แชร์วิธีรับมือความรู้สึกเกลียดเช้าวันจันทร์

เคยไหมคะพอใกล้หมดช่วงวันหยุด แล้วเศร้า เพราะคิดว่าวันจันทร์ก็จะกลับมาอีกแล้ว ซึ่งมันก็คืออาการ Monday Blues หรืออารมณ์เบื่อหน่ายวันจันทร์ ไม่พร้อมกับการเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่เพราะต้องบอกลาวันหยุดอันแสนสุขและกลับไปทำงานซะแล้ว  

สำหรับใครที่กำลังอยู่ในภาวะเกลียดหรือกลัววันจันทร์แบบนี้ JobThai Tips มีเคล็ดลับดี ๆ ในการรับมือกับอาการ Monday Blues มาฝาก 
 
เตรียมงานของวันจันทร์ตั้งแต่วันศุกร์ 
เป็นปกติที่หลาย ๆ คนจะรู้สึกหดหู่เมื่อคิดถึงวันจันทร์ แค่นึกถึงกองงานที่กำลังรอเรากลับไปทำ ก็ท้อตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้ว วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยเอาชนะอาการเพลียงานล่วงหน้าแบบนี้คือการเขียน To-do list สิ่งที่จะทำในวันจันทร์เอาไว้ตั้งแต่วันศุกร์ เพื่อดูว่ามีงานมีเยอะแค่ไหน เป็นงานอะไรบ้าง และพยายามจัดสรรงานที่จะทำในวันจันทร์ให้พอเหมาะพอดี ไม่แน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้หมดกำลังใจได้ และอาจลองลิสต์งานที่จะทำในวันจันทร์เป็นงานเบา ๆ แทนงานหนักที่ต้องใช้พลังหรือสมาธิเยอะ การเริ่มต้นสัปดาห์จะได้ไม่หนักหน่วงตั้งแต่วันแรก 
  
แต่ถ้างานที่ต้องทำมีเยอะจริง ๆ อาจลองดูว่ามีงานชิ้นไหนที่สามารถจัดการให้เสร็จได้ตั้งแต่วันศุกร์เลยไหมและเคลียร์งานเอาไว้ล่วงหน้า พอกลับมาจากการพักผ่อนสุดสัปดาห์ กองงานในวันจันทร์จะได้ไม่เยอะเกินไป 
 
ปิดโหมดทำงานแล้วเข้าโหมดพักผ่อน 
จัดการงานเสร็จเรียบร้อยในวันศุกร์แล้วก็ได้เวลาปิดโหมดทำงานแล้วเข้าโหมดพักผ่อน เลิกคิดเรื่องงาน ไม่เข้าไปเช็กอีเมลหรือแอบทำงานในช่วงวันหยุด เพราะถ้าไม่ยอมพักในช่วงเวลาที่พักได้ การวนกลับมาของวันจันทร์ก็อาจทำให้รู้สึกแย่และหงุดหงิดเนื่องจากงานได้เอาเวลาส่วนตัวไปหมด กลายเป็นว่า Work-life Balance ถูกทำลาย ชีวิตมีแต่เรื่องงาน ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว แม้จะมีวันหยุดแต่ก็ยังรู้สึกเหมือนไม่ได้หยุดพักเลยสักวัน นอกจากนี้การทำงานติดต่อกันนาน ๆ โดยไม่ยอมพักผ่อนก็อาจก่อให้เกิดอาการเหนื่อยล้าสะสม โรคทางกายต่าง ๆ เช่น อาการปวดไหล่ ปวดหลัง ออฟฟิศซินโดรม หรือภาวะหมดไฟในการทำงานได้อีกด้วย 
 
อย่าเก็บงานบ้านทั้งหมดไว้ทำในวันหยุด 
ปกติคนทำงานชอบเลือกเก็บงานบ้านทุกอย่างไว้ทำทีเดียวช่วงสุดสัปดาห์ เพราะวันธรรมดาแค่ทำงานก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว แต่เมื่อเก็บงานบ้านทุกอย่างไว้ทำรวดเดียวพร้อมกัน ก็กลายเป็นว่าใช้วันหยุดไปแล้วครึ่งวันหรือหนึ่งวันเต็ม ๆ กับการทำความสะอาดบ้าน และไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นเลย แถมพอทำงานบ้านเสร็จก็อาจรู้สึกหมดแรง เหนื่อยจนไม่อยากทำอะไรอีก แทนที่จะได้พักผ่อนหลังจากการทำงานมาตลอดสัปดาห์ก็กลายเป็นต้องใช้แรงงานเพิ่มอีกวัน เหลือวันหยุดให้พักหายใจอีกเพียงวันเดียว วันจันทร์ก็วนกลับมาทักทายอีกแล้ว 
  
เพราะฉะนั้นการทยอยทำงานบ้านทีละเล็กทีละน้อยในวันธรรมดาก็ช่วยให้มีเวลาพักในช่วงสุดสัปดาห์มากขึ้น โดยอาจแบ่งทำวันละนิดหน่อยเพื่อไม่ให้เหนื่อยเกินไป เช่น ถูห้องวันพุธ ล้างห้องน้ำวันพฤหัสบดี เท่านี้พอถึงวันหยุดก็จะได้ใช้เวลาว่างเพื่อพักผ่อนและทำกิจกรรมอื่น ๆ  
 
นอนหลับให้เต็มอิ่มและตื่นเช้ากว่าเดิมเล็กน้อย 
เมื่อรู้ว่าวันอาทิตย์กำลังจะหมดและวันจันทร์กำลังจะกลับมา หลายคนเลือกที่จะอยู่ทำกิจกรรมอื่นจนดึกเพื่อทิ้งท้ายวันหยุดก่อนกลับไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการดูซีรีส์ เล่นเกม หรือปาร์ตี้ จนบางครั้งก็ติดลมและรู้สึกตัวอีกที เวลาก็เข้าตีหนึ่งหรือตีสองไปแล้ว ทำให้เหลือเวลานอนอีกไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น สุดท้ายก็กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอและตื่นเช้ามาทำงานแบบอิดโรย ไม่สดชื่นในวันจันทร์นั่นเอง 
  
ดังนั้นถึงจะเป็นวันหยุดก็ควรเข้านอนตามเวลาปกติเหมือนกับวันทำงาน เพราะถ้าเข้านอนผิดเวลา นาฬิการ่างกายก็อาจรวนและส่งผลเสียกับสุขภาพรวมถึงการทำงานได้ ถ้าปรับเวลาการเข้านอนให้คงที่ทุกวัน ร่างกายก็จะเคยชินและไม่ต้องคอยปรับตัวกันใหม่ทุกครั้งเมื่อหมดช่วงสุดสัปดาห์ โดยในวันอาทิตย์อาจเข้านอนให้เร็วขึ้นนิดหน่อยและตื่นเช้ากว่าเดิมสักครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง เพื่อจะได้มีเวลาให้กับตัวเองอีกเล็กน้อยก่อนเข้างาน ไม่ต้องรีบร้อนมาก โดยอาจใช้เวลาที่เพิ่มขึ้นมาตรงนี้เพื่อรีแลกซ์  
 
หลีกเลี่ยงการนัดประชุมในวันจันทร์ 
หลังหยุดพักผ่อนและกลับมาทำงาน อาจทำให้คนทำงานบางคนรู้สึกว่าร่างกายและจิตใจยังปรับตัวไม่ทัน ทำให้เริ่มต้นวันแรกของสัปดาห์แบบเบลอ ๆ หรือไม่เต็มร้อย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการนัดประชุมใหญ่ที่กินเวลานาน ใช้เวลาในการเตรียมตัวมาก หรือนัดประชุมหลาย ๆ ประชุมในวันจันทร์ โดยอาจโยกประชุมเหล่านี้ไปไว้ในวันอังคารหรือวันพุธแทน จะได้ไม่ตึงเครียดจนเกินไปตั้งแต่เริ่มต้นสัปดาห์ นอกจากนี้จะได้มีเวลาให้ตัวเองและเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ได้ปรับจูนเข้าสู่โหมดทำงานกันก่อนด้วย หรือหากจำเป็นต้องนัดประชุมเพื่อคุยงาน อัปเดตความคืบหน้าต่าง ๆ ในวันนี้จริง ๆ ก็อาจเริ่มต้นด้วยการชวนคุยเรื่องสัพเพเหระเพื่อผ่อนคลายก่อนเข้าเรื่อง เช่น วันหยุดที่ผ่านมาได้ไปเที่ยวไหนบ้างหรือเปล่า มีแผนทำกิจกรรมอะไรสนุก ๆ ในสัปดาห์นี้บ้างไหม 
  
ลองปรับตารางหรือรูปแบบการทำงานให้ต่างจากเดิม 
นอกจากเลี่ยงการประชุมที่ชวนตึงเครียดในวันจันทร์แล้ว การปรับรูปแบบการทำงาน นโยบายหรือตารางงานของวันจันทร์ก็อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยแก้อาการ Monday Blues ได้ โดยบริษัทอาจอนุญาตให้พนักงานเข้างานสายขึ้น 1 ชั่วโมงหรือออกจากงานเร็วขึ้น 1 ชั่วโมงเพื่อให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น กำหนดให้วันจันทร์เป็นวัน Work from Home ประจำสัปดาห์ ถือเป็นการปรับจูนเข้าโหมดทำงานโดยเริ่มทำงานวันแรกที่บ้านก่อนเดินทางมาออฟฟิศในวันถัดไป หรือจัดกิจกรรมเล็ก ๆ ในออฟฟิศทุกวันจันทร์เพื่อให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายก่อนลุยงานทั้งสัปดาห์ และไม่รู้สึกว่าวันจันทร์เป็นวันที่น่าเบื่อ มีแต่เรื่องงานอัดแน่น เช่น จัดปาร์ตี้ขนมช่วงบ่าย เล่นบอร์ดเกมกับเพื่อนร่วมทีม ฯลฯ 
  
แพลนกิจกรรมสนุก ๆ ไว้ทำช่วงเย็นหลังเลิกงาน 
บางทีวิธีการรับมือกับอาการเกลียดวันจันทร์ที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดก็อาจเป็นการเปลี่ยนจาก ‘วันที่ไม่อยากเจอ’ ให้กลายเป็น ‘วันที่อยากให้มาถึงเร็ว ๆ’ ด้วยการแพลนกิจกรรมที่ชอบเอาไว้ช่วงหลังเลิกงาน เป็นเหมือนการให้รางวัลตัวเองหรือสร้างแรงจูงใจในการเฝ้ารอวันจันทร์นั่นเอง เช่น จองตั๋วดูหนังรอบเย็นวันจันทร์ และนัดเจอเพื่อน แวะไปเดินช้อปปิ้งที่ห้างใกล้ ๆ ออฟฟิศ หรือหาร้านอาหารอร่อย ๆ เพื่อทานมื้อเย็นก่อนกลับบ้านสักมื้อ เพียงเท่านี้วันจันทร์ที่แสนน่าเบื่อก็อาจกลายเป็นวันที่มีสีสันได้ 
 
ภาวะ Monday Blues นั้นเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับใครและไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากเราสามารถปรับมุมมองที่มีต่อวันจันทร์และหาวิธีเปลี่ยนให้วันที่น่าเบื่อหน่ายกลายเป็นวันที่แสนสนุกได้ อาการเกลียดหรือกลัว ไม่อยากให้วันจันทร์มาถึงก็จะค่อย ๆ หายไปเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่