วันที่ 4 ก.ค. ของทุกปีถือเป็นวันอิสรภาพ (Independence Day) ซึ่งถือเป็นวันชาติและวันสำคัญที่สุดสำหรับชาวอเมริกันที่รักและภูมิใจในประเทศของตน และในปี 2022 นี้ สหรัฐก็มีอายุ 246 ปีแล้ว (เทียบกับอายุกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี)
ส่วนสาเหตุที่เป็นวันที่ 4 ก.ค. นั้น ก็เพราะเป็นวันครบรอบการรับรอง (ไม่ใช่การลงนามนะครับ) คำประกาศอิสรภาพสหรัฐโดยสมาชิกสภาแห่งทวีปที่สอง (Second Continental Congress) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 13 อาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาเหนือ และเป็นเอกสารที่มีความสำคัญในแง่ของสิทธิเสรีภาพ จากประโยคอมตะอย่าง “มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน” และ “สิทธิที่จะโอนกันมิได้ ได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงความสุข”
อย่างไรก็ตาม ท่านทราบหรือไม่ว่าบริบทของคำประกาศอิสรภาพสหรัฐเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง? และความเข้าใจในปัจจุบันของเราต่อคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอาจคาดเคลื่อนไปจากบริบทในขณะนั้น เพราะฉะนั้นผมจึงได้รวบรวม 5 เรื่องควรรู้ของคำประกาศอิสรภาพสหรัฐมาให้ท่านติดตาม ณ ที่นี้กันครับ
1. คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอาจมาจากความไม่พอใจเรื่องภาษี มากกว่าเรื่องอุดมการณ์
นักประวัติศาสตร์บางส่วนมองว่าการปฏิวัติอเมริกาอาจเป็น “การเรียกร้องเรื่องภาษี” ที่สวมชุด “อุดมการณ์รักชาติ”
ในช่วงนั้นอังกฤษเป็นหนี้หลังทำสงครามเจ็ดปี (1756-1763) กับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ สเกลน้องๆ สงครามโลกเลยทีเดียว อังกฤษอ้างเหตุผลว่าชาวอาณานิคมอเมริกาควรจ่ายภาษีเพิ่มเพราะประเทศแม่ส่งทหารมาช่วยขับไล่ทหารฝรั่งเศสในอเมริกาเหนือออกไป (ซึ่งก็มีส่วนจริง) อย่างไรก็ตามชาวอาณานิคมเกิดไม่พอใจขึ้น เพราะพวกตนไม่มีผู้แทนในรัฐสภาอังกฤษ ดังนั้นการขึ้นภาษีดังกล่าวจึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากพวกตน สิ่งนี้ทำให้เกิดสโลแกน “ไม่จ่ายภาษีหากไม่มีผู้แทน” ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ชาวอาณานิคมอเมริกาในช่วงแรกยังต้องการให้ตัวเองปกครองกันเองโดยไม่ได้ต้องการแยกเป็นประเทศใหม่ กลับเป็นการเรียกร้องเอกราชนั่นแหละที่เป็นแนวคิดหัวรุนแรง จนเมื่อปฏิกิริยาตอบโต้จากทางการอังกฤษรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลา 10 กว่าปี จึงทำให้สาธารณชนค่อยๆ เปลี่ยนความคิดเป็นการเรียกร้องเอกราชในที่สุด
2. คำประกาศอิสรภาพสหรัฐ (ดั้งเดิม) ไม่ได้กล่าวถึงสิทธิของปัจเจกบุคคล
แจ็ก ราคอฟ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่า ที่โทมัส เจฟเฟอร์สันพูดถึง “มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน” นั้น เขากำลังหมายถึงสิทธิของประชาชนอเมริกันในการปกครองตนเองเยี่ยงประชาชาติอื่นๆ ไม่ได้พูดถึงสิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งเมื่อเรามองในแง่นี้ จึงเข้าใจได้ว่าทำไมสตรีหรือคนผิวดำจึงมีสิทธิน้อยกว่าคนผิวขาวเป็นเวลาหลายร้อยปีนะครับ
ส่วนการตีความว่าการที่มนุษย์ถูกสร้างมาเท่าเทียม หมายถึงปัจเจกบุคคลเท่าเทียมกันนั้นเป็นผลจากการเรียกร้องของขบวนการสิทธิคนผิวดำและสิทธิสตรีในสมัยหลัง
3. คำประกาศอิสรภาพสหรัฐเป็นเอกสารที่หวังผลทางการเมือง
ก่อนหน้าคำประกาศอิสรภาพสหรัฐ ชาว 13 อาณานิคมที่ต่อต้านอังกฤษในปี 1775 ย่อมมีสถานะเป็น “กบฏ” ผู้แทนของ 13 อาณานิคมจึงหวังว่าเอกสารฉบับนี้จะทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นมาและจะสามารถหาพันธมิตรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาหวังยืมมือฝรั่งเศสที่ต่อต้านอังกฤษอย่างแข็งขันมาช่วย เพราะในช่วงเวลานั้นชาวอาณานิคมอเมริกายังแทบไม่เห็นหนทางชนะเลย
ในประโยคสุดท้ายของคำประกาศฯ แปลเป็นภาษาไทยทำนองว่า “เพื่อสนับสนุนคำประกาศนี้ด้วยความหนักแน่นมั่นคงสูงสุดภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้า พวกเราจึงให้คำปฏิญาณร่วมกันด้วยชีวิตของเรา อนาคตของพวกเรา และเกียรติยศสูงสุดของพวกเรา” ซึ่ง “ความคุ้มครองของพระเจ้า” จะหมายถึงใคร? ถ้าไม่ได้หมายถึงกษัตริย์ฝรั่งเศสกับสเปนที่เป็นปรปักษ์กับอังกฤษอยู่ในเวลานั้น!
อย่างไรก็ดี กว่าที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะตอบรับเป็นพันธมิตรกับสหรัฐก็ผ่านไป 18 เดือนแล้ว และกว่าทหารฝรั่งเศสจะเข้าร่วมสงครามประกาศอิสรภาพก็ปาเข้าไปเดือนมิถุนายน 1778 ...เรียกได้ว่าเกือบสายไปเหมือนกัน
4. คำประกาศอิสรภาพสหรัฐไม่ได้ประณามพระเจ้าจอร์จที่ 3 หรือระบอบกษัตริย์
เราอาจเคยได้ยินมาว่าชาวอาณานิคมอังกฤษไม่พอใจพระเจ้าจอร์จที่ 3 ถึงขั้นกล่าวหาว่าพระองค์เป็น “ทรราช” แต่วูดดี้ โฮลตัน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลนา ชี้ว่าในคำประกาศอิสรภาพสหรัฐนั้นพูดถึงบทกฎหมายของรัฐสภาอังกฤษที่สร้างความเดือดร้อน หรืออย่างที่กองทัพอังกฤษเข้าปราบปรามชาวอาณานิคมนั้น ก็ไม่ใช่มาจากคำสั่งโดยตรงของกษัตริย์ แต่เป็นคำสั่งของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นการเลือกกล่าวถึงพระเจ้าจอร์จที่ 3 จึงน่าจะเป็นการพาดพิงในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า (คล้ายกับการเรียกสหรัฐว่า “ลุงแซม”) เพราะสภาอเมริกันไม่ได้มองว่าตัวเองมีความเชื่อมโยงใดๆ กับรัฐสภาอังกฤษอยู่แล้ว
นอกจากนี้สมาชิกสภาทวีปที่สองหลายคนก็มีการชื่นชมระบอบกษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจจำกัดอย่างเปิดเผย จึงเป็นการส่งเสริมมุมมองที่ว่าบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับระบอบกษัตริย์ แต่เลือกพระเจ้าจอร์จที่ 3 มาใช้โจมตีรัฐสภาอังกฤษมากกว่า
ทั้งนี้พระเจ้าจอร์จที่ 3 ถือเป็นกษัตริย์ที่ประชาชนอังกฤษนิยมค่อนข้างมาก เพราะเคร่งศาสนาและซื่อสัตย์ต่อมเหสี และในช่วงการปฏิวัติอเมริกานั้น ประมาณกันว่าชาวอาณานิคมประมาณร้อยละ 15-20 ยังภักดีต่อพระองค์อยู่
5. ทาสผิวดำอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของคำประกาศอิสรภาพสหรัฐ
ในช่วงปี 1774-1775 มีทาสผิวดำในอเมริกาพยายามติดต่อกับอังกฤษเพื่อให้ความร่วมมือแลกกับขออิสรภาพ จนทำให้ในปี 1775 ผู้ว่าราชการอาณานิคมเวอร์จิเนียจึงประกาศปลดปล่อยทาสที่มาเข้าร่วมกองทัพด้วย
ประเด็นการพยายามปลุกระดมทาสนี้เป็นประเด็นที่ทำให้โทมัส เจฟเฟอร์สันและชาวอาณานิคมในภาคใต้ไม่พอใจอังกฤษ โดยระบุว่าพระเจ้าจอร์จที่ 3 “ปลุกเร้าการก่อการกำเริบในประเทศต่อเรา” ...ตรงนี้มีความหมายชัดเจนว่า อังกฤษเป็นผู้นำทาสจากแอฟริกามายังอเมริกา แล้วกลับปลุกระดมทาสให้มาฆ่าเจ้าของเสียเอง
::: อ้างอิง :::
- encyclopedia (ดอต) com/defense/energy-government-and-defense-magazines/revolution-and-radical-reform
- theconversation (ดอต) com/the-declaration-of-independence-wasnt-really-complaining-about-king-george-and-5-other-surprising-facts-for-july-fourth-162640
- news (ดอต) stanford (ดอต) edu/2020/07/01/meaning-declaration-independence-changed-time/
- smithsonianmag (ดอต) com/history/its-core-declaration-independence-was-plea-help-britains-enemies-180963857/
- college (ดอต)
http://columbia.edu/.../american-revolution-and.../context
*** 5 เรื่องควรรู้ของคำประกาศอิสรภาพสหรัฐ ***
ส่วนสาเหตุที่เป็นวันที่ 4 ก.ค. นั้น ก็เพราะเป็นวันครบรอบการรับรอง (ไม่ใช่การลงนามนะครับ) คำประกาศอิสรภาพสหรัฐโดยสมาชิกสภาแห่งทวีปที่สอง (Second Continental Congress) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 13 อาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาเหนือ และเป็นเอกสารที่มีความสำคัญในแง่ของสิทธิเสรีภาพ จากประโยคอมตะอย่าง “มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน” และ “สิทธิที่จะโอนกันมิได้ ได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงความสุข”
อย่างไรก็ตาม ท่านทราบหรือไม่ว่าบริบทของคำประกาศอิสรภาพสหรัฐเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง? และความเข้าใจในปัจจุบันของเราต่อคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอาจคาดเคลื่อนไปจากบริบทในขณะนั้น เพราะฉะนั้นผมจึงได้รวบรวม 5 เรื่องควรรู้ของคำประกาศอิสรภาพสหรัฐมาให้ท่านติดตาม ณ ที่นี้กันครับ
1. คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอาจมาจากความไม่พอใจเรื่องภาษี มากกว่าเรื่องอุดมการณ์
นักประวัติศาสตร์บางส่วนมองว่าการปฏิวัติอเมริกาอาจเป็น “การเรียกร้องเรื่องภาษี” ที่สวมชุด “อุดมการณ์รักชาติ”
ในช่วงนั้นอังกฤษเป็นหนี้หลังทำสงครามเจ็ดปี (1756-1763) กับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ สเกลน้องๆ สงครามโลกเลยทีเดียว อังกฤษอ้างเหตุผลว่าชาวอาณานิคมอเมริกาควรจ่ายภาษีเพิ่มเพราะประเทศแม่ส่งทหารมาช่วยขับไล่ทหารฝรั่งเศสในอเมริกาเหนือออกไป (ซึ่งก็มีส่วนจริง) อย่างไรก็ตามชาวอาณานิคมเกิดไม่พอใจขึ้น เพราะพวกตนไม่มีผู้แทนในรัฐสภาอังกฤษ ดังนั้นการขึ้นภาษีดังกล่าวจึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากพวกตน สิ่งนี้ทำให้เกิดสโลแกน “ไม่จ่ายภาษีหากไม่มีผู้แทน” ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ชาวอาณานิคมอเมริกาในช่วงแรกยังต้องการให้ตัวเองปกครองกันเองโดยไม่ได้ต้องการแยกเป็นประเทศใหม่ กลับเป็นการเรียกร้องเอกราชนั่นแหละที่เป็นแนวคิดหัวรุนแรง จนเมื่อปฏิกิริยาตอบโต้จากทางการอังกฤษรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลา 10 กว่าปี จึงทำให้สาธารณชนค่อยๆ เปลี่ยนความคิดเป็นการเรียกร้องเอกราชในที่สุด
2. คำประกาศอิสรภาพสหรัฐ (ดั้งเดิม) ไม่ได้กล่าวถึงสิทธิของปัจเจกบุคคล
แจ็ก ราคอฟ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่า ที่โทมัส เจฟเฟอร์สันพูดถึง “มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน” นั้น เขากำลังหมายถึงสิทธิของประชาชนอเมริกันในการปกครองตนเองเยี่ยงประชาชาติอื่นๆ ไม่ได้พูดถึงสิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งเมื่อเรามองในแง่นี้ จึงเข้าใจได้ว่าทำไมสตรีหรือคนผิวดำจึงมีสิทธิน้อยกว่าคนผิวขาวเป็นเวลาหลายร้อยปีนะครับ
ส่วนการตีความว่าการที่มนุษย์ถูกสร้างมาเท่าเทียม หมายถึงปัจเจกบุคคลเท่าเทียมกันนั้นเป็นผลจากการเรียกร้องของขบวนการสิทธิคนผิวดำและสิทธิสตรีในสมัยหลัง
3. คำประกาศอิสรภาพสหรัฐเป็นเอกสารที่หวังผลทางการเมือง
ก่อนหน้าคำประกาศอิสรภาพสหรัฐ ชาว 13 อาณานิคมที่ต่อต้านอังกฤษในปี 1775 ย่อมมีสถานะเป็น “กบฏ” ผู้แทนของ 13 อาณานิคมจึงหวังว่าเอกสารฉบับนี้จะทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นมาและจะสามารถหาพันธมิตรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาหวังยืมมือฝรั่งเศสที่ต่อต้านอังกฤษอย่างแข็งขันมาช่วย เพราะในช่วงเวลานั้นชาวอาณานิคมอเมริกายังแทบไม่เห็นหนทางชนะเลย
ในประโยคสุดท้ายของคำประกาศฯ แปลเป็นภาษาไทยทำนองว่า “เพื่อสนับสนุนคำประกาศนี้ด้วยความหนักแน่นมั่นคงสูงสุดภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้า พวกเราจึงให้คำปฏิญาณร่วมกันด้วยชีวิตของเรา อนาคตของพวกเรา และเกียรติยศสูงสุดของพวกเรา” ซึ่ง “ความคุ้มครองของพระเจ้า” จะหมายถึงใคร? ถ้าไม่ได้หมายถึงกษัตริย์ฝรั่งเศสกับสเปนที่เป็นปรปักษ์กับอังกฤษอยู่ในเวลานั้น!
อย่างไรก็ดี กว่าที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะตอบรับเป็นพันธมิตรกับสหรัฐก็ผ่านไป 18 เดือนแล้ว และกว่าทหารฝรั่งเศสจะเข้าร่วมสงครามประกาศอิสรภาพก็ปาเข้าไปเดือนมิถุนายน 1778 ...เรียกได้ว่าเกือบสายไปเหมือนกัน
4. คำประกาศอิสรภาพสหรัฐไม่ได้ประณามพระเจ้าจอร์จที่ 3 หรือระบอบกษัตริย์
เราอาจเคยได้ยินมาว่าชาวอาณานิคมอังกฤษไม่พอใจพระเจ้าจอร์จที่ 3 ถึงขั้นกล่าวหาว่าพระองค์เป็น “ทรราช” แต่วูดดี้ โฮลตัน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลนา ชี้ว่าในคำประกาศอิสรภาพสหรัฐนั้นพูดถึงบทกฎหมายของรัฐสภาอังกฤษที่สร้างความเดือดร้อน หรืออย่างที่กองทัพอังกฤษเข้าปราบปรามชาวอาณานิคมนั้น ก็ไม่ใช่มาจากคำสั่งโดยตรงของกษัตริย์ แต่เป็นคำสั่งของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นการเลือกกล่าวถึงพระเจ้าจอร์จที่ 3 จึงน่าจะเป็นการพาดพิงในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า (คล้ายกับการเรียกสหรัฐว่า “ลุงแซม”) เพราะสภาอเมริกันไม่ได้มองว่าตัวเองมีความเชื่อมโยงใดๆ กับรัฐสภาอังกฤษอยู่แล้ว
นอกจากนี้สมาชิกสภาทวีปที่สองหลายคนก็มีการชื่นชมระบอบกษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจจำกัดอย่างเปิดเผย จึงเป็นการส่งเสริมมุมมองที่ว่าบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับระบอบกษัตริย์ แต่เลือกพระเจ้าจอร์จที่ 3 มาใช้โจมตีรัฐสภาอังกฤษมากกว่า
ทั้งนี้พระเจ้าจอร์จที่ 3 ถือเป็นกษัตริย์ที่ประชาชนอังกฤษนิยมค่อนข้างมาก เพราะเคร่งศาสนาและซื่อสัตย์ต่อมเหสี และในช่วงการปฏิวัติอเมริกานั้น ประมาณกันว่าชาวอาณานิคมประมาณร้อยละ 15-20 ยังภักดีต่อพระองค์อยู่
5. ทาสผิวดำอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของคำประกาศอิสรภาพสหรัฐ
ในช่วงปี 1774-1775 มีทาสผิวดำในอเมริกาพยายามติดต่อกับอังกฤษเพื่อให้ความร่วมมือแลกกับขออิสรภาพ จนทำให้ในปี 1775 ผู้ว่าราชการอาณานิคมเวอร์จิเนียจึงประกาศปลดปล่อยทาสที่มาเข้าร่วมกองทัพด้วย
ประเด็นการพยายามปลุกระดมทาสนี้เป็นประเด็นที่ทำให้โทมัส เจฟเฟอร์สันและชาวอาณานิคมในภาคใต้ไม่พอใจอังกฤษ โดยระบุว่าพระเจ้าจอร์จที่ 3 “ปลุกเร้าการก่อการกำเริบในประเทศต่อเรา” ...ตรงนี้มีความหมายชัดเจนว่า อังกฤษเป็นผู้นำทาสจากแอฟริกามายังอเมริกา แล้วกลับปลุกระดมทาสให้มาฆ่าเจ้าของเสียเอง
::: อ้างอิง :::
- encyclopedia (ดอต) com/defense/energy-government-and-defense-magazines/revolution-and-radical-reform
- theconversation (ดอต) com/the-declaration-of-independence-wasnt-really-complaining-about-king-george-and-5-other-surprising-facts-for-july-fourth-162640
- news (ดอต) stanford (ดอต) edu/2020/07/01/meaning-declaration-independence-changed-time/
- smithsonianmag (ดอต) com/history/its-core-declaration-independence-was-plea-help-britains-enemies-180963857/
- college (ดอต) http://columbia.edu/.../american-revolution-and.../context