JJNY : ดร.พรสันต์: ความยุติธรรมที่ล่าช้า│นักเศรษฐศาสตร์ชำแหละงบฯ│กระเป๋าฉีก!กกพ.จ่อขึ้นค่าไฟ│ถ่ายสด!อภิปรายฯร่างพ.ร.บ.งบ

ดร.พรสันต์ : ความยุติธรรมที่ล่าช้า ย่อมเป็นความอยุติธรรมในตัวเอง
https://www.matichon.co.th/politics/news_3374385
  
  
จากกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่พิจารณา ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) หลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามอิสระ ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 1,386,215 คะแนน ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกกต.
 
ล่าสุด (30 พ.ค.) ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
 
“ตามหลักการทางรัฐธรรมนูญ เวลาพูดถึง “การเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม” (Free and Fair Election) นอกจากจะหมายถึงว่า การเลือกตั้งนั้น ต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมไม่มีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงแล้ว ยังหมายความรวมถึง “ความรวดเร็วในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง” เพื่อให้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งสามารถเข้าทำหน้าที่ “ผู้แทนของประชาชน” ซึ่งหลักการนี้มีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือแม้แต่กฎหมายการเลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ เองด้วย
 
ความรวดเร็ว” ที่ผมพูดถึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศรับรองผลเลยในวันนี้พรุ่งนี้ จนไม่สามารถที่ทำการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งได้เลย หากแต่ต้องดูว่า “ถ้าเป็นการร้องเรียนที่ไม่ใช่ประเด็นที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญว่า เป็นการซื้อเสียงบิดเบือนเจตจำนงของผู้เลือก” ย่อมไม่มีเหตุผลอันควรตามกฎหมายที่จะประกาศผลล่าช้า (Excessive delay)
 
อย่างกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียงของ อ.ชัชชาติ เพื่อโยงไปยังความผิดเกี่ยวกับการซื้อเสียงตาม ม.65 ของกฎหมายเลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ตามหลักการแล้วผมเห็นว่าเป็นการตีความที่ “ไกลเกินกว่าเหตุอย่างชัดเจน” (Prima Facie Unreasonableness) ที่จะไปเชื่อมโยงได้ว่ามีลักษณะเป็นการทุจริตซื้อเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ลองพิจารณาง่ายๆ เลยว่า เป็นไปได้หรือที่ประชาชนจงใจที่จะเลือก หรือเทคะแนนให้ อ.ชัชชาติ เพียงเพื่อที่ต้องการได้ป้ายหาเสียงไปทำกระเป๋ารีไซเคิล อันเป็นการบิดเบือนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนตั้งแต่แรก? ฯลฯ
 
ดังนั้น เมื่อกรณีการร้องเรียนเพื่อกล่าวหาว่า อ.ชัชชาติ ทำการซื้อเสียงมิได้มีข้อเท็จจริงที่สลับซับซ้อนต่อการพิจารณาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งหรือไม่ แต่กลับเห็นได้ชัดเจนง่ายดายว่าหาได้เป็นอย่างที่กล่าวหา ก็ไม่มีน้ำหนักมากพอหรือเหตุผลใดที่จะเลื่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งออกไป
 
อีกทั้ง หากทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นแย้งกับที่ผมกล่าวมา ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะไม่สามารถตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้งได้ กล่าวคือ หากมีหลักฐานอย่างชัดเจนสามารถบ่งชี้ได้ตามข้อกล่าวหาของผู้ร้องว่า อ.ชัชชาติ กระทำความผิดซื้อสิทธิขายเสียงทำให้ท่านชนะเลือกตั้งโดยทุจริตจริง ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาได้ และหากศาลท่านเห็นว่าเกิดการทุจริตก็จะทำการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไป
 
ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งพึงต้องเข้าใจว่า “ความรวดเร็ว” ในการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งถือ “เป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม” การที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ส่วนหนึ่งก็โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเร่งรัดให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่ต้องการให้เกิดสุญญากาศว่างเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเพื่อประชาชน กรอบระยะเวลาตรงนี้จึงไม่ได้หมายถึงว่าต้องทำให้ครบกำหนดเต็มเวลาหากไม่ได้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มุมหนึ่งทางกฎหมายหมายถึง การคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยในแง่ที่ว่า “ผู้แทนที่เขาเลือกนั้นจะได้เริ่มต้นเข้าไปทำหน้าที่ตามที่ได้อาสาเข้ามาทำงานแทนประชาชน
 
ด้วยเหตุผลของหลักการทางรัฐธรรมนูญ การประกาศรับรองผลล่าช้าเกินความจำเป็นอย่างไม่สมเหตุสมผลจึงย่อมเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนด้วยนั่นเองครับ
 
ความยุติธรรมที่ล่าช้า ย่อมเป็นความอยุติธรรมในตัวเอง
#สุจริตรวดเร็วและเป็นธรรมต้องมาพร้อมกัน
 
https://www.facebook.com/pornson.liengboonlertchai/posts/pfbid0Uu7x9ALewpdNZdciFHzcScj6qopEJCgYeuBTT4GXAfJcfyXWAMpE9wdPtmhZDRKel
 

 
นักเศรษฐศาสตร์ชำแหละงบฯ 2566 ไม่ตอบโจทย์ประเทศ
https://news.thaipbs.or.th/content/316092
 
นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้รัฐบาลกอบกู้วิกฤตศรัทธาประชาชน ตัดลดงบฯ จัดซื้ออาวุธกองทัพและผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อช่วยเศรษฐกิจฐานราก หลังมองกรอบงบฯ ปี 2566 ไม่ตอบโจทย์ประเทศยุคหลังโควิด
 
การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ถูกฝ่ายค้าน พรรคการเมือง ตลอดจนนักวิชาการ มองตรงกันว่า กรอบการจัดทำงบประมาณไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 
ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 2566 มีโครงสร้างงบประมาณ ซึ่งยังคงยึดติดการจัดสรรงบประจำ ขาดการดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อยและนักเรียนที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
 
จากการพิจารณาเอกสารร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2566 พบว่า สัดส่วนงบประมาณเกี่ยวกับการดูแลสวัสดิการประชาชน มีเพียงร้อยละ 2.6 ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว มีสัดส่วนงบประมาณดูแลสวัสดิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ของจีดีพี และงบลงทุนพัฒนาประเทศ มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น
 
ทั้งนี้ เสนอให้รัฐบาลปรับลดงบจัดซื้ออาวุธ เพื่อนำมาตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ ยกระดับสวัสดิการ เพิ่มรายได้ผู้มีรายได้น้อย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานรากและเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้และลดความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 หลังพบว่าแต่ละปี กองทัพจะได้รับการจัดสรรเงินซื้อยุทโธปกรณ์ใหม่และเครื่องบินรบ เฉลี่ยปีละ 1 ลำทุกปี นับจากปี 2557 ซึ่งไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชน
 
ขณะที่นายสันติ กีระนันท์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะอดีตกรรมาธิการวิสามัญงบฯ ยอมรับว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณประจำปี มักมีนักการเมืองที่มีอิทธิพลเข้าแทรกแซงการทำงาน ส่งผลให้การจัดสรรงบฯ ไม่สามารถสะท้อนปัญหาของประชาชน พร้อมตั้งขัอสังเกตว่า งบยุทธศาสตร์กลายเป็นช่องว่างปกปิดรายจ่ายจัดซื้ออาวุธของเหล่าทัพกว่า 6 หมื่นล้านบาท และยังมีแผนจัดซื้อระยะยาวกว่า 4 แสนล้านบาท ในระยะ 10 ปี
 
สำหรับกรอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณกว่า 6.95 แสนล้านบาท ภายใต้สมมติฐานจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.2-4.2 และเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.5-1.5
 
https://www.youtube.com/watch?v=6WtDPcvCOwg


 
กระเป๋าฉีก! กกพ.จ่อขึ้นค่าไฟปลาย ก.ค.นี้ - ก๊าซหุงต้มแพงอีก กก.ละ 1 บาท
https://ch3plus.com/news/economy/ch3onlinenews/293695

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.65 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ประชุม กกพ. มีแนวโน้มที่จะเห็นชอบให้ขึ้นค่าไฟฟ้ารอบใหม่ จากเดิมอยู่ที่หน่วยละ 4 บาท เนื่องจากวิกฤตพลังงานโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากความยึดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ที่ลดเหลือเพียง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตเดิม จากปัญหาช่วงรอยต่อผู้รับสัมปทานใหม่ ทั้งหมดส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขึ้นค่าไฟฟ้า
  
ขณะที่ มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม หรือ ก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน แบบขั้นบันได เพื่อสะท้อนราคาที่แท้จริงในตลาดโลก และเพื่อดูแเสถียรภาพเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
 
สำหรับมติดังกล่าว กำหนดให้ราคาก๊าซเริ่มขยับเพิ่มขึ้น กิโลกรัมละ 1 บาท สำหรับถังบรรจุ ขนาด 15 กิโลกรัม จะทยอยปรับขึ้นครั้งละ 15 บาท/ถัง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 จนถึงรอบนี้ 1 มิถุนายน 2565 เป็นรอบที่ 3 แล้ว เท่ากับว่า รวมแล้วปรับราคา 45 บาท/ถัง
 
จากราคาก๊าซเดิม จาก 318 บาท เมื่อเดือนมีนาคม ปรับเป็น 333 ในเดือนเมษายน และปรับเป็น 348 บาท/ถัง ในเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน จะปรับขึ้นเป็น 363 บาท/ถัง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่