JJNY : 5in1 ชี้ท่องเที่ยวฟื้นช้า│ค่าครองชีพพุ่งซ้ำเติมครัวเรือน│อรุณีฟาดสุเทพ│พิธาฟื้นอุดมการณ์อนค.│นาโตพร้อมต้อนรับ

สื่อนอกชี้ ‘Thailand Pass’ ยุ่งยาก ฉุดท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า
https://www.bangkokbiznews.com/world/1001699
 
สื่อต่างประเทศรายงาน ไทยเปิดประเทศก่อนคนอื่น แต่โดนเพื่อนบ้านแซงหน้าเพราะ "Thailand Pass" (ไทยแลนด์พาส) ทำนักท่องเที่ยวสับสน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน อนาสตาเซีย โจฮันเซน ชาวนอร์เวย์ วัย 23 ปี และแฟนหนุ่มกำลังวางแผนการท่องเที่ยวทริปแรกในรอบสองปี พวกเขาเล็งมาเที่ยวเมืองไทย แต่สุดท้ายไปเวียดนามแทนเพราะกฎระเบียบเข้าประเทศง่ายกว่า
 
“ระเบียบเข้าไทยยุ่งยากมากสำหรับดิฉัน เราต้องจ่ายค่าตรวจพีซีอาร์ที่ไม่จำเป็น” โจฮันเซนกล่าว
 
รอยเตอร์ระบุว่า ไทย หนึ่งในปลายทางท่องเที่ยวโลกช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้วเมื่อปีก่อนด้วยระเบียบกักตัวไม่มาก ได้รับการยกย่องว่าเป็นโมเดลในการเปิดประเทศแต่เมื่อเพื่อนร่วมภูมิภาคผ่อนคลายระเบียบเข้าเมือง ไทยกลับติดอยู่กับกระบวนการอันยุ่งยาก
 
“ประเทศไหนก็ตามที่มีกระบวนการง่ายๆ ราบรื่น ไม่ซับซ้อนก็ชนะใจดิฉัน” โจฮันเซนให้ความเห็น
 
ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวกล่าวว่า ระเบียบการเข้าเมืองอันซับซ้อนของไทยตอนนี้กำลังฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ก่อนโควิดคิดเป็น 12% ของจีดีพี
 
ยอดจองล่วงหน้าประจำปี 2565 ชี้ว่า ไทยทะลุ 25% ของระดับก่อนโควิด ตามหลังเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่ยอดจองล่วงหน้าอยู่ที่ 72% ฟิลิปปินส์ 65%
 
หลายคนกล่าวโทษว่าเป็นเพราะระบบขออนุมัติเข้าประเทศ “ไทยแลนด์พาส” (Thailand Pass) ที่ต้องใช้เวลาถึงเจ็ดวัน แม้เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะลดขั้นตอนลงก็ตาม
 
“ความล่าช้ากำลังฆ่าเรา ถ้าคุณอยู่สิงคโปร์แล้วอยากมาเมืองไทยช่วงสุดสัปดาห์มันไม่ง่ายเลย ซึ่งทริปสั้นๆ แบบนี้สำคัญมาก” บิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ C9 Hotelworks บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจบริการให้ความเห็น
 
ด้านคิรัน สตอลโลน ชาวอเมริกันผู้กำลังมาเยี่ยมครอบครัวในไทย กล่าวว่า การขอไทยแลนด์พาสจำเป็นต้องพิสูจน์ว่าฉีดวัคซีนแล้ว ทำประกันอย่างน้อย 20,000 ดอลลาร์ และจองโรงแรมที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ทั้งหมดนี้ส่งเข้าเว็บไซต์รัฐบาลไทย
 
“เว็บไซต์รัฐบาลเข้ายาก ดิฉันต้องขอให้คนอื่นช่วย” สตอลโลนกล่าวและว่า เธอได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงบางขั้นตอนที่เป็นสาเหตุให้การส่งเอกสารผิดพลาดทำให้การยื่นขอล่าช้า
 
เว็บไซต์ไม่เปิดให้ผู้ใช้เซฟเอกสารที่บันทึกค้างไว้หรือกลับไปหน้าก่อนหน้าทั้งยังไม่รับไฟล์พีดีเอฟ
 
ความยุ่งยากของไทยแลนด์พาส เห็นได้จาก มีการตั้งกลุ่มไทยแลนด์พาสบนเฟซบุ๊คสมาชิกมากถึง 90,000 คน เปิดให้นักเดินทางตั้งคำถามเรื่องการเปลี่ยนเที่ยวบิน ระเบียบใหม่ในการเข้าประเทศ และบางคนเข้ามาแสดงความไม่พอใจเมื่อขอไทยแลนด์พาสแล้วไม่ได้ เวทีแบบเดียวกันนี้มีในอีกหลายเว็บไซต์เช่น ทริปแอดไวเซอร์
 
รอยเตอร์รายงานด้วยว่า ไทยเคยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทย 39.9 ล้านคน ในปี 2562 ที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีคนมาเที่ยวมากที่สุดในโลก ขณะที่สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยว 19.1 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 8.26 ล้านคน
 
ปีนี้ไทยตั้งเป้านักท่องเที่ยว 5-10 ล้านคน แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า ระบบไทยแลนด์พาสคืออุปสรรคที่ไม่จำเป็น
 
วิลเลียม ไฮเนค ประธานไมเนอร์อินเตอร์แนชันแนล นักธุรกิจโรงแรมชื่อดังกล่าวว่า ไทยแลนด์พาสทำให้ไทยแข่งขันไม่ได้ และยุ่งยากสำหรับนักเดินทางเพราะไม่มีความยืดหยุ่น
 
ทั้งนี้ ไทยแลนด์พาสสามารถใช้ได้หนึ่งสัปดาห์ก่อนหรือหลังวันที่ระบุ
 
สภาการท่องเที่ยว ก็กล่าวว่า ข้อกำหนดของระบบที่ให้แต่ละคนกรอกเอกสารทำให้บริษัททัวร์จัดกรุ๊ปยากขึ้น
 
ขณะที่นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า นักท่องเที่ยวมาไทยมากขึ้นเนื่องจากรัฐผ่อนคลายมาตรการและยอมรับว่าการติดเชื้อในประเทศสูงกว่าที่มาจากต่างประเทศ
 
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์รายงานอีกว่า แนวทางผ่อนคลายกฎระเบียบแบบลังเลของไทยเป็นเหตุให้เกิดความสับสนด้วย เช่น ไทยกลับมากักตัวนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้วอีกครั้งในเดือน ก.พ.เพราะโอมิครอนระบาด หลังจากเลิกไปช่วงสั้นๆ
 
ในช่วงนั้นนักเดินทางต้องตรวจพีซีอาร์อย่างน้อยสามครั้งคือ ก่อนออกเดินทาง, เมื่อมาถึง และวันที่ 5 ของการอยู่ในประเทศไทย พอถึงเดือนมี.ค. การตรวจครั้งสุดท้ายเปลี่ยนเป็นrapid antigen test และลดวงเงินประกันจาก 50,000 ดอลลาร์เหลือ 20,000 ดอลลาร์ เดือน เม.ย.ยกเลิกตรวจพีซีอาร์ก่อนออกเดินทาง และตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปยังต้องทำประกัน 10,000 ดอลลาร์ แต่นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องตรวจโควิดและไม่ต้องจองโรงแรมล่วงหน้า



“ttb analytics” ชี้ค่าครองชีพพุ่งซ้ำเติมภาวะการเงินครัวเรือน หลังผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19
https://www.matichon.co.th/economy/news_3315880
 
“ttb analytics” ชี้ค่าครองชีพพุ่งซ้ำเติมภาวะการเงินครัวเรือน หลังผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19
 
ttb analytics เผยแนวโน้มรายได้สุทธิครัวเรือนไทยปี 2565 ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ ประกอบกับภาระผ่อนจ่ายหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันแนวโน้มกำลังซื้อ เพิ่มความเปราะบางต่อภาวะการเงินของครัวเรือนไทย หลังผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19
เศรษฐกิจไทยในปี 2565 กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอนและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังส่งผลกดดันต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศอยู่ ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัว และเศรษฐกิจไทยในระยะเวลาข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงยังคงระมัดระวังการจ้างงานใหม่ และหากจำเป็นต้องจ้างแรงงานเพิ่มเติมจะเป็นการจ้างงานชั่วคราวมากกว่าประจำ เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนและปรับจำนวนการจ้างงานได้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้รายได้ภาคครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19 แต่ยังมีความเปราะบางอยู่ สะท้อนได้จากภาวะการจ้างงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะการจ้างงานที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว โดยภาพรวมอาจต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 2 ปีกว่าระดับรายได้นอกภาคการเกษตรจะฟื้นตัวกลับมาถึงช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรแม้ยังมีอยู่มาก แต่มาจากพวกแรงงานย้ายกลับถิ่นหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 ประกอบกับการผลิตในภาคเกษตรที่ค่อนข้างน้อย จึงสร้างรายได้ให้แก่แรงงานต่ำกว่าเศรษฐกิจประเภทอื่น ๆ อยู่มาก
 
เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มรายได้ครัวเรือน จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (ข้อมูลจาก SES: Socio-Economic Survey) พบว่าในปี 2564 ครัวเรือนไทยมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยราว 23,500 บาท ซึ่งเมื่อหักรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินออกไป อาทิ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในปี 2565 รายได้ครัวเรือนจะมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับภาวะการจ้างงานโดยรวมที่ยังคงเปราะบาง ส่งผลให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะมีรายได้ต่ำกว่านี้มาก และรายได้อาจมีความไม่แน่นอนสูง ด้วยเหตุนี้ รายได้ของครัวเรือนไทยโดยภาพรวมจึงยังมีความเปราะบาง และไม่สามารถรองรับปัจจัยที่ไม่คาดคิดได้มากนัก
 
ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหลังเกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดที่กำลังสะท้อนถึงการเข้าสู่วิกฤตอาหารทั่วโลก ได้ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าในประเทศไทยในหมวดดังกล่าวปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้นทุนค่าครองชีพที่แพงขึ้นถือเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อกำลังซื้อของครัวเรือนไทยในทุกกลุ่ม และลดทอนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้วย โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่มีสัดส่วนการบริโภคอาหารสดและเชื้อเพลิงสำหรับใช้ใน
 
บ้านและการเดินทางในระดับสูง ซึ่งมีการปรับราคาเร่งตัวมากที่ราว 15-16% จากระยะเดียวกันปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าในหมวดอื่น ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนไทยในกลุ่มที่มีรายได้รวม 25,000-50,000 บาทต่อเดือน จะเพิ่มขึ้นจาก 68% ในปี 2564 มาอยู่ที่ราว 75% ในปี 2565 นี้ สำหรับครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 15,000-25,000 บาท จะเพิ่มขึ้นจาก 80% มาอยู่ที่ 87% และครัวเรือนกลุ่มรายได้รวม 15,000 บาท จะเพิ่มขึ้นจาก 90% เป็น 98%
 
ทั้งนี้ จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 (Household Socio-Economic Survey: SES) พบว่า ครัวเรือนไทยจะมียอดหนี้สินรวมโดยเฉลี่ยประมาณ 208,000 บาทต่อครัวเรือน เมื่อสมมติให้ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่ 5 ปีและอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ครัวเรือนไทยโดยรวมจะมีภาระผ่อนส่งหนี้สินราว 4,400 บาทต่อเดือน โดยเมื่อคำนวณสัดส่วนภาระผ่อนหนี้สินต่อรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน พบว่า สัดส่วนดังกล่าวของครัวเรือนกลุ่มรายได้ที่ 25,000-50,000 บาทต่อเดือน จะอยู่ที่ 0.88 ครัวเรือนกลุ่มรายได้ 15,000-25,000 บาท มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.95 ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มักมีรายได้ไม่เพียงพออยู่แล้ว ส่วนใหญ่จึงมักเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่คิดเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ จึงทำให้ไม่สามารถคำนวณหาสัดส่วนดังกล่าวได้ แต่จากผลสำรวจ SES ปีล่าสุด พบว่าครัวเรือนไทยมียอดหนี้นอกระบบรวมราว 3,800 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งคาดว่ามาจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อพิจารณาสัดส่วนภาระผ่อนหนี้สินต่อรายได้สุทธิดังกล่าวพบว่า ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนค่อนข้างสูงตามสภาพปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เรื้อรังมานาน มีเงินสดเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินน้อยมาก โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้รวมต่ำกว่า 25,000 บาทลงมาที่ส่วนใหญ่ไม่เหลือเงินเก็บ ในกรณีเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มความเปราะบางให้แก่ภาวะการเงินของครัวเรือนไทย
 
ด้วยสถานการณ์ที่รายได้สุทธิของครัวเรือนไทยในปี 2565 ปรับลดลงจากปีก่อนตามค่าครองชีพที่แพงขึ้น ประกอบกับภาระผ่อนชำระหนี้สินที่ยังมีอยู่ในระดับสูง ภาครัฐควรจัดการฟื้นฟูกิจกรรมเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศให้กลับมาใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด มีการดูแลระดับราคาสินค้าโดยรวมไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ออกมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบริหารจัดการหนี้อย่างเหมาะสม โดยช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและหาทางแก้ไขหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ควรหาวิธีลดรายจ่าย ประคองรายได้ที่มีอยู่ พร้อมหาช่องทางเพิ่มเติมรายได้ และบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างเหมาะสม เช่น ขอเจรจาปรับลดภาระผ่อนจ่ายต่อเจ้าหนี้ลงชั่วคราว เพื่อประคับประคองตนให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตค่าครองชีพทับซ้อนวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ไปให้ได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่