ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง ทำให้มีการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังตามมาได้ง่ายมาก ๆ เช่น
1. ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อรา
โรคเกลื้อน ลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน เช่น สีจาง ขาว แดง น้ำตาล หรือดำ มักเกิดบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ คอ และพบมากในผู้เล่นกีฬาที่มีเหงื่อออกมาก และใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น เนื่องจากความอับชื้นจะทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น
โรคกลาก ลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดง ต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า ดังนั้นต้องดูแลรักษาความสะอาดร่างกายให้ดี เพราะบางครั้งกลากอาจจะติดจากการใช้ของร่วมกับคนที่เป็นโรค หรือติดจากสัตว์เลี้ยงก็ได้
2. ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะเป็นผื่นแดงแห้งๆ ออกน้ำตาล มักเกิดในบริเวณที่อับชื้นซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะสมของการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น รักแร้ ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคเท้าเหม็น( Pitted Keratolysis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังชั้นนอก มีอาการเท้าแห้งลอก เท้าจะเหม็นมากกว่าคนทั่วไป มีหลุม รูพรุนเล็กๆบริเวณฝ่าเท้าและง่ามเท้า
3. โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการระคายระคายเคืองของผิวหนังจากความอับชื้น และสัมผัสสิ่งสกปรกต่างๆ ในบริเวณน้ำท่วมขังหลังเกิดฝนตก ทำให้เกิดผื่นตามเท้า และซอกนิ้วเท้า ในบางรายอาจมีอาการติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
4. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคที่พบได้ทุกฤดู แต่มักจะมีอาการมากขึ้นหากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไป สังเกตได้ว่าจะมีผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมากที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา ซอกคอ
5. ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง ในฤดูฝนจะมีการเพิ่มจำนวนของแมลงหลากหลายชนิด เช่น ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก หากโดนหรือสัมผัสเข้า อาจทำให้เกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้
หากมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน