JJNY : ดร.เดชรัตยก10ข้อ หนี้จำนำข้าวไม่เหมือนประยุทธ์พูด│น้ำมันทะลุลิตรละ52│‘สุทิน’ซัดจัดงบ│เปิดงบกท.ปี65 เหลือใช้95ล.

ดร.เดชรัต ยก10 ข้อ หนี้จำนำข้าวไม่เยอะเหมือนประยุทธ์พูด แถมหนี้ประกันข้าวรบ.นี้ เท่าจำนำข้าวแล้ว
https://www.matichon.co.th/politics/news_3376341

 
ดร.เดชรัต ยก10 ข้อ หนี้จำนำข้าวไม่ได้เยอะเหมือนประยุทธ์พูด ชี้หนี้ประกันข้าวรบ.นี้ เท่าจำนำข้าวแล้ว
 
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด  ผู้อำนวยการ Think Forward Center นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศษสตร์การเกษตร อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์   เขียนข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องจำนำข้าวซึ่งนายกรัฐมนตรียกขึ้นมาโจมตีฝ่ายค้านในการอภิปรายงบประมาณปี 2566 ระบุว่า
 
หนี้จำนำข้าว จริงหรือไม่?
 
มีเพื่อนสอบถามมาเยอะว่า สิ่งที่นายกฯ กล่าวในสภาฯ เมื่อวานนี้ เกี่ยวกับหนี้จำนำข้าวเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน? ถ้าจะตอบสั้นๆ ก็มีทั้ง “จริง” “ไม่จริง” และ “พูดไม่หมด”
 
ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นกันที่คำกล่าวของนายกฯ กันก่อน ส่วนที่นายกฯ กล่าวในสภาฯ คือ
 
“ถ้าพูดเรื่องข้าวที่พูดว่างบวันนี้เป็นงบในอดีตไม่ใช่อนาคต ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โครงการจำนำข้าว ขาดทุนกว่า 9.5 แสนล้านบาท รัฐบาลนี้ตั้งงบชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้านบาท คงเหลือเงินต้น และดอกเบี้ยอีก 3 แสนล้านบาท เงินตรงนี้ถ้าอยู่เอามาทำอะไรได้อีกเยอะ ถามว่าใครทำเอาไว้ ผมก็ไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะย้อนกลับ”
 
คราวนี้ เรามาดูข้อเท็จจริง 10 ประการ จากงบการเงินประจำไตรมาส ล่าสุดของ ธกส. งวดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (หรือปลายปีที่แล้ว) และเอกสารร่างบประมาณประจำปี 2566 กัน
 
ในรายงานงบการเงินฉบับดังกล่าวระบุว่า
 
หนึ่ง การจำนำสินค้าเกษตรทุกประเภท ตั้งแต่ปี 2551-2557 ใช้เงินไป 960,665.35 ล้านบาท ย้ำว่า “ใช้เงินไป” ไม่ใช่ “หนี้” อย่างที่นายกฯ กล่าว
 
สอง เมื่อใช้ไปแล้ว หากมีการไถ่ถอนหรือขายผลผลิตออกไป เงินนั้นก็จะกลับเข้ามานะครับ ซึ่งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เงินนั้นกลับเข้ามาแล้ว 403,508.36 ล้านบาท ครับ
 
สาม เพราะฉะนั้น ส่วนที่ขาดทุน และเหลือเป็น “หนี้” ที่ต้องชำระจริงๆ คือ 557,157 ล้านบาทครับ
 
(ซึ่งก็ไม่น้อยนะครับ แต่ตัวเลขที่นายกฯ กล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้องครับ)
 
สี่ จาก 557,157 ล้านบาท รัฐบาลมีการโอนงบประมาณเพื่อชำระหนี้ไปแล้ว 276,462 ล้านบาท ไม่ใช่ 781,000 ล้านบาท อย่างที่นายกฯ กล่าว
 
ผมเข้าใจว่า นายกฯ เอาตัวเลขที่ไถ่ถอน/ขายผลผลิตไปรวมด้วย จึงได้ตัวเลขที่คลาดเคลื่อนเกินจริงเช่นนั้น
 
ห้า หนี้ที่เหลือคงค้างอยู่จึงเหลือประมาณ 280,694 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับที่นายกฯ กล่าว
 
หก ในปีงบประมาณ 2566 นี้ รัฐบาลก็ตั้งงบประมาณชำระหนี้ส่วนนี้อีก 26,649 ล้านบาท ซึ่งถ้าตั้งชำระในอัตรานี้ คาดว่า หนี้จากจำนำข้าวน่าจะอยู่กับระบบงบประมาณไปอีกกว่า 10 ปี
 
เจ็ด สิ่งที่นายกฯ ไม่ได้กล่าวก็คือ ในช่วงเวลา 2-3 ปี ระหว่างปี 2562-2564 รัฐบาลปัจจุบัน (ไม่นับรวมรัฐบาล คสช.) ได้สร้างหนี้เพิ่มจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว และอื่นๆ อีกอย่างน้อย 247,250 ล้านบาท
 
ขอย้ำว่า นายกฯ ไม่ได้กล่าวถึง “หนี้ที่รัฐบาลตนเองก่อ 247,250 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 ปี เลย
 
แปด จากหนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรและอื่นๆ 247,250 ล้านบาท รัฐบาล ตั้งชำระหนี้ที่ตนเองก่อไว้ในปีงบประมาณ 2566 นี้ 44,212 ล้านบาท
 
เก้า เมื่อรวมทุกรัฐบาลที่ผ่านมา มูลหนี้จากนโยบายรัฐบาลที่รัฐบาลติดค้าง ธกส. ไว้ในปัจจุบัน เท่ากับ 887,831.3 ล้านบาท
 
สิบ ถ้านำเงินเกือบ 900,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลเป็นหนี้ ธกส. ไว้ มาเทียบกับงบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า หนี้ดังกล่าวเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับในปีงบประมาณ 2566
 
นี่คือสิ่งที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เรียกว่า ระบบงบประมาณแบบ “ช้างป่วย”
 
สรุปสั้นๆ สุด (ก) หนี้จำนำข้าวมีอยู่จริง (ข) แต่ไม่ได้มากที่ประยุทธ์กล่าว (ค) ที่สำคัญ ประยุทธ์สร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก เท่าๆ กับหนี้จำนำข้าวที่เหลืออยู่เดิม (ง) ประยุทธ์ไม่กล่าวถึงหนี้ที่รัฐบาลตนเองก่อขึ้น (จ) ประยุทธ์โทษแต่คนอื่น (หรือรัฐบาลที่ผ่านมา)
  
เราไม่อาจยอมรับ “รัฐบาลที่ไม่บอกความจริงให้ครบถ้วนได้อีกต่อไป” มิฉะนั้น ประเทศจะป่วยยิ่งกว่านี้
   
https://www.facebook.com/decharut.sukkumnoed/posts/5131372720287971?_rdc=1&_rdr
 

  
กระอัก! ‘เบนซิน-ก๊าซ’ ขึ้นอีก น้ำมันทะลุลิตรละ 52บ. ‘แอลพีจี’ พรวดถัง 15 บาท
https://www.matichon.co.th/economy/news_3376259
  
กระอัก! ‘เบนซิน-ก๊าซ’ ขึ้นอีก น้ำมันทะลุลิตรละ 52บ. ‘แอลพีจี’ พรวดถัง 15 บาท
 
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,018,628 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.4% เฉพาะนำเข้าน้ำมันดิบ 951,689 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 9.1% สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 96,646 ล้านบาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 96.5% เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี) อยู่ที่ 66,938 บาร์เรลต่อวัน มูลค่า 5,801 ล้านบาทต่อเดือน ด้านการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาน้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และแอลพีจี อยู่ที่ 155,522 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 8.6% มูลค่า 17,464 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 70.2%
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ผลจากการนำเข้าน้ำมันที่มูลค่าสูงขึ้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้เดือนเมษายนมูลค่าการนำเข้าขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการส่งออกมาก ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,908.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ขาดดุลการค้าแล้ว 2,852.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 1 มิถุนายนนี้ รัฐบาลจะปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) อีก 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่กำหนดขึ้น 3 เดือน เดือนละ 1 บาทต่อ กก. ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน 2565 โดยการปรับขึ้นเดือนมิถุนายนนี้ จะส่งผลให้ราคาแอลพีจีขนาด 15 กก. อยู่ที่ 363 บาทต่อถัง ส่วนเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปต้องรอนโยบายจาก กบง.อีกครั้ง ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องปรับราคาแอลพีจีเดือนละ 1 บาทต่อ กก. เนื่องจากราคาตลาดโลกปรับสูงมากส่งผลให้ต้นทุนจริงเกินกว่า 400 บาทต่อถังต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว
 
รายงานข่าวแจ้งว่า สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และบางจาก ประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดขึ้น 0.80 บาทต่อลิตร เว้นอี85 ปรับขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มดีเซลทุกชนิดคงเดิม มีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป โดยราคาขายปลีกจะเป็นดังนี้ เบนซิน 95 ราคา 52.06 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 44.65 บาทต่อลิตร, อี20 ราคา 43.54 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 ราคา 44.38 บาทต่อลิตร, อี85 ราคา 37.24 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 พรีเมียม ราคา 50.14 บาทต่อลิตร, ดีเซลบี5 ราคา 32.94 บาทต่อลิตร, ดีเซลพรีเมียม ราคา 44.36 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร


 
‘สุทิน’ ซัด รบ.จัดงบแบบ ‘กบในกะลาครอบ’ รอฟังคำชี้แจงอีก 2 วัน ก่อนตัดสินใจโหวตคว่ำไหม
https://www.matichon.co.th/politics/news_3376381

‘สุทิน’ ซัด ‘รัฐบาล’ จัดงบเหมือน ‘กบในกะลาครอบ’ ภูมิใจในกะลาตัวเอง ขอรอฟังคำชี้แจงวันนี้-พรุ่งนี้ก่อนตัดสินใจโหวตคว่ำหรือไม่
 
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ว่าเมื่อวานนี้ (31 พฤษภาคม) การอภิปรายเป็นไปด้วยความราบรื่น ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่มีการก่อกวน ประท้วงให้เสียบรรยากาศ ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี สำหรับฝ่ายค้านเสนอปัญหาและวิเคราะห์ได้ดีแต่ยังไม่ 100% ต้องรอดูวันนี้และวันพรุ่งนี้ (2 มิถุนายน) แต่การตอบของรัฐบาลเป็นการใช้วิธีการตอบที่เป็นเทคนิคหรือไม่ก็ไม่ทราบ โดยในเรื่องการเติบโตเศรษฐกิจหรือเรื่องอะไรก็ตามก็จะอ้างเอาฐานของประเทศเป็นหลัก โดยละเลยที่จะไปเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ฟังเข้าใจสาระผิด เช่น เศรษฐกิจกำลังโตและกำลังฟื้นตัว แต่ถ้านำไปเทียบกับต่างประเทศจะเห็นว่าเรายังโตช้ามาก หรือการส่งออกที่รัฐบาลบอกว่าดีขึ้น ซึ่งดีกว่าเดิมจริงๆ แต่หากไปดูจะพบว่าการส่งออกยังอยู่ลำดับท้ายๆ ของอาเซียน
 
นายสุทินกล่าวต่อว่า ฉะนั้น ตัวเลขทุกอย่างที่รัฐบาลหยิบมาอธิบาย เอาฐานของประเทศไทยเป็นหลัก ทำให้เข้าใจสาระที่ผิด อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง ที่เรารอคำชี้แจง คือฐานที่จะผิดสำหรับการทำงบประมาณ คือการประมาณการรายรับที่ผิดและการประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีต่อไปผิด หากสมมุติฐานตรงนี้ผิดจะเป๋ไปทุกตัว ในเล่มเอกสารงบ รัฐบาลประมาณการณ์ว่าจีดีพี ปี 2565-2566 จะโตประมาณ 3.5-4% แต่เมื่อไปดูการประมาณการของทุกสำนักพบว่าประมาณการคนละอย่างกับรัฐบาล โดยประมาณการสูงสุดอยู่ที่ 3.2-3.3% และเมื่อฟังคำชี้แจงยังไม่มีการยืนยันได้ชัดว่าอะไรจะมาเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจโตและจีดีพีพุ่งได้ ดังนั้น การจัดงบมีความสุ่มเสี่ยง และที่สุ่มเสี่ยงยิ่งไปกว่านั้นจะไปเจอทางตันเรื่องงฯ เพราะจีดีพีไม่โต เก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า แต่เพดานเงินกู้ชนแล้ว จะไปกู้อีกก็ไม่ได้
 
นายสุทินกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รัฐบาลดูเหมือนจะเข้าใจบริบทโลก เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ภาวะเงินเฟ้อ โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ แต่เมื่อดูการจัดงบแล้วไม่ได้จัดงบเพื่อเรื่องดังกล่าว หรือจัดน้อยมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาคือการใช้ฐานของประเทศเป็นหลัก จึงเหมือนสำนวนไทยว่า “กบในกะลาครอบ” ดูในกะลาของตนเองและภูมิใจในกะลา แต่เมื่อเปิดกะลาออกไปดูก็พบว่าไม่ใช่ เราต้องทำอะไรมากกว่านี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่