JJNY : ทูตรัศม์ซัดดอน│‘ไอลอว์’ยันเริ่มนับ‘วาระตู่’ ที่ 24 ส.ค.57│ห่วงหนี้เสียครัวเรือน│เพื่อไทยจวกเสียงข้างมากดันทุรัง

ทูตรัศม์ ค้านให้อดีตปธน.ศรีลังกาอยู่นาน90วัน ซัดดอน ข้ออ้างพาสปอร์ตทูต ไม่ฉลาดเอามากๆ
https://www.matichon.co.th/politics/news_3503434

 
ทูตรัศม์ ค้านให้อดีตปธน.ศรีลังกาอยู่นาน90วัน ซัดดอน ข้ออ้างพาสปอร์ตทูต ไม่ฉลาดเอามากๆ
 
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจทูตนอกแถว อดีตเอกอัครราชทูตไทย  แสดงความเห็น กรณีการเดินทางมาของอดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ที่ลี้ภัยออกจากประเทศหลังถูกขับไล่ ก่อนมาพักอยู่ที่ไทยชั่วคราว โดย ระบุว่า กรณีอดีต ปธน.ศรีลังกากับความไม่ฉลาดเช่นเคยของทางการไทย
 
มี FC ขอให้พูดเรื่องนายโกตาบายา ราชปักษา อดีต ปธน.ศรีลังกา ที่ย่องมาไทยเงียบๆเมื่อคืนวานนี้ ผมจึงขอมีข้อสังเกตสักสองสามข้อนะครับ
 
ประการแรกเรื่องที่ทางการไทยยอมรับให้เข้ามานั้น ผมว่าก็เข้าใจได้ เพราะศรีลังกาเองเป็นมิตรประเทศและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย ซึ่งผมเข้าใจว่าทางรัฐบาลศรีลังกาเองก็คงมีคำขอมาด้วยเช่นกัน
 
ส่วนที่ตัวนายโกตาบายาฯเลือกมาไทย แทนที่อีกหลายประเทศ นอกจากเรื่องความสัมพันธ์อันดี และความเป็นเมืองพุทธด้วยกันแล้ว เขาคงมองแล้วว่ารัฐบาลไทยปัจจุบันไม่ได้เป็นรัฐบาลที่จะมาคำนึงถึงเสียงหรือความต้องการของประชาชนอะไรนัก ซึ่งในแง่นี้เขาก็คิดถูก
 
ซึ่งจริงๆ ไทยก็ไม่ได้อะไรนักจากการนี้ โดยเฉพาะหากคำนึงว่าเมื่อวันใดมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจในศรีลังกาที่ตอนนี้ประชาชล้วนโกรธแค้นตระกูลราชปักษา
แต่เอาล่ะ ว่ากันตามหลักมนุษยธรรมก็พอฟังได้ แต่การมาอธิบายว่านายโกตาบายาฯ เข้าไทยได้เพราะมีหนังสือเดินทางการทูตนั้น เป็นเรื่องตลกไร้สาระมาก ไม่รู้ว่าผู้พูดไม่รู้จริงๆ หรือคิดว่าคนอื่นเขาไม่รู้
 
เรื่องการเข้าเมืองนั้น มันเป็นสิทธิและอำนาจของประเทศนั้นๆที่จะให้ใครเข้าหรือไม่เข้าประเทศก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะถือหนังสือเดินทางประเภทใด ต่อให้ถือหนังสือเดินทางการทูตเราก็ปฏิเสธได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะก่อผลเสียมากกว่าดีหากให้เข้ามา  คำอธิบายเช่นว่านี้ไม่ควรออกมาจากคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการต่างประเทศ มันดูไม่ฉลาดมากๆ
 
ประการถัดไป ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้สิทธิพำนักตามหนังสือเดินทางได้ถึง 90 วัน โดยเห็นว่านานเกินไป เมื่อพิจารณาว่าทางการไทยควรคำนึงถึงทั้งความรู้สึกของประชาชนคนไทยที่ไม่มีใครเขายินดีต้อนรับคนๆนึ้ รวมทั้งภาระที่ทางการไทยต้องมาคอยดูแลรักษาความปลอดภัย (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจากภาษี) เพราะจะปล่อยตามเลยก็ไม่ได้ เกิดอะไรขึ้นก็จะไม่งามต่อประเทศเรา (ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงยังเชื่อว่าในปัจจุบันยังมีกลุ่มอดีตผู้ก่อการร้ายทมิฬอีแลม LTTE แอบฝังตัวอยู่ในไทย และซึ่งคือโจทย์ที่อาจรอคิดบัญชีนายโกตาบายาฯอยู่) และที่สำคัญ รัฐบาลไทยควรคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนศรีลังกาบ้าง
 
ผมเห็นว่าในแง่มนุษยธรรม การให้พำนักในไทยได้หนึ่ง-สองสัปดาห์ก็เพียงพอแล้วที่จะให้นายโกตาบายาฯ สามารถติดต่อหาแหล่งพักพิงอื่นได้ต่อไป และก็คิดง่ายๆว่าถ้าการมาพำนักมันดีไม่มีปัญหาอะไร ทำไมนายโกตาบายาฯ ถึงต้องออกจากสิงคโปร์?
 
การให้พำนักในไทยนานถึง 90 วันเป็นความไม่ชาญฉลาดอย่างยิ่งของทางการไทย เราแทบไม่ได้อะไรจากนี้ เพราะไม่มีใครเขาชื่นชมนายโกตาบายาฯ และในอดีตทางการไทยทำเรื่องเลวร้ายไว้มากในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าเรื่องชาวอุยกูร์ นายฮาคีมฯนักฟุตบอลชาวบาห์เรน การส่งตัวผู้ลี้ภัยกัมพูชากลับประเทศ และอื่นๆอีกมากมาย เพียงแค่นี้มันไม่ทำให้รัฐบาลไทยปัจจุบันดูดีอะไรขึ้นมาหรอกครับ
 
สุดท้ายที่อยากจะพูดคือ ผมขอชมเชยทหารศรีลังกาในความมีวินัย เป็นทหารมืออาชีพ ที่ต่อให้ผู้นำเขาจะโกงเลวแค่ไหน เขาก็ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทางตามกฎหมายและระบบประชาธิปไตย ไม่เที่ยวเข้ามาแทรกแซงทำรัฐประหารบ้าบอเหมือนประเทศแถวนี้
 
ซึ่งถ้าหากรัฐประหารมันแก้โกงหรืออะไรได้จริง ป่านนี้เราคงเป็นประเทศมหาอำนาจไปแล้วนะครับ
 
https://www.facebook.com/thealternativeambassadorreturns/posts/pfbid0yuYWtJiekoJsFhmmGr8GsqBAKrYJMmBnt1DPT7LgEK8h796s3B5cCGwdbdnvrdGol
 

 
‘ไอลอว์’ ยกรธน.60 อ้างคำ ‘มีชัย-วิษณุ’ เป็นนายกได้ไม่เกิน 8 ปี ยันเริ่มนับ ‘วาระบิ๊กตู่’ ที่ 24 ส.ค.57
https://www.matichon.co.th/politics/news_3503533
 
‘ไอลอว์’ ยกรธน.60 อ้างคำ ‘มีชัย-วิษณุ’ เป็นนายกได้ไม่เกิน 8 ปี ยันเริ่มนับ ‘วาระบิ๊กตู่’ ที่ 24 ส.ค.57
  
สืบเนื่องข้อวิพากษ์ กรณีสถานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีในคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นี้ ซึ่งมีเสียงค้านว่าหากนับตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ นั้น

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) เผยแพร่ข้อเขียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทุกคนเป็นนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี ตลอดชีวิต
 
ย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ว่าต้องไม่เกิน 8 ปี ซึ่งปรากฏในมาตรา 171 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้” แต่ทว่า การเขียนเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดช่องโหว่ว่า ถ้าหากไม่ได้เป็นนายกฯ ติดต่อกันหรือมีการเว้นวรรคการดำรงตำแหน่ง จะทำให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ใหม่ อีกเป็นระยะเวลา 8 ปี หรือไม่
 
ด้วยเหตุนี้ ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จึงได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น โดยกำหนดไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ ว่า  “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” กล่าวคือ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกฯ มากี่ครั้ง และไม่ว่าจะดำรงต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องก็ตาม แต่ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของทุกคนต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ตลอดชีวิต
 
โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนขยายความมาตราดังกล่าวไว้ในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ด้วยว่า “..การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนด ข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว”
 
อีกทั้ง ในเอกสารคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ ยังระบุด้วยว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอานาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้”
 
อย่างไรดี มีพยานและหลักฐาน อย่างน้อย 2 อย่าง ที่ชี้ให้เห็นว่า การตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ดังนี้
 
1) บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ที่ระบุถึงความเห็นของประธานและรองประธาน กรธ. ในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ไว้ดังนี้
 
สุพจน์ ไข่มุกต์ รองประธาน กรธ. กล่าวว่า “หากนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”
 
มีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า “บทเฉพาะกาลมาตรา 264 บัญญัติไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี”
 
จากบันทึกความเห็นดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หมายถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 8 ปีในมาตรา 158 เช่นเดียวกัน อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 มาตรา 2 ยังระบุว่า ประเทศมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ สุพจน์ ไข่มุกต์ รองประธาน กรธ. ที่ระบุว่า หากเป็นนายกฯ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวรวมด้วย ดังนั้น ต้องเริ่มนับวาระนายกฯ  ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557
 
2) คำให้สัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายกฎหมาย) เมื่อปี 2562 ที่ระบุว่า รัฐบาลนี้(คณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ใช้บังคับ)ไม่ใช่คณะรัฐมนตรีที่รักษาการ เพราะว่า ถ้าใช่ รัฐธรรมนูญจะบอกว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กลับบอกด้วยว่า ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เป็นคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น จึงเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม
 
จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ใช่ข้อยกเว้นตาม มาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ระบุว่า “ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” ดังนั้น ต้องเริ่มนับวาระนายกฯ ของ  พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557
 
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังกำหนดด้วยว่า คณะรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 (1) คือ พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง เหตุเพราะอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภา หรือ คณะรัฐมนตรีลาออก แต่กรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ตามเงื่อนไขดังกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่