*** สงครามปฏิวัติอเมริกาแบบเข้าใจง่าย ***

ประเทศอเมริกาฯ นั้นถือว่ามีประวัติศาสตร์ที่ไม่ยาวนานนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ (คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส พึ่งค้นพบทวีปอเมริกาในปี ค.ศ. 1492) อย่างไรก็ตามประเทศนี้มีอิทธิพลต่อโลกมาก โดยเฉพาะในด้านที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยกลายเป็นการปกครองกระแสหลักของโลกในปัจจุบัน

ทั้งนี้การปฏิวัติตั้งตัวเป็นสาธารณรัฐของอเมริกานั้นมีผลผลักดันให้ชาวฝรั่งเศสต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย นำสู่ “การปฏิวัติฝรั่งเศส” และการที่ชาติต่างๆ เปลี่ยนแปลงตนเองโดยลำดับ

สหรัฐอเมริกาจึงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพ แม้พื้นฐานของชาวอเมริกันจะมีความหลากหลาย แต่ทุกคนก็อาศัยอยู่ร่วมกันโดยถือหลักความเท่าเทียม และเสรีภาพในการแสดงออก

ในบทความนี้เราจะมาติดตามสงครามการปฏิวัติอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1775 – 1783 ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในอเมริกา และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนแปลงโลกดังกล่าวแล้วนั่นเอง

*** จุดเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกา ***

เดิมทีนั้นทวีปอเมริกาเหนือในช่วงศตวรรษที่ 18 ถูกแบ่งเป็นอาณานิคมต่างๆ มากมายตามการจัดสรรปันส่วนของมหาอำนาจในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสเปนที่คุมพื้นที่ในแถบฟลอริดาและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ฝรั่งเศสคุมพื้นที่ตามแนวแม่น้ำมิสซิสซิปปี และชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก

ส่วนอังกฤษคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ตลอดแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก (ที่ซึ่งต่อมาจะกลายเป็น 13 อาณานิคมหลักที่เรียกร้องการแยกตัวจากจักรวรรดิอังกฤษในเวลาต่อมา)



แต่ถึงกระนั้นบรรดาชาวอาณานิคมต่างๆ มักมีอำนาจปกครองตัวเองระดับหนึ่ง แต่อยู่ภายใต้การคุ้มครองโดยจักรวรรดิหรือมหาอำนาจ สะท้อนให้เห็นว่าเดิมทีมหาอำนาจในยุโรปไม่ได้เข้าควบคุมชาวอาณานิคมโดยตรงอยู่แล้ว (ยกเว้นจักรวรรดิสเปนที่ค่อนข้างจะเข้มงวด)


ภาพแนบ: อาณานิคมบนทวีปอเมริกาเหนือในช่วงศตวรรษที่ 18

ในช่วงปี ค.ศ. 1756 – 1763 ยุโรปได้เกิดความขัดแย้งใหญ่เป็นสงคราม 7 ปี ซึ่งอังกฤษกับฝรั่งเศสรบกันจากการขัดผลประโยชน์ นำไปสู่การเผชิญหน้ากันไม่ว่าจะในทวีปยุโรปหรืออาณานิคมอื่นๆทั่วโลก

รวมไปถึงอาณานิคมในอเมริกาด้วย (สงคราม 7 ปีในสมรภูมิอเมริกา ถูกเรียกว่า สงครามฝรั่งเศส และ อินเดียน เพราะทั้งสองฝ่ายใช้ชาวอเมริกันพื้นเมืองที่เรียกว่าอินเดียนแดงมารบกันมาก)


ภาพแนบ: การรบในสงครามฝรั่งเศส-อินเดียน

ในท้ายที่สุดฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงคราม นำไปสู่การทำสนธิสัญญาปารีสในปี ค.ศ. 1763 ทำให้อังกฤษสามารถเข้ายึดอาณานิคมต่างๆของฝรั่งเศส และได้ครอบครองอาณานิคมเกือบทั้งหมดในทวีปอเมริกาเหนือนั้นเอง

แต่ถึงแม้ว่าอังกฤษจะเป็นฝ่ายที่มีชัยและได้ครอบครองอาณานิคมในอเมริกาเหนือไว้แต่เพียงผู้เดียว ทว่าสิ่งที่จักรวรรดิอังกฤษต้องเผชิญคือ ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลที่เกิดจากทำสงคราม


ภาพแนบ: แผนที่อาณานิคมอเมริกาก่อนและหลังสงครามฝรั่งเศส-อินเดียน

ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องเก็บภาษีจากอาณานิคมเพิ่มเติม โดยเริ่มจากการผ่านพระบรมราชโองการ ปี 1763 (Royal Proclamation) ที่จำกัดการขยายและตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมทางตะวันตกของชาวอาณานิคมไม่ให้รุกล้ำถิ่นฐานของอินเดียนแดง ทั้งนี้ก็เพื่อคุมการขยายตัวของอาณานิคมซึ่งจะง่ายต่อการตามเก็บภาษี

และพระราชบัญญัติน้ำตาลปี 1764 (Sugar Act) ยังมีจุดหมายสำคัญเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้ากากน้ำตาล และยังเป็นการเก็บภาษีกากน้ำตาล และสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มเติมอีกด้วย

ภาพแนบ: พระบรมราชโองการ ปี 1763
 
พระราชบัญญัติเหล่านี้ส่งผลให้ชาวอาณานิคมเริ่มเกิดความไม่พอใจ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เนื่องด้วยชาวอาณานิคมไม่มีผู้แทนในรัฐสภาอังกฤษที่สามารถออกเสียงคัดค้านการดำเนินงานของภาครัฐได้

ในปีถัดมาได้มีพระราชบัญญัติเลี้ยงดูทหารปี 1765 (Quartering Act) ที่กำหนดให้ชาวอาณานิคมต้องจัดหาที่พักพร้อมช่วยรับภาระเลี้ยงดูทหารอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในปีเดียวกันนั้นก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ปี 1765 (Stamp Act) ที่กำหนดให้ทุกเอกสารภายในอาณานิคมต้องติดแสตมป์เสียภาษี ไม่ว่าเอกสารนั้นจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ประกาศนียบัตรหรือแม้กระทั่งไพ่ ทั้งยังมีการออกกฎหมายอื่นๆ ที่ทำให้ชาวอาณานิคมรับภาระการจ่ายภาษีมากยิ่งขึ้น


ภาพแนบ: แรงงานทาสเก็บเกี่ยวอ้อย เพื่อทำน้ำตาลให้นายทาสเอาไปขาย

ในปีถัดมาได้มีพระราชบัญญัติเลี้ยงดูทหารปี 1765 (Quartering Act) ที่กำหนดให้ชาวอาณานิคมต้องจัดหาที่พักพร้อมช่วยรับภาระเลี้ยงดูทหารอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในปีเดียวกันนั้นก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ปี 1765 (Stamp Act) ที่กำหนดให้ทุกเอกสารภายในอาณานิคมต้องติดแสตมป์เสียภาษี ไม่ว่าเอกสารนั้นจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ประกาศนียบัตรหรือแม้กระทั่งไพ่ ทั้งยังมีการออกกฎหมายอื่นๆ ที่ทำให้ชาวอาณานิคมรับภาระการจ่ายภาษีมากยิ่งขึ้น


ภาพแนบ: ตัวอย่างแสตมป์

กฎหมายเหล่านี้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงกับชาวอาณานิคม ก่อให้เกิดการประท้วงมากมายในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการข่มขู่และทำลายที่พักเจ้าหน้าที่ของอังกฤษ เนื่องด้วยชาวอาณานิคมถือว่าการออกกฎหมายเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิและขูดรีดโดยตรง

ก่อนที่จะมีการรวมตัวโดยผู้แทนจาก 9 อาณานิคมที่เมืองนิวยอร์ก เพื่อยื่นฎีกาให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว พร้อมมีมติร่วมกันในการให้อาณานิคมแต่ละแห่งมีสิทธิ์ในการจัดเก็บภาษีด้วยตัวเอง


ภาพแนบ: ชาวอาณานิคมก่อจลาจล ทำลายที่พักเจ้าหน้าที่อังกฤษ

 ความตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นมา ทำให้รัฐบาลอังกฤษยอมประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ในปี 1766 เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด แต่ถึงกระนั้นอังกฤษก็ยังได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคำประกาศ (Declaratory Act) เพื่อแสดงประกาศว่า รัฐบาลอังกฤษนั้นมีอำนาจสมบูรณ์ชอบธรรมเหนือดินแดนอาณานิคม

จากนั้นอังกฤษยังปกครองโดยโจทย์ที่ว่า จะเก็บภาษีอย่างไร ไม่ให้คนโกรธมากเกินไป? ซึ่งออกมาเป็นการแกล้งเลิกเก็บภาษีบางอย่าง แต่เปลี่ยนไปเก็บภาษีอย่างอื่นแทน เป็นเช่นนี้หลายปี ทำให้ชาวอาณานิคมรู้สึกเจ็บแค้นที่ถูกรัฐบาลหลอกตบหัวแล้วลูบหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะต่อรองอะไรก็ทำได้ยาก


ภาพแนบ: พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

ณ จุดนี้ชาวอาณานิคมเริ่มรวมตัวอย่างหลวมๆ เพื่อประกาศอิสรภาพ โดยมีกลุ่มเคลื่อนไหวสำคัญอย่างเช่น กลุ่มบุตรชายแห่งอิสรภาพ (Sons of Liberty) ที่สนับสนุนการคว่ำบาตรสินค้านำเข้าจากอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1770

ต่อมารัฐสภาอังกฤษได้ทำการ “ทั้งปลอบทั้งขู่” โดยผ่อนปรนให้ยกเลิกการเก็บภาษีหลายอย่าง แต่ยังเก็บภาษีนำเข้าใบชา (เป็นของสำคัญเพราะคนในวัฒนธรรมอังกฤษมักดื่มชาทุกวัน) ขณะเดียวกันก็กองทหาร 4,000 นายเข้าประจำการที่เมืองบอสตัน


ภาพแนบ: กลุ่ม Sons of Liberty

อย่างไรก็ตามได้เกิดเหตุมีม๊อบที่ประท้วงหน้าสำนักงานศุลกากรตะโกนท้าทายทหารรักษาการณ์ให้ยิงใส่ตัวเองว่า “แน่จริงก็ยิงเลย!” พร้อมขว้างปาของใส่

ในที่สุดมีทหารคนหนึ่งถูกขว้างของใส่จนปืนร่วง เขาทนไม่ไหวพอเก็บปืนได้ก็ยิงเข้าใส่ฝูงชน กระสุนนัดนี้ทำให้เกิดการจลาจล มีผู้เสียชีวิต 5 คน จนถูกเรียกเหตุการณ์นี้ว่า การสังหารหมู่ในบอสตัน (Boston Massacre)

การสังหารหมู่บอสตันกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ความไม่พอใจของชาวอาณานิคมระเบิดออกมาในที่สุดนั้นเอง


ภาพแนบ: เหตุการณ์การสังหารหมู่ในบอสตัน

จากเหตุการณ์ การสังหารหมู่ในบอสตัน ทำให้เมืองบอสตันกลายเป็นเมืองหลักที่ต่อต้านการปกครองของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1772 ซามูเอล อาดัมส์ (Samuel Adams) นักการเมืองจากรัฐแมสซาชูเซตต์ (ผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับจอห์น อดัม ที่ในอนาคตจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ) ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์ในอาณานิคมต่างๆ ซึ่งต่อมาจะได้กลายเป็นแกนนำของขบวนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1773

การถึงขั้นนี้รัฐสภาอังกฤษกลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร และยังอนุมัติการออกพระราชบัญญัติใบชาในปี 1773



ในที่สุดกลุ่มบุตรชายแห่งอิสรภาพประมาณ 50 คน ได้ปลอมตัวเป็นชาวอเมริกันพื้นเมืองลอบปีนขึ้นเรืออังกฤษสามลำที่จอดพักที่ท่าเรือเมืองบอสตัน พร้อมกับโยนใบชาราว 342 หีบทิ้งแม่น้ำเพื่อประท้วง กลายเป็นเหตุการณ์ “งานเลี้ยงน้ำชาในบอสตัน” (Boston Tea Party) (ที่ปลอมตัวเพื่อโทษชนเผ่าแทน)

เหตุนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงเร่งออกพระราชบัญญัติอขันติธรรม (Intolerable Act หรือเรียกง่ายๆ ว่า พ.ร.บ. ตูจะไม่ทน) ปิดท่าเรือบอสตัน และจำกัดสิทธิของรัฐบาลท้องถิ่น ตอบโต้การกระทำของชาวอาณานิคมในทันที!



ในปี ค.ศ. 1774 ตัวแทนของอาณานิคมทั้ง 13 แห่ง (ยกเว้นจอร์เจีย) ได้เดินทางมารวมตัวกันเพื่อเปิดการประชุมที่เมืองฟิลาเดลเฟีย เกิดเป็นการประชุมสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีป (Continental Congress) ครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกา โดยในที่ประชุมได้มีการประณามการออกกฎหมายบังคับต่างๆ โดยรัฐสภาอังกฤษ และยืนยันการคว่ำบาตรสินค้านำเข้าจากอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีการอนุมัติการจัดเตรียมกำลังทหารเพื่อต่อสู้

…เมื่อการประชุมสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีปเสร็จสิ้น ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้ทราบว่า ความขัดแย้งต่อเนื่องระหว่างอังกฤษกับอาณานิคมกำลังใกล้เข้าสู่จุดแตกหัก ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนที่เริ่มจุดชนวนก่อนเท่านั้นเอง…


ภาพแนบ: ภาพแนบ: การประชุมสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีปครั้งแรก 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่