เรื่องน่ารู้ของยาชาชนิดทา ตัวช่วยของคนที่อยากสวยแต่กลัวเจ็บ

กระทู้สนทนา


ยาชาชนิดทา 
ตัวช่วยของคนอยากสวยแต่กลัวเจ็บ 

1. ยาชาชนิดทาบนผิวหนัง (Topical Anesthetic) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีอยู่หลายยี่ห้อ
   ตัวยามักจะอยู่ในรูปแบบของเนื้อครีมเหมือนกันแต่อาจจะต่างกันที่เปอเซนต์ความเข้มข้นค่ะ 

2. ยาชาชนิดทา สามารถใช้กับเคสแบบไหนบ้าง?
จุดประสงค์ของการทายาชา คือใช้เพื่อลดความเจ็บจากการทำหัตถการต่างๆที่ผิวหนัง 
เช่น 
       - กลุ่มเลเซอร์แบบที่ทำเสร็จแล้วมีแผลหรือตกสะเก็ด (Abrative laser, Resurfacing laser, Fractional laser) 
          ตัวอย่างเช่น เลเซอร์จี้ไฝ ขี้แมลงวัน กระแดด กระเนื้อ กระลึก หลุมสิว ลบรอยสัก ปานดำ เป็นต้น 
       - เครื่องมือที่ให้พลังงานความร้อนสูงแม้จะทำแล้วไม่มีแผล แต่ตอนทำจะรู้สึกว่าเจ็บเยอะหน่อย 
          เช่น กลุ่มเครื่องมือยกกระชับผิว เช่น อัลเทอร่า (Ulthera), เทอมาจ (Thermage) 
          การทายาชา ช่วยให้ตอนทำรู้สึกสบายขึ้น เจ็บน้อยลง
       - ใช้ทาก่อนฉีด Botox, Filler หรือ กรณีอื่นๆที่คนไข้กังวลเรื่องความเจ็บ 
  
3. ความชาจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ 
    - ปริมาณยาที่ใช้ | ความเข้มข้นของตัวยา | ระยะเวลาที่ทาทิ้งเอาไว้ | และเทคนิคการทา 

4. ปริมาณยาชาที่ใช้อย่างปลอดภัยในผู้ใหญ่ทาได้ไม่เกินครั้งละ 20 กรัม 
    (โดยทั่วไปยาชา 1 หลอด มีปริมาณประมาณ 30 กรัม) 

5. ทาแล้วไม่ได้ชาเลยทันทีนะคะ (ต่างกับการฉีดยาชา) จึงต้องทาทิ้งไว้ เพื่อรอให้ยาชาเค้าออกฤทธิ์ก่อน 
    โดยระยะเวลารอให้ยาออกฤทธิ์โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 30-45 นาที แต่ถ้าคนไข้ที่กลัวเจ็บมากๆ อาจจะทานานกว่านั้นได้

6. ก่อนทายาต้องทำความสะอาดผิว เช็ดครีมกันแดดและเครื่องสำอางก่อนเริ่มทายาชาทุกครั้ง

7. ผิวตรงที่จะทายาชา ต้องไม่มีบาดแผลเปิดและไม่มีการอักเสบ (หน้าที่มีผื่นเห่อ แห้งแดงแสบลอกไม่ควรทายาชา) 
   อาจจะเลือกทาเฉพาะจุดหรือทาทั้วหน้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต้องการให้ชา

8. ถ้าต้องการให้ยาดูดซึมได้ดีมากขึ้น ชาเร็วขึ้น สามารถใช้เทคนิคการแปะทับด้วยพลาสติกบางๆด้านบนได้ 
    (คล้ายการแรปอาหาร) ช่วยให้ชามากขึ้นและชาเร็วขึ้นด้วย  

9. การทายาทิ้งไว้เป็นเวลานาน ยิ่งชามากเพราะยายิ่งซึมลงได้ลึกมากขึ้น                                
(แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดกันว่า ถ้าทายาชาไว้นานๆแล้ว จะไม่ชาเพราะยาเสื่อม อันนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่จริงค่ะ) 
    ตัวอย่างเช่น ถ้าหากทายาชาทิ้งไว้นาน 1 ชั่วโมง ความชาจะครอบคลุมผิวหนังที่อยู่ลึกลงไปประมาณ 3 มิลลิเมตร 
    แต่ถ้าทาทิ้งไว้นานขึ้นเป็น 2 ชั่วโมง จะชาได้ลึกถึง 5 มิลลิเมตร
    ** ข้อควรระวังคือ ห้ามทานานเกินไป เช่น ทาทิ้งไว้เกิน 4 ชั่วโมง
           
10. และถึงแม้ว่าหลังจากที่เช็ดยาชาออกไปแล้ว ผิวของเราก็ยังคงจะรู้สึกชาต่อไปได้อีก 1-2 ชั่วโมงเลยนะคะ   

11. ในเคสที่รีบๆหรือมีเวลาน้อยจริงๆ อาจจะพิจารณาใช้เทคนิคการนวดยาชาเข้ามาเสริมได้ 
      จะช่วยให้ยาชาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น แต่ก็ต้องระวังในเคสที่ผิวบอบบาง หรือแพ้ยาง่าย อาจเกิดอาการผิวบวมแดงแสบได้ 

รู้แบบนี้แล้ว สบายใจได้เลยนะคะ
ว่าการแปะยาชารอคิวนานๆ (ไม่เกิน 4 ชั่วโมง) ไม่ได้ทำให้ยาชาหมดฤทธิ์ไป 
แต่ตรงกันข้ามคือทำให้ยาชาซึมลงสู่ผิวได้มากขึ้นด้วยซ้ำค่ะ 

พญ.มานิตา อัตถสุริยานันท์ | หมอยุ้ย
แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังและความงาม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่