หลอกให้รัก-เสียเงินให้ชาวไนจีเรีย 6.2 พันล้านบาท

กระทู้สนทนา
https://www.isranews.org/article/isranews/108331-CSD.html?fbclid=IwAR3Ahsv1rG1jFyvDj0866DNC1Q_gJRTN5FGtpI4f6u4w32PmBXqXOa9M7vQ

"การดำเนินคดีนี้มาจากกรณีที่ น.ส.ชมานันทน์ (เพ็ชรโปรี) ซึ่งเคยมีตำแหน่งเป็น CFO  (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน) รับผิดชอบและมีสิทธิเข้าถึงเงินของบริษัทเอสซีลอร์ นั้นถูกมิจฉาชีพจากประเทศไนจีเรียซึ่งเป็นขบวนการหลอกให้รักหรือที่รู้จักกันในชื่อว่าโรแมนซ์สแกมมิ่งใช้ช่องทางบนโลกออนไลน์แอบอ้างตัวเองว่าเป็นแพทย์ทหารสัญชาติอเมริกัน   บอกว่าประจำการอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน โดยมิจฉาชีพได้หลอกลวงว่าได้รับเงินมรดกเป็นมูลค่ามหาศาล มีความต้องการจะโอนเงินมาเมืองไทยแต่ว่าทาง น.ส.ชมานันทน์ จะต้องโอนเงินมาให้ก่อน" 
"นี่จึงเป็นสาเหตุของการโอนเงินเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งความพยายามที่จะโอนเงินในจำนวนเต็มๆนั้นมีประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (10,173,000,000 บาท) แต่โอนไปได้จริง  เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาทตามที่ปรากฎเป็นข่าว"
"นอกจากนี้กลุ่มนี้ยังมีความสร้างสตอรี่เพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงเพื่อให้ น.ส.ชมานันทน์โอนเงินมาหลายครั้ง"  
คือ ข้อมูลเบื้องลึก จาก พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ที่ให้กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษ กรณีปรากฏข่าวสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 31/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก คดีร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้งไปยังบุคคลภายนอกทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท  
โดยทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 10 รายการ ประกอบด้วย สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง มูลค่า 10,000 บาท ชื่อ น.ส.ชนนิกานต์ เจริญราช และ อายัดเงินฝากบุคคลต่างอีก 9 บัญชีในชื่อบุคคลต่างๆ จำนวน 233,316.30 บาท รวมทรัพย์สิน 10 รายการ ทั้งสิ้น 243,316.30 บาท ซึ่งเป็นคดีที่ ปปง.ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา 
เบื้องลึกคดีโกง 6 พันล้าน ผบช.ก.แฉ พนง.หญิง ’เอสซีลอร์’ถูก’แก๊งไนจีเรีย’หลอกให้รัก
ไขข้อมูล บ.เอสซีลอร์ฯ ทำธุรกิจอะไร – ใครเจ้าของ ? ถูกยักยอกเงินฝาก 6.2 พันล.
ปปง.ยึดทรัพย์ 243,316 บาท คดีลักเงินฝาก บ.เอสซีลอร์ฯ 6,223.8 ล้าน
ทั้งนี้ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา นั้น  พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช  ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช. ก.) และทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดี ยังได้ฉายภาพให้เห็นถึงที่มาและแนวทางการติดตามคดีนี้เพิ่มเติม มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 
 
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช  ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช. ก.)
@ คดีแกล้งรักครั้งใหญ่
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า ความเป็นมาเป็นไปคดีนี้ มาจากกรณีที่ น.ส.ชมานันทน์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็น CFO  (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน) รับผิดชอบและมีสิทธิเข้าถึงเงินของบริษัทเอสซีลอร์ โดยบริษัทแห่งนี้นั้นเป็นบริษัทผลิตเลนส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของฝรั่งเศส และมีสาขาอยู่ทั่วโลก 
โดย น.ส.ชมานันทน์ ได้ไปรู้จักกับผู้ที่หลอกลวงให้รักบนโลกออนไลน์หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าโรแมนซ์สแกมจากประเทศไนจีเรีย ซึ่งแอบอ้างตัวเองว่าเป็นแพทย์ทหารสัญชาติอเมริกัน (หลอกว่าชื่อ นพ.แอนดรูว์ ชาง) บอกว่าประจำการอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน
ผู้ที่หลอกลวงนั้นแอบอ้างว่า ตัวเองได้เงินมรดกเป็นมูลค่ามหาศาล มีความต้องการจะโอนเงินมาเมืองไทยแต่ว่าทาง น.ส.ชมานันทน์จะต้องโอนเงินมาให้ก่อน
ทั้งนี้ ตามปกติแล้วกรณีการหลอกรักออนไลน์หรือที่รู้จักในชื่อว่าโรแมนซ์สแกมนั้นจะหลอกเงินกันเต็มที่ก็ประมาณ 50 กว่าล้านบาทก็ถือว่าเยอะแล้ว แต่ว่ากรณีนี้นั้น น.ส.ชมานันทน์สามารถเข้าถึงเงินของบริษัทได้ ก็เลยมีการโกงเงินของบริษัทไปให้กับกลุ่มพวกโรแมนซ์สแกม
เป็นที่มาของการโอนเงินเป็นจำนวนมหาศาล
ซึ่งความพยายามที่จะโอนเงินในจำนวนเต็ม ๆ นั้นมีประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (10,173,000,000 บาท) โอนไปให้ทั้งหมดประมาณ 16-17 ประเทศ รวมเมืองไทยด้วย ก็คือมีเครือข่ายทั่วโลก
นอกจากนี้กลุ่มนี้ยังมีความสร้างสตอรี่เพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงในหลายระดับ
พล.ต.ท.จิรภพ ยังระบุด้วยว่า บุคคลที่ชื่อว่านายศักดิ์ชัย บุญสุยา ซึ่งเคยปรากฎเป็นข่าวในสำนักข่าวอิศราไปแล้วว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการกับ น.ส.ชมานันทน์ พบว่าจริง ๆ แล้วเป็นแค่ฝ่ายบุคคลเท่านั้น ซึ่งตามระเบียบของบริษัทเอสซีลอร์  การเบิกเงินไม่ต้องมีการรับรู้ของผู้บริหารบริษัทหรือว่าซีอีโอก็ได้
แต่ว่าการเบิกนั้นจะต้องมีการตรวจสอบ เซ็นร่วมกันหรือที่เรียกกันว่าครอสเช็ค
นายศักดิ์ชัยก็ได้ไปเซ็นร่วมเบิกเงินกับ น.ส.ชมานันทน์ โดยไม่รู้อะไรเลย
ขณะที่ทางฝั่งของน.ส.ชมานันทน์ นั้นเขามีอำนาจในการเบิกเงินได้สูงสุดอยู่ที่ 70 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งตรงนี้ทางนายศักดิ์ชัยก็คงจะต้องสู้คดีต่อไปในส่วนของเขา เพราะเขายืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด  
ในส่วนความคืบหน้าการพิจารณาของศาลนั้น ศาลชั้นต้นได้ตัดสินไปแล้ว ซึ่งทางฝั่งของ น.ส.ชมานันทน์เขาก็ยอมรับผิดและอยู่ในเรือนจำแล้ว แต่ว่านายศักดิ์ชัยยังปฏิเสธข้อกล่าวหาและคงต้องสู้ในศาลชั้นต่อไป  
สำหรับคดีนี้ทางตำรวจสอบสวนกลาง ได้ดำเนินการกับคดีนี้ โดยแบ่งออกเป็นสามคดีด้วยกัน คือ 1.คดีลักทรัพย์ 2.คดีฉ้อโกง และ 3.คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาชญากรรมข้ามชาติ  
@ปฏิบัติการติดตามเงินคืน
ขณะที่ทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดี ของ พล.ต.ท.จิรภพ  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับความพยายามในการทวงเงินคืนนั้น เบื้องต้นได้เงินคืนมาแล้ว 87.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังไม่ได้เงินคืนอย่างน้อย 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  สาเหตุเป็นเพราะมีการโอนเงินย่อยจำนวนมาก 
"ธนาคารแต่ละธนาคารนั้นมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ถ้าธนาคารไหนที่มีมาตรการทางการเงินที่หละหลวมคือว่าไม่ว่าจะเป็นล้าน สิบล้าน หรือร้อยล้าน ธนาคารเหล่านี้ก็ปล่อยไปเลย แต่บางธนาคารที่มีความเข้มงวดก็ชะลอการจ่ายเอาไว้และมีการถามบริษัทก่อนว่าโอนจริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้พอเราได้รับแจ้งก็สามารถไปอายัดเงินได้ทัน ยกตัวอย่างเช่นใน 114 บัญชีที่เป็นบัญชีรับโอนเงินนั้นพบว่ามีอยู่ 7 บัญชีเป็นบัญชีรับโอนเงินจากประเทศไทย (ธนาคารไทยพาณิชย์,กสิกร,ธนชาติ,ออมสินและธนาคารทหารไทย)   โอนเงินสำเร็จไป 5 บัญชี คิดเป็นมูลค่ารวม 61 ล้านบาท ไม่สำเร็จ 2 บัญชี ซึ่งหนึ่งในบัญชีที่โอนเงินไม่สำเร็จก็คือบัญชีของธนาคารธนชาติ"
ส่วนวิธีการโอนเงินนั้น ทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ข้อมูลว่า พอมียอดโอนจากประเทศ ซึ่ง น.ส.ชมานันทน์ ทำธุรกรรมที่ไทย แต่พอธนาคารธนชาติเขามองว่าเงินจากต่างประเทศจำนวนประมาณไม่กี่ล้านนั้นเข้ามายังบัญชีของใครก็ไม่รู้ ก็เลยมีการเรียกผู้ที่เป็นเจ้าของบัญชีที่ไทยมาสอบถามว่าเป็นมาอย่างไร
แต่ปรากฏว่าเจ้าของบัญชีที่ไทยนั้นแท้จริงแล้วกลับเป็นภรรยาเช่าคนไทยของกลุ่มมิจฉาชีพ (บัญชีม้า) ซึ่งก็คือกลุ่มชาวไนจีเรียเป็นเข้าของบัญชี ซึ่งภรรยาเช่าเหล่านี้เขาก็จะถูกบอกมาอีกต่อว่าจะได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของยอดที่ได้มีการโอนมา  
อย่างไรก็ตามพอธนาคารได้ไปสอบถามผู้เป็นเจ้าของบัญชีเหล่านี้ปรากฏว่าไม่สามารถสำแดงได้ว่าเงินที่เข้ามาในบัญชีจำนวนนับสิบล้านเหล่านี้มันคือค่าอะไร พอสำแดงไม่ได้แบบนี้ ทางธนาคารธนชาตเขาก็เลยตีกลับเลย  แต่ปรากฏว่าบางธนาคารนั้นเงินโอนเข้าไปแล้วก็เข้าไปเลย
ส่วนการตามเงินคืนในกรณีอื่นนอกเหนือกรณีที่ธนชาติได้ตีกลับการทำธุรรมทางการเงินนั้น  ทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า "ทางเอสซีลอร์เขาจะมีสาขาธนาคารอยู่ทั่วโลก เขาก็มีการแต่งตั้งทนายความ และทนายความที่ว่านี้ก็เอาข้อมูลจากตำรวจไทยเพื่อไปไปดำเนินการในชั้นศาลเพื่ออายัดเงินในประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็สามารถอายัดเงินคืนได้มาบ้าง"
“มีกรณีที่มีการโอนเงินหลังจากที่โอนเข้าไปยังบัญชีม้าไปยังประเทศตองกา ประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เราก็มีการตรวจสอบให้ เขาจะไปอายัดเงินมาให้ ตรงนี้ก็เกิดเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งเราและเขา เพราะเราก็ไม่สามารถจะไปก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยประเทศอื่นได้ ที่สำคัญเราทำงานกับตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) พอมีอำนาจตำรวจสากลเข้ามาเกี่ยวข้อง หลาย ๆ ครั้งก็มีการประชุมร่วมกับเอสซีลอร์ ซึ่งหลังจากนี้คิดว่าทางบริษัทเขาก็คงจะรูปแบบทางการเงินของเขาให้รัดกุมมากขึ้น” ทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุ 
ทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในรายละเอียดของการโอนเงินไปนั้นกว่าที่ระบบจะสามารถตรวจสอบได้ก็เป็นช่วงปลายปี 2562 แล้วเนื่องจากช่วงแรกที่มีการโอนเงินกันนั้นจำนวนเงินที่โอนไปยังมีจำนวนน้อยอยู่ในระดับ 1-2 ล้าน แต่ว่ามาในช่วงหลังนั้นจำนวนเงินที่โอนเริ่มจะมีมูลค่าสูงในระดับ 50-100 ล้านแล้ว ทางบริษัทเลยได้มาสอบถาม น.ส.ชมานันทน์ ในช่วงเดือน ธ.ค. ก็เลยมาทราบเรื่องความผิดปกติ
สำหรับกรณีของ น.ส. ชมานันทน์นั้นทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า "ไม่เชื่อว่าจะเป็นผู้ที่ไปร่วมในขบวนการของพวกชาวไนจีเรียด้วยตามที่หลายคนได้ตั้งข้อสังเกต แต่น่าจะถือว่าเป็นกรณีหนึ่งในล้านที่น่าจะเป็นเหยื่อที่อ่อนแอจริง ๆ"
"เพราะ น.ส.ชมานันทน์ นั้นเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกด้าน แต่ว่ายังใช้ชีวิตโสด ซึ่งก่อนที่จะมีกรณีการโอนเงินนั้นพบว่า น.ส. ชมานันทน์ นั้นได้มีการไปซื้อบ้านในหมู่บ้านลัดดาวัลย์ คิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท ใช้เงินตัวเองมัดจำประมาณ 1.5 ล้านบาท  เรียกได้ว่าเงินตัวเองหมดแล้ว คนร้ายก็เลยเริ่มหลอกเรื่องมรดกแล้วก็ไปเรื่อย ๆ"    
"น.ส.ชมานันทน์นั้นหลงขนาดที่เรียกได้ว่าเดินทางไปประเทศมาเลเซียจำนวน 2-3 ครั้ง เพื่อจะไปเจอกับบุคคลที่ถูกแอบอ้างว่าเป็นทนายความของแพทย์ทหารปลอม ๆ คนนี้  แต่ก็ไม่เจอ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีทางได้เจออยู่แล้ว  เพราะต้องยอมรับว่าคนร้ายนั้นมีวิธีการหลอกที่เก่งมาก"
ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับได้ว่า นพ.ชาง แท้จริงแล้วมาจากกลุ่มคนไนจีเรียที่แอบอ้างก็มาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกันพบว่าภาพของ นพ.ชาง นั้นแท้จริงแล้วเป็นภาพของนายรุสลาน ฮารุน ที่เป็นชาวมาเลเซีย ซึ่งภาพของเขาตามเฟซบุ๊กนั้นถูกนำไปใช้แอบอ้างไปใช้
โดยนายฮารุนก็ได้ไปร้องเรียนและปรากฏเป็นข่าวในภาษามาเลเซียไปแล้ว   
 
รูปภาพที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพไนจีเรียนำไปแอบอ้างว่าเป็นภาพของ นพ.แอนดรูว์ ชาง แพทย์ทหารสหรัฐฯ
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้ ยังมีรายละเอียดในส่วนของเครือข่ายกลุ่มผู้กระทำความผิด รวมไปถึงกลวิธีการสร้างสตอรี่เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อตายใจด้วย ซึ่งสำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอในตอนต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่