JJNY : "ก้าวไกล"ประกาศไม่ให้ผ่านงบ│ศก.ไทยขนหัวลุก3ปี│“ไอติม”ถามงบ3.185 ลล.พอหรือไม่│สวิสจ่อทำประชามติ “ต้านซื้อเอฟ 35”

"ก้าวไกล"ประกาศไม่ให้ผ่านงบประมาณปี 66 เหตุรูปแบบยังคงเดิม
https://www.nationtv.tv/news/378874538
 
 
"พรรคก้าวไกล"ไม่ให้ผ่านงบ​ 66 แม้ลดลงแต่รูปแบบยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะกลาโหมที่ยังทุ่มไปในส่วนของบุคลากร ยัน​พิจารณาตามเนื้อหายึดหลักการ มอง​ข้อสังเกตุเรื่องฝ่ายค้ายเล่นเกมการเมืองล้มรัฐบาลเป็นเรื่องของสภาฯ 

28 พฤษภาคม 2565 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคไม่รับหลักการ ร่างงบประมาณปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งจากการศึกษาและทำการบ้านเกี่ยวกับการจัดงบประมาณอย่างตรงเป้าตรงจุด โดยตลอดการจัดสรรงบ 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2563-2566 สุดท้ายแทบไม่มีความแตกต่าง

น.ส.ศิริกัญญา​ กล่าวต่อว่า​ พบมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง เพราะ 3.185 ล้านล้านบาท ร้อยละ 40 ถูกใช้จ่ายไปกับค่าใช้จ่ายประจำบุคลากร และยังต้องใช้งบคืนหนี้เงินกู้ และงบภาระผูกพัน โดยเฉพาะงบปี 2566 ปีสุดท้ายเป็นงบใหญ่โต แต่ใช้ได้จริงเพียง 1 ใน 4 ซึ่งจะเป็นปัญหาในการฉุดรั้งพัฒนาประเทศยาวนาน หากไม่มีการแก้ไขปัญหา และการจัดเก็บรายได้ไม่สม่ำเสมอ และสุดท้ายรัฐบาลจะมีงบประมาณไม่เพียงพอ ที่จะฟื้นฟูประเทศให้ออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้ 

ขณะที่กระทรวงกลาโหม​ แม้งจะมีการจัดสรรงบลดลง แต่ยังไปปูดอยู่ที่บุคลากรมากขึ้น เนื่องจากกองทัพมีขนาดใหญ่มาก แม้จะมีการลดงบอาวุธลง หรือตัดงบเรือดำน้ำ แต่งบบุคลากรยังเพิ่มเรื่อยๆ จะฉุดรั้งไม่ให้สามารถใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ 

ส่วนการคว่ำร่างงบประมาณปี 2566 เป็นเกมการเมืองล้มรัฐบาล ให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น ส่วนตัวมองการเมืองก็เป็นเรื่องของเกมการเมือง แต่ปัจจัยหลายเรื่องไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายค้านดั้งเดิม เพราะมีกลุ่มก้อนการเมืองเพิ่งมาในระยะหลัง จากความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล และขอย้ำว่าการพิจารณาอยู่บนหลักการ ส่วนเกมการเมืองก็ไปว่ากันในสภาฯ ยืนยันทำหน้าที่ตรวจสอบงบอย่างดีที่สุด
 

 
เศรษฐกิจไทยขนหัวลุก 3 ปี สงครามเงินเฟ้อจุดวิกฤตรอบใหม่
https://www.prachachat.net/finance/news-941743
 
เศรษฐกิจไทยขนหัวลุกเดินเข้าสู่มรสุมลูกใหม่ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เปิด 7 ประเด็นป่วนโลก กดดันเศรษฐกิจไทยลากไปอีก 2-3 ปี เผยสงครามรัสเซียกระทบการค้าโลกชะลอตัว เครื่องยนต์ “ส่งออก” ลดกำลังลง ไทยต้องหาเครื่องยนต์ใหม่แทน “เฟด” ทำสงครามเงินเฟ้อ จุดชนวนวิกฤตรอบใหม่ ตลาดเงินโลกปั่นป่วน สหรัฐเสี่ยงเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย ประธานบอร์ด “แบงก์ชาติ” จี้แก้ไขฐานะการคลังตุนกระสุนรับวิกฤตรอบใหม่ กลุ่มธุรกิจโรงแรม-การบินกัดฟันวิ่งสู้ฟัดอีก 2-3 ปี
 
เดินเข้าสู่วิกฤตใหม่
 
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานสัมมนา “ประชาชาติธุรกิจ” ก้าวสู่ปีที่ 46  “New Chapter เศรษฐกิจไทย” ว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้หลังจากกระยิ้มกระสนอยู่ในอุโมงค์จากผลกระทบโควิด-19 มากว่า 2 ปี และกำลังจะออกจากอุโมงค์ ดัชนีวัดต่าง ๆ สะท้อนว่ากำลังจะผ่านพ้นปัญหาไปได้ แต่ก็กำลังเข้าสู่เฟสใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายในการประคองให้อยู่รอด
 
“เรากำลังไปสู่ความท้าทายชุดใหม่ที่แตกต่างจากช่วง 2 ปีก่อน หรือหมายถึงเราออกจากวิกฤตหนึ่งและเข้าสู่วิกฤตหนึ่ง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านจะมีความผันผวน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนในระบบการค้าและการเงินโลก เทคโนโลยีดิสรัปชั่น
 
รวมถึงการแข่งขันและโอกาสที่เปิดในยุคศตวรรษของเอเชีย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นช่วงลำบากใจ เป็นข่าวร้ายที่รออยู่ข้างหน้า แต่หากเราสามารถฟันฝ่าได้ จะนำไปสู่ Next Chapter ได้”
 
7 ประเด็น “เขย่าขวัญ” เศรษฐกิจไทย
 
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ความท้าทายเฟสใหม่มี 7 เรื่องด้วยกัน โดย 3 เรื่องแรกเป็นปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและสหรัฐ ได้แก่ 
1. วิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศที่รุนแรงและลุกลามออกไปเรื่อย ๆ 
2. วิกฤตพลังงานที่ราคาจะสูงเป็นพิเศษต่อไป 
3. วิกฤตอาหารโลก จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลต่อไปยังต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ และทำให้การผลิตลดลง ทำให้หลายประเทศตัดสินใจไม่ส่งออกอาหาร
4. ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก 
5. เสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ และประเทศต่าง ๆ 
6. โอกาสเกิดวิกฤตในประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในศรีลังกา และเนปาล จากการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐ 
และ 7. ปัญหาเศรษฐกิจจีนซึ่งอาจลุกลามได้
 
แม้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะจบ แต่การคว่ำบาตรจะยังไม่จบ เป็นสาเหตุทำให้ราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลงหลังสงครามยุติจะค้างเติ่งอยู่ระดับสูงไปอีก 1-2 ปี ทำให้การปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่าย และภาครัฐจะใช้นโยบายการอุดหนุนพลังงานได้ยากขึ้น
 
เฟดทำสงคราม “เงินเฟ้อ”
 
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า จากปัญหาราคาพลังงานนำมาสู่ปัญหาเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นทุกประเทศ จาก supply shock และจะลุกลามไปสู่เงินเฟ้อพื้นฐาน จนเกิดการปรับขึ้นต้นทุนทั้งวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และอื่น ๆ นำไปสู่การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย จากที่เคยอยู่นิ่ง ๆ ต่ำ ๆ ก็ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งระดับดอกเบี้ยที่เห็นอยู่ปัจจุบันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
 
“เงินเฟ้อสหรัฐขึ้นไปที่ระดับ 8.3% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งมีโอกาสที่จะค้างอยู่ในระดับสูง สะท้อนว่าสงครามของเฟดกับเงินเฟ้อครั้งนี้จะต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์สำคัญหลายอย่าง โดยดอกเบี้ยเฟดบอกจะขึ้นไป 2-3% แต่ถ้าดูข้อมูลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เฟดสู้เงินเฟ้อมา 3 รอบ รอบแรกดอกเบี้ยจบที่ 2.5% เพราะเงินเฟ้อไม่สูง
 
ส่วนรอบ 2 เงินเฟ้ออยู่ที่ 3-4% ดอกเบี้ยขึ้นไปกว่า 5% และรอบ 3 เงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ดอกเบี้ยขึ้นไป 6.5% ถามว่าจบปีนี้เฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปเท่าไหร่ เพื่อเอาเงินเฟ้อที่ค้างอยู่สูงลงมา เอาเงินเฟ้อพื้นฐานที่ขึ้นไปลงมาให้ได้”
 
ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะเฟดกำลังทำสงครามกับเงินเฟ้ออย่างไม่มีเมตตา เพราะเฟดมีหน้าที่จัดการคู่ต่อสู้ให้ได้ ส่วนคนที่เหลือในตลาดทุน ตลาดเกิดใหม่ ก็มีหน้าที่ปรับตัวกันไป หรือแม้แต่รัฐบาลสหรัฐก็ยังต้องปรับตัว เพราะเฟดบอกว่าจะสู้กับเงินเฟ้อให้ชนะ
 
รับมือตลาดเงินโลกปั่นป่วน
 
ดร.กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า การประกาศทำสงครามกับเงินเฟ้อของเฟด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความปั่นป่วนของตลาดการเงินโลก นอกจากเรื่องดอกเบี้ย ยังมีเรื่องของการดูดสภาพคล่องกลับ ทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดพลาดของการประเมินสถานการณ์โควิด-19 ที่คิดว่าโควิดจะรุนแรงเป็นพิเศษ ทำให้เฟดลดดอกเบี้ยลงมาต่ำเป็นพิเศษ และอัดฉีดสภาพคล่องมากเป็นพิเศษ แต่สุดท้ายแล้วปัญหาโควิดไม่ได้หนักอย่างที่คิด
 
“ปัญหาคืออัดฉีดสภาพคล่องไปแล้ว และค้างอยู่อย่างนั้น กำลังจะเป็นต้นตอของฟองสบู่ และต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจที่เฟดจะต้องมาเก็บกวาด ดังนั้นความผิดพลาดใน 2 ปีที่แล้ว จึงหมายถึงความรุนแรงของการแก้ปัญหาในวันนี้ โดยเฟดได้มาส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ จนกว่าเงินเฟ้อจะลง ซึ่งดอกเบี้ยอาจจะเป็น 5-6% หรือมากกว่า แล้วตลาดการเงินจะเป็นอย่างไร”
 
ผวาปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย
 
สิ่งที่น่าสนใจคือ สินทรัพย์ทุกอย่างที่ผ่านมามีการเติบโตสูงสุดในเดือน พ.ย. 2564 เช่น ตลาดหุ้นดาวโจนส์อยู่ที่ 36,000 จุด จากนั้นภายใน 6 เดือน  เหลือ 32,000 จุด เกือบจะไปจุดเริ่มต้นก่อนเกิดโควิด เช่นเดียวกับตลาดหุ้นแนสแดคจาก 16,000 จุด เหลือ 11,000 จุด และบิตคอยน์ที่ขึ้นไปกว่า 60,000 ดอลลาร์ วันนี้ลงมาเหลือ 29,000 ดอลลาร์
 
และพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี ตอนนี้ก็หายไปเกือบ 20% หรือแม้แต่เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เงินเยนอ่อนค่าหนัก เงินบาทก็อ่อนค่ามาระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนเงินหยวนก็ยอมปรับให้อ่อนค่าลงมา ทั้งหมดนี้ผลพวงของการประกาศสงครามครั้งนี้ทำให้ฟองสบู่ที่เคยท่วมปรับลงมา
 
“นี่คืออาการของตลาดที่ปั่นป่วนเป็นพิเศษ เป็นช่วงท้าทายที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา”
 
จับตาหนี้ท่วมตลาดเกิดใหม่
 
ดร.กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า อีกปัญหาที่ต้องติดตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาเตือนปัญหาวิกฤตหนี้ในประเทศเกิดใหม่ ซึ่งเริ่มเห็นตัวอย่างในศรีลังกา และเนปาล ปากีสถาน ซึ่งสะท้อนว่าประเทศเล็ก ๆ กำลังอ่อนแอและเจอปัญหาก่อน ซึ่งตอนนี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยมา 2 ครั้ง ยังกระทบขนาดนี้ แล้วหากเฟดต้องสู้ไปเรื่อย ๆ ประเทศที่กู้เงินมามากระหว่างช่วงโควิดจะเป็นอย่างไร
 
ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็ยังน่าห่วง ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังน่ากังวล เพราะตัวเลขดัชนีต่าง ๆ ออกมาไม่ค่อยดี แถมยังมีการปิดเมืองซ้ำเติมเข้าไปอีก ซึ่งเป็นฟองสบู่ที่ไม่เคยแตกเป็นเวลาหลายสิบปี แต่สะสมกำลังไว้
 
“ทั้งหมดนี้จะบอกว่า 2-3 ปีข้างหน้าไม่ง่าย ต้องเตรียมการรับมือมรสุมลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น โดยโอกาสก็มีมากมาย แต่ความท้าทายก็มีเยอะ”
 
หาเครื่องยนต์ใหม่แทนส่งออก
 
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า การจะไปสู่ Next Chapter เศรษฐกิจไทย จะต้องตอบคำถาม 2 ข้อให้ได้ 
1. จะเตรียมรับมือความผันผวนในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าอย่างไร 
และ 2. ไทยจะสำเร็จในช่วง Next Chapter ได้อย่างไร ทุกคนต้องเตรียมการ ประเทศก็ต้องเตรียมการ ปีที่แล้วเศรษฐกิจอาจไปได้ดีเพราะส่งออก แต่ปีนี้เครื่องยนต์ส่งออกจะลดลงเหลือครึ่งเดียว เพราะเศรษฐกิจโลกจะแผ่วลง ปัญหาต่าง ๆ ทำให้การค้าโลกลดลง
 
“เราต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เช่น โครงสร้างพื้นฐานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีการอนุมัติหลายโครงการ ถึงเวลาต้องลงทุนแล้ว รวมถึงการดึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพราะขณะนี้ทุกคนกำลังหนีตายจากประเทศจีน รัสเซีย ยุโรป ทำให้อาเซียนดูดีที่สุด ซึ่งเป็นโอกาสของไทย
  
และปัจจัยที่ดีที่สุด คือ การท่องเที่ยวกำลังจะฟื้น และจะกลายเป็นเครื่องยนต์ใหม่ เพราะมีสัดส่วนถึง 10% ของจีดีพี หากไทยสามารถพลิกฟื้นได้ราวครึ่งหนึ่ง ประมาณ 5-6% ของจีดีพี ก็จะทำให้มีโมเมนตัมเข้าสู่มรสุมลูกใหม่”
 
Next Chapter เศรษฐกิจไทย
 
“เรามีเวลาประมาณ 2 ปีกว่า หากเตรียมการได้ดี เราจะผ่านไปได้ ประเทศไทยจะมีอะไรเป็น New Chapter ที่เป็นพระเอกคนใหม่ เพราะบุญเก่าเราจะหมดแล้ว ต้องคิดว่าจะทำยังไงเป็นศูนย์กลาง regional company, R&D, logistic, new S-curve, startup ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโอกาส หากเราสามารถตอบคำถาม 2 ข้อได้ ทุกอย่างจะผ่านไปได้”
 
แก้ฐานะการคลัง-รับมือดอกเบี้ยขาขึ้น
  
ขณะที่ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ฟื้นตัวบนความไม่แน่นอน โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าคาด เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับประมาณการทั้งปีลงเหลือ 3% ใกล้เคียงกับของ ธปท.ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2%
 
ส่วนอัตราเงินเฟ้อ สศช.คาดว่า ปีนี้ 4.9% สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ทั้งนี้ หลังวิกฤตโควิด โจทย์แรกที่ต้องกลับมาแก้ไขคือ ฐานะการคลัง ประเทศไทยยังมีเสถียรภาพ แต่ความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหลือน้อยลง
 
เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 58% ต่อจีดีพี และจากที่ต้องจัดงบประมาณขาดดุลทุกปี หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นไปที่ 67% หรือมากกว่านั้นในปี 2569
 
“เราอยู่ในโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน อาจจะเจอวิกฤตที่ไม่คาดคิดได้เสมอ ฉะนั้นเมื่อพ้นโควิดไปแล้วก็ควรจะจัดการให้หนี้สาธารณะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบ 60% ต่อจีดีพี เพื่อให้มีความสามารถ และกระสุนให้ใช้นโยบายการคลังได้ หากเจอวิกฤตที่ไม่คาดคิดอีก
 
โจทย์หารายได้รัฐ และการบริหารงบประมาณที่มีจำกัด จะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลชุดต่อไป ส่วนนโยบายการเงินที่ผ่านมามีการลดดอกเบี้ยลงจนเหลือระดับ 0.5% แนวโน้มระยะต่อไปก็ต้องปรับขึ้น ซึ่งต้องรอดูจังหวะที่เหมาะสมต่อไป” 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่