JJNY : ป่วยใหม่ 1,508 เสียชีวิต 29│ดองราคา ซื้อเวลาทุนใหญ่ผูกขาด│3 ปี สภาล่มรัวๆ 19 ครั้ง│‘ชัชชาติ’ ดูน้ำท่วมแต่เช้ามืด

โควิดวันนี้ ป่วยใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,508 ราย ปอดอักเสบ 965 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 29 ราย
https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_3509092

 
โควิดวันนี้ ป่วยใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,508 ราย ปอดอักเสบ 965 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 29 ราย
 
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2565 พบผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 1,508 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยในประเทศ 1,508 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ – ราย ผู้ป่วยสะสม 2,400,161 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
 
หายป่วยกลับบ้าน 2,023 ราย หายป่วยสะสม 2,403,503 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 19,712 ราย เสียชีวิต 29 ราย เสียชีวิตสะสม 10,189 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
 
จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 965 ราย
 
ผู้ติดเชื้อนอกโรงพยาบาล (ATK+) สัปดาห์ที่ 32 : 7-13 สิงหาคม 2565 218,042 ราย สะสม 7,322, 891 ราย ร้อยละการตรวจพบเชื้อ (เฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน) 8.16 เปอร์เซ็นต์
 
*เนื่องจากตั้งแต่ 1 มิ.ย.65 เป็นต้นมา มีการปรับระบบรายงาน โดยรายงานเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล จึงทำให้รายงานยอดผู้ป่วยสะสมมีจำนวนที่น้อยกว่ายอดผู้หายป่วยสะสม



ดองราคา ซื้อเวลาทุนใหญ่ผูกขาด
https://www.innnews.co.th/news/news_392030/
 
สั่งตรึงราคาสินค้า รัฐขายของราคาประหยัด มองแบบฉาบฉวยอาจดีต่อประชาชน ได้ของราคาถูก ประหยัดเงินในกระเป๋าแต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครได้ประโยชน์
 
เวลานี้ยังคงมีคำสั่งในการตรึงราคาสินค้า จากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ทำให้สินค้าควบคุม 56 รายการ ไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น กลไกตลาดไม่ได้ทำงานการแข่งขันด้านราคาไม่สะท้อนความเป็นจริง หลายสินค้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก
โดยนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการที่มีข่าวปรับราคาช่วงนี้ รัฐควรปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน
 
เพราะสินค้าดังกล่าวมีการแข่งขันสูงผู้ประกอบการผลิตปรับราคาขึ้นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาสินค้าจำเป็นต้องปรับขึ้นบ้าง เพื่อให้อยู่ในระดับที่สามารถผลิตต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นจะเหลือเพียงผู้ผลิตรายใหญ่ผูกขาดตลาด
 
เช่น กรณีของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มองว่าต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาไม่ได้ปรับมาเป็นระยะเวลาหลายปี การขอปรับขึ้นซองละ 1-2 บาท ไม่ถือว่าเกินสมควร แต่หากภาครัฐยังคงดึงเวลาออกไป อาจส่งผลต่อตลาดในเรื่องของการผลิต
 
ผู้ประกอบการอาจต้องหาทางออกใหม่ด้วยการยกเลิกผลิตสินค้าเดิมและผลิตสินค้าตัวใหม่กำหนดราคาขายใหม่ ที่สุดแล้วคนที่จะ ได้รับผลกระทบคือผู้บริโภค การต่อรองราคาที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องจำเป็น มองว่าการอนุญาตขึ้นราคา 1 บาท อาจส่งผลดีกว่าการสั่งตรึงราคาสินค้าแบบไม่มีกำหนดจนสินค้าขาดตลาด หรือสำหรับผู้ผลิตรายเล็กอื่นๆ คุมราคาอาจทำให้ต้องเลิกผลิตเลิกจ้างแรงงานเวลานั้นปล่อยผ่านขึ้นราคาได้ แต่คงไม่มีคนซื้อ
 
นอกจากนี้ อยากบอกว่า สินค้าบางชนิดได้รับผลกระทบจากต้นทุนแอบแฝงมากเกินไปจนทำให้ราคาสินค้าราคาแพงขึ้นเกินจริง ไม่ได้เกิดจากต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตเพียงอย่างเดียว เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าวางสินค้า ค่าใช้จ่ายบริหารจัดการอื่นๆ
 
ขณะที่ต้นทุนหลักบางชนิดรัฐบาลควรดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ควบคุมราคาปลายทาง ผู้ประกอบการโดนทั้งขึ้นทั้งลอง โดยเฉพาะ ค่าไฟฟ้าและค่าขนส่ง
 
ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลัก หากรัฐบาลดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ผู้ประกอบการก็ไม่จำเป็นต้องปรับราคาสินค้า ภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องซื้อของราคาแพงมาขายถูกช่วยประชาชนปลายทาง
 
เพราะที่สุดแล้วคงไม่มีใครช่วยใครได้ นอกจากให้กลไกตลาดทำหน้าที่แข่งขันกันเอง เพราะหากยิ่งดึงเวลาออกไป รายเล็กหายออกจากตลาด จะเกิดปัญหาการผูกขาดของรายใหญ่ อนาคตคงหมดทางต่อรอง
 
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ก็ยังคงขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้า 18 หมวดสำคัญ คงราคาสินค้าไว้ก่อนและให้ใช้นโยบายวิน-วิน โมเดล เจรจาให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค
 
สินค้าจำเป็นที่ไม่ใช่สินค้าควบคุมปรับราคาขึ้นได้แต่ให้น้อยที่สุดและสินค้าต้องไม่ขาดตลาด ระยะเวลาขอความร่วมมือไม่แน่นอน ใช้ว่าให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เวลานี้มีใครวินคงต้องคิดอีกที

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


3 ปี สภาล่มรัวๆ 19 ครั้ง เกมชิงไหวชิงพริบ แทคติคการเมือง
https://www.matichon.co.th/heading-news/news_3509082

3 ปี สภาล่มรัวๆ 19ครั้ง เกมชิงไหวชิงพริบ แทคติคการเมือง
 
สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 ที่มีวาระการทำหน้าที่ตั้งแต่ปี 2562-2566 โดยมีองค์ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน ปัจจุบัน มี ส.ส.ทำหน้าที่ได้ 478 คน และสมาชิวุฒิสภา (ส.ว.) 249 คน รวมเป็นสมาชิกรัฐสภา 727 คน แต่สภาที่ถูกสังคมจับตามองเป็นพิเศษ คือ เหตุการณ์ที่ประชุมไม่ครบองค์ประชุม หรือสภาล่ม มักจะเกิดจากการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมรัฐสภา โดยสถิติสภาของสภาชุดที่ 25 นี้
 
นับว่าเป็นตัวเลขที่พุ่งสูงเป็นสถิติของการประชุมสภา เพราะตั้งแต่เปิดประชุมสภา มาตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มาจนถึงปัจจุบันข้อมูลล่าสุด คือ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 มีเหตุการณ์ที่ประชุมสภา และประชุมรัฐสภา ล่มไปแล้วรวมถึง 19 ครั้ง แบ่งเป็น ในปี 2562 ที่ประชุมสภาล่มไป 3 ครั้ง ด้วยเหตุและปัจจัยที่มาจากการเล่นแง่ ชิงไหวชิงพริบกันในทางการเมือง ผ่านกลเกมของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ปี 2563 มีเหตุการณ์สภาล่มเพียงแค่หนึ่งครั้ง คือ การประชุมสภาวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ระหว่างการพิจารณารายงานความคืบหน้าแผนปฏิรูปประเทศ (ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์) ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานสภาทุก 3 เดือน แต่กลับไม่มีการดำเนินการ อีกทั้งยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมตามตัวชี้วัด ตามกฎหมาย หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้
 
ข้ามมาที่ปี 2564 มีเหตุการณ์สภาล่มบ่อยมากขึ้น จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า สภาอับปาง มีมากถึง 8 ครั้งที่สภาไม่สามารถทำงานจนจบการประชุมได้ ในจำนวนนี้มีการล่ม 2 ครั้งที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมของรัฐสภาระหว่าง ส.ส.และ ส.ว. พร้อมกันในช่วงเดือนกันยายน ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หากจะโฟกัสในการประชุมสภา สมัยสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 ตั้งแต่เปิดประชุมมาจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม มีเหตุการณ์ประชุมสภา และประชุมรัฐสภาล่มไปแล้วถึง 7 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ครั้งที่ 13 วันที่ 19 มกราคม 2565 ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษารวม 5 ฉบับ (องค์ประชุมไม่ครบ) ครั้งที่ 14 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ระหว่างการพิจารณาอนุมัติให้คณะรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ไปศึกษาก่อนรับหลักการ (องค์ประชุมไม่ครบ) ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (สุราก้าวหน้า) มีการลงมติเพื่อให้คณะรัฐมนตรีนำร่างไปพิจารณาก่อน 60 วัน แต่เมื่อตรวจสอบองค์ประชุมแล้วไม่ครบ ประธานจึงสั่งปิดการประชุม
 
ครั้งที่ 15 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ระหว่างการพิจารณารับรองรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผล กระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน (องค์ประชุมไม่ครบ) ประธานจึงสั่งปิดการประชุม ครั้งที่ 16 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ระหว่างเข้าสู่วาระรับทราบรายงานของหน่วยงานต่างๆ แต่องค์ประชุมไม่ครบ ประธานจึงสั่งปิดการประชุมไปตามระเบียบ ส่วนครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ในการประชุมร่วมรัฐสภา ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. … ซึ่งมีทั้งสิ้น 12 มาตรา การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวตลอดทั้งวัน บรรยากาศในห้องประชุมอยู่ในสภาพเงียบเหงา มี ส.ส.นั่งในห้องประชุมบางตา เมื่อเช็กองค์ประชุมไม่ครบ ประธานจึงสั่งปิดการประชุม
 
ขณะที่ครั้งที่ 18 วันที่ 10 สิงหาคม เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ภายหลังการขานชื่อสมาชิกรัฐสภา ทั้ง 727 คน ก่อนจะก่อนลงมติมาตรา 24/1 ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ในวาระ 2 นานกว่า 2 ชั่วโมง ประธานสั่งเช็กองค์ประชุม ก่อนที่สมาชิกจะมีจำนวนไม่ครบ ที่ประชุมจึงล่มไปอีกครั้ง ส่วนครั้งที่ 19 วันที่ 15 สิงหาคม เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณามาตรา 24/1 ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ในวาระ 2 แต่ด้วยกลเกมทางการเมืองของทั้งแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.)
 
รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภา อาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ผ่านวาระที่ 2 และวาระ 3 เพื่อไม่ให้สาระสำคัญ ของการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่หารด้วย 500 คน ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา ซึ่งวันที่ 15 สิงหาคม ถือเป็นวันสุดท้ายที่กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะครบ 180 วัน นับจากวันที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการ แต่เมื่อประธานที่ประชุมเช็กเสียงสมาชิกตั้งแต่เปิดการประชุม ในเวลา 09.00 น. ผ่านไปจนถึงเวลา 10.28 น. ปรากฏว่ามีสมาชิกแสดงตนเพียง 355 คน ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม คือ 364 คน ประธานจึงสั่งปิดการประชุม เพราะไม่สามารถเปิดการประชุมได้ จึงต้องสั่งปิดการประชุมไปอีกครั้ง
 
ซึ่งการประชุมรัฐสภาที่ล่มตั้งแต่ครั้ง 17-19 นั้น ถือว่าทั้งฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) งัดทุกกลไกและเกมการเมือง เพื่อไม่ให้การประชุมรัฐสภาเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งการไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม การวอล์กเอาต์ การยื่นญัตติของนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรค พปชร.และ ส.ว. ส่วนใหญ่เล่นเกมไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมด้วย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสูตรหาร 500 ให้ตกไป แม้แต่ละฝ่ายจะอ้างเหตุผลและความชอบธรรม ในการทำให้สภาล่ม
 
แต่ทั้งหมด ทั้งมวล คงอยู่ที่ประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เฝ้ามองอยู่ภายนอก จะเป็นผู้ตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวมีความเหมาะสมต่อการทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่