะไร เพราะอาจจะมีคนอื่นเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมอีกก็เป็นได้ เพราะพรรค พท.มีบุคลากร คนที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งอยากเข้ามาร่วมงานกับพรรคจำนวนมาก ดังนั้น ขอให้ใจเย็นๆ พรรค พท.เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีครบ 3 ชื่อแน่ๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่