ณ พ.ศ.นี้ พระภิกษุสงฆ์ไทยกระทำผิดศีล (ละเมิดพระวินัย) ข้อใดเป็นอาจิณ?

หมายถึง ไม่ค่อยเคร่งครัด, ไม่ค่อยทำตามพระบัญญัติ, อนุโลม...ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อม กระแสสังคม, หยวน ๆ 

เช่น จขกท. มองว่า ปัจจุบันพระไทยไม่ค่อยเคร่ง (เป็นไปแบบอนุโลม, หยวน ๆ) ศีลข้อห้ามจับเงินทอง...ตั้งแต่พระผู้ใหญ่ ไปจนถึงพระหนุ่มเณรน้อย...พระมีตำแหน่ง ก็ไม่เว้น...พระป่าธรรมยุต ก็ไม่เว้น 

** ไม่นับ พระภิกษุสงฆ์ที่ทำตามพระบัญญัติ เช่น ให้ไวยาวัจกรหรือคณะกรรมการฝ่ายฆราวาสดูแลเงินที่ชาวบ้านถวายบริจาค เงินนิตยภัต และทรัพย์สมบัติของวัดต่าง ๆ--ฝ่ายพระประสงค์อยากใช้ ค่อยแจ้งให้จัดหา...เพราะลักษณะนี้ถือว่าไม่ผิด **

...จขกท. หมายถึง สมัยนี้ พระรับเงินส่วนตัว และเก็บเงินส่วนตัว ด้วยตัวเอง เช่น ฝากธนาคารในชื่อตัวเอง สั่งซื้อสินค้าสิ่งของด้วยตัวเอง (ซึ่งตามพระวินัย พระพุทธเจ้าน่าจะอนุโลมให้แค่ มีไวยาวัจกร/ฆราวาสคอยช่วยเหลือรับใช้ ดำเนินการแทน...ในการเก็บเงินทอง ในการจับจ่ายใช้สอยซื้อหาสิ่งของที่พระภิกษุแจ้งว่าจำเป็นต้องใช้)

**********

ท่านเห็นว่ายังไง? ถ้าจะยอมรับกันตรง ๆ...ณ ปัจจุบัน พระภิกษุสงฆ์สายเถรวาท (ไทย) รักษาศีล (พระวินัย) ข้อไหนไว้ไม่ค่อยจะได้แล้ว...เริ่มขาด ๆ หย่อน ๆ, ปล่อยอนุโลมไปตามกระแสสังคมกันเป็นส่วนมากแล้ว
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 18
ข้อความด้านล่างนี้ ผมเคยตอบไว้ที่กระทู้ "...ห้ามพระจับเงิน แล้วศาสนาพุทธในอนาคตจะเป็นอย่างไร???..."
https://ppantip.com/topic/36222941/comment89

เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวนะครับ

----------------------

ขออนุญาตแสดงความเห็นหน่อยจะได้ไหมครับ?

เรื่องนี้ ผมว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ชัดเจนดีแล้วนะครับ ว่าห้ามภิกษุสงฆ์รับเงินทอง หรือยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้
ถ้ามีผู้ถวายปัจจัย ก็ควรให้ฆราวาส หรือจะเรียกว่า ไวยาวัจกร หรือกัปปิยการก รับไว้และจัดเก็บทำรายการไว้ให้จะถูกต้องตามธรรมวินัยนะครับ
ส่วนเรื่องทางโลกนั้น ผมเข้าใจว่า มีทางออกนะครับ ในแต่ละเรื่อง เพียงแต่อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์กันพอสมควร

แนวทางที่ผมคิดเอาเองคือ

1) เน้นย้ำ ให้สื่อ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกประกาศ รณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่า "ห้ามภิกษุสงฆ์รับเงินทอง และห้ามถวายปัจจัยเงินทองแก่ภิกษุสงฆ์" เพราะจะทำให้สงฆ์ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

2) หากต้องการถวายปัจจัยให้กับวัด หรือภิกษุสงฆ์ ต้องกระทำผ่าน ไวยาวัจกร หรือกัปปิยการก ที่ได้รับมอบหมายของวัด หรือสงฆ์รูปนั้นๆ

3) วัด หรือองค์กรของวัด เมื่อได้รับเงินบริจาคเหล่านี้แล้ว มีหน้าที่ที่จะต้องออกเอกสารใบอนุโมทนาบุญ อย่างเป็นทางการให้กับ ฆราวาสที่บริจาคเงินนั้นๆ ซึ่งเอกสารนี้ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ (มีกรอบกำหนดตามแต่สรรพากรระบุ) และวัดจะต้องมีเอกสารสำเนาเก็บไว้เสมอ (จะเป็นรูปแบบของกระดาษ หรือไฟล์ดิจิตอลก็ได้) รวมไปถึงการบริจาคเงินผ่านระบบออนไลน์

4) เมื่อวัด จะก่อสร้าง หรือมีโครงการระดมทุนใดๆ จะต้องจัดทำเอกสารประกอบโครงการ แจ้งให้แก่ส่วนปกครองทราบเสมอ ไม่ว่าจะเป็น อาคาร โบสถ์ กุฏิ พระเครื่อง รวมไปถึง กฐิน ผ้าป่า งานวัดประจำปี ฯลฯ

5) วัด ในฐานะองค์กร มีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำรายการบัญชีรายรับ-รายจ่าย แจ้งแก่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทุกเดือน โดยจะต้องมีคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าอาวาส, กรรมการของวัด, จนท.รัฐประจำท้องถิ่นนั้นๆ (เช่น นายอำเภอ), จนท.สำนักพุทธฯ (ประจำจังหวัดหรืออำเภอ), ผู้ตรวจสอบบัญชี, จนท.ธนาคาร
     5.1) กรณีที่หลบเลี่ยงได้คือ การแยกบัญชีไว้ 2 กอง คือ กองนึงแจ้งทางการ และอีกกองไม่ได้แจ้ง... ปัญหานี้แก้ไขยาก

6) ทรัพย์สินของวัดใดๆ เป็นทรัพย์สินของทางราชการทั้งหมด ดังนั้นไม่ว่าวัดจะก่อสร้างถาวรวัตถุใดๆ หรือมีที่ดินไหน จะถือว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทั้งสิ้น วัดมีหน้าที่แจ้ง และเปิดเผยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (คล้ายๆกับการเปิดเผยบัญชีของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา)

7) ยกเลิกเงินนิตยภัต ซึ่งรัฐนำจ่ายให้กับ ภิกษุสงฆ์ในแต่ละตำแหน่งแตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะเป็นเงินน้อยนิด แต่ก็จะทำให้สงฆ์ท่านต้องอาบัตินี้ได้ ดังนั้น ยกเลิกเงินนำจ่ายส่วนนี้ไปน่าจะเป็นการดี (ส่วนนี้คาดว่าน่าจะมีผู้แย้งพอสมควร)

8) ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต ของวัดทั่วประเทศไทย และวัดที่อยู่ในการดูแลของมหาเถรสมาคม จะเป็นภาระหน้าที่ของ สำนักพุทธฯ ในการจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (โดยงบประมาณส่วนนี้ คาดว่ามหาศาล แต่ส่วนหนึ่งก็จะมาจากเงินที่มาจากวัดทั่วประเทศนั่นเอง)

9) การเดินทางของสงฆ์ เพื่อจะไปในสถานที่ต่างๆนั้น สงฆ์เดินทางได้ฟรี 100% (ปัจจุบันก็เดินทางฟรี ยกเว้น เครื่องบิน) หรือฆราวาสมีหน้าที่ออกค่าใช้จ่ายให้กับสงฆ์ ..... ที่ผมคิดไว้คือ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ควรครอบคลุมไปถึง เครื่องบินด้วยเช่นกัน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

10) หากสงฆ์ต้องเดินทางไปในสถานที่ใดก็ตาม ต้องแจ้งให้กับส่วนปกครองตามลำดับขั้น เช่น พระลูกวัด จะเดินทางจาก กรุงเทพ-เชียงใหม่ จะต้องแจ้งให้กับ เจ้าอาวาสทราบก่อนอย่างน้อย 15 วัน... หรือหากกรณีฉุกเฉิน ภายหลังเดินทางเสร็จแล้ว ต้องแจ้งเจ้าอาวาสทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน, จากนั้น เจ้าอาวาสจะต้องสรุปแจ้งเรื่องให้กับ เจ้าคณะตำบล > เจ้าคณะอำเภอ > จนถึง มหาเถรสมาคม หรือ สำนักพุทธฯ

11) เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลนั้น ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ ภิกษุสงฆ์มีสิทธิเข้ารับการรักษาได้ฟรี 100% ทุกโรงพยาบาล หรืออย่างน้อย ก็อาจจะมีระบุว่า วัดนั้นๆ มีสิทธิเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใดได้บ้าง (คล้ายๆกับกรณีของ ประกันสังคม) เว้นแต่เป็นกรณีฉุกเฉิน สงฆ์มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้ารับการรักษาที่ รพ.ใดก็ได้

12) เกี่ยวกับการศึกษานั้น... ก็เป็นหน้าที่ของสำนักพุทธฯ อีกเช่นกันในการสนับสนุนการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ ทั้งในระดับของโรงเรียนพระปริยัติธรรมในแต่ละวัด จนถึงระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง สงฆ์ต้องเรียนฟรี 100% รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการสอบเปรียญธรรมในแต่ละปีก็เช่นกัน แต่ทั้งนี้ วุฒิการศึกษาในทางสงฆ์นั้น จะมีผลเป็นศูนย์ในทางโลก ในกรณีที่สงฆ์รูปนั้น ลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส

13) ส่วนเรื่องของข้าวของเครื่องใช้ต่างๆนั้น ส่วนตัวผมเห็นว่า ภิกษุสงฆ์นั้นมีของใช้ที่จำเป็นไม่มากมายเท่าใดนัก หลักๆ ก็จะมี จีวร สบง สังฆาฏิ ผ้าปริขารโจรัง (ผ้าบริขารต่างๆ) บาตร รองเท้าแตะ รวมถึงของใช้อื่นๆ ซึ่งหากสงฆ์ไม่มี ฆราวาสก็สามารถถวายได้ หรือหากไม่มีฆราวาสถวาย ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของสำนักพุทธฯ ที่จะเข้ามาดูแลจัดเตรียมของใช้ที่จำเป็นเหล่านี้ให้แก่สงฆ์ ซึ่งสงฆ์ไม่มีสิทธิ และไม่ควรที่จะนำเงินไปจับจ่ายซื้อของเหล่านี้ด้วยตนเอง

14) เน้นย้ำ! อีกรอบส่งท้ายคือ ฆราวาสเมื่อใส่บาตรให้พระทุกเช้า หรือถวายสังฆทาน หรือสิ่งของใดๆ แก่ภิกษุสงฆ์นั้น ไม่ควร และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะแอบเหน็บ หรือหยอดเงินปัจจัย (Money) ให้กับสงฆ์ไปด้วยนะครับ เนื่องจากจะทำให้สงฆ์ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

15) แก้ไขกฎหมาย ให้ภิกษุสงฆ์ ไม่มีสิทธิทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินใดๆ หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในวัตถุใดๆ (ส่วนนี้หากจะหลบเลี่ยง ก็จัดตั้ง Nominee มาดูแลผลประโยชน์แทน) เว้นแต่กรรมสิทธินั้น จะมีผลมาก่อนที่จะบวชมาเป็นภิกษุสงฆ์ ซึ่งหากเกิดการซื้อขายขึ้น สงฆ์รูปนั้นก็ไม่มีสิทธิทำธุรกรรมดังกล่าวได้ เว้นแต่จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำแทน (ส่วนนี้ ก็หลักเหลื่อมมาก มีช่องโหว่ให้ซิกแซกได้มากมาย เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาให้รอบคอบเป็นอย่างยิ่ง)

-----------

หมายเหตุ - ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ผมไม่มีความรู้เรื่องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่าใดนัก อาจจะมองว่าส่วนใหญ่จะผลักภาระให้กับ สำนักพุทธฯ มากมาย ซึ่งบางส่วนก็อาจจะปรับโดยการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลเรื่องนั้น โดยเฉพาะ

mr_rtee   
18 มีนาคม 2560 เวลา 23:42 น.

----------------------
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่