ใครมีอาการ "เดินโคลงเคลง" ควรอ่าน หลายคนเป็น แต่ทางวงการแพทย์ไม่มีบทสรุปของโรคอย่างเป็นทางการ

สวัสดีครับสมาชิกพันทิปทุกท่าน วันนี้ผมขอแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ “อาการเดินโคลงเคลง” ที่ผมเป็นมายาวนานเกือบ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2019 (ตอนนั้นอายุ 32 ครับ) อยากให้คนที่มีอาการคล้ายผมได้อ่านบทความนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ทางการแพทย์ไม่มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ และสาเหตุที่ทำให้เป็นนั้นก็ซับซ้อนพอสมควร

ตอนแรกที่อาการนี้เข้ามาในชีวิตผมนั้น เป็นแบบไม่ทันตั้งตัวเลยครับ ผมหวาดผวามากเนื่องจากเวลาเดินจะรู้สึกถึงความผิดปกติของพื้นที่เท้าเราสัมผัส และอาการมักจะกำเริบเป็นระยะๆ ไม่ได้เป็นตลอดเวลา บางครั้งเป็นเกือบทั้งวัน บางวันก็ขึ้นมา 2-3 ชม. และหายไป แต่บางวันแทบจะไม่มีอาการ อาการนี้จะเป็นเฉพาะเวลาเดินหรือยืน เวลานั่งหรือนอนจะไม่เป็น คนอื่นจะเห็นว่าเราเดินได้ปกติทุกอย่าง ไม่มีอาการเดินเซ แกว่ง หรือ เป๋ แต่อย่างใด เลยหาจุดจับได้ยาก ช่วงสามเดือนแรกที่ผมเป็นอาการจะรุนแรงมากโดยมีอาการแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้:

1. เวลาเดินแล้วรู้สึกพื้นยวบยาบไม่สม่ำเสมอ เหมือนอยู่บน trampoline
2. เวลาเดินหรือยืนอยู่เฉยๆจะรู้สึกพื้นทรุดเป็นเมตร เหมือนกับแผ่นดินดูดเราลงไป และบางครั้งก็ดันเรากลับขึ้นมาอย่างแรง (อาการนี้น่ากลัวมาก ถ้าเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายๆก้าวจะรู้สึก ขึ้นๆลงๆ เหมือนเดินอยู่บนภูเขาสลับกับหุบเหว)
3. เวลาก้าวเท้า จะรู้สึกหวิวๆ เหมือนเดินอยู่บนก้อนเมฆ (อันนี้เบาหน่อย หลังจากสามเดือนแรกอาการก็หายไป)
4. เวลายืนอยู่นิ่งๆจะรู้สึกเหมือนตัวลอย หรือพื้นกระดกขึ้นกระดกลง (อันนี้น่ารำคาญมาก แต่ก็เหมือนกันคือ หลังจากสามเดือนแรกอาการก็หายไป)

ตอนนั้น สุขภาพจิตของผมย่ำแย่มากครับ เนื่องจากเป็นคนขี้วิตกกังวลอยู่แล้ว พอมีสิ่งน่ากลัวแบบนี้เข้ามาในชีวิต ก็ยิ่งทำให้แทบจะเสียสติเลย คืองงมากว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเราเพราะปกติจะเป็นคนแข็งแรง ออกกำลังกายประจำ หลังจากสามเดือนแรกผ่านไป อาการทั้งสี่อย่างที่กล่าวข้างต้น ก็ทุเลาลง ไม่หายได้ไป แต่กลายสภาพในลักษณะที่เบาลง ซึ่งยังคงรบกวนจิตใจเป็นอย่างมาก โดยในระยะเวลา 2-3 ปีที่เหลือ จะมีความรู้สึกว่า:

1. เดินแล้วรู้สึกพื้นเป็นคลื่นเหมือนอยู่บนเรือที่กำลังแล่นอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร
2. เดินแล้วสัมผัสได้ถึงความต่างระดับของพื้น (บางก้าวจะรู้สึกว่าพื้นแข็งผิดปกติเหมือนเหยียบอยู่บนก้อนหินและบางครั้งรู้สึกเหมือนว่าพื้นนุ่มมากเหมือนเหยียบอยู่บนปุยนุ่น)

มีข้อสังเกตุอะไรบ้าง?

ผมใช้เวลาเกือบหนึ่งปีเต็มๆเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงว่าอาการแบบนี้เป็นโรคอะไรกันแน่ เคยทำ MRI ของสมอง ผลออกมาปกติ ทำให้หมอสมองไม่สามารถ detect ได้ว่าเป็นอะไร ผมเลยตั้งข้อสังเกตต่างๆเกี่ยวกับอาการนี้

1. อาการมักจะกำเริบอย่างรุนแรงตอนเย็นๆช่วงเวลาใกล้เลิกงาน และช่วงดึกเวลาใกล้นอน ตอนเช้าแทบจะไม่เป็น
2. อาการมักจะกำเริบเวลานั่งทำคอมนานๆ (เวลาไปเที่ยวแทบจะไม่มีอาการเลย)
3. หากทำท่าเกี่ยวกับการทรงตัว เช่น ยืนกระต่ายขาเดียว เดินต่อเท้า ฯลฯ จะยิ่งกระตุ้นให้อาการออกมา
4. วันไหนที่อดหลับอดนอนมากๆ เช่น นอนแค่ 2-3 ชม. หรือ วันไหนที่กินยานอนหลับ (แล้วต้องบังคับให้ตัวเองตื่นก่อนเวลา) จะทำให้มีอาการแทบจะทั้งวัน
5. เวลาเดินออกจากลิฟท์จะรู้สึกโคลงเคลง
6. รู้สึกเหมือนชีพจรเต้นอย่างรุนแรงแถวใบหูข้างขวาในบางครั้ง…

ตกลงได้พบสาเหตุที่แท้จริงหรือเปล่า?

ตั้งแต่เป็นโรคนี้ผมหาหมอมาเยอะมาก (ประมาณ 18 คน ทั้งหมอด้านสมอง หมอ ENT หมอกายภาพ รวมทั้งจิตแพทย์ด้วย) หมอแต่ละท่านวิเคราะห์แตกต่างกันไป เช่น เป็นอาการหนึ่งของ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคแพนิค กล้ามเนื้อคอหดเกร็งทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ดี ความดันต่ำ ฯลฯ ลองรักษาด้วยการฝังเข็มแผนโบราณด้วยแต่ก็ยังไม่หาย

โชคดีที่ผมไม่หยุดความพยายามเลยได้เจอกับคุณหมอท่านหนึ่งใน ร.พ. วิชัยยุทธ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและการทรงตัว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2020 (ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อท่านในกระทู้นี้ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนะครับ แต่ถ้าใครคิดว่ามีความทุกข์ทรมานในอาการแบบเดียวกับผม และอยากไปรักษากับท่านก็สามารถติดต่อผมหลังไมค์ได้ครับ)

ท่านเป็นคุณหมอ คนที่ 17 ที่ผมหาสำหรับโรคนี้และวินิจฉัยว่าผมเป็น “Otolith Syndrome” หรือ Otolith Dysfunction ซึ่งเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะการทรงตัวของหูชั้นในที่เรียกว่า Otolith (โอโทลิท) ที่ทำหน้าที่รับรู้ตำแหน่งของร่างกายเรากับแรงโน้มท่วงของโลก ภายใน Otolith ประกอบด้วยอวัยวะอีกสองชนิดคือ Utricle (ยูตริเคิล) ที่รับรู้การเคลื่อนไหวในแนวราบ และตัว Saccule (แซคคูล) ที่รับรู้การเคลื่อนไหวในแนวดิ่ง Otolith ในหูชั้นในข้างขวาของผมมีความผิดปกติ เลยทำให้ระบบการทรงตัวทำงานผิดเพี้ยน

ปัจจัยที่ทำให้ Otolith ทำงานผิดปกติจึงเกิดอาการเดินโคลงเคลงมาจากหลายสาเหตุครับ เช่น มีเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายระบบหูชั้นใน ศรีษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง (Severe Head Trauma) หรือการทานยาที่เป็นพิษต่อหูชั้น (Ototoxic Drugs) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็น Antibiotic บางประเภท เช่น Gentamycin และ Streptomycin

ด้วยความที่ MRI ของผมผลออกมาปกติ หมอสมองหลายท่านจึงไม่เข้าใจอาการนี้ และเป็นโรคที่หมอหูทั่วไปไม่รู้จักเนื่องจากหมอหูส่วนใหญ่จะรักษาโรคทางพยาธิสภาพของหูมากกว่า เช่น หูชั้นกลางอักเสบ หูดับ หูน้ำหนวก

วิธีรักษาทำยังไง?

เนื่องจากเป็นโรคหูชั้นใน คุณหมอ ร.พ. วิชัยยุทธ ท่านเลยส่งต่อให้ทำกายภาพฟื้นฟูหูชั้นใน (Vestibular Rehabilitation) กับนักกายภาพหู (Vestibular Therapist) คนหนึ่งที่เข้า ร.พ. เดือนละครั้ง ที่แนะนำให้ผมทำ rehab ในระยะเวลา 6-12 เดือนเพื่อให้อาการเดินโคลงเคลงนิ่งสนิท ท่ากายภาพต่างๆ สามารถ ฝึกเองได้ครับตามข้อมูลในเว็บไซต์ แต่ควรไปเจอนักกายภาพ เพื่อแนะนำวิธีทำกายภาพที่ถูกต้องจริงๆ

ผมทำ Vestibular Rehab ตั้งแต่ 10 ก.ย. 2020 จนถึงสิ้นปี 2021 โดยทำวันละ 10-15 นาที หรือบางวันขยันหน่อยก็ทำ 20-30 นาที อาการดีขึ้นประมาณ 80-90% ครับ แต่ยังไม่หายสนิทและนานๆทีก็จะมีวันที่อาการกำเริบเยอะหน่อย เลยทำให้ผมเอะใจว่านี่ก็เกินระยะเวลา 12 เดือนที่นักกายภาพบอกไว้ แสดงว่าต้องมีโรคอื่นแทรกซ้อนหรือเปล่า? ผมรู้สึกเครียดมากเลยกลับไปหาคุณหมอ ร.พ. วิชัยยุทธ ท่านจึงจ่ายยา Fluoxetine ขนาด 20 mg ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2022 ปรากฏว่าอาการดีขึ้นมาเรื่อยๆจนตอนนี้เกือบหายขาดครับ หลังจากทาน Fluoxetine 20 mg มาสามเดือนแล้วดีขึ้น ตอนนี้ก็ลดยาเหลือ 10 mg แทน ซึ่งปัจจุบันผมก็ยังทาน dose นี้อยู่ คุณหมอบอกว่าปริมาณยาที่ทานน้อยมากเทียบกับผู้ป่วยอื่น

Fluoxetine (Prozac) เป็นยากระกูล SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitor) เป็นกลุ่มยาต้านโรคซึมเศร้าและโรคแพนิค โดยมีกลไกปรับความสมดุลของสารเคมีในสมองและสารสื่อประสาท คนที่มีอาการซึมเศร้ามักจะขาดสาร Serotonin หรือสารเคมีแห่งความสุข จึงทำให้มีอารมณ์แปรปรวน ยากลุ่ม SSRI ส่วนใหญ่จะต้องทานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีๆ ตอนแรกผมไม่ยอมทานยากลุ่ม SSRI เด็ดขาดเพราะผลข้างเคียงเยอะและผมเองก็ไม่เชื่อว่าตัวเองเป็นโรคทางจิตเวช เคยทาน Sertraline (Zoloft) กับ Escitalopram (Lexapro) มาแล้วก็ต้องหยุดทานภายในสองอาทิตย์เนื่องจากทนผลข้างเคียงไม่ไหว แต่ร่างกายผมเหมาะกับ Fluoxetine

แบบนี้แสดงว่ามีโรคทางจิตเวชแทรกซ้อนอยู่ด้วยหรือเปล่า?

คำตอบคือไม่ใช่ครับ ในกรณีของผม คุณหมอสรุปว่า Otolith ของผมนั้นเสีย function ไปแล้ว จึงต้องใช้สมองทำหน้าที่แทน เปรียบเทียบเหมือนกับระบบไฟฟ้า ถ้าระบบหลักเสียก็ต้องใช้ระบบสำรองทำหน้าที่จ่ายไฟแทน ยากลุ่ม SSRI จึงมีประโยชน์ในการรักษาโรคนี้ เนื่องจากมันมีกลไกปรับเปลี่ยนระบบวงจรของสมอง (rewiring neural pathways) สมองเราจะได้เรียนรู้ที่จะไม่รับสัญญาณการทรงตัวที่บกพร่องจากหูชั้นในที่เสียไป แต่ด้วยความที่สมองเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อน หากมีการใช้งานหนักมาทั้งวัน กลางคืนสมองจะล้า จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมอาการเดินโคลงเคลงมักจะรุนแรงตอนดึกมากกว่าตอนเช้าในช่วงที่เป็นโรคนี้ตอนแรกๆ

การกายภาพช่วยรักษาโรคนี้ได้ครับ แต่ว่าได้ผลช้าเลยต้องใช้ยากลุ่ม SSRI ช่วยให้เร็วขึ้น หลายคนจึงเข้าใจผิดว่าเป็นโรคทางจิตเวชซึ่งเกิดขึ้นจากความเครียดสะสม แท้จริงแล้วความเครียดเป็นปัจจัยกระตุ้นอาการและทำให้การรักษาช้าลง แต่ไม่ใช่สาเหตุของโรคครับ

อาการนี้หายขาดได้ไหม?

ส่วนใหญ่คนที่มีโรคเกี่ยวกับหูชั้นในต้องทำใจว่าระบบการทรงตัวของร่างกายอาจไม่สามารถฟื้นกลับสู่สภาพเดิมได้ 100% เนื่องจากหูชั้นในไม่สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์เก่าที่เสียไปได้ แต่สมองของเราจะเข้าไปทำหน้าที่แทนและในระยะยาว ผู้ป่วยก็จะรู้สึกว่ามีอาการน้อยลงมากจนเป็นที่ยอมรับได้ เพราะไม่ได้รบกวนวิถีชีวิตประจำวันมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่าความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้นครับ หลังจากกายภาพมาสม่ำเสมอและทานยา Fluoxetine ควบคู่กันมาอย่างต่อเนื่องตอนนี้อาการผมดีขึ้นมาก เรียกว่าอาการหายไปมากกว่า 99% (ทุกวันนี้แทบจะไม่มีอาการ แต่ก็ยังทำกายภาพอยู่เล็กน้อยครับ ไม่ได้หักโหมเหมือนเมื่อก่อน และเวลาฝึกท่าทรงตัวต่างๆ ก็จะไม่กระตุ้นให้เกิดอาการเดินโคลงเคลงเหมือนเมื่อก่อน) ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพร่างกายของแต่ละคน หูชั้นในได้รับความเสียหายเท่าไหร่ และการกายภาพที่เหมาะสมครับ

คุณหมอ ร.พ. วิชัยยุทธ ท่านบอกผมว่าบางคนเป็นโรคนี้ทำกายภาพไม่กี่เดือนก็หาย บางคนเป็น 2-3 ปี บางคนเป็นมา 5-10 ปี ส่วนคนที่โชคร้ายนั้นเป็นมา 20 กว่าปีหรือแทบจะชั่วชีวิตก็ยังไม่หาย แต่ผมเชื่อว่าหลายคนที่มีอาการเดินโคลงเคลงอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีความผิดปกติทางด้าน Otolith เหมือนผมและไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เลยไม่ดีขึ้นครับ ภาวะการเดินโคลงเคลงอาจเกิดด้วยสาเหตุอื่นเช่นกัน แต่ถ้าใครสงสัยว่า Otolith ของตัวเองผิดปกติเพราะได้ลองรักษาด้วยวิธีอื่นๆมาแล้วแต่ไม่พบเจออะไรก็ควรได้รับการตรวจ

จะต้องไปตรวจที่ไหน?

หากอยากไป test ตัว Otolith ก็ต้องไปทำ VEMP (Vestibular Evoked Myogenic Potential) Test กับ SVV (Subjective Visual Vertical) แต่ถ้าอยาก check ระบบประสาทการทรงตัวอย่างละเอียด คุณหมอท่านมักจะแนะนำให้ทำ test อื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น ENG/VNG, Posturography, และ vHIT ซึ่งเป็นการตรวจพยาธิสภาพการทรงตัวของหูชั้นในเชิงลึกครับ

VEMP Test จะมีเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐชั้นนำสามแห่งของประเทศไทยนั้นก็คือ ร.พ. ศิริราช, ร.พ. รามา, และ ร.พ. จุฬา เท่านั้น ทาง ร.พ. เอกชน แม้แต่ ร.พ. ใหญ่ๆ เช่น ร.พ. บำรุงราษฎร์ หรือ ร.พ. กรุงเทพ นั้นไม่มีเครื่องมือสำหรับการทำ VEMP Test ครับ เนื่องจากอุปกรณ์ค่อนข้างแพงและทาง ร.พ. คิดว่าลงทุนไม่คุ้มค่าเนื่องจากจำนวน case ของผู้ป่วยที่เดินโคลงเคลงยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ

บทสรุป:

ตอนแรกผมแนะนำไปหาหมอด้าน neurotology ซึ่งเป็นหมอที่เชี่ยวชาญแบบผสมระหว่างหูชั้นในกับสมอง (ไม่ใช่ neurology หรือหมอด้านสมองโดยตรง) รวมทั้งลองทำกายภาพก่อนซัก 6-12 เดือน โดยไม่ทานยาและสังเกตุดูว่าอาการดีขึ้นไหม หากไม่ดีขึ้นก็ลองทานยาประเภท SSRI แต่ควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดว่าควรทานตัวไหนเนื่องจากสารเคมีในร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน (ไม่ควรลองซื้อยามาทานเองอย่างเด็ดขาด)

ถ้าอาการไม่หายขาด 100% ก็ต้องลองประเมินตัวเองว่าสามารถยอมรับมันได้ขนาดไหน เช่น ถ้าวันหนึ่งเราเดินซัก 8,000 ก้าวแล้วมันขึ้นมาซัก 80 ก้าวก็ถือว่าดีพอสมควรเพราะแบบนี้แสดงว่าเหลือแค่ 1% หรือถ้าวันหนึ่งขึ้นมาแค่ 10-20 ก้าวก็ถือว่าเกือบ perfect แล้ว แต่ถ้าหากมันขึ้นมากซัก 800 ก้าวก็ถือว่ายังมีอาการเหลืออยู่ 10% ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร ก็ต้องพยายามรักษาต่อไป กาลเวลาที่ผ่านไปจะทำให้ร่างกายของเราดีขึ้นเอง และอาการที่เป็นอยู่ก็จะเบาลงเรื่อยๆจนแทบจะไม่สามารถแยกแยะได้ถึงความผิดปกติ ตรงกันข้ามกับเมื่อก่อนที่เคยรู้สึกว่าพื้นทรุดเป็นเมตรหรือเดินแล้วเป็นคลื่นอย่างแรง ดังนั้นคนอื่นที่มีอาการเหมือนผมก็ต้องหายขาดได้ครับ ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่