เมื่อจอยมีบอดี้การ์ด
ดรัสวันต์
3
วันนี้เป็นวันสำคัญสำหรับการดูงาน เพราะจะเป็นวันประชุมของผู้หญิงที่เป็นสมาชิกเงินกู้ของธนาคาร สถานที่ประชุมอยู่ไกลออกไป เราต้องนั่งรถของธนาคารไป ตอนที่เราไปถึง มีผู้หญิงมานั่งคอยอยู่แล้วกว่า 30 คน แต่งตัวด้วยส่าหรีหลากสี เป็นสีจัดๆ ที่บ่งบอกถึงชนชั้น
ถ้าเป็นคนชั้นสูงหรือมีการศึกษา จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าโทนสีสุภาพไม่ใช้สีฉูดฉาด ต่างกับชนชั้นล่างหรือผู้ใช้แรงงาน
ทั้ง 30 คน นั่งสงบเสงี่ยมเรียบร้อยโดยเฉพาะเมื่อมีแขกต่างชาติมาอยู่ในที่นั้น ส่วนสายตานั้นแสดงความกระตือรือร้นใคร่รู้จักเรา
พิธีการเริ่มด้วยการที่สมาชิกทุกคนยืนตรงแสดงความเคารพแล้วท่องบัญญัติ 16 ประการของสมาชิกกรามีนแบงก์ แล้วเจ้าหน้าที่ธนาคารก็เริ่มขานชื่อ แต่ละคนเดินออกมาพร้อมสมุดบัญชีและยื่นเงินเพื่อชำระเงินกู้
และจอยก็ได้มีโอกาสเห็นคนที่มีปัญหาเงินไม่พอ เพื่อนๆ ในกลุ่มอีก 4 คน จึงต้องช่วยกันเรี่ยไรออกให้ ธนบัตรเก่าๆ ยับๆ ที่ค่อยๆ ถูกดึงออกมาจากถุงผ้าที่เหน็บไว้ที่เอว ถูกหยิบยื่นออกมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อน
ยอมรับว่าประทับใจในวินัยของพวกเขาจริงๆ
นึกถึงตอนที่ดร.ยูนุสพูดกับจอย
‘คุณทำงานกับคนที่ยากจนที่สุดหรือเปล่า’
จอยเริ่มเข้าใจแล้ว
คนที่ยากจนที่สุด เป็นคนที่ไม่มีทางเลือก นี่คือโอกาสที่จะทำให้เขามีข้าวกินเพราะฉะนั้นถึงเขาจะต้องออกเงินแทนเพื่อนไปก่อน หรือได้รับเงินกู้ทีหลังเพื่อน เขาก็ต้องยอมตามกติกา
วันนั้นเราใช้เวลาดูงานค่อนข้างนาน ฮุสเซนช่วยเป็นล่ามแปลจนคอแห้ง
เราใช้เวลาช่วงบ่าย สรุปบทเรียน วิเคราะห์ประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้ในวันนี้ ซึ่งฮุสเซนก็ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี เขามีคำอธิบายที่ดีในทุกคำถามของเรา
จอยเริ่มมองเห็นอะไรหลายๆ อย่างในตัวผู้ชายคนนี้ เขาไม่ใช่แค่ไกด์ ล่ามหรือคนดูแล แต่ยังมีความรู้ความสามารถในงานของกรามีน แบงก์ ภาษาอังกฤษของเขาดีมาก เป็นคนฉลาด กิริยามารยาทดีอย่างคนที่ได้รับการอบรมมาระดับหนึ่งและยังเป็นคนที่เอาใจใส่กับสิ่งเล็กน้อยที่หาไม่ได้ในผู้ชายหลายคน
ที่เขามีคุณสมบัติเหล่านี้คงเป็นเพราะผู้ชายบังคลาเทศต้องทำทุกอย่างให้ผู้หญิง หรือทำแทนผู้หญิงในภารกิจนอกบ้านที่ผู้หญิงออกมาทำไม่ได้ หรือแม้แต่ซื้อของใช้ส่วนตัวของผู้หญิงอย่างผ้าอนามัย
การสรุปงานในวันนี้ทำให้จอยมีกำลังใจและคิดว่าการเดินทางดูงานนี้กำลังจะสิ้นสุดลง ระหว่างทางกลับที่พัก จอยนั่งนับวัน วันนี้วันพุธ แล้วนี่
“วันศุกร์นี้เราจะได้กลับแล้วใช่ไหม”
ฮุสเซนนิ่งไปสักครู่ ใบหน้าขรึมลงเมื่อบอกเราว่า
“เหตุการณ์ที่ธากายังไม่สงบ ทางสำนักงานใหญ่ขอให้อยู่ต่อ”
“อยู่ต่อ ! ” จอยกับมาดามชเรสธาอุทานออกมาพร้อมกัน
เขารู้มาก่อน แต่ไม่บอกเรา
“แล้วจะต้องอยู่ต่ออีกกี่วัน” คุณป้าของจอยซักต่อ “ฉันมีงานสำคัญรออยู่ที่บ้านเหมือนกัน” แล้วหันมาอธิบายกับจอยว่า “มีนัดประชุมกับภริยานายกรัฐมนตรี เลื่อนไม่ได้ซะด้วย ขืนผิดนัด ฉันเสียคนกันพอดี”
คนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศก็มีภาระไปอีกแบบ ส่วนเด็กอย่างจอย โอย คิดถึงบ้าน อยากร้องไห้ นี่ฉันจะต้องมาตกระกำลำบากอยู่ที่นี่ไปอีกนานเท่าไหร่ จะได้กลับไปเห็นหน้าพ่อแม่หรือเปล่าก็ไม่รู้ คิดไปคิดมาก็อดจินตนาการไปในทางร้ายไม่ได้ว่าหากกลับประเทศไม่ได้ จอยจะทำอย่างไร
เราเดินลงจากรถเข้าที่พักด้วยอาการเซื่องซึม
“พรุ่งนี้ อยากทานอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า ขนมของคุณหมดหรือยัง ผมจะไปซื้อมาให้” ฮุสเซนพยายามเอาอกเอาใจ
นี่ก็อีกปัญหาหนึ่ง จะต้องอยู่ต่อก็ต้องทนกินอาหารน่าเบื่อต่อไปอีก อย่างน้อยจอยควรพยายามทำอะไรเพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ได้ จอยคิดว่าที่นี่ต้องมีอาหารอย่างอื่นที่จอยอยากทานแต่เขาไม่รู้มากกว่า
“ที่นี่มีโรตีไหม ที่เป็นแป้งทอดกับน้ำมันแบบนิ่มๆ ไม่ได้ทอดกรอบ ไม่ได้อบในโอ่งเหมือน นาน หรือจปาตี้ น่ะ” จอยพยายามอธิบาย มีคนเคยบอกว่าแขกขายโรตีในเมืองไทยเป็นแขกมาจากบังคลาเทศไม่ใช่แขกอินเดีย
เขาพยักหน้ารับ
“ดีล่ะ ฉันอยากทานโรตีตอนเช้าและช่วยซื้อนมข้นหวานมาให้ด้วยนะ ขอบคุณมาก”
จอยสั่งแล้วเดินเข้าห้อง ทิ้งตัวลงบนเตียงอย่างเหนื่อยหน่าย คุณป้าของจอยท่าทางอารมณ์ไม่ดีนัก เรานั่งปรับทุกข์กันหลายเรื่องและเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง
เราเริ่มทำความรู้จักกันมากขึ้น ท่านเล่าให้ฟังว่ามีลูกชาย 2 คน อุตส่าห์ปลูกบ้านหลังใหญ่ขนาด 10 ห้องนอน แต่ไม่มีลูกอยู่ด้วยสักคน ไปเรียนต่อที่อังกฤษและอเมริกาแล้วมีครอบครัวตั้งรกรากอยู่ที่โน่น นานๆ จะมากลับเยี่ยมบ้าน
แล้วมาดามก็ชวนจอยไปเที่ยวเนปาล ให้ขนเพื่อนไปเยอะๆ เลย จะเปิดบ้านรับรองอย่างดีเพราะทุกวันนี้อยู่กันสองคนตายายกับคนรับใช้ สุดแสนจะเหงา
จอยเองก็ชวนเธอมาเที่ยวเมืองไทยเหมือนกัน
เป็นความแช่มชื่นกับมิตรภาพที่ดีที่ก่อตัวขึ้น
กระนั้น ความทุกข์กังวลกับการจะต้องอยู่ที่นี่ต่อไปโดยไม่รู้กำหนดกลับ ก็ทำให้จอยนอนน้ำตาซึม ทั้งคิดถึงบ้าน อีกทั้งหนาวเหน็บกาย
ที่โต๊ะอาหารในตอนเช้า จอยมองโรตีร้อนๆ ที่จัดมาในจานและนมข้นหวานในถ้วยด้วยความพึงพอใจ
ฮุสเซน นั่งมองจอยหยิบโรตีแผ่นกลมรีมาวางในจาน ราดนมข้นพร้อมกับโรยน้ำตาลทราย เป็นอะไรที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน จนต้องออกปากว่า
“You eat like a baby”
การทานโรตีกับนมข้นกลายเป็นอาหารเด็กในสายตาเขาไปซะแล้วเพราะปกติคนที่นี่จะรับประทานโรตีกับอาหารคาวและนมก็เป็นอาหารเด็ก
จอยก็เลยหัวเราะออกมาและอธิบายว่า
“คนไทย เขากินโรตีเป็นของหวาน”
การทำให้จอยยิ้มและเอร็ดอร่อยกับอาหารเช้ามื้อนี้ได้ เป็นความพึงใจของเขาแล้ว ดูท่าทางเขามีกำลังใจขึ้นมาก
“วันนี้ไม่มีดูงาน แต่มีงานแข่งกีฬาสีของพนักงานธนาคารและครอบครัว อยากจะเชิญคุณไปร่วมเป็นเกียรติในงาน”
งานแข่งกีฬาสีหรือ มิน่าเล่า เพิ่งสังเกตว่าวันนี้เขาแต่งชุดที่ดูลำลองเป็นเสื้อยืดโปโลสีขาวมีลายเส้นขวางสีน้ำตาล เพราะทุกวันเขาจะใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวกางเกงขายาวรีดเรียบกริบ หากอากาศหนาวเขาจะสวมสเวตเตอร์ทับ
จอยก้มลงมองดูชุดที่ใส่ เมื่อนึกถึงคำว่า ‘ไปเป็นเกียรติในงาน’
“จะต้องแต่งตัวอย่างไร”
“ถ้าคุณใส่ชุดประจำชาติ ก็จะดีมาก”
เวลาจอยมาต่างประเทศที่เป็นการประชุม อบรมกับนานาชาติ ก็มักจะติดเอาชุดผ้าไหมมาด้วย จอยภูมิใจกับผ้าไหมไทยของเรามาก แม้ว่าจะดูแลยากและใครจะหาว่าใส่แล้วดูแก่ก็ตาม
ผู้หญิงสองคนกลับไปเปลี่ยนชุดที่ดูเป็นทางการสักหน่อยเพื่อให้เกียรติเจ้าของงานที่เขาอุตส่าห์เชิญ
เมื่อจอยมีบอดี้การ์ด (3)
วันนี้เป็นวันสำคัญสำหรับการดูงาน เพราะจะเป็นวันประชุมของผู้หญิงที่เป็นสมาชิกเงินกู้ของธนาคาร สถานที่ประชุมอยู่ไกลออกไป เราต้องนั่งรถของธนาคารไป ตอนที่เราไปถึง มีผู้หญิงมานั่งคอยอยู่แล้วกว่า 30 คน แต่งตัวด้วยส่าหรีหลากสี เป็นสีจัดๆ ที่บ่งบอกถึงชนชั้น
ถ้าเป็นคนชั้นสูงหรือมีการศึกษา จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าโทนสีสุภาพไม่ใช้สีฉูดฉาด ต่างกับชนชั้นล่างหรือผู้ใช้แรงงาน
ทั้ง 30 คน นั่งสงบเสงี่ยมเรียบร้อยโดยเฉพาะเมื่อมีแขกต่างชาติมาอยู่ในที่นั้น ส่วนสายตานั้นแสดงความกระตือรือร้นใคร่รู้จักเรา
พิธีการเริ่มด้วยการที่สมาชิกทุกคนยืนตรงแสดงความเคารพแล้วท่องบัญญัติ 16 ประการของสมาชิกกรามีนแบงก์ แล้วเจ้าหน้าที่ธนาคารก็เริ่มขานชื่อ แต่ละคนเดินออกมาพร้อมสมุดบัญชีและยื่นเงินเพื่อชำระเงินกู้
และจอยก็ได้มีโอกาสเห็นคนที่มีปัญหาเงินไม่พอ เพื่อนๆ ในกลุ่มอีก 4 คน จึงต้องช่วยกันเรี่ยไรออกให้ ธนบัตรเก่าๆ ยับๆ ที่ค่อยๆ ถูกดึงออกมาจากถุงผ้าที่เหน็บไว้ที่เอว ถูกหยิบยื่นออกมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อน
ยอมรับว่าประทับใจในวินัยของพวกเขาจริงๆ
นึกถึงตอนที่ดร.ยูนุสพูดกับจอย ‘คุณทำงานกับคนที่ยากจนที่สุดหรือเปล่า’
จอยเริ่มเข้าใจแล้ว คนที่ยากจนที่สุด เป็นคนที่ไม่มีทางเลือก นี่คือโอกาสที่จะทำให้เขามีข้าวกินเพราะฉะนั้นถึงเขาจะต้องออกเงินแทนเพื่อนไปก่อน หรือได้รับเงินกู้ทีหลังเพื่อน เขาก็ต้องยอมตามกติกา
วันนั้นเราใช้เวลาดูงานค่อนข้างนาน ฮุสเซนช่วยเป็นล่ามแปลจนคอแห้ง
เราใช้เวลาช่วงบ่าย สรุปบทเรียน วิเคราะห์ประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้ในวันนี้ ซึ่งฮุสเซนก็ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี เขามีคำอธิบายที่ดีในทุกคำถามของเรา
จอยเริ่มมองเห็นอะไรหลายๆ อย่างในตัวผู้ชายคนนี้ เขาไม่ใช่แค่ไกด์ ล่ามหรือคนดูแล แต่ยังมีความรู้ความสามารถในงานของกรามีน แบงก์ ภาษาอังกฤษของเขาดีมาก เป็นคนฉลาด กิริยามารยาทดีอย่างคนที่ได้รับการอบรมมาระดับหนึ่งและยังเป็นคนที่เอาใจใส่กับสิ่งเล็กน้อยที่หาไม่ได้ในผู้ชายหลายคน
ที่เขามีคุณสมบัติเหล่านี้คงเป็นเพราะผู้ชายบังคลาเทศต้องทำทุกอย่างให้ผู้หญิง หรือทำแทนผู้หญิงในภารกิจนอกบ้านที่ผู้หญิงออกมาทำไม่ได้ หรือแม้แต่ซื้อของใช้ส่วนตัวของผู้หญิงอย่างผ้าอนามัย
การสรุปงานในวันนี้ทำให้จอยมีกำลังใจและคิดว่าการเดินทางดูงานนี้กำลังจะสิ้นสุดลง ระหว่างทางกลับที่พัก จอยนั่งนับวัน วันนี้วันพุธ แล้วนี่
“วันศุกร์นี้เราจะได้กลับแล้วใช่ไหม”
ฮุสเซนนิ่งไปสักครู่ ใบหน้าขรึมลงเมื่อบอกเราว่า
“เหตุการณ์ที่ธากายังไม่สงบ ทางสำนักงานใหญ่ขอให้อยู่ต่อ”
“อยู่ต่อ ! ” จอยกับมาดามชเรสธาอุทานออกมาพร้อมกัน
เขารู้มาก่อน แต่ไม่บอกเรา
“แล้วจะต้องอยู่ต่ออีกกี่วัน” คุณป้าของจอยซักต่อ “ฉันมีงานสำคัญรออยู่ที่บ้านเหมือนกัน” แล้วหันมาอธิบายกับจอยว่า “มีนัดประชุมกับภริยานายกรัฐมนตรี เลื่อนไม่ได้ซะด้วย ขืนผิดนัด ฉันเสียคนกันพอดี”
คนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศก็มีภาระไปอีกแบบ ส่วนเด็กอย่างจอย โอย คิดถึงบ้าน อยากร้องไห้ นี่ฉันจะต้องมาตกระกำลำบากอยู่ที่นี่ไปอีกนานเท่าไหร่ จะได้กลับไปเห็นหน้าพ่อแม่หรือเปล่าก็ไม่รู้ คิดไปคิดมาก็อดจินตนาการไปในทางร้ายไม่ได้ว่าหากกลับประเทศไม่ได้ จอยจะทำอย่างไร
เราเดินลงจากรถเข้าที่พักด้วยอาการเซื่องซึม
“พรุ่งนี้ อยากทานอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า ขนมของคุณหมดหรือยัง ผมจะไปซื้อมาให้” ฮุสเซนพยายามเอาอกเอาใจ
นี่ก็อีกปัญหาหนึ่ง จะต้องอยู่ต่อก็ต้องทนกินอาหารน่าเบื่อต่อไปอีก อย่างน้อยจอยควรพยายามทำอะไรเพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ได้ จอยคิดว่าที่นี่ต้องมีอาหารอย่างอื่นที่จอยอยากทานแต่เขาไม่รู้มากกว่า
“ที่นี่มีโรตีไหม ที่เป็นแป้งทอดกับน้ำมันแบบนิ่มๆ ไม่ได้ทอดกรอบ ไม่ได้อบในโอ่งเหมือน นาน หรือจปาตี้ น่ะ” จอยพยายามอธิบาย มีคนเคยบอกว่าแขกขายโรตีในเมืองไทยเป็นแขกมาจากบังคลาเทศไม่ใช่แขกอินเดีย
เขาพยักหน้ารับ
“ดีล่ะ ฉันอยากทานโรตีตอนเช้าและช่วยซื้อนมข้นหวานมาให้ด้วยนะ ขอบคุณมาก”
จอยสั่งแล้วเดินเข้าห้อง ทิ้งตัวลงบนเตียงอย่างเหนื่อยหน่าย คุณป้าของจอยท่าทางอารมณ์ไม่ดีนัก เรานั่งปรับทุกข์กันหลายเรื่องและเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง
เราเริ่มทำความรู้จักกันมากขึ้น ท่านเล่าให้ฟังว่ามีลูกชาย 2 คน อุตส่าห์ปลูกบ้านหลังใหญ่ขนาด 10 ห้องนอน แต่ไม่มีลูกอยู่ด้วยสักคน ไปเรียนต่อที่อังกฤษและอเมริกาแล้วมีครอบครัวตั้งรกรากอยู่ที่โน่น นานๆ จะมากลับเยี่ยมบ้าน
แล้วมาดามก็ชวนจอยไปเที่ยวเนปาล ให้ขนเพื่อนไปเยอะๆ เลย จะเปิดบ้านรับรองอย่างดีเพราะทุกวันนี้อยู่กันสองคนตายายกับคนรับใช้ สุดแสนจะเหงา
จอยเองก็ชวนเธอมาเที่ยวเมืองไทยเหมือนกัน
เป็นความแช่มชื่นกับมิตรภาพที่ดีที่ก่อตัวขึ้น
กระนั้น ความทุกข์กังวลกับการจะต้องอยู่ที่นี่ต่อไปโดยไม่รู้กำหนดกลับ ก็ทำให้จอยนอนน้ำตาซึม ทั้งคิดถึงบ้าน อีกทั้งหนาวเหน็บกาย
ที่โต๊ะอาหารในตอนเช้า จอยมองโรตีร้อนๆ ที่จัดมาในจานและนมข้นหวานในถ้วยด้วยความพึงพอใจ
ฮุสเซน นั่งมองจอยหยิบโรตีแผ่นกลมรีมาวางในจาน ราดนมข้นพร้อมกับโรยน้ำตาลทราย เป็นอะไรที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน จนต้องออกปากว่า
“You eat like a baby”
การทานโรตีกับนมข้นกลายเป็นอาหารเด็กในสายตาเขาไปซะแล้วเพราะปกติคนที่นี่จะรับประทานโรตีกับอาหารคาวและนมก็เป็นอาหารเด็ก
จอยก็เลยหัวเราะออกมาและอธิบายว่า
“คนไทย เขากินโรตีเป็นของหวาน”
การทำให้จอยยิ้มและเอร็ดอร่อยกับอาหารเช้ามื้อนี้ได้ เป็นความพึงใจของเขาแล้ว ดูท่าทางเขามีกำลังใจขึ้นมาก
“วันนี้ไม่มีดูงาน แต่มีงานแข่งกีฬาสีของพนักงานธนาคารและครอบครัว อยากจะเชิญคุณไปร่วมเป็นเกียรติในงาน”
งานแข่งกีฬาสีหรือ มิน่าเล่า เพิ่งสังเกตว่าวันนี้เขาแต่งชุดที่ดูลำลองเป็นเสื้อยืดโปโลสีขาวมีลายเส้นขวางสีน้ำตาล เพราะทุกวันเขาจะใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวกางเกงขายาวรีดเรียบกริบ หากอากาศหนาวเขาจะสวมสเวตเตอร์ทับ
จอยก้มลงมองดูชุดที่ใส่ เมื่อนึกถึงคำว่า ‘ไปเป็นเกียรติในงาน’
“จะต้องแต่งตัวอย่างไร”
“ถ้าคุณใส่ชุดประจำชาติ ก็จะดีมาก”
เวลาจอยมาต่างประเทศที่เป็นการประชุม อบรมกับนานาชาติ ก็มักจะติดเอาชุดผ้าไหมมาด้วย จอยภูมิใจกับผ้าไหมไทยของเรามาก แม้ว่าจะดูแลยากและใครจะหาว่าใส่แล้วดูแก่ก็ตาม
ผู้หญิงสองคนกลับไปเปลี่ยนชุดที่ดูเป็นทางการสักหน่อยเพื่อให้เกียรติเจ้าของงานที่เขาอุตส่าห์เชิญ