รู้จักกับโรคสมาธิสั้น โรคที่ทุกคนต้องรู้จัก ตอนที่ 2

รู้จักกับโรคสมาธิสั้น โรคที่ทุกคนต้องรู้จัก ตอนที่ 2
 บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ โรคสมาธิสั้น ที่มาจากประสบการณ์ตรงของผม จากที่ผมเคยเรียน จากคุยกับเพื่อนที่เป็นเหมือนกัน และจากคุณหมอครับ เนื่องจากว่าผมเห็นว่าคนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจโรคนี้ ผมจึงคิดที่จะทำสื่อเพื่อให้คนไทยรู้จักมากขึ้น โดยได้เขียนบทความที่ชื่อว่า “รู้จักกับโรคสมาธิสั้น โรคที่ทุกคนต้องรู้จัก” โดยจะแบ่งเป็น 3 ตอน อันนี้จะเป็นตอนที่ 2 ครับ หากว่าใครชอบดูในรูปแบบของคลิปวิดีโอมากกว่า สามารถรับชมคลิปได้เลยครับ แต่ถ้าใครชอบอ่านก็เลื่อนลงไปอ่านบทความได้เลยครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ถ้าหากไม่รักษาแล้วจะเป็นอย่างไร ?

 คนที่เป็นสมาธิสั้นส่วนมากจะเป็นตั้งแต่เด็กและติดตัวไปตลอดซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาก็อาจไม่หายเองได้แต่อาจดีขึ้นได้บ้างในตอนโตซึ่งมันก็แล้วแต่บุคคล คำถามคือถ้าเกิดว่าถ้าหากว่าเขาไม่ได้รับการรักษาโรคสมาธิสั้นจะส่งผลอย่างไรกับคนที่เป็นและผู้อื่นได้บ้าง ตัวอย่างเข่น
- เป็นคนไม่ค่อยระวังตัว อาจเกิดอุบัติเหตุได้
- วางแผนและทำตามแผนของตัวเองด้ไม่ดี
- ทำให้คนอื่นเครียดและมีปัญหากับครอบครัวได้
- อารมณ์ร้อนง่าย มีเรื่องง่าย
- ขี้ลืมง่าย
- พูดเก่ง รอคอยไม่เป็น

 นี้คือสิ่งที่คนเป็นโรคสมาธิสั้นอาจพบเจอหากปล่อยทิ้งไว้ซึ่งมันจะเป็นปัญหาต่อสังคมและตัวคนที่เป็น สังคมอาจไม่เข้าใจ ทำงานให้คนอื่นพลาด คนรอบตัวเครียด ส่วนตัวคนที่เป็นอาจรู้สึกตัวเองไม่มีค่า เสีย self esteem โดนแต่คนมาด่าในด้านลบ หากเกิดในวัยรุ่นอาจไปถึงขั้นมีปัญหากับสังคม ไม่มีเพื่อนคบและไปคบกับเพื่อนที่ไม่ดีซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ยาเสพติด การท้องในวัยรุ่น เป็นต้น

สาเหตุของโรค

1. ความผิดปกติด้านร่ายกาย
จากงานวิจัยพบได้ว่าคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีเนี้อสมองส่วนสีเทาและสมองส่วนหน้าน้อยกว่าปกติ สมองส่วนหน้าอาจเล็กและโตช้ากว่าอายุ ซึ่งสมองส่วนหน้าจะมีหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน การคิด ใช้เหตุผล ใตร่ตรอง การยับยั้งชั่งใจ รวมทั้งยังมีสารสื่อประสาทที่ผิดปกติเช่นสารโดปามีน (Dopamine) เป็นต้น ซึ่งผมได้ฟังหมอในห้องเรียนบรรยายว่า สมองมนุษย์มันรู้วิธีใช้พลังงานให้น้อยเพราะฉะนั้นเมื่อสมองส่วนไหนพัฒนาการช้ามันก็จะทำให้การทำงานของสมองส่วนนั้นทำงานได้น้อยลงไปอีก

2. พันธุกรรม
ถ้าหากว่าคนในครอบครัวเช่น พ่อแม่ พี่น้อง ป้าน้าอา หรือคุณปู๋ คุณย่า โดยเฉพาะทายาทสายตรง ถ้าหากว่ามีใครเป็นก็จะเพิ่มโอกาสให้เป็นโรคนี้ได้ สำหรับคู่แฝดพบว่ามีโอกาสเป็นโรคนี้ร้อยละ 78

3. ความผิดปกติอื่นๆ จากสภาพแวดล้อม
โดยจะมองเป็น 3 ระยะคือ ก่อนคลอดเช่น แม่สูบบุหรี่หรือได้รับสารพิษ ระหว่างคออดเช่น คลอดก่อนกำหนด ขาดออกซิเจนระหว่างคลอด และหลังคลอดเช่น ได้รับบาดเจ็บทางสมอง

 สมาธิสั้นเทียม คือ เด็กคนนั้นไม่ได้เป็นสมาธิสั้นจริงๆ อาจกล่าวได้ว่าไม่ได้เป็นไปตามปัจจัยที่กล่าวไว้แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่เด็กมีอาการเหมือนเป็นโรคสมาธิสั้นเช่น การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม อยู่กับมือถือหรือทีวีมากเกินไป เป็นต้น ทั้งนี้การวินิจฉัยว่าเป็นสมาธินั้นอาจต้องรออายุ 4 ขวบขึ้นไปเด็กจะมีสมาธิดีขึ้น ในเด็กอายุ 3 ขวบยังแยกได้ยากเพราะธรรมาชาติของเด็กวัยนี้จะซนตามวัย

ถ้ารักษาแล้วจะหายไหม ?

 จากหนังสือที่ผมอ่านและจากที่ผมได้ฟังบรรยายทั้ง 2 มีข้อมูลที่ตรงกัน โดยพบว่าเมื่อเข้าสู่การรักษาในตอนโตจะหายเป็นปกติประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ จะมีอาการหลงเหลืออยู่บ้างพอรำคาญประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ และอาการยังคงอยู่ไม่ต่างจากก่อนรักษาประมาณประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ ของคนที่ได้รับการเข้ารักษา แต่ทั้งนี้อาการโดยรวมจะดีขึ้นตามวัยเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้านอยู่ไม่นิ่ง ( Hyperactivity) มักจะดีขึ้นหรือบางคนก็หายเป็นปกติ ด้านหัวร้อน (Impulsivity) อาจมีอยู่ได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่อาการจะเหลือกันมักจะเป็นเหม่อลอย (Inattention) เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้การรักษาจะสำคัญมากโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนาการของร่ายกายเติบโตสูง จะช่วยเติมอะไรได้เยอะ ส่วนเรื่องยาบางคนอาการดีขึ้นในตอนโตก็อาจไม่ต้องกินหรือกินเป็นครั้งคราวแทน ส่วนในประเทศไทยพบว่าผู้ชายจะเป็นมากกว่าผู้หญิงในอัดตราส่วน 3:1

การช่วยเหลือและการรักษา

การใช้ยา

 การใช้ยาก็เป็นอีกสิ่งที่เป็นทางเลือกในการช่วยรักษายาจะช่วยไปกระตุ้นสมองส่วนหน้าและสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้อง ในบางคนที่ใช้ยารักษาตั้งแต่แรกและต่อเนื่องจะพบว่ายาจะไปกระตุ้นทำให้สมองส่วนหน้าทำงานได้ดีขึ้น เมื่อโตเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลายจะพบว่าเส้นใยสมองส่วนทางบกพร่องกลับมามีขนาดเท่าคนปกติ ว่าง่ายๆ ก็คือสมองกลับมาโตเท่ากับคนปกติและอาการสมาธิสั้นก็แทบจะหายไป และมีหลายคนที่กังวลเรื่องการใช้ยาว่าจะมีสารตกค้างแต่แท้ที่จริงแล้วยาไม่ได้ตกค้างและจะถูกขับออกไปเองได้ ดังนั้นในบางครั้งแพทย์เห็นควรว่าควรใช้ยาก็อาจเป็นไปตามความเหมาะสมของแพทย์

 ยาที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้และมักจะได้ผลก็คือกลุ่มยา Methylphenidate (MPH) ซึ่งจะมียาตัวหลักๆ อยู่ 2 ตัวก็คือ Ritalin Concerta

 - Ritalin เป็นยาที่คนนิยมใช้เพราะราคาถูก ขนาดที่กินจะเป็นไปตามน้ำหนักตัว โดยกิน 1 ครั้งจะออกฤทธิ์ได้ประมาณ 4 ชั่วโมง เลยทำให้อาจต้องกินยาหลายรอบและจะต้องต่อเวลายาดีๆ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ต่อเนื่อง

 - Concerta เป็นยาตัวเดียวกันกับ Ritalin แต่ใช้เทคโนโลยีใหม่กว่า กิน 1 เม็ดจะออกฤทธิ์ได้ 12 ชั่วโมง ทำให้ยาตัวนี้กินแค่ตอนเช้าครั้งเดียวก็จะอยู่ได้ทั้งวัน

 ยาทั้ง 2 ตัวนี้จะมีผลข้างเคียงคือ เบื่ออาหาร ปวดหัว ได้ เนื่องจากยาจะไปกระตุ้นการทำงานของสมองและกระตุ้นสารสื่อประสาทสมองที่ขาดบกพร่อง
นอกจากนี้ยังมียากลุ่มอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแพทย์ที่จะสั่งยา

 ไม่ควรหยุดยาเองหากว่าต้องเปลี่ยนปริมาณยาหรือว่ายามีผลข้างเคียงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง ส่วนถ้าถามว่ายาต้องกินไปจนถึงเมื่อไหร่อันนี้ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล ถ้าหากว่าอาการดีขึ้นจนไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตแพทย์อาจพิจารณาให้หยุดยาได้ บางกรณีเมื่อทานยาต่อเนื่องพอเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลายอาการดีขึ้นแพทย์อาจให้หยุดยาได้ บางรายเมื่อหยุดยาแล้วอาจเปลี่ยนมากินเป็นครั้งคราวแทนเช่น ในผู้ใหญ่ไม่ได้กินยาตลอดแต่อาจกินยาเฉพาะช่วงที่ใช้สมาธิเช่น ช่วงที่ต้องประชุมงานเป็นต้น

 ในกรณีที่เด็กสงสัยว่าทำไมต้องกินยาถ้าเป็นเด็กเล็กก็บอกไปว่ายาจะช่วยทำให้อยู่นิ่งขึ้น เรียนรู้เรื่องขึ้น แต่ในเด็กโตอาจต้องอธิบายเหตุผลว่าเมื่อกินยาแล้วจะมีข้อดีอย่างไรและอย่าโกหกเด็กเพราะจะทำให้ความเชื่อใจเด็กต่ำลงและจะทำให้การรักษาอยากขึ้น

 ในกรณีที่เด็กต้องพกยาไปกินที่โรงเรียนตอนเที่ยงอาจฝากยาไว้กับครูแล้วให้ครูให้ยาเด็กเพื่อป้องกันเด็กลืมและครูไม่ต้องทำให้เด็กคนอื่นรู้พยายามเก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัว หากต้องเตือนเด็กก็อาจคุยกับเด็กไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นโค้ชลับว่าถ้าครูทำแบบนี้คือให้เด็กมากินยา

 ในกรณีที่เด็กกินยาเองอาจให้เด็กแอบกินยาไม่ให้เพื่อนเห็นเพราะถ้าเพื่อนเห็นอาจเกิดการแกล้งเกิดขึ้นหรือเพื่อนบางคนเข้าใจผิดคิดว่ายานี้เป็นยาที่ทำให้เรียนเก่งแล้วแย่งยาไปกินก็จะเกิดอันตรายเพราะยาจะต้องให้แพทย์เป็นคนจ่ายเท่านั้น

 ทั้งนี้หมอได้บอกกับผมว่ายาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเพราะฉะนั้นยาจึงไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคนซึ่งแพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายบุคคล แต่ว่ายาจะช่วยทำให้อย่างอื่นง่ายขึ้นเช่น หากว่าน้องต้องฝึกปรับพฤติกรรมหากไม่ได้ทานยาน้องอาจไม่มีสมาธิพอที่จะฝึกได้ ยาจะช่วยทำให้การฝึกง่ายขึ้น แต่หากว่าน้องปรับพฤติกรรมโดยไม่ใช้ยาแล้วได้ผลยาก็อาจไม่จำเป็น

ผม P สุรเชษฐ์ ฆังนิมิตร 
สามารถติดตามและพูดคุยกับผมได้ที่เพจ : P สุรเชษฐ์ ฆังนิมิตร
หรือลิงค์ : https://www.facebook.com/psurachet95/?show_switched_toast=0&show_invite_to_follow=0&show_switched_tooltip=0&show_podcast_settings=0&show_community_transition=0&show_community_review_changes=0
ช่อง Youtube : P สุรเชษฐ์ ฆังนิมิตร 
หรือลิงค์ :  https://www.youtube.com/channel/UCcaotwQy4XufCWfUdJGmFtw
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่