£££ MMT ช่วงปี 61-62 ที่ทำให้โรงไฟฟ้าวิ่งฉิว + ข่าวกระพือว่าจะเป็น negative interest rates

MMT ยาขนานใหม่ของเศรษฐกิจ

ตกอยู่ในภาวะ Secular Stagnation หรือเรียกอย่างง่ายว่าภาวะ New Normal กล่าวคือ เศรษฐกิจโตต่ำลงเรื่อยๆ เพราะภาคการใช้จ่ายทั่วโลกอ่อนแอ จากภาวะหนี้ทั่วโลกที่สูง สังคมสูงวัย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง
ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำหรือเสี่ยงต่อเงินฝืด ในขณะที่นโยบายการเงินทั่วโลกก็ถึงทางตัน เพราะไม่ว่าจะลดดอกเบี้ยเหลือศูนย์หรือติดลบ รวมถึงทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE แต่ก็ไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก
ทำให้มีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่ง นำโดยที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต เสนอแนวคิดใหม่ที่อาจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แนวคิดนี้นำไปสู่การถกเถียงกันในวงกว้างของนักเศรษฐศาสตร์กระแสรองที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ (และล่าสุด Ray Dalio วานิชธนากรชั้นนำของโลกก็ประกาศเห็นด้วยกับแนวคิดนี้) กับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ต่อต้านแนวคิดดังกล่าว
แนวคิดนั้นคือ Modern Monetary Theory (MMT) หรือทฤษฎีนโยบายการเงินใหม่ ซึ่งหากให้สรุปในประโยคเดียว คือ “แนวคิดนี้เสนอให้ทางการสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ พัฒนาการศึกษา และ/หรือสร้างสวัสดิการทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการทำนโยบายการคลังขาดดุล และให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลนั้น”
หากอ่านถึงประโยคนี้ อาจเกิดคำถามในใจผู้อ่านคือ (1) นี่คือจะให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินขึ้นมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณใช่หรือไม่ แล้วถ้าทำอย่างนั้นจะไม่เกิดเงินเฟ้อหรือ (2) นโยบายเช่นนี้ ก็ไม่ต่างกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาเก็บไว้หรือ ผู้เขียนจึงขอตอบดังนี้
หลักการอย่างง่ายของ MMT มี 3 ประการ คือ (1) รัฐบาลออกหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ (2) หนี้เหล่านั้นสกุลเงินท้องถิ่น และ (3) เศรษฐกิจยังผลิตไม่เต็มศักยภาพ
เมื่อครบ 3 เงื่อนไขนี้ รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรและ “ขายตรง” ให้ธนาคารกลาง โดยไม่ต้องผ่านตลาดรอง (หรือตลาดพันธบัตรทั่วไป) รัฐก็สามารถนำเงินนั้นไปใช้สร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หรือจะเอาไปแจกจ่ายให้กับประชาชนผ่านโครงการสวัสดิการรัฐต่างๆ เช่น ประชาชนที่ยากจน ด้อยโอกาส หรือช่วยตัวเองไม่ได้ เช่น ทหารผ่านศึกที่พิการ เป็นต้น ในส่วนของธนาคารกลาง สามารถทำได้หลายอย่างกับหนี้ก้อนนี้ เช่น เรียกเก็บดอกเบี้ยต่ำมาก ไม่เก็บดอกเบี้ย หรือยกเลิกหนี้เหล่านั้นบางส่วน (หรือทั้งหมด)
คำถามสำคัญคือ จะเกิดเงินเฟ้อหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์กระแสรองที่เชื่อใน MMT อย่างสุดโต่งเชื่อว่า หากเศรษฐกิจยังไม่ผลิตเต็มศักยภาพ ทำอย่างไรก็ไม่เกิดเงินเฟ้อ (โดยเฉพาะเงินเฟ้อจากความต้องการซื้อหรือ Demand-pull) ดังนั้น รัฐบาลก็สามารถพิมพ์เงินไปได้เรื่อยๆ
Ray Dalio เห็นว่า MMT มีข้อดีเหนือกว่า QE แบบธรรมดา เพราะ QE เป็นการพิมพ์เงินเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดรอง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ขายพันธบัตรนั้นได้แก่สถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร โดยหากสถาบันการเงินมีเงินมากขึ้น แต่ไม่อยากจะปล่อยกู้ (เนื่องจากกลัว NPL ที่จะไปกระทบกับผลกำไรธนาคาร) สถาบันการเงินเหล่านั้นก็นำเงินกลับมาฝากไว้ที่ธนาคารกลาง หรือนำไปลงทุนในตลาดทุน ทำให้ผลประโยชน์ก็วนอยู่แต่ในตลาดเงินตลาดทุน ไม่ไหลลงมาสู่เศรษฐกิจจริง ทำให้เศรษฐกิจโตอยู่แต่ในระดับบน และทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้น
ทางแก้ของ MMT คือการซื้อพันธบัตรโดยตรงจากรัฐบาล และรัฐบาลใช้เงินเหล่านั้นในโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และ/หรือ โครงการสวัสดิการเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยตรง แนวคิดนี้จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักการเมืองฝ่ายซ้ายจัดทั้งในสหรัฐและยุโรป
แม้ผู้เขียนจะเห็นด้วยกับหลายประเด็นของแนวคิด MMT โดยเฉพาะ (1) เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะ Secular Stagnation จาก Demand ที่ต่ำกว่า Supply ตลอด ฉะนั้นโอกาสจะเกิดเงินเฟ้อเป็นไปได้ยาก
(2) นโยบายการเงินในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าใดนัก เพราะหนี้ที่สูง (ผู้กู้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยมากอยู่แล้ว เหลือเงินใช้บริโภคน้อย) และสังคมสูงวัย (ไม่ค่อยมีความต้องการจับจ่ายเท่าเด็กหรือวัยหนุ่มสาว) แต่มีประสิทธิภาพในการเบรกเศรษฐกิจ (เพราะขึ้นดอกเบี้ย ภาระดอกเบี้ยของผู้กู้เพิ่มขึ้นทันที) นอกจากนั้น การทำ QE ในปัจจุบันมีข้อเสียคือเงินไม่ได้ไหลลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริง
(3) รัฐบาลในปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่หนี้สาธารณะไม่สูงมากนัก สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก เศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่วนหนึ่งเกิดจากภาคเอกชนกังวลว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะแย่ จึงออมมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจแย่จริง (Paradox of thrift) ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ และดอกเบี้ยที่ต่ำจะทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลไม่สูงมาก
แต่ผู้เขียนมีข้อกังวล 2 ข้อคือ (1) รัฐบาลโดยเฉพาะที่มาจากประชาธิปไตย มักมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในโครงการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นก่อน เพราะเห็นผลง่ายและได้คะแนนนิยม ทำให้โอกาสที่จะใช้เงินในการทำโครงการเพื่อประโยชน์ระยะยาวมีน้อย และ (2) แม้ความเสี่ยงเงินเฟ้อในปัจจุบันจะยังไม่มาก แต่หากใช้เงินในโครงการที่กระตุ้นการบริโภคระยะสั้นมากกว่าสร้างประสิทธิภาพในการผลิตระยะยาว (เช่น โครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านการศึกษา) จนศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศต่ำลงแล้ว มาตรการ MMT ก็อาจนำไปสู่เงินเฟ้อที่พุ่งกระฉูด (Hyperinflation) ได้
ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า (1) แม้หากไม่ทำ MMT โดยตรง แต่ก็ควรผสานนโยบายการเงินและการคลังให้สอดคล้องกัน เช่น ณ ปัจจุบันที่ไม่มีความเสี่ยงเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยนโยบายอาจอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ภาครัฐทำนโยบายการคลังขาดดุลเพื่อนำเงินไปทำโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาการศึกษา และสวัสดิการภาครัฐได้ (2) ธนาคารกลางควรผ่อนปรนกฎระเบียบในการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs และ Start up) เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียน และอาจพัฒนาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ และ (3) หากจะทำ MMT แล้ว ธนาคารกลางผู้ปล่อยสินเชื่อควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะปล่อยหรือไม่ โดยยึดหลักประโยชน์มูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ของโครงการนั้นเป็นสำคัญ
แม้ยังเป็นทฤษฎีที่ต้องยังต้องถกเถียงกัน แต่นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายควรต้องศึกษาแนวคิดนี้อย่างจริงจัง เพราะเศรษฐกิจในปัจจุบันตกต่ำเสียจนยาขนานใดก็ไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อีกแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่