ความรู้ภาษาอังกฤษ "สำหรับคนไทย" (Pt. 3)

What's not down, guys?!

กลับมาต่อที่ตอน 3 เลย ไม่พูดยาวละคุ้นเคยกันดี ไปลุยเลยครับ

1) สกิลการเปลี่ยน noun เป็น verb หรือเปลี่ยน verb กลับเป็นนาม เป็นสกิลที่สำคัญมาก ๆ เลยนะ ฝรั่งทำคล่องกันทุกคน สำหรับคนไทยต้องฝึกอีกหน่อย เช่นคู่ของคำว่า injure (v. ทำให้บาดเจ็บ) และ injury (n. อาการบาดเจ็บ) นี่เราต้องสามารถแตกประโยคได้จากคำทั้งสองชนิด เช่น He got injured pretty bad during the game. หรือ He sustained serious injuries during the game. ในเวอร์ชันกริยาอาจไม่ค่อยยาก แต่ในเวอร์ชัน noun นี้เราอาจจะต้องไปเช็กตัวอย่างประโยคด้วยว่าปกติแล้วเขาใช้คู่กับ verb หรือ preposition ตัวไหนหรือเปล่า

2) แกรมมาร์เรื่อง "Cleft sentence" ก็เป็นอีกเรื่องที่ควรศึกษาไว้นะ มันจะสอนให้เรารู้จักวิธีการ 'เน้นย้ำ' ในภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะการเน้นย้ำข้อมูลเพื่อไม่ให้ใครเข้าใจเราผิด ตัวอย่างประโยคแบบ cleft sentence ก็เช่น It was TIM that stole your money, not Tom. (มันคือ 'ทิม' ที่ขโมยเงินนายไป ไม่ใช่ทอม) หรือ It was in JUNE that I was born, not July. (ผมเกิดในเดือนมิถุนายน ไม่ใช่กรกฎาคม) เหล่านี้คือการเน้นย้ำข้อมูลที่ถูกต้องให้ผู้ฟังเข้าใจ แต่บางครั้ง cleft sentence ก็อาจเป็นการ 'ขยายความ' ก็ได้ เช่น What I want... is a little bit of love. (ที่ผมต้องการคือ... ความรักแค่นิดหน่อย) หรือ Who you are... doesn't matter. (ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร... ก็ไม่สำคัญ)

3) ขอแนะนำทักษะการแปล 'สองระดับ' ในทุกคนฝึกไว้ ระดับแรกคือแปลตรงตัว และระดับที่สองคือแปลจากความหมายตรงตัวอีกที ตัวอย่างเช่นประโยค "My mind is made up." ที่แปลตรงตัวได้ว่า "จิตใจของฉันถูกทำขึ้นแล้ว" และแปลจากความหมายตัวอีกทีคือ "ฉันตัดสินใจแล้ว" บอกเลยว่ามันไม่ง่าย แต่ต้องเริ่มจาก awareness ก่อน คือเราต้อง aware อยู่เสมอว่าเราต้องแปลภาษาอังกฤษสองระดับเสมอ (ในช่วงแรกที่ฝึกนะ) จนเรามี awareness ที่เข้มข้นแล้ว (หมายความว่า เราแปลสองระดับจนเป็นนิสัยแล้ว) ค่อยฝึกแปลแแบบข้ามขั้น (คือข้ามระดับแปลตรงตัวไปแปลความความหมายเลย)

4) ในชีวิตจริงฝรั่งพูดค่อนข้างเร็ว หลาย ๆ วลีไม่ต้องอ่านเต็มปากเต็มคำก็เข้าใจได้ ที่ย้อนฮิตที่สุดคงหนีไม่พ้น "It's" ซึ่งพอไปปอยู่ในประโยคจริง ๆ จะเหลือแค่เสียง "'s" เท่านั้น. ตัวอย่างประโยคเช่น It's a long story. ให้อ่านแค่ 'salong story (สะลอง สตอรี) หรือประโยค It's okay. / It's good. / It's not right. ก็จะเหลือแค่ 'sokay (โซ-เค) / 'sgood (สกุด) / 'snot right (สนอท รายทฺฺ) ไปตามลำดับ อันนี้ต้องฝึกไว้บ่อย ๆ เลยเพราะได้ใช้แน่นอน!

5) I don't really like it กับ I really don't like it นี่มีความรุนแรงของประโยคที่ต่างกันนะ หลัก ๆ คือถ้าเราเอา really ไว้หน้า don't มันจะให้ความรู้สึกไม่ต้องการ/ไม่ชอบที่รุนแรงกว่ามาก ๆ ตัวอย่างเพิ่มเติมเช่น I don't really know you. (ฉันไม่ได้รู้จักเธอดี) กับ I really don't know you. (ฉันไม่ด้รู้จักเธอเลยสักนิดเดียว) หรือ I don't really care. (ฉันก็ไม่ได้สนใจอะไรขนาดนั้น) กับ I really don't care. (ฉันไม่สน)

6) สิ่งที่คนไทยยังขาดในการเรียนภาษาอังกฤษคือ การทำแหล่งสะสมความรู้ หลายคนเรียนศัพท์ใหม่ ๆ ทุกวันเลยนะ แต่ไม่เคยจดเก็บไว้เลยสักคำ เปิดดูความหมายเสร็จก็จบแค่นั้น (อย่างน้อยกดติดดาวคำศัพท์นั้นไว้ก็ยังดีนะ ดิกชันนารีส่วนมากก็มีให้บันทึกคำศัพท์ จะได้กลับมาทบทวนได้) นี่แหละเป็นจุดแรกที่ควรแก้เลยถ้าอยากเรียนภาษาอังกฤษให้มันสำเร็จสักที ไม่ใช่เรียนให้เก่งนะ อันนั้นระดับต่อไป ตอนนี้เอาให้มันสำเร็จก่อน คือไม่ล้มเลิกกลางคัน ไม่ทำแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ อะ จริง ๆ ผมก็อยากให้ทุกคนเปิดเพจบันทึก journey การเรียนภาษาอังกฤษของเราไว้นะ ใครสามารถลงโพสต์อัพเดตชีวิตการเรียนภาษาอังกฤษของตัวเองทุกวันจนครบ 30 วันได้ (มาเอารางวัลกับผมเลย! บอกเลยว่ารางวัลโครตปั่น แต่โคตรดี!)

7) Language localisation คือการทำให้ภาษาหนึ่งเข้ากับท้องถิ่นหนึ่งมากขึ้น ยกตัวอย่างการ localise ภาษาอังกฤษให้เข้ากับสังคมไทยก็เช่นการที่เอาเราประโยคภาษาอังกฤษมาลงท้ายด้วยคำว่า krub/kha นี่แหละ (Noted kha. / Thank you krub.) มันมีประโยชน์นะ มันทำให้ผู้รับสารรู้สึกว่าผู้ส่งสารเข้าใจวัฒนธรรมของเขาได้ในระดับหนึ่ง ความสนใจหรือความเชื่อใจก็เกิดขึ้น สำหรับนักธุรกิจที่ต้องการตีตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ ควรศึกษาศาสตร์แห่งการ localisation ไว้เลย

8) "The haves and have-nots" เป็นสำนวนแปลว่า "คนที่มีและคนที่ไม่มี" ซึ่งโดยส่วนมากเราก็จะใช้เพื่อหมายถึง คนรวยและคนจน นั่นเอง เป็นศัพท์ที่เราจะได้เจอในแวดวงการเมืองในหัวข้อความเหลื่อมล้ำทางสังคมไรงี้ ตัวอย่างประโยคเช่น Government needs to reform their social policy to reduce the gap between the haves and have-nots. (รัฐบาลควรปฎิรูปนโยบายทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน) หรือจะใช้แบบแยกกันก็ได้นะ เช่น Some people believe that only the haves shape the world. (บางคนก็เชื่อว่ามีแค่คนรวยเท่านั้นที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้)

9) ที่ประเทศไทยเราอาจจะชินกับความคิดที่ว่า 'คนภาคกลาง' พูดภาษาไทยชัดที่สุด เพราะอยู่ใจกลางประเทศ ส่วนคนภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสานก็จะพูดไทยติดสำเนียงท้องถิ่นกันไป แต่ที่ประเทศอังกฤษ 'คนภาคใต้' (เช่นสำเนียง London) จะพูดภาษาอังกฤษชัดเจนที่สุด (Bus อ่าน บัส / Water อ่าน วอ-เถอะ, วอ-เออะ) แล้วสำเนียงจะเริ่มเหน่อขึ้นเมื่อเริ่มขยับขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ (เช่นสำเนียง Manchester)  เริ่มออกเสียงสระแปลก ๆ ไป (Bus อ่าน บุส / Water อ่าน วู-ถะ, วู-อะ) คนต่างชาติส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษสำเนียงใต้ พอเจอคนอังกฤษจากทางเหนือก็จะฟังไม่ค่อยออก

10) "A lie told once is a lie, but a lie told a thousand times is the truth." - Joseph Goebbels เป็นคำคมที่ผมอยากฝากให้คนไทยมากที่สุดในวันนี้ "คำโกหกพูดหนึ่งครั้งคือคำโกหก แต่คำโกหกที่ถูกพูดหนึ่งพันครั้ง... กลายเป็นความจริง"

ใครตามอ่านตั้งแต่ part 1 ถือว่าสุดยอดมาก เพราะแต่ละตอนไม่ใช่น้อย ๆ เลย 555 ยังไงก็หาโอกาสมาทบทวนบ่อย ๆ ด้วยนะ ความรู้บางอย่างเรียนไปแล้วอาจไม่ได้ใข้เลย? อันนี้ไม่จริง อย่างน้อยก็ใช้มันเพิ่มรอยหยักให้สมอง เพื่อให้สกิลการวิเคราะห์ข้อมูลเฉียบคมขึ้นไปอีก ทุกความรู้ล้วนแล้วเป็นการฝึกฝนสมองครับ แล้วเจอกันตอนหน้า! (11 มิถุนา)

"ไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดในวันนี้ แค่รู้ให้มากกว่าเมื่อวาน"
Stay tuned
JGC.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่