คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ศรีลังกากำลังเผชิญภาวะวิกฤตหนักรอบด้าน ทั้งทางด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม แต่ละด้านล้วนรุนแรงสาหัสจนแทบบอกไม่ได้ว่าควรเริ่มต้นสะสางตั้งแต่จุดไหนกันดี
ที่สำคัญก็คือ ยิ่งทอดเวลาเนิ่นนานออกไป สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปทุกที
ทำเนียบประธานาธิบดีที่เคยเป็นสถานที่ปลอดภัยสูงสุดของประเทศ กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำอะไรก็ได้เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจ ทุกข์ทรมานของมวลชนที่ถูกกดทับมาหลายปีดีดัก
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทะยานขึ้นถึง 18.4% เงินเฟ้อเฉพาะในหมวดสินค้าอาหารเทียบกันปีต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 80.1%
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ “พังทลาย” ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีการส่งออก-นำเข้า สิ่งที่หลงเหลืออยู่มีแต่เพียงคราบไคลของการคอร์รัปชั่นและภาระหนี้สิน ที่สูงมากเสียจนต้องพักชำระหนี้ ไม่มีปัญญาแม้แต่จะใช้คืนส่วนที่เป็นดอกเบี้ย
คำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งในบริบทของเศรษฐกิจโลกเวลานี้ก็คือ ภาวะล่มสลายในศรีลังกาเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (อีเมอร์จิ้งมาร์เก็ต-อีเอ็ม) ที่เดิมเคยเรียกกันว่า ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ?
นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า ศรีลังกาไม่เพียงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและการเมืองในกลุ่มประเทศเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ที่ดังสนั่นไปทั่วโลกในเวลานี้
“โจช ลิปสกี้” ผู้อำนวยการสถาบันภูมิเศรษฐศาสตร์ของแอตแลนติก เคาน์ซิล เชื่อว่า สถานการณ์ในศรีลังกามีส่วนเชื่อมโยงและผูกพันกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ทั้งหมด เพราะรูปแบบของปัญหาและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหภาคของประเทศเหล่านี้ในภาวะวิกฤตโลกที่ผ่านมาคล้ายคลึงกันทั้งสิ้น
ศรีลังกาวิกฤตหนักก็เพราะสถานการณ์ โลกที่ไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 และซ้ำเติมด้วยการบุกรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวตายสนิทในท่ามกลางปัญหาภายในเรื้อรังอย่าง การคอร์รัปชั่นของผู้บริหาร และนักการเมืองกับภาวะหนี้สินที่สั่งสมไว้จนสูงอย่างยิ่ง
ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่ตกที่นั่งลำบากอยู่ในเวลานี้จึงไม่ได้มีเพียงแค่ศรีลังกาประเทศเดียวเด็ดขาด
ลิปสกี้ชี้ว่า มีอีกหลายประเทศมากที่กำลังตกอยู่ในภาวะคล้ายคลึงกัน ในระดับความร้ายแรงที่แตกต่างกันออกไป ประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้กระจายกันอยู่ในหลายส่วนของโลก และกำลังเสี่ยงสูงอย่างยิ่งที่จะ “ผิดนัดชำระหนี้” แบบเดียวกับที่ศรีลังกาทำมาแล้ว
ประเทศอย่างเอลซัลวาดอร์, กานา, ตูนิเซีย, อียิปต์ หรือแม้แต่ปากีสถาน มีโอกาสสูงยิ่งที่จะถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องพักชำระหนี้กันได้ทั้งสิ้น
การบุกยูเครนของรัสเซียก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นกับทั้งโลกในปี 2022 นี้ ด้วยการสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายจนพุ่งกระฉูด รายงานประเมินภาวะเศรษฐกิจขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี ล่าสุดเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาชี้ว่า ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งโลกลดลงอย่างฮวบฮาบถึง 3%
สารพัดปัญหาผุดขึ้นตามมา ราคาอาหารพุ่งสูง, ราคาพลังงานสูง, ดอลลาร์แข็งค่า, อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในกลุ่มอีเอ็มมีหนี้สินอยู่ตั้งแต่ในระดับสูงจนถึงระดับสูงมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน
ปัจจัยที่สำคัญอีกประการก็คือ เจ้าหนี้รายใหญ่ของโลกในเวลานี้คือ ประเทศอย่างจีนที่ปล่อยกู้ออกไปมากกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับราว 150 ประเทศ แต่ไม่เต็มใจที่จะเปิดการเจรจาเพื่อยืดเวลา, ปรับโครงสร้างหนี้ หรือประนีประนอมหนี้ใด ๆ
ข้อมูลสถิติหนี้ของธนาคารโลกในปี 2022 แสดงให้เห็นว่ากว่าครึ่งของหนี้ทั้งหมดในเวลานี้มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศจีน
“โจช ลิปสกี้” เตือนให้มองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผ่านมาหมาด ๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างในเวลานี้ผูกพันเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน วิกฤตหนึ่งนำไปสู่อีกวิกฤตหนึ่งได้เสมอ เมื่อโลกเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน วิกฤตหนี้ในยูโรโซนก็เกิดขึ้นตามมา ทำนองเดียวกับเมื่อประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางเกิดปัญหาทางการเมืองและสังคมขึ้น อาหรับสปริงก็เกิดขึ้นตามมา ยิ่งนับวันการเมืองกับเศรษฐกิจ ยิ่งแยกออกจากกันไม่ออกมากขึ้นเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับในเวลานี้ ถ้าหากบรรดาประเทศในกลุ่มอีเอ็มต้องพักชำระหนี้ต่อเนื่องกันเป็นระลอก ย่อมไม่เกิดผลดีต่อใครทั้งสิ้น ไม่แม้แต่กับเจ้าหนี้อย่างจีนเองด้วยซ้ำไป
https://www.prachachat.net/world-news/news-984767
........หลายชาติ “ตลาดเกิดใหม่” กำลังวิกฤตตาม “ศรีลังกา”........
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ศรีลังกากำลังเผชิญภาวะวิกฤตหนักรอบด้าน ทั้งทางด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม แต่ละด้านล้วนรุนแรงสาหัสจนแทบบอกไม่ได้ว่าควรเริ่มต้นสะสางตั้งแต่จุดไหนกันดี
ที่สำคัญก็คือ ยิ่งทอดเวลาเนิ่นนานออกไป สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปทุกที
ทำเนียบประธานาธิบดีที่เคยเป็นสถานที่ปลอดภัยสูงสุดของประเทศ กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำอะไรก็ได้เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจ ทุกข์ทรมานของมวลชนที่ถูกกดทับมาหลายปีดีดัก
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทะยานขึ้นถึง 18.4% เงินเฟ้อเฉพาะในหมวดสินค้าอาหารเทียบกันปีต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 80.1%
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ “พังทลาย” ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีการส่งออก-นำเข้า สิ่งที่หลงเหลืออยู่มีแต่เพียงคราบไคลของการคอร์รัปชั่นและภาระหนี้สิน ที่สูงมากเสียจนต้องพักชำระหนี้ ไม่มีปัญญาแม้แต่จะใช้คืนส่วนที่เป็นดอกเบี้ย
คำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งในบริบทของเศรษฐกิจโลกเวลานี้ก็คือ ภาวะล่มสลายในศรีลังกาเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (อีเมอร์จิ้งมาร์เก็ต-อีเอ็ม) ที่เดิมเคยเรียกกันว่า ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ?
นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า ศรีลังกาไม่เพียงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและการเมืองในกลุ่มประเทศเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ที่ดังสนั่นไปทั่วโลกในเวลานี้
“โจช ลิปสกี้” ผู้อำนวยการสถาบันภูมิเศรษฐศาสตร์ของแอตแลนติก เคาน์ซิล เชื่อว่า สถานการณ์ในศรีลังกามีส่วนเชื่อมโยงและผูกพันกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ทั้งหมด เพราะรูปแบบของปัญหาและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหภาคของประเทศเหล่านี้ในภาวะวิกฤตโลกที่ผ่านมาคล้ายคลึงกันทั้งสิ้น
ศรีลังกาวิกฤตหนักก็เพราะสถานการณ์ โลกที่ไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 และซ้ำเติมด้วยการบุกรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวตายสนิทในท่ามกลางปัญหาภายในเรื้อรังอย่าง การคอร์รัปชั่นของผู้บริหาร และนักการเมืองกับภาวะหนี้สินที่สั่งสมไว้จนสูงอย่างยิ่ง
ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่ตกที่นั่งลำบากอยู่ในเวลานี้จึงไม่ได้มีเพียงแค่ศรีลังกาประเทศเดียวเด็ดขาด
ลิปสกี้ชี้ว่า มีอีกหลายประเทศมากที่กำลังตกอยู่ในภาวะคล้ายคลึงกัน ในระดับความร้ายแรงที่แตกต่างกันออกไป ประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้กระจายกันอยู่ในหลายส่วนของโลก และกำลังเสี่ยงสูงอย่างยิ่งที่จะ “ผิดนัดชำระหนี้” แบบเดียวกับที่ศรีลังกาทำมาแล้ว
ประเทศอย่างเอลซัลวาดอร์, กานา, ตูนิเซีย, อียิปต์ หรือแม้แต่ปากีสถาน มีโอกาสสูงยิ่งที่จะถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องพักชำระหนี้กันได้ทั้งสิ้น
การบุกยูเครนของรัสเซียก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นกับทั้งโลกในปี 2022 นี้ ด้วยการสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายจนพุ่งกระฉูด รายงานประเมินภาวะเศรษฐกิจขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี ล่าสุดเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาชี้ว่า ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งโลกลดลงอย่างฮวบฮาบถึง 3%
สารพัดปัญหาผุดขึ้นตามมา ราคาอาหารพุ่งสูง, ราคาพลังงานสูง, ดอลลาร์แข็งค่า, อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในกลุ่มอีเอ็มมีหนี้สินอยู่ตั้งแต่ในระดับสูงจนถึงระดับสูงมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน
ปัจจัยที่สำคัญอีกประการก็คือ เจ้าหนี้รายใหญ่ของโลกในเวลานี้คือ ประเทศอย่างจีนที่ปล่อยกู้ออกไปมากกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับราว 150 ประเทศ แต่ไม่เต็มใจที่จะเปิดการเจรจาเพื่อยืดเวลา, ปรับโครงสร้างหนี้ หรือประนีประนอมหนี้ใด ๆ
ข้อมูลสถิติหนี้ของธนาคารโลกในปี 2022 แสดงให้เห็นว่ากว่าครึ่งของหนี้ทั้งหมดในเวลานี้มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศจีน
“โจช ลิปสกี้” เตือนให้มองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผ่านมาหมาด ๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างในเวลานี้ผูกพันเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน วิกฤตหนึ่งนำไปสู่อีกวิกฤตหนึ่งได้เสมอ เมื่อโลกเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน วิกฤตหนี้ในยูโรโซนก็เกิดขึ้นตามมา ทำนองเดียวกับเมื่อประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางเกิดปัญหาทางการเมืองและสังคมขึ้น อาหรับสปริงก็เกิดขึ้นตามมา ยิ่งนับวันการเมืองกับเศรษฐกิจ ยิ่งแยกออกจากกันไม่ออกมากขึ้นเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับในเวลานี้ ถ้าหากบรรดาประเทศในกลุ่มอีเอ็มต้องพักชำระหนี้ต่อเนื่องกันเป็นระลอก ย่อมไม่เกิดผลดีต่อใครทั้งสิ้น ไม่แม้แต่กับเจ้าหนี้อย่างจีนเองด้วยซ้ำไป
https://www.prachachat.net/world-news/news-984767