JJNY : "อ.เจษฎา"สวนกลับสวทช.│"ชัชชาติ"นำเก็บขยะเจ้าพระยา│หนี้เสีย เงินกู้ฉุกเฉินพุ่ง│กก.ชวนตามสมรสเท่าเทียม-สุราก้าวหน้า

"อ.เจษฎา" สวนกลับ สวทช.รับตรวจ GT200 เสียทั้งงบและเวลา ทั้งที่ชัดเจนว่าเป็นกระป๋องพลาสติกเปล่าๆ หลอกปชช.
https://ch3plus.com/news/socialnews/morning/294467
 
 
จากกรณีที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายงบกลาโหม ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.2566 ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท 

ต่อมา เรื่องดังกล่าว รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความเห็นว่า

“รู้ทั้งรู้ว่าทุกเครื่องมันก็เป็นกระป๋องพลาสติกเปล่าๆ แกะดูข้างในก็ไม่มีอะไร จะไปเสียเวลาตรวจทีละเครื่องทำไม นอกเสียจากว่าจะรับเศษเงินไม่กี่ล้าน แลกกับชื่อเสียงขององค์กร และวงการวิทยาศาสตร์ไทย"

หลังจากนั้น ด้านสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีการตรวจทดสอบ GT200 จำนวน 757 เครื่อง ยืนยันเป็นไปตามตามหลักมาตรฐานสากล

ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์ออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ระบุว่า
 
"ความตลกของเรื่องนี้ก็คือ ทางศูนย์พีเทคของ สวทช. ได้เคยช่วยตรวจเครื่องตัวอย่างของ gt200 และพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า มันไม่ได้มีประจุไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาจากเครื่อง ซึ่งแสดงถึงการเป็นเครื่องที่หลอกลวง เสร็จตั้งแต่การทดสอบโดยคณะกรรมการทดสอบฯ ในช่วงปี 2553 แล้ว
 
ซึ่งผลการทดสอบดังกล่าวก็ได้สามารถนำไปใช้ในการกล่าวหาดำเนินคดีกับบริษัทผู้ขาย และตัดสินคดีจนชนะ ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไปแล้ว รวมถึงการเอาผลนี้ ไปใช้ในการไต่สวนของ ปปช. จนสามารถชี้มูลความผิดข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างได้นับร้อยคน
 
ซึ่งทั้งกระบวนการที่ดำเนินงานนี้ก็เป็นช่วงกว่า 10 ปีแล้ว ทาง สวทช. น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนและกล้าประกาศให้กับสังคมรับรู้กันโดยทั่วไปว่าเครื่อง gt200 เป็นแค่กระป๋องพลาสติกเปล่าๆ ที่หลอกลวงประชาชนและหน่วยงานต่างๆ
 
ซึ่งแทนที่จะให้คำแนะนำกลับไปกองทัพ ว่าไม่จำเป็นจะต้องตรวจสอบเครื่องทั้ง 757 เครื่องนี้อีก กลับรับงานตรวจสอบ ที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องเสียงบกว่า 7.57 ล้านบาทนี้ เสียเวลาเจ้าหน้าที่พีเทคที่จะทำงานอื่นๆ และสุ่มเสี่ยงจะทำให้สังคมรวมทั้งกองทัพเชื่อว่าอาจจะมีเครื่องบางเครื่องที่สามารถทำงานได้จริง จึงนำมาตรวจสอบหา
  
ผมก็คงได้แค่บ่นแหละ เดี๋ยวเรื่องมันก็เงียบๆ เนียนๆ กันไปเองอย่างที่เป็นมา หึๆ
 
ปล. ที่อ้างว่าการทดสอบโดยศูนย์พีเท็กมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าในต่างประเทศนั้น .. จริงๆ ต่างประเทศเขาไม่มาตรวจสอบอะไรอย่างนี้ให้เสียเวลาหรอกครับ เปิดแงะออกมาดูว่าข้างในเป็นกล่องพลาสติกเปล่าๆ กลวงโบ๋ เขาก็ฟ้องศาลกันแล้ว ไม่มีใครมาจินตนาการฝันไปแล้วว่ามันอาจจะสามารถทำงานได้ด้วยฟิสิกส์ควอนตั้มขั้นสูง ที่นักวิชาการบางคนแอบอ้าง"
  
https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant/posts/pfbid034QBw1goTnDVp2Gb6BAju57NM9roddWSnQLRtesRXx1rQtBYRrXrtrm2LkwnKrHHbl
  

  
"ชัชชาติ" นำเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้ ในวันสิ่งแวดล้อมโลก 65
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2410911

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นำทำกิจกรรมเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 โดยลงพายเรือคายัคสีแดงเบอร์ 05 ในแม่น้ำ ย้ำแผนมุ่งลดก๊าซเรือนกระจกใน กทม.เป็นศูนย์ในปี 2030

เมื่อเวลา 06.45 น.วันที่ 5 มิ.ย.65 ที่ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 และสวนหลวงพระราม 9 เขตบางพลัด กรุงเทพฯ รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็น ประธานรวมพลร่วมทำกิจกรรมรณรงค์เก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 (World Environment Day 2022) โดยมี นายขจิต ชัชวาณิชย์ปลัด กทม. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. นายวิรัตน์ มนัสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้อำนวยการเขตบางพลัด หน่วยงานสังกัด กทม.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนเข้าร่วมในกิจกรรม

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็นวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ปีนี้เป็นแนวคิดรณรงค์ภายใต้หัวข้อ #OnlyOneEarth ตามที่ทราบกันว่าในกาแล็กซีมีดวงดาวเป็นพันล้านดวง แต่โลกมีใบเดียวดังนั้นเราจึงต้องรักษาไว้ แต่หากเราพูดว่าโลกก็จะดูใหญ่ไป ตนจึงพูดถึง Only One Bangkok คือมีแค่กรุงเทพฯ เดียว มีแค่เขตเดียว ย่อยมาที่ชุมชนให้ได้เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากขึ้น เพื่อส่งต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ลูกหลานที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่ยังต้องอยู่ในกรุงเทพฯ เดียวนี้ต่อไป
 
"ตามนโยบายของตนที่มีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net zero) รวมถึงนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น จะต้องสำเร็จภายใน 4 ปี ทั้งนี้ กทม.ไม่มีทางสำเร็จได้หากไม่ได้ความร่วมมือจากประชาชน ดังนั้นจึงต้องกระตุ้นความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายชุมชนและประชาชน โดยมี กทม.เป็นผู้นำ" นายชัชชาติ กล่าว
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายชัชชาติได้บีบแตรเพื่อปล่อยขบวนเรือเก็บขยะจำนวน 50 ลำ จากนั้น นายชัชชาติลงพายเรือคายัคสีแดงหมายเลข 05 เพื่อสำรวจขยะบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเวลากว่า 30 นาที เนื่องจากไม่มีขยะในแม่น้ำ ในระหว่างที่นายชัชชาติลงเรือ นำเก็บขยะในแม่น้ำอยู่ ก็มีประชาชนแจ้งข้อมูลกับนายชัชชาติว่า เมื่อวานนี้ (4 มิถุนายน) ยังมีขยะอยู่เลย เพราะท่านผู้ว่าฯ มาก็ไม่มีขยะแล้ว ซึ่งนายชัชชาติกล่าวว่า “ไม่เป็นไร วันนี้ไม่มีขยะก็ดีแล้ว เดี๋ยวเราก็ช่วยกันดูแล”
 
กระทั่งเวลา 07.30 น. นายชัชชาติได้เป็นประธานในพิธีปลูกต้นไม้สะสมในโครงการต้นไม้ 1 ล้านต้น บริเวณสวนหลวงพระราม 8 โดย นายชัชชาติปลูกต้นกล้าไม้มะฮอกกานี พร้อมข้าราชการสังกัด กทม.และประชาชนเข้าร่วมปลูกด้วย ทั้งไม้มะฮอกกานี ตะเคียนทอง และขี้เหล็ก รวม 69 ต้น
   
เมื่อถามถึงแนวทางนโยบายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ นายชัชชาติ กล่าวว่า ตามแนวคิดการหักล้างก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ให้ได้ กทม.ต้องร่วมกับองค์กรมหาชนเป็นองค์กรก๊าซเรือนกระจก โดยอย่างน้อยปี 2030 กทม.ต้องเป็นศูนย์ด้วยการจัดการ 4 ปัจจัยในกรุงเทพมหานคร คือ 
 
1.การขนส่งคมนาคม ที่คิดเป็น 30% ฉะนั้น กทม.เป็นตัวอย่างในการลดการใช้การสันดาปภายในด้วยการใช้พลังงานสะอาด พร้อมส่งเสริมระบบนิเวศรถไฟฟ้า กทม.เองต้องเริ่มใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แต่ต้องดูเรื่องต้นทุนด้วย 
 
2.ลดการใช้พลังงานในอาคาร 
 
3.การกำจัดขยะ เพราะการฝังกลบจะปล่อยก๊าซมีเทน ในอนาคตจึงมีแผนการแยกขยะเพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด การบำบัดน้ำเสียในคลอง ซึ่งปลัด กทม.มีแนวคิดติดตั้งเครื่องดักไขมันในชุมชนคู่กับการทำบ่อบำบัดน้ำเสียรวมด้วย 
 
และ 4.ปลูกต้นไม้ ซึ่งเป้าหมาย 1 ล้านต้นใน 4 ปีเราจะต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและทุกภาคส่วน เช่น ให้วันอาทิตย์เป็นวันปลูกต้นไม้ เพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวตามนโยบายสวนสาธารณะ 15 นาที ทั้งหมดนี้จึงเป็นแนวทางของนโยบายดังกล่าว.
  


หนี้เสีย เงินกู้ฉุกเฉินฝ่าโควิดพุ่ง “ออมสิน-ธ.ก.ส.” ยันรัฐอุ้ม 30-50%
https://www.prachachat.net/finance/news-946776

หนี้เสีย “เงินกู้ฉุกเฉิน” พุ่ง ! 2 แบงก์รัฐชี้เป็นโครงการตามนโยบายช่วยบรรเทาผลกระทบโควิด “ออมสิน” ยันไม่น่าห่วงรัฐ ช่วยชดเชยกรณีเป็นเอ็นพีแอล 30-50% เร่งตั้งสำรองปีนี้ 4 หมื่นล้านบาท ฟาก “ธ.ก.ส.” สัดส่วนหนี้เสียกระฉูด 50% เดินหน้าตรวจความสามารถการชำระของลูกค้า
 
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารออมสิน ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.7% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 เล็กน้อย ที่อยู่ระดับ 2.5%
 
อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากส่วนที่เป็น NPL นั้นบางส่วนเป็นสินเชื่อจากมาตรการของรัฐ เช่น สินเชื่อฉุกเฉินที่ให้ลูกค้ากู้รายละ 10,000 บาท วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ที่ต้องการเติมสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแม้ NPL จะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ทางธนาคารยังบริหารจัดการได้
 
“ความตั้งใจของรัฐบาลต้องการส่งเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อผ่านสินเชื่อตามนโยบายรัฐ รัฐจึงชดเชยความเสียหายกรณีเป็นหนี้เสียให้แต่ละโครงการประมาณ 30-50% ฉะนั้น แม้ตัวเลขหนี้เสียในกลุ่มดังกล่าวจะถูกคำนวณจำนวนหนี้เสียของแบงก์ 2.7% แต่เราก็ไม่ต้องเอาสำรองส่วนเกินของแบงก์มาใส่ เพราะรัฐชดเชยความเสียหายให้เราอยู่แล้ว” นายวิทัยกล่าว
 
ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวอีกว่า ในปีนี้อาจจะเห็นตัวเลข NPL ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามสภาพที่เป็นจริง ซึ่งธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้เสียส่วนเกินรองรับไว้แล้ว 30,000 ล้านบาท และสิ้นปี 2565 จะตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีกเป็น 40,000 ล้านบาท
 
ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคารออมสินกล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมาธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อตามนโยบายรัฐ ทั้งโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงินรวม 25,000 ล้านบาท ยอดอนุมัติกว่า 2 ล้านราย เป็นเงิน 22,182 ล้านบาท, โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ยอดอนุมัติกว่า 3.6 แสนราย เป็นเงินกว่า 1,847 ล้านบาท
และโครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ยอดอนุมัติ 8.57 แสนราย เป็นเงิน 8,575 ล้านบาท
 
ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่กู้สินเชื่อฉุกเฉินมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นโครงการสินเชื่อตามนโยบายของรัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด โดยที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ออกสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อกว่า 9 แสนราย เป็นเงินรวมกว่า 9,000 ล้านบาท ส่วนนี้มีเป็นเอ็นพีแอลแล้วกว่า 50%
 
และสินเชื่อสู้ภัยโควิด วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 4.11 แสนราย อนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 31,000 ราย ส่วนนี้เป็นเอ็นพีแอลแล้ว 3.77% ทั้งนี้ กรณีเป็นหนี้เสีย ธ.ก.ส.จะได้รับการชดเชยความเสียหายจากรัฐบาล 30%
 
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้เดินหน้าแก้ไขหนี้เกษตรกรโดยการออกไปพบลูกค้าและสำรวจ ประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า ออกเป็นกลุ่มเขียว เหลือง และแดง โดยหากจัดกลุ่มเรียบร้อยแล้วจะเดินหน้าตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
 
ทั้งนี้ จากการจัดกลุ่มลูกค้าตามความสามารถในการชำระหนี้ทั้งหมด 12.47 ล้านสัญญา วงเงินรวม 1.58 ล้านล้านบาท พบว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (สีแดง) กว่า 5.83 ล้านสัญญา มูลค่า 5.84 แสนล้านบาท, กลุ่มความเสี่ยงค่อนข้างสูง (สีส้ม) 39,889 สัญญา มูลค่า 8,463 ล้านบาท, กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) 5.3 ล้านสัญญา มูลค่า 7.14 แสนล้านบาท, กลุ่มความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (สีเขียวอ่อน) 7.61 แสนสัญญา มูลค่า 1.52 แสนล้านบาท และกลุ่มความเสี่ยงต่ำ (สีเขียวเข้ม) 4.74 แสนสัญญา มูลค่า 1.25 แสนล้านบาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่