‘หมอลี่’ แง้ม ดีลทรู-ดีแทค จบชัวร์ที่ศาล จวกผลการศึกษาจุฬาฯ จริงครึ่งเดียว สวน ‘กสทช.-กขค.’ ไม่มีอำนาจเคาะ แล้วใครมี?

กระทู้ข่าว
‘หมอลี่’ แง้ม ดีลทรู-ดีแทค จบชัวร์ที่ศาล จวกผลการศึกษาจุฬาฯ จริงครึ่งเดียว สวน ‘กสทช.-กขค.’ ไม่มีอำนาจเคาะ แล้วใครมี?
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม เห็นชอบให้ สำนักงาน กสทช. วิเคราะห์โครงสร้างการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณา และป้องกันการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม โดยให้สำนักงาน กสทช. รายงานความคืบหน้าต่อ กสทช. โดยเร็ว

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า หาก กสทช. เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณายังไม่ครบถ้วน เพียงพอ การดื้อดึงพิจารณาสุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต สามารถเลื่อนการพิจารณาออกไปได้ ถือเป็นเรื่องปกติทางปกครอง โดยกระบวนการวินิจฉัยจะเริ่มต้นขึ้นต่อเมื่อข้อเท็จจริงครบถ้วน แต่ทั้งนี้ กสทช. ยืนยันมาตลอดว่า การพิจารณาเรื่องนี้จะไม่ยืดเยื้อ ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ต้องเร่งหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน หากส่วนไหนไม่สามารถหาข้อเท็จจริงประกอบได้ ให้รายงานต่อ กสทช. โดยส่วนนั้นอาจต้องใช้ดุลพินิจเท่าที่มีอยู่ในการพิจารณา

“ไม่มีเหตุที่ กสทช. ต้องยื้อเวลาพิจารณา แต่ที่ยื้อเพราะมีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วนทุกมิติ มีแค่ไหนตัดสินไปแค่นั้น เวลาถูกดำเนินคดีจะได้สู้ได้ ถ้าสุ่มสี่สุ่มห้าลงมติไป เวลาถูกดำเนินคดีจะลำบาก ส่วนตัวไม่ทราบว่า กสทช. แต่ละท่านมีข้อมูลใดบ้าง แต่เป็นปกติที่จะสงวนท่าที เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร อาจมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง รวมถึงกระบวนการพิจารณาที่ล่าช้า ผู้ขอควบรวมก็สามารถฟ้องร้องได้เช่นกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะดูเหมือนผู้ขอควบรวมอยากให้จบ” นพ.ประวิทย์ กล่าว


นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ในฐานะประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ข้อคิดเห็นของผู้บริโภคต้องการให้ตลาดเกิดการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทั้งคุณภาพและราคาค่าบริการ รวมถึงโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพ

“สภาพตลาดโทรคมนาคมในปัจจุบัน ที่มีคุณภาพทั้งราคาและรูปแบบสินค้าหรือบริการ ถูกกำหนดด้วยกลไกตลาด ไม่ใช่ฝีมือของ กสทช. ชุดเดิม เพราะ กสทช. มีหน้าที่ในการประคองตลาดเท่านั้น คำถามคือ เมื่อควบรวมกิจการที่ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดลดลง กสทช. จะสามารถคงระดับการแข่งขันในตลาดให้เหมือนก่อนควบรวมกิจการได้หรือไม่ อย่างในประเทศมาเลเซีย ที่มีอนุมัติการควบรวมกิจการโทรคมนาคม มีการกำหนดมาตรการเฉพาะ โดยให้ดึงคลื่นความถี่จำนวน 70 เมกะเฮิรตซ์ จากผู้ควบรวมออกมาจัดสรรใหม่ เพื่อสนับสนุนให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ในตลาด รวมถึงส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการแบบไม่มีโครงข่าย (MVNO) ซึ่งหากไทยดำเนินการเช่นเดียวกับมาเลเซียได้ อาจกระทบกับผู้บริโภคไม่มากนัก แต่ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะลำดับผู้เล่นเบอร์ 2 และ 3 ในตลาดหายไป ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงแน่นอน” นพ.ประวิทย์ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้ สำนักงาน กสทช. เปิดเผยผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการ และที่ปรึกษาต่างๆ อย่างโปร่งโส เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้นั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ตามหลักของกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการนั้น เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นรอง ดังนั้น หากจะปกปิดต้องปกปิดส่วนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้เท่านั้น ซึ่งรายงานของ 4 คณะอนุกรรมการ หรือรายงานที่ปรึกษาอิสระ รวมถึงรายงานของผู้ขอรวบรวม ต้องมีส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ เป็นไปไม่ได้ที่ทุกบรรทัดจะเปิดเผยไม่ได้

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า กรณีมีการเผยแพร่ผลการศึกษาของที่ปรึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต โดยทำได้เพียงพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาด นั้น เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพียงครึ่งเดียว เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ แต่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีอำนาจ

“ก่อนหน้านี้ กขค. ระบุว่า อำนาจการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคเป็นของ กสทช. เนื่องจากเป็นหน่วยงานกำกับดูแล กขค. ไม่สามารถก้าวล่วงได้ และถ้าต่างฝ่ายต่างบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ผลการศึกษาของจุฬาฯ จะส่งให้ใคร ดังนั้น ผลการศึกษาของจุฬาฯ จึงสรุปว่า กสทช.เป็นกฎหมายเฉพาะด้าน อาจจะไม่มีอำนาจ แต่กฎหมายหลักคือ กฎหมายแข่งขันทางการค้า กขค. จึงมีอำนาจ ซึ่งถามว่า ผู้ขอควบรวมจะยอมไปขออนุญาต กขค.หรือไม่ ถ้าไม่ยอมก็เป็นการโกหกพูดครึ่งเดียว และถ้า กขค. ก็ไม่ขออนุญาต กสทช. ก็ไม่มีอำนาจ ฉันสามารถควบรวมได้เลย อันนี้ก็ขัดกับผลการศึกษาของจุฬาฯเหมือนกัน ดังนั้น เวลาเปิดเผยผลการศึกษา อย่าเปิดเผยครึ่งเดียว ต้องเปิดเผยทั้งหมด” นพ.ประวิทย์ กล่าว


ที่มา matichon
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่