JJNY : 6in1 แพงทั้งแผ่นดิน!│ปราจีนฯยอดซื้อตก│ตรึงหมูได้เฉพาะกทม.│หยุดทำประมงชั่วคราว│ทนายตั้มอุบ│ณัฐวุฒิให้อภิสิทธิ์ตอบ

แพงทั้งแผ่นดิน! โฆษกพท.จี้ดูแลค่าครองชีพ-แนะลดกำไร3รัฐวิสาหกิจ
https://www.dailynews.co.th/news/1012437/
 
โฆษกพรรคเพื่อไทยกระตุกรัฐบาลเร่งดูแลค่าครองชีพอย่าทอดทิ้ง หลังจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพาเหรดขึ้นราคา แนะลดกำไร 3 รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มาช่วยก่อนประชาชนลุกฮือ
 
 
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศตกทุกข์ได้ยากอย่างแสนสาหัส จากการที่รัฐบาลนิ่งเฉย ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพ ในภาวะที่ประชาชนตกงาน เรียนจบไม่มีงานทำ มาตั้งแต่ปี 63 จนถึงสิ้นปี 64 จนถึงปัจจุบันรวมมากกว่า 2 ล้านคน ขณะที่เดือนนี้รัฐทยอยเลิกอุดหนุนค่าพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นลิตรละ 2 บาท ทำให้กระทบกับต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนก๊าซหุงต้มราคาปรับขึ้นอีก 15 บาทต่อถัง (15 กก.) และจะปรับขึ้นอีกในเดือนมิถุนายนอีก 15 บาท จะทำให้ราคาอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ส่วนค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนนี้จนถึง ส.ค.65 จะปรับขึ้นอยู่ที่หน่วยละ 4 บาท เป็นค่าไฟที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 
 
แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟแต่ยังไม่ถึงครึ่งที่ประชาชนต้องจ่ายต่อจริง ยังรวมไปถึงราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ ที่แพงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเกษตรปรับเพิ่มสูงขึ้น จะเห็นได้ว่าต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนแพงขึ้นทั้งหมด ปัญหากำลังทับถมรุมเร้าคนไทยให้จนมุม ไม่สามารถจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ แม้ทำงานมีรายได้ต่อวัน หรือทำการเกษตร ล้วนต้องทำมาเพื่อจ่ายไปซ้ำที่หามาได้ยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าอาหารต่อวันด้วยซ้ำขณะที่รัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ
 
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ มี 2 วิธี สามารถทำได้ทันที คือ 

1.ปรับลดกำไรของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 3 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลง เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) หลายครั้ง ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ประชาชน แต่ได้ทำให้กำไรของทั้ง 3 หน่วยงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี 
 
โดยพบว่าปี 63 กฟผ. มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 31,311 ล้านบาท ในปี 64 กำไรเพิ่มขึ้น 2,000 กว่าล้านบาท อยู่ที่ 33,486 ล้านบาท ส่วน กฟน. มีกำไรปี 62 อยู่ที่ 5,356 ล้านบาท ในปี 63 กำไรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,922 ล้านบาท ส่วน กฟภ. มีกำไรในปี 63 อยู่ที่ 9,986 ล้านบาท ในปี 64 เพิ่มขึ้นกว่า 5,700 ล้านบาท มาอยู่ที่ 15,694 ล้านบาท กำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นอยู่ที่ใคร เพราะทั้ง 3 หน่วยงานไม่ได้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวิธีการรีดเลือดกับปูเพื่อนำเงินที่ได้ส่งเข้าคลังหวังเป็นการสร้างรายได้ให้กับรัฐทางอ้อมในสถานการณ์ที่ประชาชนเดือดร้อนทุกหัวระแหงเช่นนี้ใช่หรือไม่
 
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวด้วยว่า 2.กระทรวงพาณิชย์ต้องเข้าไปบริหารจัดการราคาสินค้าที่ปลายทางซึ่งมีราคาสูง ในขณะที่ผู้ผลิต อย่างเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน หรือผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคขายส่งสินค้าได้ในราคาที่ต่ำ ถูกกดราคา เรียกได้ว่าตอนนี้เป็นยุค “คนผลิตขายจน คนซื้อของแพง” จึงอยากทราบว่า ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น ตกอยู่ที่ใครกันแน่ เหตุใดยิ่งบริหาร ประชาชนยิ่งเดือดร้อนมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลไม่เคยบริหารจัดการราคาสินค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น ทั้งที่วิกฤติโรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ ล้วนเกิดจากน้ำมือการบริหารของรัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จนทำให้ของแพงทั้งแผ่นดิน ตอนนี้ประชาชนถูกรัฐทอดทิ้งลอยแพให้มีชะตากรรมที่ต้องพึ่งพากันเองเสมือนไร้รัฐ หากทำได้เพียงเท่านี้ ท่านควรถอยไป ปลดปล่อยชีวิตประชาชนให้เป็นอิสระพ้นพันธนาการจากรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพโดยเร็ว ก่อนที่ประชาชนจะลุกฮือ เพราะทนไม่ไหวกับชีวิตที่ถูกกดต่ำ แล้ววันนั้นรัฐบาลอย่าอ้างว่าเป็นความขัดแย้ง แล้วอ้างเหตุให้ทำรัฐประหารอีกครั้ง.
 

 
แห่ขึ้นราคาแล้ว! หมู-ผัก-ไข่ ปราจีนฯ ยอดซื้อตกฮวบ บ่นอุบน้ำมันแพง
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7029005
 
หมู-ผัก-ไข่ ปราจีนบุรี ได้ฤกษ์ ขึ้นราคา บ่นอุบหลังน้ำมันแพง ด้าน พ่อค้าแม่ค้า โอดแบกรับภาระมาก ๆ ลูกค้าซื้อน้อยลง วอนติดป้ายราคาให้ชัดเจน
   
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 3 พ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เกี่ยวกับสถานการณ์ราคาจำหน่ายอาหาร ว่า จากการสำรวจตลาดพบที่ ตลาดหน้าค่ายจักรพงษ์ ต.ดงพระราม อ.เมืองปราจีนบุรี พ่อค้าได้ขึ้นป้ายราคา พบราคาเนื้อสุกรแตะราคาสูงกว่า 200 บาทขึ้นรอไว้แล้วล่วงหน้า โดยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าน้ำมันแพง
 
สำหรับราคาเนื้อแดง-สะโพก ราคา 200 บาท/กก., ไหล่ 200 บาท/กก., สันใน 250 บาท/กก., สันนอก 250 บาท/กก., สามชั้น 250 บาท/กก., เนื้อหมูบด 180 บาท/กก., ราคาขายซี่โครง กก.ละ 150 บาท, ราคาคอหมู กก.ละ 200 บาท/กก., ราคาขายไข่ไก่เบอร์ 2 ในห้างพบ ราคาแผงละ 119 บาท

ส่วนที่ ร้านสายพิณ เขียงหมูตลาดหน้าค่ายจักรพงษ์ หมูเนื้อแดงสะโพก ราคา กก.ละ 180 บาท, หมูสามชั้น กก.ละ 200 กว่าบาท, หมูบดปนมัน กก.ละ 130 บาท, หมูบดปนเนื้อ กก.ละ 150 บาท, กระดูกอ่อน กก.ละ 200 บาท/กก.
 
ด้าน นายประมวล เจ้าของร้านขายหมูอีกราย เปิดเผยว่า ราคาขายเนื้อหมูสันนอก สามชั้น ราคา กก.ละ 200 บาท, สะโพกขายส่ง 180 บาท/กก., ขายปลีก 190 บาท/กก., กระดูกอ่อน 180 บาท/กก. และคอสั้น 150 บาท/กก. ซึ่งมีคนซื้อแต่ซื้อจำนวนเนื้อจำกัดและลดลงจากเดิม
 
นางสมหมาย อายุ 61 ปี แม่ค้าเขียงหมู กล่าวว่า ราคาหน้าฟาร์ม 102 บาท/กก.หมูเนื้อ, แดงสันนอก, สามชั้น ราคา 200 บาท/กก., เนื้อสะโพก กระดูกอ่อน 180 บาท/กก., กระดูกเล้ง 60 บาท/กก., หมูติดมัน 160 บาท/กก. และหมูบดติดมัน 140 บาท/กก. ซึ่งขายวันละ 1-2 ตัว พบว่าจำนวนคนซื้อลดลงกว่าครึ่ง จากซื้อ 1 กิโลกรัมเหลือครึ่งกิโลกรัม บอกว่ายังไม่ขึ้นราคา คนไม่มีจะซื้อกันอยู่แล้ว คนเงียบ
 
ด้าน นางเดือน แม่ค้าขายไข่ไก่ กล่าวว่า ไข่เบอร์ 0 ราคา 140 บาท/แผง, เบอร์ 1 ราคา 120 บาท/แผง ซึ่งราคาแพงขึ้นจากเดิมมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว
 
นางบุญเรือน อายุ 65 ปี แม่ค้าจำหน่ายผัก กล่าวว่า ตนรับผักมาขาย บางส่วนปลูกขายเองก็มีราคาแพงขายไม่ได้ พบผู้ซื้อ ๆ น้อยลง หรือพากันประหยัดการซื้อกันมากขึ้น ทั้งนี้ รับผักจากพ่อค้าคนกลางมาจำหน่ายร่วมกับผลผลิตของตัวเองบางอย่างที่ไม่มี อาทิ ราคาผักแพงขึ้นมาก โดยเฉพาะจำพวก ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือ มาจำหน่าย ถุงละ 10 กิโลกรัม ราคา 250 บาท,
 
นางบุญเรือน กล่าวต่อว่า ถั่วฝักยาวมัดละ 5 กิโลกรัม ราคา 300 บาทต้องแบ่งขายราคาเพื่อส่งทุนคืนราคาขายแค่เพียงกิโลกรัมละ 60 บาท เพราะขายไม่ได้กลัวฝ่อ-เน่า ส่วนแฟงมาจากสวนปลูกเองขายไม่ออก ราคาขายเอง เพียงกก.ละ 28 บาท แต่ขายไม่ได้ ไม่มีคนซื้อผลผลิต และตนยังทำสวนผลไม้ผสมผสาน ปลูกทุเรียน, ปลูกกระท้อน สวนครัวอื่น ๆ กำลังให้ผลผลิต
 
นางบุญเรือน กล่าวอีกว่า แต่จะขายได้กำไรมากน้อยหรือไม่ยังไม่รู้เพราะราคาน้ำมันแพง ค่าไฟสูบน้ำรดต้นไม้แพง ค่าจ้างห่อกระท้อนแพงและขาดแคลนคนงานรับจ้าง โดยราคาค่าจ้างแรงงาน คนห่อกระท้อนคิดราคา 100ลูก ราคา 100-150 บาท พร้อมต้นทุน ราคาปุ๋ยแพงมาก ๆ ต้นทุนสูง ลูกละ 1,600 - 1,800 บาท/ลูก เกษตรกรชาวสวนต้องแบกรับรับภาระมาก ๆ
 
ส่วนในเขตพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี พ่อค้าแม่ค้าขายเนื้อหมูในราคาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจแบบนี้ราคาน้ำมันขึ้นต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น คิดว่าของทุกอย่างมีโอกาสขึ้นได้ทั้งหมด รวมทั้งเกิดจากปัจจัยภายนอกเราไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา แต่ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ติดป้ายราคาสินค้าแล้วก็ขายให้ตรงตามราคาที่ติดป้ายไว้ มีการสำรวจตลาด ออกทุกวันตอนเย็น
 

 
ตรึงราคาหมูหน้าฟาร์ม100 บาท ทำได้เฉพาะกทม. ภาคอื่นเกินแน่ คาดหมูแพงอีก 2 เดือน
https://www.khaosod.co.th/economics/news_7029367

ส.เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจงตรึงราคาหมูหน้าฟาร์ม100 บาท ทำได้เฉพาะกทม. ภาคอื่นเกินแน่ คาดหมูแพงต่อ อีก 2 เดือน เหตุการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องใช้เวลา  
  
วันที่ 3 พ.ค.65 นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงแนวโน้มราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มว่า ผู้เลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และใกล้เคียงจะรักษาระดับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่ให้สูงเกินกว่า 100 บาท/ก.ก. เพื่อรองรับนโยบายการเปิดประเทศ
  
แต่ต้องยอมรับว่าฟาร์มในภูมิภาคพื้นที่ห่างไกลออกไป เช่น ภาคเหนือ และภาคอีสาน จะมีราคาสูงกว่า 100 บาท / ก.ก. เนื่องจากมีต้นทุนค่าขนส่งที่แพงกว่า
 
ส่วนกรณีที่ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(นบขพ.) มีมติอนุมัติให้นำเข้า วัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ 1.2 ล้านตัน เพื่อแก้ไขหมูแพงนั้น ไม่ทันกับการแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและมีราคาแพง เพราะกว่าจะมีการสั่งซื้อ และนำเข้ามาใช้ได้จริง อาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน
 
โดยช่วงช่องว่าง 2 เดือนนี้ ไม่มีทางที่ราคาหมูจะปรับลดลงได้ และหากอาหารสัตว์ปรับราคาเพิ่มขึ้น หมูก็ต้องขึ้นราคาเช่นกัน โดยวัตถุดิบอาหารสัตว์นั้นมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 จนถึงขณะนี้ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว 60%
 

 
พิษน้ำมันแพง เรือ ทยอยกลับเข้าฝั่ง ประกาศหยุดทำประมงชั่วคราว
https://www.matichon.co.th/region/news_3322597
 
พิษน้ำมันแพง เรือ ทยอยกลับเข้าฝั่ง ประกาศหยุดทำประมงชั่วคราว วอนรัฐลดราคาน้ำมันเขียว
 
วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ขณะนี้เรือประมงพาณิชย์ จ.กระบี่ ทยอยกลับเข้าฝั่ง ที่ท่าเรือประมง ตำบลไสไทย อำเภอเมืองกระบี่ หลังจากครบรอบการทำประมง และหยุดออกทะเลทำประมงชั่วคราว หลังจาก ราคาน้ำมันดีเซล ปรับราคาพุ่งลิตรละ 32 บาท ส่งผลให้ราคาน้ำมันเขียว ที่ใช้สำหรับเรือประมง ราคาเพิ่งสูงขึ้นตาม ขณะนี้ราคาลิตรละ 31 บาท และแท็งค์ที่ให้บริการอยู่กลางทะเล ระยะทาง กว่า 20 ไมค์ทะเล ทำให้เรือประมง มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ในการนำเรือไปเติมน้ำมันเขียว
 
นายสามารถ หมันบุตร ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ จ.กระบี่ เปิดเผยว่า หลังกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เรือประมงจะทยอยกลับเข้าฝั่งทั้งหมด เนื่องจาก ครบรอบการทำประมง และหยุดออกทำประมง ชั่วคราว กว่า ร้อยละ 50 จากจำนวนเรือประมง กว่า 50 ลำ ที่ท่าเทียบเรือประมงแห่งนี้ เนื่องจากต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น จากราคาน้ำมันแพงขึ้น และต้องออกทะเล ไปไกล นอกเขต ที่กำหนด เนื่องจาก อยู่ในช่วงปิดอ่าว สัตว์น้ำที่จับมาได้ไม่สามารถปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นตามเนื่องจาก ประชาชน ไม่มีกำลังซื้อ เนื่องจากเรือประมงพาณิชย์ในจังหวัดกระบี่ส่วนใหญ่ ส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า ในพื้นที่เป็นหลัก เรียกร้องให้ตรึงราคาน้ำมันเขียวให้มีราคาต่ำกว่า น้ำมันดีเซล ลิตละ 5-10 บาทเหมือนเช่นที่ผ่านมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่