ย้อนข้อมูลจริงที่คนไทยควรรู้ทัน วิกฤติต้มยำกุ้ง40 กับการลอยตัวค่าเงินจากทักษิณ รองนายกยุครัฐบาลชวลิต

ข้อมูลข้อเท็จจริงที่คนไทยควรรู้เท่าทัน มีดังต่อไปนี้

1. วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 กับการลอยตัวค่าเงินบาท

จุดฝีแตก คือ การลอยตัวค่าเงินบาท ก.ค. 2540 พลเอกชวลิตยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็ไปเซ็นกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ ผนวกเงื่อนไขรัดเข็มขัดการเงินการคลัง มัดมือมัดเท้าประเทศไทยไว้เสร็จสรรพ ก่อนจะลาออกไป

ภาวะก่อนปี 2540 ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2530 และเพิ่มสูงขึ้นตลอด (ในปี 2539 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 14,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เกิดปัญหาหนี้ต่างประเทศสืบเนื่องจากการเปิดเสรีทางการเงินโดยไม่มีระบบกำกับที่ดีพอ ทำให้พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเกินตัว มีการลงทุนเกินตัว ทุจริตปล่อยกู้ในสถาบันการเงินบางแห่ง และฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ตรึงอัตราแลกเปลี่ยนตายตัวอยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ และในที่สุด ก็ถูกโจมตีค่าเงินบาท นำเอาทุนสำรองออกมาต่อสู้จนหมดตูด ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท ค่าเงินอ่อนไปถึง 40-50 บาทต่อดอลลาร์) ธุรกิจล้มระเนระนาด คนตกงานกระจาย กระทั่งต้องไปขอกู้ไอเอ็มเอฟ

หนังสือแสดงเจตจำนง หรือ Letter of Intent : LOI ฉบับที่หนึ่ง ลงนามสมัยรัฐบาลชวลิต เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2540 ตกลงผูกมัดไว้หมดแล้วว่า รัฐบาลไทยจะต้องรัดเข็มขัดอย่างไร ควบคุมนโยบายการเงินอย่างไร ควบคุมนโยบายการคลังอย่างไร ห้ามขึ้นเงินเดือนราชการอย่างไร ต้องมีนโยบายรัฐวิสาหกิจอย่างไร ฯลฯ

ขณะเดียวกัน มีนักธุรกิจการเมืองไทยบางกลุ่มไม่เดือดร้อน เพราะรู้ข้อมูลวงในจากคนในรัฐบาล แถมได้ผลประโยชน์ไปมหาศาล จะเห็นว่า ต่างจากปัจจุบัน ที่เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง เงินบาทแข็งค่า

2. นายเสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย เคยกล่าวถึงเหตุการณ์นี้หลายครั้ง

นายเสนาะเขียนบทความ ตีพิมพ์ในหนังสือ รู้ทันทักษิณ 4 “จะเอาทักษิณหรือประเทศไทย” บางตอนเล่าว่า รู้จัก พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่ปี 2529 แบบผิวเผิน ตั้งแต่เป็นนายตำรวจติดตามรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณพยายามสร้างความสัมพันธ์กับหัวหน้าพรรค คือทำธุรกิจกับการเมือง วิ่งเต้นเข้าทางผู้ใหญ่สูงสุดของพรรค ต่อมาตนย้ายไปเป็นเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ พ.ต.ท.ทักษิณได้สนับสนุนปัจจัยการเมืองผ่านไปทาง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ในขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจึงได้เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี

“...ก่อนเกิดวิกฤติค่าเงินบาท นายอำนวย วีรวรรณ รมว.คลังในขณะนั้นลาออก มีการคิดกันว่าจะให้ตำแหน่งนี้กับ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยซ้ำ

ตนได้ไปทาบทามคนที่น่าเชื่อถือในสังคม โดย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รับปากว่าจะเข้ามาช่วยเป็นรมว.คลัง ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณไปนำนายทนง พิทยะ ผู้บริหารธนาคารทหารไทยมารับตำแหน่งนี้แทน โดยที่ตนไม่รู้เรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณไปซุบซิบกับ พล.อ.ชวลิต และนายโภคิน พลกุล อดีต รมต.สำนักนายกฯ แล้วจึงมีคำสั่งแต่งตั้งนายทนง

คนที่เกี่ยวข้องกับการลดค่าเงินบาทในขณะนั้นมี 4 คือ พล.อ.ชวลิต พ.ต.ท.ทักษิณ นายทนง และนายโภคิน ส่วนจะรู้เห็นกันขนาดไหนผมไม่รู้อันนี้ไม่มีใบเสร็จ แต่ถ้าถามผมว่าผลที่เกิดหลังค่าเงินบาทลอยตัวออกมาอย่างไร มันส่อชัดว่าทักษิณและบริษัทรอดวิกฤติคนเดียวคือ ผลลัพธ์มันสะท้อนชัดอยู่แล้ว การที่มีคนไปซื้อประกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาทเอาไว้มากๆ หรือไปซื้อดอลลาร์เอาไว้มากๆ ก่อนประกาศลอยค่าเงินบาท ก็เหมือนจุดไฟเผาบ้านตัวเองเพื่อเอาเงินประกัน เศรษฐกิจของชาติพังเสียหาย แต่ตัวเองรอดพ้นวิกฤติเพราะได้ประกัน...”

3. น่าสนใจว่า กรณีเกี่ยวกับการลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 เคยมีคดีความ กระทั่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ อาทิ 

คดีที่นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายสุเทพเทือกสุบรรณ อดีตสส. พรรคประชาธิปัตย์ กรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท

ตอนนั้น นายสุเทพตั้งข้อสงสัยทำนองว่านายโภคินได้นำมติจากที่ประชุมลับเรื่องการลดค่าเงินบาท ไปบอกทักษิณ ชินวัตร ทำให้บริษัทของทักษิณได้
ประโยชน์

ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 5730/2550 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2550 ยกฟ้อง ในคดีนี้ จำเลยนำสืบว่า ขณะเกิดเหตุ เป็น สส. อภิปรายในสภาเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ประเพณีปฏิบัติที่ทำกันทุกสมัยในกรณีที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีเพียง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่การประชุมในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 นั้น โจทก์เข้าร่วมประชุมด้วยทั้งที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย

ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่าเรื่องนี้ได้ทำเป็นความลับโดยมีผู้รู้เห็นเพียง 3 คน คือ ตนเอง นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่จำเลยทราบว่า โจทก์เข้าร่วมประชุมด้วย โดยทราบจากนายภูษณ ปรีย์มาโนช นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ และนายเริงชัย มะระกานนท์เมื่อจำเลยทราบว่าโจทก์เข้าร่วมประชุมด้วย จึงเห็นเป็นข้อพิรุธว่าโจทก์สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการค้าขายเก็งค่าเงินบาทได้ผลกำไร

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ) เป็น สส. มีสิทธิและหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพลเอกชวลิตได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โจทก์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชวลิตเป็นบุคคลที่ต้องรับการตรวจสอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

“....การกระทำของพลเอกชวลิตที่ยอมให้โจทก์ได้ร่วมรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อันเป็นเรื่องความลับที่สุดซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์และส่วนได้เสียของประเทศและประชาชนจำนวนมากเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ก่อนวันประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ถึง 3 วัน ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือควรรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและการตัดสินใจในครั้งนี้เลย และหลังจากนั้นยังยืนยันในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า มีผู้รู้ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเพียง 3 คนเท่านั้น คือ ตัวพลเอกชวลิต นายทนง และนายเริงชัย เป็นข้อพิรุธสำคัญ

ประกอบกับพันตำรวจโททักษิณซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการค้ารายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าใหญ่รายอื่นที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศที่ต่างประสบความเสียหายอย่างรุนแรง ย่อมเป็นมูลเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตั้งข้อสงสัยโจทก์ได้

จำเลยที่ 1 เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยว่าโจทก์เป็นผู้นำเอาความลับที่สุดดังกล่าวที่รู้มาโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่ควรจะรู้ไปบอกพันตำรวจโททักษิณ ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง

การตั้งข้อสงสัยดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงมีมูลเหตุเพียงพอที่จะให้ตั้งข้อสงสัยเช่นนั้นได้ ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยอย่างเลื่อนลอย อันจะทำให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่ 1 ที่จงใจฉวยโอกาสในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านให้ร้ายโจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร

การอภิปรายของจำเลยที่ 1 ที่พาดพิงถึงโจทก์นั้นยังอยู่ในขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของพลเอกชวลิต นายกรัฐมนตรี เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อันเป็นวิสัยที่พึงกระทำคำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป”

ทักษิณหน้าตาย  https://www.naewna.com/politic/columnist/42570
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่